ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 1-7 มิ.ย.2557  (อ่าน 790 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9796
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 1-7 มิ.ย.2557
« เมื่อ: 12 มิถุนายน 2014, 09:57:02 »
 1. คสช. ยกเลิกเคอร์ฟิวหลายพื้นที่แล้ว ด้าน “บิ๊กตู่” เผย ไม่เกิน 3 เดือน ตั้ง รบ.ได้ สะพัด ธรรมนูญการปกครองใกล้คลอด!

       ความเคลื่อนไหวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการจัดกิจกรรม “คืนความสุขให้คนไทย” ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้า คสช. ได้จัดรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ผ่านสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยเมื่อวันศุกร์ที่ 6 มิ.ย. เวลา 20.40น. โดยชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นที่ คสช.ต้องเข้าควบคุมอำนาจครั้งนี้ว่า เป็นเพราะการบริหารราชการแผ่นดินทั้ง 3 ส่วน คือ ส่วนบริหาร ส่วนนิติบัญญัติ และส่วนตุลาการ กำลังจะถูกทำลายลง คสช.จึงต้องทำเพื่อให้ทุกอย่างกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อคืนความสุขให้กับคนในชาติ
       
       นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้ขอให้ทุกคนช่วยกันปฏิรูปประเทศขึ้นใหม่ ขอให้ร่วมมือกับ คสช. และว่า วันนี้ ต้องไม่มีพวก ไม่มีฝ่าย ไม่อยากขัดแย้ง แต่ถ้าต้องการจะชู 3 นิ้ว(เพื่อต่อต้านการรัฐประหาร) ขอให้ชูในบ้าน หากชูนอกบ้านถือว่าทำผิดต่อประกาศ คสช. “วันนี้ต้องชู 5 นิ้วกันแล้ว 2 นิ้วคือเพื่อชาติ เพราะชาติสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด อีก 3 นิ้วคือ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน ขอร้องอย่าชู 3 นิ้วเลียนแบบต่างชาติ เลียนแบบภาพยนตร์ ประเทศไทยไม่เหมือนประเทศอื่น ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่อยากให้ทุกคนภูมิใจ เพราะเรายังอยู่กันได้ แม้เราจะทะเลาะ โกรธ หรือเกลียดกัน เราก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่ขอเวลา วันนี้เราต้องมาร่วมมือกันช่วยทำให้เวลาเหล่านั้นเกิดขึ้นโดยเร็ว ขอเวลา”
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้แต่งเพลง “คืนความสุขให้ประเทศไทย” โดยเผยแพร่ผ่านรายการ “ใต้ร่มธงไทย” ทางสถานีวิทยุกองทัพบกด้วย ซึ่งสร้างความฮือฮาให้กับผู้ฟังเป็นอันมาก
       
       ขณะที่สื่อต่างประเทศต่างนำเสนอข่าวเกี่ยวกับกิจกรรม “คืนความสุขให้คนไทย” ที่มีการจัดกิจกรรมสันทนาการในพื้นที่ต่างๆ ตลอดจนมีบริการตัดผมและตรวจสุขภาพฟรีให้แก่ประชาชน โดยหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนของสหราชอาณาจักรรายงานว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นหนึ่งในแผนการรณรงค์เพื่อสร้างบรรยากาศความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นภายในชาติตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อให้คนไทยกลับมามีความสุขมากขึ้น
       
       ด้านสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ประเทศไทยเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว หลังจากเผชิญกับความไม่สงบทางการเมืองและความรุนแรงทางสังคมมานานหลายเดือน จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารขึ้นเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน โดย คสช.ได้เริ่มยกเลิกเคอร์ฟิวในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวบางแห่งแล้ว ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ ก็กลับมาอยู่ในความสงบและประชาชนส่วนใหญ่กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ขณะที่บีบีซีรายงานโดยอ้างคำแถลงของทีมโฆษก คสช.ที่ระบุว่า ประเทศเพื่อนบ้านได้แสดงความเข้าใจและสนับสนุนไทย ได้แก่ จีน เวียดนาม และพม่า โดยไทยจะเดินหน้าชี้แจงทำความเข้าใจกับนานาประเทศถึงเหตุผลในการทำรัฐประหารและการบริหารประเทศต่อไป
       
       ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวกับกลุ่มนักธุรกิจจีนที่เข้าพบเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ด้วยว่า สามารถเข้ามาลงทุนและท่องเที่ยวในไทยได้ตามปกติ โดยหลังจากนี้จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในเวลาไม่เกิน 3 เดือน ขณะเดียวกันจะติดตามรัฐบาลให้อยู่ในกรอบ ไม่มีการทุจริต และกำลังพิจารณายกเลิกเคอร์ฟิวให้เร็วที่สุดในพื้นที่ที่ยังไม่ได้ยกเลิก
       
       สำหรับพื้นที่ที่ คสช.ประกาศยกเลิกเคอร์ฟิวแล้ว ได้แก่ พื้นที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ,อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ,จ.ภูเก็ต ,อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ,อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ,จ.กระบี่ และ จ.พังงา
       
       ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป(ศปป.)นั้น พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) เผยว่า มีการกำหนดให้ พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ขณะที่ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ได้ออกคำสั่งให้ทุกจังหวัดจัดตั้ง ศปป.กอ.รมน.จังหวัดแล้ว เพื่อทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ทุกกลุ่มทุกฝ่ายช่วยกันสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมให้สังคมไทยยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง
       
       สำหรับความคืบหน้าการร่างธรรมนูญการปกครองชั่วคราวหลังยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 นั้น เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.มีรายงานว่า นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช.ฝ่ายกฎหมาย อยู่ระหว่างร่างธรรมนูญการปกครองชั่วคราว อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา(5 มิ.ย.) นายวิษณุ ได้ออกมาปฏิเสธว่า ยังไม่ได้รับมอบหมายจาก คสช.ให้ร่างธรรมนูญการปกครองชั่วคราวตามที่มีข่าวแต่อย่างใด พร้อมเผยว่า คสช.มอบหมายงานให้ดำเนินการ 2 ส่วน คือ 1.กฎหมายที่ค้างอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรหลังจากยุบสภาไปแล้ว โดยให้พิจารณาดูว่า กฎหมายฉบับใดที่ต้องเร่งรัดดำเนินการ หรือควรจะรอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณา รวมถึงกฎหมายที่ค้างอยู่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่กระทรวงและหน่วยงานต่างๆ จำเป็นต้องแก้ไข แต่ติดขัดบางประการ ก็ให้ทำเสนอขึ้นมา “กฎหมายทั้งหมดถูกนำไปวางอยู่บนโต๊ะหัวหน้า คสช.ประมาณ 100-200 ฉบับ ทาง คสช.ได้นำมาให้ผมดูแล้ว เมื่อดูแล้ว บางฉบับก็ด่วนจริง บางฉบับสามารถรอให้มี สนช.ก่อนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องออกประกาศ คสช.ในทันที”
       
       นายวิษณุ ยังปฏิเสธกรณีที่มีข่าวว่า คสช.เตรียมพิจารณายุบองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญว่า ยังไม่เคยได้ยินข่าวดังกล่าว จึงไม่เชื่อว่าจะเป็นเรื่องจริงแต่อย่างใด เพราะ คสช.ออกประกาศชัดเจนว่าให้องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญและองค์กรศาลยังคงปฏิบัติหน้าหน้าที่ต่อ เนื่องจากในแต่ละองค์กรยังมีคำร้องหรือคดีความที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ส่วนกรณีที่ คสช.ยกเลิกรัฐธรรมนูญ แล้วทำให้องค์กรอิสระมีข้อจำกัดด้านกฎหมายในการทำงานนั้น นายวิษณุ มองว่า เรื่องนี้ไม่น่าเป็นปัญหา เพราะแต่ละองค์กรก็มีกฎหมายลูกไว้คอยรองรับการทำหน้าที่อยู่แล้ว
       
       ทั้งนี้ มีรายงานว่า ธรรมนูญการปกครองชั่วคราวที่อยู่ระหว่างการร่าง คาดว่าจะมีประมาณ 35-45 มาตรา โดยอยู่ระหว่างขัดเกลาถ้อยคำ คาดว่าจะนำส่ง คสช.ได้ในสัปดาห์หน้า ส่วนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จะมีจำนวน 200 คน เช่นเดียวกับสภาปฏิรูป ที่คาดว่าจะมี 200 คนเช่นกัน
       
       2. ศาลทหารปล่อยตัว “จาตุรนต์” ชั่วคราว ด้าน “บ.ก.ลายจุด” ถูกรวบตัวแล้ว ขณะที่ “จักรภพ” เตรียมตั้งองค์กรพลัดถิ่นต้านรัฐประหาร!

       ความคืบหน้าการเรียกบุคคลเข้ารายงานตัวของ คสช.ยังคงมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับบุคคลสำคัญๆ ได้แก่ นายพฤกษ์ พฤกษ์สุนันท์ หรือลุงยิ้ม ตาสว่าง แนวร่วมคนเสื้อแดง ที่เข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช.เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ระหว่างเดินทางเข้ารายงานตัว นายพฤกษ์ ได้ชู 3 นิ้วเพื่อแสดงการต่อต้านการรัฐประหารด้วย หลังเข้ารายงานตัว นายพฤกษ์ได้ถูก คสช.กักตัวไว้ 3 วัน ก่อนปล่อยตัวเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.
       
        ทั้งนี้ คสช.ได้มีคำสั่งเรียกนายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด(มหาชน) เข้ารายงานตัวเช่นกันเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. แต่ปรากฏว่า นายฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการบริษัท มติชน ได้เข้ายื่นหนังสือชี้แจงต่อ คสช.ว่า นายขรรค์ชัยไม่สามารถเข้ารายงานตัวได้ เนื่องจากพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลมาแล้วระยะหนึ่ง
       
        ส่วนนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด 1 ในแกนนำคนเสื้อแดง ที่ไม่เข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช.และถูก คสช.สั่งระงับการธุรกรรมทางการเงินแล้วนั้น ปรากฏว่า นายสมบัติได้โพสต์เฟซบุ๊กโจมตีการรัฐประหาร พร้อมนัดแนวร่วมชุมนุมต้านการรัฐประหารตามสถานที่ต่างๆ ไม่เท่านั้นยังได้โพสต์ข้อความท้าทาย คสช.อย่างต่อเนื่อง เช่น โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ว่า “ผมพูดชัดๆ อีกครั้งนะครับ เผื่อสมองเสื่อม ผมไม่ไปรายงานตัวกับพวกกบฏปล้นอำนาจประชาชน ถ้าอยากได้ตัวผม มาจับผมไป ผมอยู่ในประเทศของผมนี่แหละ”
       
        จากนั้นช่วงเย็นวันที่ 5 มิ.ย. นายสมบัติได้โพสต์ขึ้นเฟซบุ๊กอีก โดยแสดงความมั่นใจว่าจะไม่โดนจับ พร้อมเผยว่าตัวเองอยู่ในที่ที่มีมาม่ากินหลายเดือน อย่างไรก็ตาม ช่วงค่ำวันเดียวกัน นายสมบัติได้โพสต์ขึ้นเฟซบุ๊กซึ่งเป็นข้อความสุดท้ายว่า “ผมโดนจับแล้ว” กระทั่งมีภาพและข่าวยืนยันว่า นายสมบัติถูกจับกุมจริง โดยถูกจับที่บ้านหลังหนึ่งใน อ.พานทอง จ.ชลบุรี
       
        ด้าน พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช.เผยว่า ได้ควบคุมตัวนายสมบัติไว้ในพื้นที่พิเศษ คล้ายๆ กับบุคคลที่เข้ารายงานตัวคนอื่นๆ เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจและปรับทัศนคติ เป็นเวลาไม่เกิน 7 วัน จากนั้นจะส่งให้พนักงานสอบสวนรวบรวมสำนวนและส่งฟ้องตามขั้นตอนต่อไป ส่วนข้อหาของนายสมบัติคือ กระทำการขัดต่อประกาศ คสช.และยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ แต่ต้องรอให้เจ้าพนักงานสอบสวนก่อนจึงจะทราบว่าจะตั้งข้อกล่าวหาอะไรบ้าง
       
        ส่วนความคืบหน้ากรณีที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ยอมเข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ทั้งยังเปิดแถลงข่าวท้าทาย คสช.กระทั่งถูกทหารควบคุมตัวเมื่อวันที่ 28 พ.ค. ก่อนถูกนำตัวไปให้ตำรวจกองปราบปรามสอบสวน และนำตัวขึ้นศาลทหารเพื่อขออนุมัติฝากขังครั้งที่ 1 เป็นเวลา 12 วัน ซึ่งศาลอนุมัติ จากนั้นได้นำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ปรากฏว่า หลังครบกำหนดฝากขังครั้งที่ 1 พนักงานสอบสวนได้นำตัวนายจาตุรนต์ไปขออำนาจศาลทหารฝากขังครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. โดยให้เหตุผลว่า ยังสอบพยานบุคคล 4 ปากไม่แล้วเสร็จ รวมถึงการตรวจสอบพยานหลักฐาน คลิปคำแถลงที่นายจาตุรนต์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ซึ่งต้องรอผลการตรวจสอบจากกองพิสูจน์หลักฐานกลาง และการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม
       
        ด้านนายจาตุรนต์ได้ขอคัดค้านการฝากขังครั้งที่ 2 โดยอ้างว่า พนักงานสอบสวนสามารถตรวจสอบพยานให้เสร็จได้ในการฝากขังครั้งแรก 12 วัน และว่า ตนมีอาชีพนักการเมือง ไม่มีประวัติทางอาชญากรรมแน่นอน ด้านศาลอนุญาตให้ฝากขังครั้งที่ 2 เป็นเวลา 12 วัน ระหว่างวันที่ 9-20 มิ.ย. อย่างไรก็ตาม นายนรินพงษ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย และอดีตทนายความกลุ่ม นปช.ในฐานะทนายความของนายจาตุรนต์ ได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวนายจาตุรนต์ทันที โดยให้เหตุผลว่า เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ต้องหาจะได้ตามหลักนิติธรรม พร้อมยืนยันนายจาตุรนต์ไม่หลบหนีและพร้อมสู้คดี ด้านศาลทหารพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยตีราคาประกัน 4 แสนบาท พร้อมห้ามออกนอกประเทศเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล รวมทั้งห้ามชุมนุมทางการเมืองหรือก่อให้เกิดความไม่สงบด้วยวาจาหรือวิธีอื่น
       
        ทั้งนี้ ระหว่างที่นายจาตุรนต์ถูกคุมขัง ได้มีการเผยแพร่เอกสารทางโซเชียลมีเดียโดยอ้างว่าเป็นจดหมายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ส่งถึงนายจาตุรนต์ โดยเนื้อหาแสดงความเป็นห่วงนายจาตุรนต์ที่ถูกคุมขัง อย่างไรก็ตามบุคคลใกล้ชิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยืนยันว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้เขียนจดหมายฉบับดังกล่าว พร้อมคาดว่าเป็นการกระทำของผู้ไม่หวังดี
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า ได้มีความเคลื่อนไหวของนายจักรภพ เพ็ญแข แกนนำ นปช.และผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบัน ที่พยายามตั้งองค์กรพลัดถิ่นในต่างประเทศเพื่อต่อต้านการรัฐประหารในไทย โดยเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. เว็บไซต์แคมโบเดียเดลี รายงานโดยอ้างการเปิดเผยของนายจักรภพ ที่ให้สัมภาษณ์ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชาเมื่อวันที่ 29 พ.ค.ว่า กลุ่มนักเคลื่อนไหวเสื้อแดงเตรียมจัดตั้งองค์กรพลัดถิ่นเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารในไทยภายในเดือน มิ.ย. โดยจะมีสำนักงานอยู่ในประเทศตะวันตก และจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้
       
        นายจักรภพ ยังบอกด้วยว่า หากองค์กรพลัดถิ่นได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ก็จะเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นรัฐบาลพลัดถิ่นโดยอัตโนมัติ และว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับเจ้าหน้าที่ชาติตะวันตกจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับแผนการดังกล่าว คาดว่าตนจะได้รับตำแหน่งเลขาธิการใหญ่องค์กรพลัดถิ่น ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะไม่มีบทบาทโดยตรง นายจักรภพ ยังเผยในเวลาต่อมา(4 มิ.ย.) ว่า องค์กรพลัดถิ่นจะประกอบไปด้วยบุคคลในคณะรัฐมนตรี อดีตสมาชิกรัฐสภา ผู้นำคนเสื้อแดง และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยคนเหล่านี้จำนวนหนึ่งได้ออกมาอยู่นอกประเทศแล้ว และได้ร่วมมือกัน ทั้งนี้ นายจักรภพ ยังได้ส่งสัญญาณดันนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ไม่ยอมเข้ารายงานตัวต่อ คสช.ให้เป็นผู้นำองค์กรพลัดถิ่นที่จะจัดตั้งขึ้นด้วย
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า การเตรียมจัดตั้งองค์กรพลัดถิ่นในประเทศตะวันตกของนายจักรภพ มีขึ้นหลังจากสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งเป็นพันธมิตรกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ออกมายืนยันว่า กัมพูชาจะไม่ยอมให้ พ.ต.ท.ทักษิณและผู้สนับสนุนใช้กัมพูชาเป็นฐานในการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น พร้อมแนะให้ พ.ต.ท.ทักษิณรอจนกว่าจะมีการเลือกตั้งตามที่รัฐบาลทหารของไทยได้ให้คำมั่นไว้
       
       3. “พล.อ.อ.ประจิน” สรุปโรดแมป ศก.ชง คสช.เคาะ 7 แผนเร่งด่วน ประกันภัยข้าว-คงแวต 7% พร้อมสั่งตรึงราคา LPG-ดีเซล!

       เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ และรองหัวหน้า คสช.ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ ได้เป็นประธานการประชุมจัดทำโรดแมปเศรษฐกิจร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง หลังประชุม พล.อ.อ.ประจิน เผยว่า เบื้องต้นมีพันธกิจสำคัญ 4 ประการ คือ การรักษาวินัยการเงินการคลัง การใช้พลังงานทดแทน การเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการนำประเทศเข้าสู่ประชาคมอาเซียน(เออีซี)
       
       นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบให้เดินหน้าโครงการเร่งด่วน 7 โครงการ ซึ่งต้องเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เห็นชอบอีกครั้ง ประกอบด้วย 1.โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2557 2.โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานประเทศด้านไฟฟ้า รถไฟ และถนน วงเงินรวม 63,096 ล้านบาท 3.พัฒนาเศรษฐกิจชายแดน ทั้งมาเลเซีย ลาว พม่า ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ 4.ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกับเอสเอ็มอีและโอท็อป 5.โครงการที่อยู่อาศัย โดยให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ลูกค้าชั้นดีของธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) วงเงินไม่เกิน 1.5 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปีแรก 4.125% 6.มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ 7.ปฏิรูประบบภาษี เบื้องต้นให้คงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) ที่ 7% ต่อไปอีก 1 ปี ส่วนการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ มอบหมายให้ปลัดกระทรวงการคลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง
       
        สำหรับมาตรการด้านพลังงานนั้น ที่ประชุมได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงพลังงานชี้แจงต่อผู้ค้าปลีกทุกรายให้คงราคาก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) ให้อยู่ในราคา ณ วันที่ 31 พ.ค.2557 จนกว่าจะมีการหารือเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพลังงานทั้งระบบอีกครั้ง และให้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร จนกว่าจะมีการพิจารณาใหม่
       
        ด้านนางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้เชิญผู้เกี่ยวข้อง ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมด้านการค้า รวมทั้งผู้เผลิตและจำหน่ายสินค้าประมาณ 70 รายประชุมหารือเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.เพื่อขอความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้าต่อไปอีก 6 เดือน(มิ.ย.-พ.ย.2557) โดยเอกชนตอบรับให้ความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้า พร้อมรับปากจะบริหารจัดการไม่ให้สินค้าขาดและคุณภาพต่ำลง เพื่อช่วยลดค่าครองชีพประชาชนตามนโยบายของ คสช.
       
       นางศรีรัตน์ เผยด้วยว่า ผู้ผลิตรายใหญ่ทั้งสหพัฒน์ และยูนิลีเวอร์ ยืนยันไม่ขึ้นราคาสินค้าต่อเนื่อง ขณะที่ห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัส บิ๊กซี และท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งมีสาขารวมกัน 306 สาขา ก็ตอบรับให้ความร่วมมือในการตรึงราคาอาหารปรุงสำเร็จ(จานด่วน) ต่อเนื่อง 6 เดือนเช่นกัน โดยเมนูอาหาร 10 รายการยอดนิยม กำหนดขายไม่เกินเมนูละ 35-40 บาท พร้อมกันนี้ทั้ง 3 ห้างจะจัดเมนูอาหารธงฟ้าขายไม่เกิน 30 บาทในฟู้ดคอร์ดด้วย
       
       4. ธ.ออมสิน ชนะประมูลปล่อยกู้จ่ายจำนำข้าว 5 หมื่นล้าน เตรียมร่วมประมูลอีก 4 หมื่นล้าน ด้าน ธ.ก.ส.คาด จ่ายเงินชาวนาได้หมดภายใน 20 มิ.ย.!

       เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ที่กระทรวงการคลัง สำนักบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) ได้จัดให้มีการเปิดซองประมูลเงินกู้จำนำข้าววงเงิน 5 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) จ่ายให้ชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวที่ค้างจ่าย 9 หมื่นล้านบาท โดย ธ.ก.ส.ได้นำสภาพคล่องของธนาคารจ่ายไปก่อน 4 หมื่นล้านบาท ระหว่างรอเงินกู้จาก สบน.
       
        ทั้งนี้ หลังเปิดซองประมูล น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการ สบน.เผยว่า มีสถาบันการเงินยื่นปล่อยกู้ถึง 12 แห่ง วงเงินยื่นประมูลรวม 1.45 แสนล้านบาท ทำให้ดอกเบี้ยที่ยื่นเสนอเข้ามาใกล้เคียงกันมาก โดยผู้ชนะการประมูลคือ ธนาคารออมสิน ได้วงเงินไปทั้งหมด 5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเสนอดอกเบี้ยต่ำสุดที่ 2.1792% ถือเป็นดอกเบี้ยที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เท่าที่เคยจัดประมูลเงินกู้มา และต่ำกว่าดอกเบี้ยพันธบัตร 3 ปีในขณะนี้ที่อยู่ระดับ 2.45% โดยกำหนดเบิกเงินกู้งวดแรก 3 หมื่นล้านบาทในวันที่ 6 มิ.ย. และงวดที่ 2 จำนวน 2 หมื่นล้านบาท ในวันที่ 13 มิ.ย.
       
        น.ส.จุฬารัตน์ เผยด้วยว่า “สบน.เตรียมเปิดประมูลเงินกู้อีก 4 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมาจ่ายคืนให้ ธ.ก.ส.ในวันที่ 12 มิ.ย. คาดว่าจะได้รับความสนใจอย่างแน่นอน และยังกำหนดอายุเงินกู้ไว้ที่ 3 ปีเช่นเดิม”
       
        ขณะที่นายชัชพล กาญจนกูล รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เผย(5 มิ.ย.)ว่า ธนาคารจะร่วมประมูลวงเงินกู้จำนำข้าวที่เหลืออีก 4 หมื่นล้านบาท หลังจากที่ชนะประมูลรอบแรกและได้วงเงินไปทั้งหมด 5 หมื่นล้านบาท พร้อมคาดว่า ดอกเบี้ยครั้งนี้น่าจะประมูลอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นตลาดกรุงเทพ(BIBOR) 6 เดือนเหมือนเดิม อย่างไรก็ตามจะเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาว่าจะยื่นอัตราดอกเบี้ยเดียวทั้งหมด 4 หมื่นล้านเลยหรือไม่ หรือจะแบ่งวงเงินกู้เป็นหลายวง เพื่อเฉลี่ยอัตราดอกเบี้ย และว่า ขณะนี้ธนาคารมีสภาพคล่องถึง 2.5 แสนล้านบาท โดยรวมที่ปล่อยกู้รอบแรกแล้ว 5 หมื่นล้านบาท
       
        ด้านนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง และหัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน เผย(6 มิ.ย.)ว่า กระทรวงได้ออกหนังสือเชิญสถาบันการเงินของรัฐและเอกชน 32 แห่ง เพื่อจัดหาเงินกู้และค้ำประกันให้กับ ธ.ก.ส.ภายใต้โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 เพิ่มเติมอีก 4 หมื่นล้านบาท อายุเงินกู้ 3 ปีนับจากวันเบิกเงินกู้ ใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นตลาดกรุงเทพ 6 เดือน โดยให้สถาบันการเงินยื่นซองประมูลวันที่ 12 มิ.ย.นี้ และส่งมอบเงินกู้ทั้งหมดภายในวันที่ 19 มิ.ย.
       
        ส่วนความคืบหน้าการจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนานั้น เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส.เผยว่า ธนาคารได้ทยอยจ่ายเงินให้ชาวนาไปแล้ว 4.69 แสนราย วงเงิน 4.78 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ ธ.ก.ส.ได้สำรองเงินสภาพคล่องเพิ่มเติมอีก 7.86 พันล้านบาท จากก่อนหน้านี้ที่นำสภาพคล่องมารองรับการดำเนินการแล้วกว่า 4 หมื่นล้านบาท ระหว่างที่รอรับเงินจากกระทรวงการคลังที่จะกู้มาให้ ธ.ก.ส. โดยกระทรวงการคลังจะทยอยส่งมอบเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. ล็อตแรกวงเงิน 3 หมื่นล้านในวันที่ 6 มิ.ย. และล็อตที่ 2 วงเงิน 2 หมื่นล้านในวันที่ 13 มิ.ย. พร้อมคาดว่า ธนาคารจะจ่ายเงินให้ชาวนาที่ค้างอยู่ทั้งหมดกว่า 8.3 แสนราย วงเงิน 9.24 หมื่นล้านบาทได้ครบทั้งหมดภายในวันที่ 20 มิ.ย. ซึ่งเร็วกว่าที่คาดไว้เดิม 22 มิ.ย. เนื่องจากธนาคารเร่งจ่ายเงินให้ชาวนาทั้งกลางวันและกลางคืน


ASTVผู้จัดการออนไลน์    8 มิถุนายน 2557