ผู้เขียน หัวข้อ: ปฏิวัติน้ำมันพืช (ตอนที่ 15-16): เปิดรายงานสำคัญ การฆ่าเชื้อโรคด้วยน้ำมันมะพร้าว  (อ่าน 2049 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9785
    • ดูรายละเอียด
นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากว่าในยุคเมื่อร้อยกว่าปีก่อนหลายชนชาติในโลกนี้ได้ใช้น้ำมันมะพร้าวในการักษาโรคได้โดยที่ระบบการสื่อสารไม่มากเท่านี้ แต่ในช่วงหลังที่มีงานวิทยาศาสตร์รองรับทำให้เราได้เข้าใจมากขึ้นด้วยว่า น้ำมันมะพร้าวมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรคในร่างกายเราได้ด้วย
       
        เชื้อก่อโรคมีหลายประเภทอยู่ในกลุ่มจุลินทรีย์ ได้แก่ แบคทีเรีย ราและยีสต์ ไวรัส โปรโตซัว ส่วนปรสิต (เช่น พยาธิ) นั้นแม้จะไม่จัดอยู่ในกลุ่มจุลินทรีย์เพราะมองด้วยตาเปล่าเห็นแต่ก็เป็นสาเหตุของโรคที่เราจะกล่าวต่อไปนี้ด้วยเช่นกัน
       
        เชื้อก่อโรคเหล่านี้ล้วนแล้วมีอยู่ในร่างกายเราทุกคน แต่ที่เราไม่เป็นโรคนั้นก็เพราะมีหลายสาเหตุด้วยกัน สาเหตุสำคัญเพราะร่างกายเรามีภูมิคุ้มกันหลายด้าน เช่น
       
          1. เซลล์เม็ดเลือดขาวที่คอยวิ่งไล่และทำลายเชื้อโรคที่อยู่ในร่างกายเรา
        2. เพราะสภาพในกระเพาะอาหารมีความเป็นกรดแรงมาก (ค่า pH ประมาณ 1.5 - 2.0) จึงสามารถทำลายเชื้อก่อโรคได้ไปเป็นจำนวนมาก
        3. เรามีผิวหนังที่มีน้ำมันซึ่งมีภาวะความเป็นกรดอ่อนๆ (ค่า pH ประมาณ 5.4) จึงสามารถป้องกันเชื้อโรคได้
        4. ร่างกายเรามีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายที่คอยทำลายเชื้อโรคที่แปลกปลอมเข้ามาในร่างกายเรา
       
        ในประเด็นหลังสุดคือร่างกายเรามีจุลินทรีย์ชนิดดีด้วยนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่น แบคทีเรียประเภทที่ผลิตกรดแลคติก (Lactic Acid Bacteria) เช่น แลคโตบัลซีลัส (Lactobacillus) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่พบในผลิตภัณฑ์หมัก แบคทีเรียเหล่านี้เป็นแบคทีเรียแกรมบวก (gram positive bacteria) หมายถึงเป็นกลุ่มแบคทีเรียที่มีผนังเซลล์หนาของ pepticoglycan ชั้นเดียว ผนังเซลล์นี้ไม่มีชั้นไขมันมีความทนทานสูง ปกติจะคอยควบคุมไม่ให้เชื้อยิสต์ แคนดิด้า เจริญเติบโตมากเกินไปทั้งในช่องคลอดซึ่งจะทำให้ช่องคลอดเกิดการติดเชื้อ และป้องกันไม่ให้เชื้อยิสต์ แคนดิด้า เจริญเติบโตลำไส้มากเกินไปจนเกิดภาวะลำไส้อักเสบหรือลำไส้รั่ว
       
        นอกจากนี้กลุ่มแบคทีเรียแลคติก ดังตัวอย่างเช่น แลคโตบัลซิลลัส ยังสามารถสร้าง แบคทีริโอซิน (Bacteriocin) ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ชนิดอื่นได้ด้วย หมายความว่านอกจากจะควบคุมยิสต์ก่อโรค ควบคุมจุลินทรีย์ชนิดอื่นได้แล้ว ยังสามารถทำให้ตัวเองเจริญเติบโตขึ้นด้วย
       
        ปกติแล้วแลคโตบัลซิลลัสมีความทนทานสูงทั้งต่อความร้อนและความดัน แต่กลับมีความเปราะบางต่อยาปฏิชีวนะหลายตัว เมื่อคนเจ็บป่วยแล้วกินยาปฏิชีวนะนอกจากจะฆ่าเชื้อแบคทีเรียก่อโรคแล้ว ฤทธิ์ของยายังไปทำลายเชื้อแบคทีเรียที่ดีเหล่านี้ไปด้วย ผลก็คือเชื้อยีสต์ แคนดิด้าในลำไส้จะเจริญเติบโตขึ้น เพราะยาปฏิชีวนะทำลายได้เฉพาะแบคทีเรียไม่ได้ทำลายยีสต์ เมื่อยีสต์แคนดิด้ามีจำนวนมากก็จะทำให้เกิดภาวะลำไส้รั่วคือทำให้สารอาหารที่โมเลกุลขนาดใหญ่เกินถูกลำไส้ดูดซึมเข้าไปและกลายเป็นสิ่งผิดปกติแปลกปลอมจนภูมิต้านทานเข้าโจมตีได้ทั่วร่างกาย
       
        ด้วยเหตุผลนี้คนยุคนี้ที่กินยาปฏิชีวนะมากจึงเป็นโรคภูมิแพ้กันมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก !!!
       
        มิพักต้องพูดถึงว่าคนที่กินยาปฏิชีวนะมากๆ ก็อาจจะทำให้เชื้อดื้อยาเพราะมีเชื้อที่หลุดรอดพ้นจากยาปฏิชีวนะและพัฒนากลายพันธุ์ให้แข็งแกร่งขึ้น ก็ยิ่งทำให้เราป่วยได้ง่ายขึ้น รักษายากขึ้นทุกวัน
       
        น้ำมันมะพร้าวดูจะเป็นอาหารตามธรรมชาติที่งานวิจัยในช่วงหลังได้ระบุว่ามีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรคได้ โดยไม่ทำลายจุลินทรีย์ชนิดดี และไม่ได้มีสารเคมีตกค้าง หรือทำให้เชื้อโรคดื้อยา
       
        ธรรมชาติจัดสมดุลได้อย่างน่าอัศจรรย์ เพราะเชื้อโรคมักเจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนชื้นใกล้เส้นศูนย์สูตร ธรรมชาติก็บันดาลให้เกิดต้นมะพร้าวที่เจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนชื้นในบริเวณเส้นศูนย์สูตรเช่นกัน โดยที่น้ำมันมะพร้าวก็มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อได้
       
        จากงานวิจัยของ Enig M.G. ที่ได้นำเสนอรายงาน 3 ชิ้น ได้แก่การประชุมประชาคมมะพร้าวเอเชียและแปซิฟิก The Asian and Pacific Coconut Community (APCC) ครั้งที่ 36 ในคราวประชุมที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียเมื่อปี พ.ศ. 2542 และรวมถึงการนำเสนอรายงานในปี พ.ศ. 2543 ในหัวข้อ Know Your Fats: The Complete Primer for Understanding the Nutrition of Fats, Oils and Cholesterol ทีมลรัฐแมรี่แลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และการนำเสนอในงานสัมมนาน้ำมันลอริก AVOC ในหัวข้อ "Health and Nutritional Benefit from Coconut Oil: An Important Functional Food for the 21 Century. ณ เมืองโอจิมินห์ ประเทศเวียดนามเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2539 ได้พบว่า:
       
        "สารที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อก่อโรคในน้ำมันมะพร้าว เป็นกรดไขมันอิ่มตัวที่มีโมเลกุลสายปานกลาง ได้แก่ กรดลอริก (Lauric acid) ซึ่งมีคาร์บอน 12 ตัว มีอยู่ในน้ำมันมะพร้าว 48-53% กรดคาปริก (Carpric acid) มีคาร์บอน 10 ตัว มีอยู่ในน้ำมันมะพร้าว 7% กรดคาปริลิก (Caprylic acid) มีคาร์บอน 8 ตัว ซึ่งมีอยู่ในน้ำมันมะพร้าวประมาณ 8% และกรดโปรอิก (Carproic acid) มีคาร์บอน 6 ตัว มีอยู่ในน้ำมันมะพร้าวประมาณ 0.5%"
       
        โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "กรดลอริก" นั้นซึ่งเป็นกรดไขมันสายปานกลางที่มีอยู่ในน้ำมันมะพร้าวเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นกรดไขมันชนิดเดียวกันกับที่อยู่ในน้ำนมแม่ประมาณ 3% - 18% มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อก่อโรคหลายชนิด และรวมถึงกรดอีกหลายชนิดในน้ำมันมะพร้าวด้วย รวมถึงโรคเอดส์
       
        จากรายงานของนายแพทย์ Conrado S. Dayrit ในการประชุม Cocotech ครั้งที่ 38 ที่เมือง เชนไน ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 ในหัวข้อ "Coconut Oil in Health and Disease: Its and Monolauri's Potential as Cure for HIV/AIDS."พบว่า
       
        "กรดลอริกเมื่อบริโภคเข้าไปแล้วจะเปลี่ยนเป็นสาร "โมโนลอริน" และองค์ประกอบอื่นๆในน้ำมันมะพร้าว จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันและมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อก่อโรคด้วย ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส และโปรโตซัว"
       
        สิ่งที่น่าสนใจที่สุดในงานรายงานครั้งนั้นของนายแพทย์ Conrado S. Dayrit ได้รายงานเกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วย 15 ราย ที่มีอายุระหว่าง 22 ถึง 38 ปี ซึ่งได้รับเชื้อ HIV โดยที่ผู้ป่วยโรคเอดส์กลุ่มตัวอย่างเหล่านี้ไม่เคยได้รรับการรักษาโรคมาก่อน หรือไม่มีฐานะที่จะรักษาตัวเองได้ โดยแบ่งออกมาเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
       
        กลุ่มแรก   5 ราย รับประทานโมโนลอรินระดับสูง 7.2 กรัม (9 แคปซูล) รับประทาน 3 เวลาทุกวัน หรือประมาณ 22 กรัมต่อวัน
        กลุ่มที่สอง 5 ราย รับประทานโมโนลอรินในระดับต่ำ 2.4 กรัม (3 แคปซูล) รับประทาน 3 เวลา หรือประมาณ 7.2 กรัมต่อวัน
        กลุ่มที่สาม   ดื่มน้ำมันมะพร้าวโดยตรง 15 มิลลิลิตร 3 เวลาทุกวัน หรือประมาณ 45 มิลลิลิตรต่อวัน ซึ่งเทียบปริมาณโมโนลอรินในระดับเดียวกันกับกลุ่มแรก เพียงแต่รับประทานผ่านน้ำมันมะพร้าว
       
        ผลการตรวจนับ CD4 และ CD8 ใน "เดือนที่ 3" ปรากฏผลทั้ง 3 กลุ่มดังนี้
       
        กลุ่มแรก กลุ่มที่รับประทานโมโนลอรินระดับสูง 2 รายพบว่ามีเชื้อลดลง
        กลุ่มที่สอง กลุ่มที่รับประทานโมโนลอรินระดับต่ำ 2 รายพบว่ามีเชื้อลดลง
        กลุ่มที่สาม กลุ่มที่รับประทานน้ำมันมะพร้าว 3 รายมีเชื้อลดลง
       
        ผลปรากฏว่าการรักษาด้วยวิธีการนี้มีผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น 7 รายจาก 15 ราย ในการทดลองนี้มีผู้ป่วยรายหนึ่งในกลุ่มตัวอย่างเมื่อตรวจแล้วไม่สามารถตรวจพบเชื้อได้จึงได้คัดออกจากการสำรวจครั้งนี้ และได้ดำเนินการต่อไป "เดือนที่ 6" ผลตรวจเลือดพบดังนี้
       
        กลุ่มแรก กลุ่มที่รับประทานโมโนลอรินระดับสูง 2 รายจาก 4 รายพบว่ามีเชื้อลดลง
        กลุ่มที่สอง กลุ่มที่รับประทานโมโนลอรินระดับต่ำ 4 รายจาก 5 ราย พบว่ามีเชื้อลดลง
        กลุ่มที่สาม กลุ่มที่รับประทานน้ำมันมะพร้าว 3 รายจาก 5 รายมีเชื้อลดลง
       
        ผ่านไป 6 เดือน จากผลการตรวจเลือดพบว่า ผู้ป่วย 14 ราย มีเชื้อลดปริมาณลง 9 ราย และมีเชื้อเพิ่มขึ้น 5 ราย แต่พบว่ามี 3 รายที่มีการตรวจเชื้อแล้วพบว่าลดลงไปอย่างมีนัยยะสำคัญ (CD4 น้อยกว่า 200) คือกลุ่มที่ใช้โมโน
       ลอรินในระดับต่ำ 2 ราย และดื่มน้ำมันมะพร้าวโดยตรง 1 ราย
       
        นายแพทย์ Conrado S. Dayrit ได้สรุปในรายงานครั้งนั้นว่าน้ำมันมะพร้าวมีผลการต้านและลดเชื้อ HIV ในผู้ป่วยเอดส์ ผลการตรวจครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่โมโนลอรินที่ได้จากกรดลอลิกในน้ำมันมะพร้าวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผลลัพธ์ที่ได้จากน้ำมันมะพร้าวโดยตรงด้วย การศึกษาครั้งนี้ยังชัดด้วยว่าการเผาผลาญให้เป็นในรูป โมโนกลีเซอไรด์ ได้ทั้งจากกรดคาปริลิก (Caprylic acid) กรดคาปริก (Carpric acid) กรดลอริก (Lauric acid) ซึ่งมีอยู่ในน้ำมันมะพร้าว ซึ่งมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อก่อโรคได้

ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ASTVผู้จัดการรายวัน    31 มกราคม 2557

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9785
    • ดูรายละเอียด
นายแพทย์ Conrado S. Dayrit ชาวฟิลิปินส์ซึ่งได้ทดลองและมีงานวิจัยเกี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวหลายชิ้น โดยเฉพาะการฆ่าเชื้อ HIV ของผู้ป่วยโรคเอดส์นั้น ได้อธิบายเอาไว้ในการประชุม Cocotech ครั้งที่ 38 ที่เมือง เชนไน ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 ในหัวข้อ "Coconut Oil in Health and Disease: Its and Monolauri's Potential as Cure for HIV/AIDS." ว่ากรดลอริกซึ่งมีมากในน้ำมันมะพร้าวประมาณ 48-53 เปอร์เซ็นต์นั้น มีอยู่ในน้ำนมแม่ประมาณ 3-18 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะสร้างภูมิคุ้มกันกับทารกในช่วง 6 เดือนแรก ที่ระบบภูมิคุ้มกันยังไม่พัฒนา
       
        ส่วนความสำคัญในเรื่องการฆ่าเชื้อนั้น นายแพทย์ Conrado S. Dayrit ยังระบุเรื่องสำคัญว่าโมโนลอรินที่ได้จากกรดลอริกน้ำมันมะพร้าวนั้นจะฆ่าจุลินทรีย์ที่มีไขมันเป็นเยื่อหุ้มเซลล์ทั้งแบคทีเรียและไวรัสได้ด้วย จึงสามารถลดปริมาณไวรัสในผู้ป่วย HIV ได้ ซึ่งดูเหมือนว่าความเห็นนี้จะสอดคล้องกับรายงานของ Macallan และคณะในงานวิจัยเมื่อปี พ.ศ. 2536 ในหัวข้อ Prospective analysis of patterns of weight change in stage IV human immunodeficiency virus infection. ตีพิมพ์ใน Amer. J. Clin. Nutr. 58:417-24 ที่ระบุว่า "น้ำมันมะพร้าวสามารถฆ่าไวรัสได้อีกหลายชนิด เช่น เชื้อคางทูม เชื้อเริม โรคปากเท้าเปื่อย โรคซาร์ และโรคไข้หวัดนก"

ด็อกเตอร์ Mary Gertrude Enig นักโภชนาการแห่งมลรัฐแมรี่แลนด์ สหรัฐอเมริกา ที่ระบุว่าน้ำมันมะพร้าวมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อได้
       สอดคล้องกับ ด็อกเตอร์ Mary Gertrude Enig ผู้เชี่ยวชาญโภชนาการแห่งมลรัฐแมรี่แลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ทำงานค้นคว้าวิจัยทางวิชาการมาอย่างมากมาย ได้โต้แย้งเพื่อทำลายมายาคติเกี่ยวกับไขมันอิ่มตัว ซึ่งมีความเข้าใจผิดว่าทำให้เกิดโรค และรณรงค์ให้คนหันมาบริโภคไขมันอิ่มตัวโดยเฉพาน้ำมันมะพร้าวและเนย ได้ทำงานวิจัยมาหลายชิ้นโดยระบุว่า น้ำมันมะพร้าวนอกจากจะสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายแล้ว ยังช่วยฆ่าเชื้อโรคทั้งที่เป็นแบคทีเรีย ราและยีสต์ โปรโตซัว รวมถึงไวรัสด้วย เช่น ฆ่าแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุของโรคกระเพาะ ไซนัส โรคทางเดินปัสสาวะ โรคฟันผุ โรคปอดบวม โรคหนองใน สามารถฆ่าเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคกลาก เช่น ฮ่องกงฟู๊ท ฆ่ายิสต์ที่เป็นสาเหตุของโรคตกขาวในช่องคลอด รวมถึงฆ่าเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดใหญ่ คางทูม เริม หวัดนก ตับอักเสบซี โรคซาร์ และโรคเอดส์
       
        ข่าวดียิ่งกว่านั้นคือสำหรับคนที่เป็นโรคภูมิแพ้เพราะยิสต์ชนิด แคนดิด้ามีปริมาณมากเกินกว่าแลคโตบัลซิลลัส ซึ่งเป็นผลทำให้ลำไส้อักเสบ และเป็นภาวะลำไส้รั่ว อันเป็นสาเหตุของคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ในยุคนี้มากมายนั้น ปรากฏว่ากรดโมโนลอรินมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อยิสต์เหล่านี้ด้วย
       
        เมื่อมาถึงจุดนี้จึงกลับมาเป็นเหตุผลว่าทำไมน้ำมันมะพร้าวจะฆ่าจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อลำไส้ในร่างกายเรา ด้วยหรือไม่
       
        ตัวอย่างเช่น แบคทีเรียก่อโรคที่มีเปลือกหุ้มเป็นไขมัน กลุ่มนี้เรียกว่า "กลุ่มแบคทีเรียแกรมลบ" (Gram negative bacteria) ผนังเซลล์บาง ชั้นในเป็นชั้นบางของ peptidoglycan ส่วนชั้นนอกเป็นชั้นไขมันภายนอกเซลล์ มี lipopolysacharide ซึ่งเป็นสารพิษ (endotoxin) แบคทีเรียกลุ่มนี้มีแบคทีเรียที่ก่อโรค (Pathogen) หลายชนิด เช่น Salmonella , Shigella, Vibrio, Yersinia, Campylobacter jejuni, รวมถึงกลุ่ม Coliform bacteria หลายชนิด เช่น Citrobacter, Escherichia, Hafnia, Klebsiella, Serratia, Escherichia แบคทีเรียเหล่านี้มีเปลือกหุ้มเป็นไขมันและก่อโรคทั้งสิ้น กรดโมโนลอรินที่ได้จากกรดลอริกในน้ำมันมะพร้าวที่ทำลายเฉพาะจุลินทรีย์ที่มีเปลือกหุ้มเป็นไขมัน จึงสามารถตอบโจทย์ในการฆ่าเชื้อก่อโรคเหล่านี้ได้
       
        ในขณะที่แบคทีเรียชนิดดีซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแบคทีเรียแกรมบวก (Gram positive bacteria) เช่น แบคทีเรียที่สร้างกรดแลกติก เช่น แลคโตบัลซิลลัส ( Lactobacillus) อยู่ในลำไส้เล็ก นั้น มีเปลือกหุ้มเป็นผนังเซลล์หนา โดยเป็นชั้นหนาของ pepticoglycan ชั้นเดียวโดยไม่มีชั้นไขมัน ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมยิสต์และเชื้อราในลำไส้ไม่ให้มีมากเกินไป ตลอดจนช่วยระบบย่อย สร้างภูมิคุ้มกัน ผลิตเอนไซม์ที่จำเป็นต่อร่างกาย ปรับสมดุลแก้อาการท้องผูกและท้องเสีย ขจัดพิษออกจากร่างกาย ปกป้องเยื่อบุทางเดินอาหาร ป้องกันไม่ให้จุลินทรีย์ก่อโรคเกาะติดลำไส้และหลังสารพิษออกมา สร้างกรดแลคติคที่ช่วยต่อต้านจุลชีพที่ให้โทษต่อร่างกาย เช่น เชื้อซัลโมเนลา (Salmonellatyphidie) อี โคไล ( E. Coli) โคลินแบคทีเรีย( Corynebacteria diphtheriae) ทำให้เชื้อเหล่านี้ไม่สามารถทำอันตรายต่อร่างกายได้ และช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้ในเด็ก ป้องกันช่องคลอดอักเสบจากเชื้อรา ตลอดจนยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งบางชนิด รวมถึงมะเร็งลำไส้ และช่วยลดระดับไขมันในเส้นเลือดด้วย

       แต่คำถามมีอยู่ว่าน้ำมันมะพร้าวจะลดปริมาณของแลคโตบัลซิลลัสที่เป็นประโยชน์หรือไม่ ปรากฏพบในงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าโมโนลอรินมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อก่อโรคที่แม้จะไม่ได้มีเปลือกหุ้มไขมันด้วย แต่เมื่อดูงานวิจัยของ J.J Kabara และคณะในหัวข้อ “The Anti-Carogenic Activity of a Food-Grade Lipid Lauricidin” ระบุว่า
 
      “โมโนลอรินที่ได้จากกรดลอริกในน้ำมันมะพร้าวไม่ได้มีผลต่อปริมาณแลคโตบัลซิลลัส”
        ในขณะที่แบคทีเรียที่เป็นประโยชน์อีกกลุ่มหนึ่งคือ บิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) แบคทีเรียชนิดนี้อาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ ก็อยู่ในกลุ่มแบคทีเรียแกรมบวกเช่นกัน คือไม่ได้มีเปลือกหุ้มเป็นไขมัน ประโยชน์ของแบคทีเรียชนิดนี้คือปรับสมดุลย์ แก้อาการท้องผูกและท้องเสีย แก้ปํญหาภาวะไม่ทนต่อแลคโตสในนมวัว ปกป้องเยื่อบุทางเดินอาหาร ขจัดสารพิษออกจากร่างกาย ป้องกันโรคภูมิแพ้ในเด็ก กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

        จะเห็นได้ว่ายาปฏิชีวนะที่เน้นการทำลายกระบวนการผลิตเอนไซม์ของแบคทีเรียที่อาจทำให้แบคทีเรียชนิดดีตายไปด้วย แต่กลับไม่ทำลายเชื้อไวรัส เชื้อยิสต์ เชื้อรา หรือโปรโตซัว ทำให้ภายในลำไส้ของเรามีจุลินทรีย์ที่ไม่สมดุล และยังอาจทำให้ดื้อยาหากแบคทีเรียหลุดรอดและกลายพันธุ์ ต่างจากการใช้น้ำมันมะพร้าวที่มุ่งทำลายได้ทั้งจุลินทรีย์ที่หุ้มด้วยไขมันและไม่ใช่ไขมัน (ทั้งแกรมบวกหรือแกรมลบที่ก่อโรค) และทำภารกิจมากกว่ายาปฏิชีวนะที่ฆ่าเฉพาะแบคทีเรีย ดังนั้นจึงได้ทำลายจุลินทรีย์ในร่างกายหลายชนิดให้ลดลง ทั้ง ไวรัส แบคทีเรีย ยิสต์ เชื้อรา โปรโตซัว

       และนี่คือเหตุผลว่าทำไมคนในสมัยก่อนทั่วโลกถึงได้ใช้น้ำมันมะพร้าวเป็นยารักษาโรคได้ เพราะนอกจากช่วยทำลายจุลินทรีย์ก่อโรคให้ลดลงโดยองค์รวม

        ในประเด็นนี้มีรายงานยืนยันในปี พ.ศ. 2532 โดย Iassacs และ Thormer ในหัวข้อ The role of milkderived antimicrobial lipids as antiviral and antibacterial agents. ตีพิมพ์ใน Adv Exp Med Biol. 310:159-65 ว่า โมโนลอรินไม่ทำลายเชื้อ Escherichia coli หรือ Salmonella enteritidis แต่กลับทำลายเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ (Hemophilus Influenza) เชื้อ Staphylo-coccus epidermids และเชื้อ Group B gram positive Streptococcus

        ที่น่าสนใจก็คือจากงานวิจัยอีกหลายชิ้นกลับพบว่า การใช้น้ำมันมะพร้าวไม่ทำให้เกิดการดื้อยาและไม่ทำอันตรายต่อระบบในร่างกายของมนุษย์อีกด้วย

        ในช่วงจังหวะที่ดีที่เราทำลายจุลินทรีย์หลายชนิดในร่างกายเราด้วยน้ำมันมะพร้าวแล้ว หากเสริมด้วยการเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ในร่างกายให้ดีด้วย คือกลุ่มโปรไบโอติก เช่น แลคโตบัลซิลลัส ( Lactobacillus) บิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) ด้วยการรับประทานโยเกิร์ตสด (พยายามทำเอง) หรือ น้ำเอนไซม์ที่บ่มเพาะเชื้อแบคทีเรียชนิดดี หรือ รับประทานจุลินทรีย์ในแคปซูล เช่นกลุ่มโปรไบโอติก คราวนี้ก็จะครบถ้วนสมบูรณ์แบบในการป้องกันโรคและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันอย่างสมบูรณ์

        จึงนับว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์อย่างยิ่ง ที่เชื้อก่อโรคหลายชนิดชอบเจริญเติบโตได้ดีในที่มีอากาศร้อนชื้น แต่ธรรมชาติก็สร้างสรรค์ให้มีต้นมะพร้าวมาซึ่งโตได้ดีในเขตร้อนชื้นใกล้เส้นศูนย์สูตรให้น้ำมันมะพร้าวมาเป็นยาฆ่าเชื้อก่อโรคเหล่านี้ได้อย่างลงตัว

ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ASTVผู้จัดการรายวัน    7 กุมภาพันธ์ 2557