ผู้เขียน หัวข้อ: ปฏิวัติน้ำมันพืช (ตอนที่ 12-13-14): ดื่มน้ำมันมะพร้าวแล้วผอมลง  (อ่าน 2877 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9785
    • ดูรายละเอียด
ความจริงสำหรับคนไทยแล้วโรคอ้วนยังถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ในขณะที่หลายคนอาจไม่รู้ว่าความจริงคนที่อ้วนส่วนใหญ่นั้นนอกจากจะตัดประเด็นเรื่องไม่ได้ออกกำลังกายแล้ว ส่วนใหญ่นั้นเป็นเพราะกินน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตมาก (รวมถึงแป้ง, ข้าว, เส้นก๋วยเตี๋ยว) มากเกินไปต่างหาก ถ้าไม่เชื่อใครที่อ้วนลองสักเพียงแค่ 1 สัปดาห์แล้วรับประทานอาหารจำพวก ไขมัน โปรตีน และผักให้มาก งดแป้งและน้ำตาลรวมถึงผลไม้หวานๆด้วย แล้วเสริมด้วยการดื่มน้ำมันมะพร้าวทุกวันตอนเช้า รับรองว่าเห็นผลผอมลงอย่างแน่นอน
       
        นพ.ดร.วิศาล เยาวพงศ์ศิริ ได้เคยเขียนหนังสือเรื่อง "พิชิตโรคอ้วนและเบาหวาน" ได้ศึกษาทั้งในทางการแพทย์และทางชีวเคมีอย่างละเอียด ระบุว่า น้ำตาลเป็นตัวกระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากเซลล์ตับอ่อน ดังนั้นหากเรากินอาหารไร้แป้งและน้ำตาล ก็จะไม่มีการหลังอินซูลิน ร่างกายก็ย่อมไม่สามารถจะสะสามไขมันเพิ่มเติม ทั้งมีการเชื่อมโยงว่าสาเหตุการเกิดโรคอ้วน เบาหวานและไขมันในหลอดเลือดสูง เป็นผลจากการกินอาหารแป้งและน้ำตาลมากเกินไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2531 ดร. จีเอ็ม รีเวน (Dr. GM Reaven) ได้เสนอชื่อกลุ่มอาการนี้ว่า Syndrome X
       
        ผลงานของ นพ.ดร.วิศาล เยาวพงศ์ศิรินั้น เคยรักษาคนที่อ้วนที่สุดในประเทศไทยมาแล้วชื่อนายโกวิท เสริมทรัพย์ (แป้ง) จากน้ำหนัก 352 กิโลกรัมสามารถลดลงไปได้ถึง 200 กิโลกรัม ภายในเวลา 1 ปี 4 เดือน รอบอกเดิมจาก 64 นิ้ว ลดเหลือ 41 นิ้ว เอวจาก 73 นิ้วเหลือ 40 นิ้ว สะโพกจาก 82 นิ้ว เหลือ 48 นิ้ว และต้นขาจาก 42 นิ้ว เหลือ 27 นิ้ว

ปฏิวัติน้ำมันพืช (ตอนที่ 12): ดื่มน้ำมันมะพร้าวแล้วผอมลง และรักษาโรคเบาหวาน ได้อย่างไร?
ภาพ : นายโกวิท เสริมทรัพย์ (แป้ง) ที่ลดน้ำหนักไป 200 กิโลกรัมภายใน 1 ปี 4 เดือน ด้วยการปรับสูตรอาหารใหม่ (ภาพจากหนังสือ "พิชิตโรคอ้วนและเบาหวาน" โดย นพ.ดร.วิศาล เยาวพงศ์ศิริ)
       สูตรอาหารที่ นพ.ดร.วิศาล เยาวพงศ์ศิริ รักษาคนที่อ้วนและเบาหวานนั้นก็คือการลดแป้งและน้ำตาล โดยกินอาหารวันละ 2 มื้อ โดยมื้อเช้าไม่กินอะไรเลย กินเฉพาะมื้อกลางวันและเย็น งดอาหารพวกขนมจุกจิก น้ำหวานทุกประเภท น้ำอัดลม พยายามให้กินผักมากๆ รับประทานอาหารจำพวกโปรตีนให้เพียงพอ และอาหารที่เป็นของทอดก็กินบ้าง ซึ่งผลการรักษาก็เป็นที่น่าพอใจ
       
        เช่นเดียวกับ น.ส.จิงจู แซ่ฉั่ว เคยชนะการประกวดธิดาปุ้มปุ้ย ซึ่งเดิมมีน้ำหนัก 191 กิโลกรัม ใช้วิธีการรักษาด้วยสูตรอาหารแบบเดียวกันเป็นเวลา 1 ปี น้ำหนักลดลงเหลือเพียง 75 กิโลกรัม
       
        เช่นเดียวกันกับโรคเบาหวาน นพ.ดร.วิศาล เยาวพงศ์ศิริ วีธีให้ผู้ป่วยจำกัดแป้งและน้ำตาล (Restricted Carbohydrate Diet) ให้กินผัก โปรตีน ไขมัน และใยพืชให้มากพอจนอิ่ม และจำเป็นต้องให้ผู้ป่วยลดหรืองดยาเบาหวานเพื่อป้องกันเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ (Hypoglycemia) และให้เจาะหาค่าน้ำตาล (DTX) ทั้งก่อนและหลังอาหารเช้า เพื่อเรียนรู้ว่าอาหารใดมีผลต่อค่าน้ำตาลในเลือดน้อยหรือมาก อาหารใดบริโภคได้ และอาหารใดควรหลีกเลี่ยง พบว่าสูตรอาหารนี้ลดระดับน้ำตาลเลือดได้เร็วมาก ทั้งช่วยลดน้ำหนักและไขมันพุงได้ในเร็ววัน
       
        เมื่อรู้ว่าการลดแป้งและหวานจะช่วยทำให้น้ำหนักลดลงแล้ว คราวนี้เราจะมาพิจารณาเสริมด้วยการดื่มน้ำมันมะพร้าวว่าจะช่วยทั้งโรคอ้วนและเบาหวานต่อได้อย่างไร?
       
        คำตอบนี้ค้นหาได้จาก ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา นักเกษตรอาวุโสขององค์การอาหารและเกษตรแห่งองค์การสหประชาชาติ ได้อธิบายอยู่ในหนังสือหลายเล่มว่า น้ำมันมะพร้าว จะช่วยกระตุ้นอัตราการเผาผลาญให้สูงขึ้น หรือที่เรียกว่ากระตุ้นเมแทบอลิซึม (Metabolism) ให้สูงขึ้น เพราะน้ำมันมะพร้าวมีองค์ประกอบของไตรกลีเซอไรด์สายโซ่ปานกลาง (Medium Chain Triglyceride)มากกว่าน้ำมันชนิดอื่น จึงมีขนาดเล็กกว่าโมเลกุลของน้ำมันชนิดอื่นๆ ซึ่งน้ำมันชนิดอื่นส่วนใหญ่เป็นไตรกลีเซอไรด์สายโซ่ปานยาว (น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันหมู น้ำมันข้าวโพด น้ำมันรำข้าว น้ำมันดอกทานตะวัน ฯลฯ) ดังนั้นน้ำมันมะพร้าวจึงถูกย่อยได้รวดเร็วมากส่งไปยังตับและกลายเป็นพลังงานโดยทันที โดยไม่สะสมเป็นอาหารสำรองในรูปของไขมันเหมือนน้ำมันชนิดอื่นๆ
       
        จากการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2530 เมื่อ Crozier G. และคณะ ได้ศึกษาเรื่อง Metabolic effects induced by long-term feeding of medium-chain triglycetides in the rat. คือการทดสอบดูอัตราการเผาผลาญโดยการให้อาหารเป็นไตรกลีเซอไรด์สายยาวเปรียบเทียบกับสายปานกลาง พบว่าหนูที่กินไตรกลีเซอไรด์สายปานกลาง (ซึ่งมีมากในน้ำมันมะพร้าว) จะสะสมไขมันน้อยกว่าหนูที่กินไตรกลีเซอไรด์สายปานกลางถึง 60%
       
        จากการศึกษาในปี พ.ศ. 2539 โดย Dullo และคณะในหัวข้อ Twenty-four-hour energy expenditure and urinary catecholamines of humans consuming low-to-moderates amounts of medium-chain triglycerides: a dose-response study in a human respiratory chamber ตีพิมพ์ใน Eur.J.Clin. Nutr. 50:152-158 ได้ค้นพบว่า ไตรกลีเซอไรด์สายปานกลาง จะไปกระตุ้นกระบวนการเมแทบอลิซึมหรือการเผาผลาญให้สูงขึ้น จึงไปช่วยเพิ่มการใช้แคลอรีของร่างกาย และการกระตุ้นด้วยไตรกลีเซอไรด์สายปานกลางนั้นจะมีอัตราการเผาผลาญแคลอรีต่อเนื่องกันเป็นเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง
       
        การบริโภคน้ำมันมะพร้าวนั้นจะทำให้อัตราการเผาผลาญสูงขึ้น จึงทำให้ร่างกายตัวอุ่นขึ้น (Thermogenesis) โดยอุณหภูมิในร่างกายจะสูงขึ้น ดังนั้นผู้ที่ป่วยเป็นโรคไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ หรือไทยรอยด์ฮอรโมนต่ำแฝง จะมีอาการดีขึ้น
       
        นอกจากนี้น้ำมันมะพร้าวเมื่อให้พลังงานสูงขึ้นมีอัตราการเผาผลาญสูงขึ้น จะทำให้เราเกิดความหิวน้อยลง กินอาหารได้น้อยลง และรู้สึกอิ่มได้นานขึ้น ทำให้เกิดความโหยในแป้งและน้ำตาลน้อยลงด้วย
       
        และเนื่องจากกรดไขมันสายปานกลางในน้ำมันมะพร้าวมีขนาดโมเลกุลที่เล็ก จึงเข้าไปในเซลล์ได้โดยไม่ต้องพึ่งอินซูลินให้เป็นตัวพาเข้าไป ดังนั้นเซลล์ในร่างกายจึงได้รับอาหารโดยไม่ต้องอาศัยอินซูลิน ดังนั้นผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานไม่ว่าจะเป็นเหตุผลมาจากที่ตับอ่อนสร้างอินซูลินไม่เพียงพอ หรือเซลล์ไม่ตอบสนองต่ออินซูลินก็จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป เพราะกรดไขมันสายปานกลางในน้ำมันมะพร้าวจะสามารถผ่านเยื่อเซลล์เข้าไปได้ และยังสามารถเข้าไปยังไมโตคอนเดรีย (Mitochondria) ได้โดยตรง
       
        โดยเฉพาะจากการศึกษา ในปีพ.ศ. 2535 โดย Garfinkel และคณะได้ศึกษาในหัวข้อ "Insulino-tropic Potency of Lauric acid: A Metabolic rational for medium chain fatty acids (MCF) in TPN formulation. ตีพิมพ์ใน J.Surg.Res. 52:328-3 พบว่าน้ำมันมะพร้าวช่วยปรับระดับน้ำตาลในเลือดได้ เพราะมันช่วนให้มีการสร้างอินซูลิน และตอบสนองของเซลล์ต่ออินซูลินได้มากขึ้น
       
        สรุปว่าลดอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต แป้ง น้ำตาล ของหวาน และดื่มน้ำมันมะพร้าวเพิ่มขึ้น จะช่วยทำให้คนที่อ้วนผอมลง และเบาหวานลดลงได้!!!
       

ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ASTVผู้จัดการรายวัน    3 มกราคม 2557

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9785
    • ดูรายละเอียด
จากความเดิมในตอนที่แล้วที่หลายคนสงสัยว่าเหตุใดผมจึงได้นำเสนอผลงานของ นพ.ดร.วิศาล เยาวพงศ์ศิริ ที่ได้เสนอการลดน้ำหนักตัวและโรคเบาหวานว่าให้งดแป้งและน้ำตาล แต่ผลงานในการนำเสนอการลดความอ้วนและรักษาโรคเบาหวานนั้น นพ.ดร.วิศาล เยาวพงศ์ศิริ ไม่น่าจะสัมพันธ์กับการนำเสนอของ ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา นักเกษตรอาวุโสขององค์การอาหารและเกษตรแห่งองค์การสหประชาชาติที่สนับสนุนการบริโภคน้ำมันมะพร้าว แต่ความจริงแล้วข้อมูลที่ผมได้นำเสนอในตอนที่แล้วนั้นเป็นการบูรณาการที่เห็นพ้องต้องกันของนักวิชาการหลายท่าน ในการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง การใช้น้ำมันมะพร้าวแก้โรคสมองเสื่อม ณ ห้องประชุม 314 ชั้น 3 ตึกกสิกรรม กรมวิชาการเกษตรเมื่อวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ซึ่งได้พ่วงเรื่องความอ้วนและโรคเบาหวานเข้ามาด้วย
       
        เพราะคนจำนวนหนึ่งที่เป็นโรคสมองเสื่อมนั้นหลายคนมาพร้อมกับโรคเบาหวาน และหลายคนที่เป็นโรคเบาหวานก็มาพร้อมกับโรคอ้วน !!
       
        ความจริงแล้วความอ้วน เบาหวาน สมองเสื่อมนั้น เราคงไม่ได้แก้ไขได้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งโดยเฉพาะ แต่การบูรณาการหลายๆอย่างเข้าด้วยกันน่าจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องมากกว่าโดยเฉพาะการบริโภคและพฤติกรรมของเราเอง เช่น การออกกำลังกายอย่างเพียงพอ การไม่นอนดึกและเครียดเกินไป การงดแป้งและน้ำตาล การรับประทานผักให้มากขึ้น และการดื่มน้ำมันมะพร้าว ฯลฯ การเปลี่ยนพฤติกรรมหลายๆอย่างเหล่านี้จะช่วยให้เราได้ใช้ประโยชน์เสริมประสานซึ่งกันและกันเพื่อทำให้เรามีสุขภาพโดยรวมดีขึ้นได้
       
        ความเชื่อแต่เดิมมีความคิดว่าถ้าเราบริโภคน้ำมันทุกประเภทจะต้องทำให้เราอ้วนขึ้น มีน้ำหนักเพิ่ม แต่ความจริงอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป
       
        เพราะถ้าเราบริโภคไขมันต่ำเกินไป อาจทำให้เรามีปริมาณแคลลอรีไม่เพียงพอ และมีความโหยจนถึงขั้นต้องไปกินแป้งและน้ำตาลเพิ่มขึ้น และทำให้กลับมาอ้วนก็ได้เหมือนกัน
       
        ตัวอย่างเช่นการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2540 โดย Rolls, B.J. และ Miller ในหัวข้อ Is Low-fat message giving people a license to eat more? ตีพิมพ์ใน J. Am. Coll. Nutr. 16:535-43 ได้ให้อาสาสมัครซึ่งเป็นผู้หญิงแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ให้กินโยเกิร์ต 2 ชนิด ชนิดหนึ่งที่มีไขมันสมบูรณ์ อีกชนิดหนึ่งมีไขมันต่ำ โดยที่ปิดฉลากไว้ไม่ให้กลุ่มตัวอย่างทราบ
       
        ปรากฏพบว่าผู้ที่กินโยเกิร์ตที่มีไขมันเต็มเมื่อถึงมื้ออาหารกลับกินอาหารน้อยกว่าผู้ที่กินโยเกิร์ตไขมันต่ำ เพราะการมีพลังงานแคลลอรีเพียงพอจากไขมันจะทำให้ชะลอความหิวให้น้อยลงได้ ข้อมูลการบริโภคไขมันชนิดที่ดีให้เพียงพอตรงนี้จึงเป็นเคล็ดลับสำคัญทำให้งดหรือลด แป้งและน้ำตาลได้
       
        ดังนั้นถ้าพูดเรื่องพลังงานในร่างกายแล้วถ้ามีมากเกินไปจนเหลือใช้ก็เกิดการสะสม และวิธีการหนึ่งที่จะใช้พลังงานให้ดีที่สุดก็คือ "การออกกำลังกาย" เป็นประจำ
       
        ในขณะเดียวกัน น้ำมันมะพร้าว เป็นน้ำมันชนิดเดียวที่มีกรดไขมันสายสั้นและปานกลางมากที่สุดในโลก ดังนั้นจึงถูกดูดซึมเร็ว เป็นอาหารให้กับเซลล์ได้เร็ว เป็นพลังงานเพิ่มการเผาผลาญได้เร็วและแทบไม่เหลือตกค้างให้เป็นไขมันสะสม ต่างจากไขมันชนิดอื่นเกือบทั้งหมดที่เป็นกรดไขมันสายยาว
       
        งานวิจัยชิ้นหนึ่งในปี พ.ศ. 2545 โดย St-Onge, M.P., และ Jones จากมหาวิทยาลัย แม็กกิล ประเทศแคนนาดา ได้ศึกษาในหัวข้อ Physiological effects of medium-chain triglycerides: potential agents in the prevention of obesity. ตีพิมพ์ใน J.Nutr.132; 329-332 พบว่าถ้าเพียงแค่เปลี่ยนน้ำมันพืชอย่างอื่นทั้งหมดให้มาเป็น น้ำมันที่เป็นไตรกลีเซอไรด์สายปานกลาง (มีมากที่สุดในน้ำมันมะพร้าว) กินเหมือนเดิม ปริมาณเท่าเดิม แคลลอรีเท่าเดิม โดยไม่ต้องปรับพฤติกรรมการกินจะสามารถลดน้ำหนักได้ถึง 36 ปอนด์ (16.33 กิโลกรัม) ต่อปี
       
        และถ้าจะย้อนกลับไปในงานวิจัยของ ดร.เรย์ พีท นักชีวเคมีแห่งมหาวิทยาลัยโอเรกอน และอาจารย์สอนมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ได้เคยอ้างว่าตามบันทึกเหตุการณ์ของเอนไซโคพีเดี ประจำปี พ.ศ. 2489 พบมีรายงานว่าในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ราคาน้ำมันมะพร้าวตกลงและขายไม่ค่อยได้ จากการถูกโจมตีโดยกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันถั่วเหลืองว่าน้ำมันมะพร้าวทำให้อ้วน ปรากฏว่าผู้เลี้ยงหมูในสหรัฐอเมริกาจึงซื้อน้ำมันมะพร้าวมาเลี้ยงหมูเพราะคิดว่าจะทำให้หมูอ้วนขึ้น แต่ปรากฏว่าหมูผอมลงทั้งเล้า
       
        นับตั้งแต่นั้นในวงการปศุสัตว์ไม่เคยมีใครคิดจะใช้น้ำมันมะพร้าวมาเลี้ยงสัตว์ของตัวเองอีกเลย และอาหารยอดนิยมในวงการปศุสัตว์ในยุคปัจจุบันคือถั่วเหลือง ข้าวโพด ที่ส่วนใหญ่ตัดแต่งพันธุกรรม ที่น้ำมันในธัญพืชเหล่านี้ไม่อิ่มตัวทำให้อัตราการเผาผลาญของสัตว์ลดลง กินน้อย ขุนให้อ้วนง่ายทำราคาได้ดี
       
        ความจริงแล้วน้ำมันมะพร้าวมีไขมันประเภทไตรกลีเซอไรด์สายปานกลางมากที่สุด และเป็นไขมันที่มีพลังงานน้อยที่สุดด้วย โดยมีเพียง 8.6 กิโลแคลลอรีต่อกรัม ในขณะที่น้ำมันพืชส่วนใหญ่เป็นไขมันสายยาวให้พลังงานประมาณ 9 กิโลแคลอรีต่อกรัม ด้วยเหตุนี้น้ำมันมะพร้าวจึงไม่ได้เป็นเหตุแห่งความอ้วนเมื่อพิจารณาจากจำนวนแคลลอรีต่อกรัม
       
        และเพราะน้ำมันมะพร้าวเป็นน้ำมันที่มีความอิ่มตัวมากที่สุดในโลก จึงมีความอยู่ตัวและเสถียรในทางเคมีสูง ทำให้ออกซิเจน หรือ ไฮโดรเจน ไม่สามารถเข้ามาทำปฏิกิริยาได้ ผลของการที่ออกซิเจนไม่สามารถเข้ามาทำปฏิกิริยาได้จึงทำให้ไม่เกิดอนุมูลอิสระ และการที่ไฮโดรเจนไม่สามารถเข้าทำปฏิกิริยาได้แม้ว่าจะโดนความร้อนจึงไม่ทำให้เกิดเป็นไขมันทรานส์ และอนุมูลอิสระและไขมันทรานส์นี้เองที่ทำให้การทำงานของร่ายกายต่างๆเสื่อมลง และมีส่วนทำให้เกิดโรคอ้วน ดังนั้นการเลือกบริโภคน้ำมันมะพร้าวก็คือการตัดการบริโภคน้ำมันที่ก่อโรคที่ไม่อิ่มตัวจากธัญพืชชนิดอื่น
       
        น้ำมันมะพร้าวมีองค์ประกอบของไขมันสายโซ่ปานกลางและสั้น จึงถูกดูดซึมเร็ว ย่อยง่าย เผาผลาญเร็วเป็นพลังงานให้แก่ตับได้นานต่อเนื่องกันถึง 24 ชั่วโมง โดยไม่สะสมเหมือนไขมันชนิดอื่น และเมื่อการเผาผลาญสูงขึ้นร่างกายจึงดึงไขมันที่สะสมในร่างกายมาผลิตเป็นพลังงานอีกด้วย
       
        ข้อสำคัญคนจำนวนไม่น้อยมีน้ำหนักมากเพราะมีอุจจาระคั่งค้างในลำไส้มาก เนื่องจากระบบขับถ่ายผิดปกติ แต่เนื่องด้วยน้ำมันมะพร้าวที่เพิ่มอัตราการเผาผลาญให้สูงขึ้น ร่างกายอุ่นขึ้น ได้รับพลังงานมากขึ้น จึงเป็นผลทำให้ลำไส้เคลื่อนตัวได้เร็วขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพในการขับถ่าย ลดอาการท้องผูก จึงเท่ากับเป็นการลดน้ำหนักด้วยการช่วยส่งเสริมการขับของเสียออกจากร่างกายให้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นสำหรับคนที่ดื่มใหม่ที่อาจไม่คุ้นหรือขับถ่ายมากอาจต้องไต่ระดับจากการดื่มทีละน้อยและค่อยๆเพิ่มปริมาณเพิ่มขึ้น
       
        ที่น่าสนใจมากขึ้นไปอีกก็ตรงที่น้ำมันมะพร้าวมีกรดลอลิก (Lauric acid) ซึ่งมีสายโซ่อะตอมคาร์บอนต่อกัน 12 ตัว สูงถึงประมาณกว่า 50% ซึ่งเป็นกรดไขมันชนิดเดียวกันกับน้ำนมแม่ของมนุษย์ (น้ำนมแม่มีกรดลอริกประมาณ 3% -15%) เมื่อดื่มเข้าไปร่างกายจะเปลี่ยนกรดลอริกกลายเป็นกรดโมโนลอริน (Monolaurin) มีความสามารถในการฆ่าเชื้อเฉพาะที่ก่อโรค (ซึ่งเชื้อก่อโรคเหล่านี้จะมีไขมันเป็นเกราะหุ้มอยู่) ซึ่งรวมถึง เชื้อรา ยิสต์ ไวรัส โปรโตซัว กรดโมโนลอรินนี้เองจะไม่ได้ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ชนิดดีที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะเชื้อจุลินทรีย์ที่ดีนั้นจะไม่ได้มีไขมันเป็นเกราะหุ้มส่วนใหญ่ เมื่อเชื้อก่อโรคถูกทำลายจะทำให้จุลินทรีย์ชนิดดีเพิ่มจำนวนขยายพื้นที่ในลำไส้และทางเดินอาหารเราได้มากขึ้น ประสิทธิภาพในการย่อยอาหารและการขับถ่ายของเราจะมีมากขึ้น จึงเท่ากับส่งเสริมการทำงานถึง 2 ด้าน ด้านหนึ่งทำให้ประสิทธิภาพในการเปลี่ยนอาหารให้เป็นพลังงานสูงขึ้น ด้านที่สองทำให้ระบบการขับของเสียดีขึ้น น้ำหนักจึงลดลงและสามารถลดความอ้วนได้
       
        เมื่ออ่านถึงขั้นตอนนี้ คงเหลือประเด็นสุดท้ายอยู่ที่ว่าน้ำมันมะพร้าวจะกลายเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับคนผอมหรือไม่?
       
        จากงานเขียนของ ดร.บรูซ ไฟฟ์ ปรมาจารย์ด้านมะพร้าว ประธานศูนย์วิจัยมะพร้าว มลรัฐโคโรลาโด ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เขียนหนังสือเรื่อง Virgin Coconut Oil Nature's Miracle Medicine ได้อธิบายความดังนี้ว่า
       
        "ถ้าน้ำมันมะพร้าวช่วยให้น้ำหนักลดลงได้ แล้วจะสำหรับคนที่แห้งเกินไปล่ะ ถ้ายิ่งทานน้ำมันมะพร้าวจะทำให้น้ำหนักยิ่งลดลงหรือเปล่า คำตอบคือ ไม่ใช่
       
        เนื่องจากน้ำมันมะพร้าวมีผลช่วยปรับสมดุลของร่างกายในสองทาง โดยสำหรับผู้ที่มีนำหนักตัวมากเกินไปจะช่วยให้น้ำหนักลดลงได้ ในทางกลับกันผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อยเกินไป น้ำมันมะพร้าวจะช่วยเพิ่มน้ำหนักให้
       
        ผู้ที่มีน้ำหนักตัวยิ่งมากเท่าไหร่จะยิ่งทำให้การลดน้ำหนักได้ผลดีเท่านั้น เมื่อน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติเมื่อเทียบกับความสูงแล้วอันตราการลดน้ำหนักจะค่อยๆน้อยลง บางคนอาจจะกังวลเกี่ยวกับน้ำหนักตนเองมาก จนทำให้เน้นเรื่องการลดน้ำหนักมากเกินไป แต่ความจริงคนๆนั้นอาจจะผอมอยู่แล้ว
       
        คนที่ผอมแห้งเมื่อรับประทานน้ำมันมะพร้าวจะทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นเพราะร่างกายจะปรับให้มีความสมดุล ดังนั้นในรายที่รับประทานน้ำมันมะพร้าวเพื่อหวังผลให้ตัวเองผอมลงมากๆต่ำผิดปกติ ก็จะไม่สามารถทำได้เช่นกัน"

ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ASTVผู้จัดการรายวัน    10 มกราคม 2557

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9785
    • ดูรายละเอียด
 แม้ว่าหลายคนจะทราบดีว่าการกินแป้งและน้ำตาลมากจะทำให้เกิดโรคเบาหวานตามมาได้ แต่หลายคนอาจยังไม่เข้าใจว่าที่ว่าเกิดโรคเบาหวานนั้นคืออะไรกันแน่
       
        คำอธิบายให้เข้าใจง่ายๆคือ "เรามีระดับน้ำตาลในกระแสเลือดเรามากเกินไป"
       
        เวลาเรารับประทานอาหารแป้งมากๆ กินอาหารรสหวานมาก น้ำตาลส่วนเกินจะถูกขับออกทางปัสสาวะเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำตาลในเลือดมากเกินไป การที่น้ำตาลในเลือดมากจะทำให้เลือดข้น แข็งตัวง่าย เกล็ดเลือดและเม็ดเลือดขาวเกาะติดกันแน่นกับผนังหลอดเลือด เม็ดเลือดแดงมีโครงสร้างที่ไม่ยืดหยุ่น ส่งผลทำให้การไหลเวียนเลือดไม่ดี และยังมีผลทำให้เกิดภาวะขาดเลือดหรือขาดออกซิเจนได้
       
        และการที่เราถ่ายปัสสาวะพร้อมกับน้ำตาลที่บริโภคมากๆ เราจึงเรียกว่า "ถ่ายเบาหวาน" หรือเบาหวาน ซึ่งถือว่าเป็นกลไกตามธรรมชาติในการลดระดับน้ำตาลในเลือด
       
        เมื่อมีน้ำตาลตับอ่อนจะผลิตฮอร์โมนที่ชื่อ "อินซูลิน" ที่จะมีหน้าที่ออกฤทธิ์ "นำน้ำตาลจากเลือดเข้าไปในเซลล์ของร่างกาย" เพื่อใช้เป็นพลังงาน
       
        น้ำตาลอาศัยอินซูลินเข้าไปในเซลล์ ร่างกายเราก็สามารถแปลงเป็นไกลโคเจนเพื่อสะสมเก็บเอาไว้ที่กล้ามเนื้อและตับได้ แต่เมื่อเรารับประทานแป้งและน้ำตาลมากจนแปลงน้ำตาลายเป็นไกลโคเจนสะสมไว้ที่กล้ามเนื้อและที่ตับอย่างเต็มพิกัดจนจะใกล้จะล้นแล้ว กลไกในร่างกายก็จะเริ่มเกิดภาวะ "ไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน หรือที่เรียกว่า Insulin Resistance" ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นกลไกในร่างกายที่ฉลาดมากที่พยายามปิดกั้นไม่ให้สารอาหารที่มากเกินเข้าไปในเซลล์จนล้นเกินได้
       
        ถ้าน้ำตาลมีประมาณค้างอยู่ในกระแสเลือดมากๆ ก็จะทำให้หลอดเลือดได้รับความเสียหายและอักเสบ จึงเป็นอันตรายต่อหลอดเลือด ในขณะเดียวกันหากเซลล์ขาดอาหารเพราะไม่สามารถนำน้ำตาลในกระแสเลือดไปใช้ได้อีกเซลล์ก็ตายได้อีกเช่นกัน คนที่เป็นเบาหวานนานๆหลอดเลือดจะเสื่อมสภาพ เพราะน้ำตาลในเลือดที่สูงจะทำลายหลอดเลือดและส่งผลทำให้เกิดวัสดุที่เรียกว่า พลาก (plauge) มาพอกจนเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัว อันเป็นสาเหตุของโรคหัวใจและอัมพาตตามมาได้ด้วย
       
        ดังนั้นคนที่อ้วนและเป็นเบาหวานด้วย ถึงแม้ตับอ่อนจะสามารถหลั่งอินซูลินได้จำนวนมาก แต่อินซูลินก็ไม่สามารถไปสะสมไว้ที่ใดได้อีกร่างกายอีกในกรณีนี้น้ำตาลก็จะยังคงอยู่ในหลอดเลือดต่อไป เมื่อนานไปในบางกรณีตับอ่อนต้องหยุดผลิตอินซูลินหรือผลิตอินซูลินให้น้อยลงเพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์ตับอ่อนมีความอ่อนล้า ผลก็คือเราก็จะมีน้ำตาลอยู่ตามหลอดเลือดโดยเกิดขึ้นได้ทั้ง 2 กรณีคือ ทั้งร่างกายไม่ตอบสนองกับอินซูลิน หรือตับอ่อนผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ ต่างก็เกิดจากปัญหาเดียวกันคือบริโภคแป้งและน้ำตาลมากเกินไป
       
        เมื่อมีน้ำตาลในหลอดเลือดนานๆ นอกจากหลอดเลือดจะอักเสบและเสียหายก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดอุดตันและหัวใจได้แล้ว ในขณะเดียวกันเมื่อน้ำตาลไม่สามารถส่งเป็นอาหารให้กับเซลล์ได้ ก็ทำให้เซลล์ตายได้ด้วย จึงส่งผลทำให้เกิดความเสื่อมแม้กระทั่งเซลล์สมองได้ และเป็นผลทำให้เกิดโรคสมองเสื่อม ความจำเสื่อม พาร์กินสัน อัมพาต ฯลฯ ตามมาได้
       
        คำถามสำคัญคือคนที่เป็นเบาหวานจะฉีดอินซูลินเพิ่มหรือใช้ยากระตุ้นให้ตับอ่อนผลิตอินซูลินเพิ่มจะเป็นหนทางที่ถูกต้องหรือไม่ ทั้งๆที่กลไกในร่างกายไม่ว่าจะไม่ตอบสนองกับอินซูลิน หรือตับอ่อนหยุดผลิตอินซูลินล้วนแล้วแต่เป็นกลไกธรรมชาติของร่างกายเราปกป้องตัวเองเพื่อส่งสัญญาณให้เราเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของเราเอง
       
        คำถามนี้ นพ.ดร.วิศาล เยาวพงศ์ศิริ ได้ตั้งคำถามการใช้ยานี้เอาไว้ในหนังสือ ที่ชื่อ "พิชิตโรคอ้วน และเบาหวาน" ความตอนหนึ่งว่า:
       
        "การให้ยากระตุ้นการหลังอินซูลินถูกต้องหรือไม่ คนกินแป้งกินหวานมากตับย่อมสร้างน้ำตาลมากกว่าปกติ การให้ยาระงับน้ำตาลที่ตับแล้วสารอาหารที่ล้นเกินจะซุกไว้อย่างไรและส่วนใดของร่างกาย การกินยาลดการดูดซึมน้ำตาลในลำไส้ต่างกับการหยุดกินหวานลดกินแป้งอย่างไร
       
        การใช้ยา TZD ช่วยผันกรดไขมันที่ทะลักจาเซลล์ไขมันพุงไปซุกที่เซลล์ใต้ผิวหนัง ทำให้ตับได้กรดไขมันลดลงและผลิตน้ำตาลน้อยลง แต่เซลล์ใต้ผิวหนังจะสะสมไขมันเพิ่มได้มากและนานแค่ไหน และเมื่อเต็มยาจะยังได้ผลอีกหรือไม่
       
        การรักษาเบาหวานหากไม่สามารถตอบโจทย์ที่กล่าวมา ไม่คำนึงว่าเบาหวานและน้ำตาลเลือดสูงมีสาเหตุจากอะไร หรือยาที่ใช้แก้เพื่ออะไร ก็คงเข้าข่ายให้การรักษาแบบ "จ่ายยาตามตัวเลข" (อ้างอิง N Eng J Med 2007) คือน้ำตาลสูงก็จ่ายยาลดน้ำตาลแรง ยามื้อเดียวขนาดเดียวเอาไม่อยู่ก็เพิ่มเป็นยาหลายมื้อหลายขนาน ถ้ายังไม่อยู่ก็เพิ่มฉีดอินซูลิน ถ้าคุมไม่อยู่ก็ฉีดอินซูลินเพิ่ม จนเกิดหิวบ่อย กินจุ และอ้วนมากขึ้น หรืออาจเกิดช็อกน้ำตาล และเสี่ยงเกิดอาการหลับไม่ตื่น…
       
        …เมื่อเกิดภาวะน้ำตาลเลือดต่ำ ร่างกายจำต้องมีปฏิกิริยาปรับสมดุล (homeostasis) เพื่อไม่ให้น้ำตาลเลือดต่ำเกินไป โดยศูนย์สมอง VMH (Ventromedial hypothylamus) กระตุ้นให้เกิดอาการหิวและหลั่งฮอร์โมนเพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด (อ้างอิง Am J Physiol Regul Integr Comp Physiol 2005; 289: R 936) แต่การปรับสมดุลมีผลทำให้น้ำตาลในเลือดกลับมีระดับสูงกว่าปกติตามมา
       
        เมื่อเกิดอาการน้ำตาลต่ำจากการได้ยาเกิน คนไข้จะมีอาการโหย บางครั้งรู้สึกหิวแทบขาดใจ สัญชาตญาณบอให้รีบหาของหวานกินเพื่อประทั่ชีวิตเป็นสำคัญ... บางคนกินยาเบาหวานตอนมื้อเย็น ก็มักต้องแอบหาของหวานกินช่วงก่อนนอน"
       
        ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น นพ.ดร.วิศาล เยาวพงศ์ศิริ กำลังอธิบายว่าเพราะเหตุใดหลายคนกินยาลดเบาหวานแต่กลับไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำตาลในเลือดได้ แล้วเหตุในคนที่กินยาลดเบาหวานต้องกินยาเพิ่มปริมาณมากขึ้นไปเรื่อยๆ
       
        ผมจึงได้มีโอกาสสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับ นพ.ดร.วิศาล เยาวพงศ์ศิริ จึงได้คำตอบว่าเบาหวานส่วนหนึ่งเพราะเรากินยามากเกินไปโดยไม่ยอมเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค หรืออาจไม่รู้ว่าเราต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค
       
        โดยเฉพาะการแก้ไขโรคเบาหวานที่ตรงประเด็นที่สุดคือ "การลดแป้งและน้ำตาล"
       
        ซึ่งแน่นอนมักจะมีคำถามอยู่เสมอว่าเมื่อลดแป้งและน้ำตาลที่เป็นสาเหตุของโรคเบาหวานแล้วจะเกิดอาหารหิวโหยอย่างหนักด้านหนึ่ง ในอีกด้านหนึ่งเราจะเอาสารอาหารอะไรไปเลี้ยงเซลล์ในร่างกายเรา และแน่นอนว่าส่วนหนึ่งที่จะเป็นคำตอบได้ก็คือการบริโภคไขมันที่พึ่งอินซูลินให้น้อยที่สุดหรือไม่พึ่งเลย
       
        น้ำมันมะพร้าวเป็นคำตอบหนึ่งในเรื่องนี้ได้ เพราะน้ำมันมะพร้าวมีองค์ประกอบหลักคือกรดไขมันสายปานกลางมากที่สุด (ต่างจากน้ำมันชนิดอื่นทั้งหมดในโลกที่เป็นกรดไขมันสายยาว) ทำให้น้ำมันมะพร้าวเป็นน้ำมันที่ดูดซึมเร็ว ส่งไปยังที่ตับเป็นพลังงานอย่างรวดเร็ว เพิ่มอัตราการเผาผลาญ และข้อสำคัญในยามที่เราลดแป้งและน้ำตาล เราจะได้สารอาหารที่ชื่อ "คีโตน" ซึ่งได้จากกรดไขมันสายปานกลางไปเลี้ยงอาหารให้กับเซลล์โดยเฉพาะเซลล์สมองได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องพึ่งพาการผลิตอินซูลิน
       
        ประการสำคัญถัดมากคือ นพ.ดร.วิศาล เยาวพงศ์ศิริ ได้อธิบายเพิ่มเติมให้ผมลองไปค้นคว้าเพิ่มเติมด้วยว่า การบริโภคไขมันดังเช่นที่เราบริโภคน้ำมันมะพร้าว จะทำให้เรารู้สึกหิวน้อยลงได้เพราะอะไรนั้น นพ.ดร.วิศาล เยาวพงศ์ศิริ ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า "เป็นเพราะร่างกายหลั่งฮอร์โมน CCK เพิ่มขึ้น"
       
        เมื่อร่างกายบริโภคไขมัน ร่างกายเราจะฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "โคลีซิสโทไคนิน (cholecystokinin หรือ CCK ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้จะช่วยยับยั้งความรู้สึกหิว (appetite) ทำให้คนเรากินน้อยลง และนี้คือเคล็ดลับสำคัญของคนที่บริโภคไขมันแล้วไม่อ้วนเพราะ การหิวน้อยลง และการโหยจากแป้งและน้ำตาลจึงลดน้อยลงไปด้วย โดยเฉพาะเมื่อเราบริโภคกรดไขมันจากกรดไขมันสายปานกลางที่มีอยู่มากในน้ำมันมะพร้าว
       
        และเป็นที่ทราบดังที่ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้ว่า น้ำมันมะพร้าวจะช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญของร่างกายให้สูงขึ้น เพิ่มการทำงานของไทรอยด์ฮอร์โมนจะสูงขึ้น โดยอุณหภูมิในร่างกายจะอุ่นขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2537 Thampan, P.K. ได้ทำการศึกษาและรายงานในหัวข้อ "Facts and Fallacies about Coconut Oil" ในการประชุมในระดับรัฐบาลหลายประเทศที่ชื่อ ประชาคมมะพร้าวแห่งเอเชียแปซิฟิก The Asian and Pacific Coconut Community (APCC) ในคราวประชุมที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ได้ระบุว่า
       
        "น้ำมันมะพร้าวสามารถกระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์ จึงช่วยเพิ่มอัตราเมแทบอลิซึม ส่งผลให้มีการเพิ่มการผลิตอินซูลิน และการดูดซึมน้ำตาลเข้าไปในเซลล์ ด้วยเหตุนี้น้ำมันมะพร้าว จึงช่วยลดความจำเป็นที่ต้องพึ่งพาอินซูลินในการรักษาเบาหวาน น้ำมั้นมะพร้าวจึงช่วยผู้ป่วยโรคเบาหวานได้"
       
        ดร.บรูซ ไฟฟ์ ประธานศูนย์วิจัยมะพร้าว มลรัฐโคโรลาโด ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เขียนหนังสือเรื่องเกี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวหลายเล่มที่ให้ข้อมูลยืนยันว่า กรดไขมันสายปานกลางในน้ำมันมะพร้าวหลายชนิด เช่น กรดลอริก กรดคาปริก กรดคาปริลิก และกรดคาโปรอิก ต่างช่วยเพิ่มกระบวนอัตราการเผาผลาญเมแทบอลิซึม และส่งผลทำให้เพิ่มการสร้างอินซูลิน และการนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ โดยเมื่อวันที่ 22-26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ดร.บรูซ ไฟฟ์ ได้เขียนรายงานในการสัมมนาเชิงปฏิบัติงานระดับนานาชาติด้านเกี่ยวกับสมุนไพรโดยระบุว่า "การบริโภคน้ำมันมะพร้าว 2-3 ช้อนโต๊ะ จะช่วยลดระดับน้ำตาลได้ภายใน 30 นาที"
       
        การยืนยันที่ว่านี้ยังพบในการศึกษาก่อนหน้านี้ในทำนองเดียวกัน โดยในปี พ.ศ. 2535 ของ Garfinkel และคณะที่ศึกษาในหัวข้อ "Insulino tropic potency of lauric acid: A metabolic rational for medium chain fatty acids (MCF) in TPN formulation โดยระบุว่า "ในกรณีที่เซลล์ไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน น้ำมันมะพร้าวจะช่วยแก้อาการนนี้ได้ โดยการทำให้เซลล์เปิดให้รับน้ำตาลเข้าไปในเซลล์ได้มากขึ้น ทำให้ไม่จำเป็นที่ตับอ่อนจะต้องสร้างอินซูลินมากเกินความจำเป็น แลน้ำมันมะพร้าวสามารถช่วยปรับระดับน้ำตาลในเลือดได้"
       
        สรุปสั้นๆ ให้ได้ใจความคือ
1.พยายามลดแป้งและน้ำตาล
2. ดื่มน้ำมันมะพร้าว และ
3. พยายามลดยาเคมีเกี่ยวกับเบาหวานทั้งปวง!!!

ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ASTVผู้จัดการรายวัน    24 มกราคม 2557