ผู้เขียน หัวข้อ: ถึงเวลาหรือยังที่ประชาชนควรจะมีส่วนร่วมในการพิจารณาร่างกฎหมายก่อนเข้าสภา?  (อ่าน 1710 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด

โดย สุจิตรา
ในตอนท้ายของบทความชื่อ “พ.ร.บ. คุ้มครองความเสียหายฯ กับผลกระทบด้านลบต่อสังคมในระยะยาว” ผู้เขียนได้เสนอการปฏิรูปกระบวนการออกกฎหมาย ประการที่หนึ่ง คือ ผู้ยกร่างกฎหมายและผู้เสนอร่างกฎหมายจะต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วน ได้เสียในกระบวนการบังคับใช้กฎหมายเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี
       
        ประการที่สอง คือ ห้ามออกกฎหมายในรูปแบบที่จะทำให้เกิดกองทุนโดยนำเงินมาจากงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินของประชาชนทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดหรือบังคับให้องค์กรอื่นต้องเข้าร่วมสมทบเงินใน กองทุนนั้นๆ และ ประการสุดท้าย คือ (ร่าง) กฎหมายที่จะเสนอเป็นพระราชบัญญัติ ควรจะต้องเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเพื่อร่วมกันในการแสดงความคิดเห็นในแง่มุม ต่าง ๆ ก่อนที่จะเข้าสู่รัฐสภา
       
        ท่านผู้อ่านคงคิดว่าท่านคงไม่น่าจะเดือดร้อนอะไรกับการออกกฎหมายถ้าท่านเป็น คนดี (ผู้เขียนก็เหมือนทุกท่านที่เคยคิดและเชื่อเช่นนั้น) ความคิดดังกล่าวน่าจะถูกต้องถ้าบ้านเมืองของเรามีเฉพาะ ป.อาญา ป.แพ่ง ทั้งนี้ เพราะถ้าเราไม่ทำผิดกฎหมาย ไม่คิดร้ายต่อบ้านเมือง ไม่ทำร้ายผู้อื่น ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น เราก็ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว
       
        แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง มีการออกกฎหมายหรือระเบียบมาบังคับใช้อย่างมากมายแทบจะทุกสัปดาห์ (ถ้าสภาไม่ล่ม) ได้มีการศึกษาพบว่า อย่างน้อยที่สุดประชาชนแต่ละคนจะต้องเกี่ยวข้องกับกฎหมายไม่น้อยกว่า 50 ฉบับ
       
        ผู้ที่เสนอร่างกฎหมาย หรือระเบียบนั้น นอกจากหน่วยงานราชการที่เสนอร่างกฎหมายเพื่อบังคับใช้ตามภาระหน้าที่ของ หน่วยงานนั้นๆ โดยไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวเกี่ยวข้อง (เช่น พระราชกำหนดพิกัดอัตราภาษีศุลกากร) และกลุ่มบุคคล (ตามมาตรา 163 รัฐธรรมนูญปี 2550) ที่มีความประสงค์ดีต่อสังคม (แต่ “ความประสงค์ดี” ก็มิได้เป็นหลักประกันว่าผลของการบังคับใช้กฎหมายหรือระเบียบฉบับดังกล่าวจะ ได้ผลดีต่อสังคมในทุกด้านสมดัง “ความประสงค์ดี” เสมอไป เช่น พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งในอดีตนับแต่มีระบบโรงพยาบาลในประเทศไทยก็ไม่เคยมีโรงพยาบาลใดปฏิเสธการ รักษาคนไข้ไม่ว่าคนไข้คนนั้นจะยากดีมีจนอย่างไร โรงพยาบาลก็สงเคราะห์ทั้งสิ้น
       
        อีกทั้งก่อให้เกิดความเห็นใจในหมู่เหล่าคหบดีหรือผู้มีอันจะกินในละแวกนั้น หรือพื้นที่นั้นซึ่งก็จะร่วมกันบริจาคให้แก่โรงพยาบาลเพื่อให้โรงพยาบาล ดำเนินการอยู่ได้ รวมทั้งโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในฐานะ “พี่” ก็จะช่วยเหลือโรงพยาบาลขนาดเล็กในฐานะ “น้อง” ก่อให้เกิดระบบค่านิยม “เอื้ออาทร” ระหว่างโรงพยาบาลขนาดใหญ่-โรงพยาบาลขนาดเล็ก โรงพยาบาล-คนในพื้นที่ แพทย์ผู้ทำการรักษา-ผู้ป่วย คนยากจน-ผู้มีอันจะกิน
       
        แต่เมื่อมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยอ้างว่าเพื่อประโยชน์ในการที่จะให้ประชาชนเข้าถึงบริการ แต่กลับมุ่งเน้นให้บุคลากรและหน่วยงานมาสนใจเรื่องเงินเป็น “เรื่องหลัก” ซึ่งก็ทำให้ค่านิยมดังกล่าวของสังคมไทย “เสื่อม” หาย ไป ส่งผลกระทบในด้านลบต่อความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย รวมทั้งส่งผลให้การเข้าถึงบริการ “ในหลายกรณี” ก็อาจลดน้อยลง ยกเว้นโปรแกรมที่ทาง สปสช. สนใจ
       
        สุดท้ายแล้วก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ระบบดังกล่าวไม่ได้มีส่วนในการทำให้โรงพยาบาลประสบภาวะขาดทุนถึง 191 แห่ง และปัญหาขาดแคลนบุคลากรพยาบาลวิชาชีพ) แล้ว ที่เหลือก็ได้แก่เหล่านักการเมือง และบุคคลหรือกลุ่มบุคคลทั้งในวงราชการและนอกวงราชการที่มีผลประโยชน์แอบแฝง ซึ่งทั้งสองกลุ่มล้วนแล้วแต่สนใจ-เสนอร่าง-ผลักดันเฉพาะกฎหมายหรือระเบียบ ที่ตนเองและกลุ่มก้อนของตนเองจะได้
       
        ผลประโยชน์จากงบประมาณของแผ่นดิน จากทรัพยากรของชาติ จากทรัพย์ของผู้อื่น หรือผลประโยชน์จากการที่ตนได้เป็นกรรมการในคณะกรรมการตามกฎหมายนั้นๆ ซึ่งยังอำนาจและผลประโยชน์อันมหาศาลตามมา โดยอาศัยเสียง ส.ส.ที่อยู่ในอาณัติหรือสมาชิกพรรคซึ่งต้องยกมือตามมติพรรคและอาจมีค่า “ยกมือ” ซึ่งในหลายกรณีก็ใช้คนเพียงสองร้อยคนในการผ่านร่าง พ.ร.บ. ทั้งที่กระทบคนทั้งประเทศ
       
        (ตัวอย่างที่แสนจะน่าอิดหนาระอาใจ คือ การเสนอการแก้ไขวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรวนเวียนไปมาอยู่กับ เรื่องของเขตเดียวเบอร์เดียว-รวมเขตหลายเบอร์ พวงใหญ่-พวงเล็ก ฯลฯ โดยเอาประชาชนและหลักการต่างๆ ที่คิดขึ้นได้มาอ้าง ทั้งๆ ที่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ หรือไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น หรือร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ที่ระบุชัดเจนถึงความต้องการของบุคคลและกลุ่มบุคคลที่จะพยามยามจะผลักดัน กฎหมายและจะเข้ามาจัดการกองทุนมูลค่ามหาศาลในนามของคณะกรรมการและคณะอนุกรรม การ มาตราที่ชัดเจนมากคือ มาตรา 50 ในบทเฉพาะกาล)
       
        “กฎหมาย” มีส่วนอย่างมากในการกำหนดพฤติกรรมมนุษย์และทิศทางของสังคม รวมทั้งมีส่วนอย่างมากในการทำให้ “โลกร้อน” แทบจะกล่าวได้ว่าไม่มีใครที่ไม่ถูกกฎหมายกระทำ กฎหมายเกี่ยวข้องกับเราทุกคน
       
        ในเมื่อเราทราบเช่นนี้ ทำไมเราจึงยังคงตายใจ นิ่งนอนใจ และให้อำนาจคนเพียงไม่เกิน 500 คน ที่เราเรียกว่า “ส.ส.” และ “ส.ว.” ทำหน้าที่พิจารณากฎหมายแทนเราทั้งหมด ทั้งที่กฎหมายหรือกฎระเบียบเหล่านั้นต้องมามีผลกับเราในฐานะประชาชน ทำไมเราในฐานะประชาชนจึงไม่เรียกร้องสิทธิในการร่วมพิจารณา ร่วมวิพากษ์วิจารณ์ “ร่างพระราชบัญญัติ” หรือ “ร่างพระราชกฤษฎีกา” ที่ สำคัญต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ร่างพระราชบัญญัติ” หรือ “ร่างพระราชกฤษฎีกา” ที่กระทบต่อคนหมู่มาก และที่อาจมีผลเปลี่ยนค่านิยมของสังคมไทย
       
        (ทั้ง นี้ไม่รวมถึงบางกรณี ได้แก่ เรื่องที่เร่งด่วน เรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคง หรือเรื่องที่ต้องปกปิดไม่สามารถแพร่งพรายแก่สาธารณชนก่อนเวลาได้ด้วยเหตุ ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน อาทิ การลดค่าเงิน รัฐบาลจะออกเป็นพระราชกำหนดและมีผลบังคับใช้แล้วจึงจะนำเข้าสู่สภาเพื่อออก เป็น พ.ร.บ.ตามมาในภายหลัง)
       
        ก่อนที่ “ร่างพระราชบัญญัติ” นั้นจะเข้าสู่สภา หรือ “ร่างพระราชกฤษฎีกา” นั้นจะประกาศใช้ ไม่ว่าจะเป็น “ร่างพระราชบัญญัติ” หรือ “ร่างพระราชกฤษฎีกา” ที่เสนอโดยกลุ่มบุคคลหรือหน่วยงานที่ประสงค์ดีแต่ “อาจ” คิดไม่รอบคอบ (เช่น ระเบียบกรมบัญชีกลางเรื่องการเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ ที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในด้านนี้พุ่งจากสองหมื่นล้านบาทเป็นเจ็ดหมื่นล้านบาท รวมทั้งการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล 2553 ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเรียนการสอนของโรงเรียนแพทย์และจะเป็นการ ผลักผลประโยชน์สู่เอกชน
       
        ส่วนโรงพยาบาลรัฐก็คงต้องคอยรับผู้ป่วยส่งต่อในกลุ่มที่โรงพยาบาลเอกชนมอง แล้วไม่คุ้ม) หรือ “ร่างพระราชบัญญัติ” หรือ “ร่างพระราชกฤษฎีกา” ที่เสนอโดยเหล่านักการเมืองหรือบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีผลประโยชน์แอบแฝง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการมองถึงผลดีและผลกระทบในทุกด้านทุกมิติทั้งในระยะสั้น และระยะยาว เพื่อดูถึงความซ้ำซ้อนหรือความขัดกันระหว่างกฎหมายที่จะออกใหม่และกฎหมายที่ มีอยู่แล้ว และเพื่อให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงกับบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสังคมไทยในอนาคต
       
        ในอดีตสมัย “สร้างบ้านแปงเมือง” การสื่อสารและการไปมาหาสู่ยังเป็นไปด้วยความยากลำบาก การโทรคมนาคมรวมทั้งโทรทัศน์ยังไม่มี หนังสือพิมพ์ก็ไม่ทั่วถึง การรับรู้เรื่องราวของบ้านเมืองรวมทั้งการร่วมแสดงความคิดเห็นก็คงเป็นไปได้ ยากในทางปฏิบัติ การศึกษาของประชาชนก็อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ เราจึงต้องอาศัยผู้แทนของเราในการทำหน้าที่พิจารณากฎหมายแทนเรา โดยอยู่บนสมมติฐานความเชื่ออย่างสนิทใจว่า ผู้แทนของเรานั้นเป็นคนดี
       
        แต่ในปัจจุบันการสื่อสารโทรคมนาคมในสังคมไทยแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีอุปสรรค เราสามารถที่จะทราบได้แม้กระทั่งว่า “แอนนี่” มีความสัมพันธ์กับใครบ้าง แม้ว่าเรื่องนั้นจะเพิ่งออกจากปากผู้ให้ข่าว เราได้ “เห็น” แม้กระทั่ง “คลิป” ของตำรวจที่ไม่เกี่ยวข้องกับเราและไม่รู้จักกับเรา (แต่เราสนใจ) เทคโนโลยีการสื่อสารจึงไม่ใช่ข้อจำกัดอีกต่อไป
       
        การศึกษาของประชาชนก็อยู่ในระดับที่สูงโดยดูได้จากการที่มีมหาวิทยาลัยในทุกจังหวัด และผู้ที่จบ “เพียงแค่” ระดับปริญญาตรีก็ยังต้องมาทำงานเป็นแคชเชียร์ในห้างสรรพสินค้า อีกทั้งเราเองก็เห็นซึ้งถึง “คุณภาพ” และ “คุณธรรม” ของ นักการเมืองบ้านเราทั้ง ส.ส. และ ส.ว.ทำไมเราไม่มา “สนใจ” ในเรื่องที่ต้องกระทบกับตัวเรา กระทบกับสังคมของเรา สังคมทั้งในปัจจุบันและสังคมในอนาคต ทำไมเราจึงไม่เรียกร้องสิทธินี้
       
        ถึงเวลาหรือยังที่จะต้องกำหนดในรัฐธรรมนูญเพื่อให้ “ร่างพระราชบัญญัติ” หรือ “ร่างพระราชกฤษฎีกา” ที่ สำคัญต่างๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ร่างพระราชบัญญัติ” หรือ “ร่างพระราชกฤษฎีกา” ที่กระทบต่อคนหมู่มาก และที่อาจมีผลเปลี่ยนค่านิยมของสังคมไทย ยกเว้นเรื่องเร่งด่วน เรื่องที่เป็นความลับ เรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคง) ต้องเปิดให้ประชาชนได้ทราบ และมีสิทธิในการร่วมพิจารณา ร่วมวิพากษ์วิจารณ์ก่อนที่จะบรรจุข้าสู่วาระการพิจารณาของรัฐสภา
       
        ถึงเวลาหรือยังที่ประชาชนควรจะมีส่วนร่วมในการพิจารณาร่างกฎหมายก่อนเข้าสภา?