ผู้เขียน หัวข้อ: ตายเพราะอุบัติเหตุจราจร : นโยบายรัฐบาล ?  (อ่าน 802 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9797
    • ดูรายละเอียด
ปรากฏตามรายงานขององค์การอนามัยโลกว่าด้วยความปลอดภัยทางถนนปี ๒๕๕๖ ว่า จำนวนผู้เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย มีจำนวนสูงถึง ๑๓,๗๖๖ คน คิดเป็นชาย ร้อยละ ๗๙  หญิงร้อยละ ๒๑  จัดเป็นอันดับที่ ๓ ของโลก รองจากนิอูเอและสาธารณรัฐโดมินิกัน

          ควรทราบด้วยว่าตัวเลขขององค์การอนามัยโลก ซึ่งคงได้จากทางราชการไทย แสดงด้วยว่า ประเทศไทยมียานพาหนะที่จดทะเบียนเป็นรถยนต์ ๔ ล้อประมาณกว่า ๙ ล้าน ๘ แสนคัน รถ ๒ ล้อและ ๓ ล้อประมาณ ๑ ล้าน ๓ แสนคัน รถบรรทุกหนักประมาณ ๘ แสน ๑ หมื่นคัน รถยนต์ โดยสารประมาณ ๑ แสน ๓ หมื่น ๗ พันคัน และรถอื่น ๆ อีกประมาณ ๓ หมื่น ๑ พันคัน             ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่ได้มาก่อนรัฐบาลใช้นโยบายคืนภาษีให้ผู้ซื้อรถยนต์คันแรก เพราะ ฉะนั้นในปัจจุบันจำนวนรถยนต์ ๔ ล้อในเมืองไทยคงจะเกิน ๑๐ ล้านคันไปแล้ว

          รายงานขององค์การอนามัยโลกที่ว่าด้วยความปลอดภัยทางถนนฉบับนี้ (ซึ่งทำให้ประเทศ ไทยได้ตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับที่ ๒) คงต้องมีผู้เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และผมอยาก รู้ว่าเมื่อถึงมือคณะรัฐมนตรีแล้ว คณะรัฐมนตรีจะมีปฏิริยาอย่างไร

          ผมไม่หวังนักว่าจะได้เห็นปฏิกิริยาที่น่าตื่นเต้นจากคณะรัฐมนตรี เพราะเรื่องอุบัติเหตุไม่ทำ ให้หิวกระหายเหมือนเรื่องรับจำนำข้าว และผมขอทำนายว่า ถ้าใครไปขอสัมภาษณ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็คงจะได้รับคำตอบว่า เพิ่งได้รับรายงาน และจะสั่งการให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบดำเนินการแก้ไข

          และถ้าผู้ขอสัมภาษณ์ถามต่อไปว่า หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องคือหน่วยไหน นายกรัฐมนตรีก็ คงเดินหนี เพราะตอบไม่ได้

          ถ้าเป็นโรค อุบัติเหตุทางถนนก็เป็นโรคร้ายแรงและเรื้อรังของเมืองไทยมานานแรมปี  และ ถ้าเป็นหมอ รัฐบาลชุดต่าง ๆ ของไทยก็เป็นหมอที่ไม่มีหรือไม่ใช้ความรู้ในการป้องกันโรค แต่ใช้วิธี รักษาโรคตามอาการเมื่อเกิดขึ้น และน่าสงสัยว่าหมอจะวางยาไม่ถูกกับโรคเสียด้วย

          ตามตำราที่ผมเคยเรียนมานั้น อุบัติเหตุทางถนนจะป้องกันระงับได้ด้วยปัจจัย ๓ คือ การ ศึกษา วิศวกรรม และการบังคับใช้กฎหมาย

          การศึกษาในที่นี้หมายถึงการให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ทั้งผู้ใช้รถและผู้ใช้ถนน  วิศวกรรมหมาย ถึงการออกแบบและสร้างถนนท่ีไม่แต่กว้างและแข็งแรงพอเท่านั้น แต่ยังจะต้องปลอดภัยแก่ผู้ขับรถ และคนเดินถนนด้วย  ส่วนปัจจัยที่ ๓ คือการบังคับใช้กฎหมายนั้น ก็หมายถึงมาตรการที่เจ้าหน้าที่ ใช้เมื่อมีการละเมิดกฎข้อบังคับในการจราจร

          พิจารณาจากปัจจัย ๓ ดังกล่าวแล้วจะเห็นว่า ถ้าเป็นการสอบไล่ เมืองไทยก็สอบตกทุกวิชา

          ดูการขับรถในท้องถนนทุกวันนี้จะเห็นว่าคนขับรถขับตามยถากรรม โดยไม่มีความรู้ในการ ใช้รถใช้ถนน  เรื่องความเร็วนั้นไม่ต้องพูดถึง  คนขับรถในเมืองไทยไม่สนใจว่าความเร็วจำกัดตาม กฎหมายเป็นอย่างไร  เวลาขับรถแม้บนพื้นถนนจะมีเส้นตีแบ่งช่องเอาไว้ แต่ผู้ขับรถส่วนใหญ่ก็ไม่ สนใจ ขับรถคร่อมเส้นเพื่อแซงแม้ในที่จำกัด ขอให้ตนได้ไปก่อนเป็นใช้ได้

          การออกแบบและสร้างถนนนั้น จะเป็นเพราะต่างบริษัท (รับเหมา) ต่างทำก็ไม่รู้ ถนนใน เมืองไทยจึงมีหลายแบบหลายลักษณะ  ทางโค้งหลายแห่งเป็นวงแคบมาก และทำให้รถที่แล่นเข้า โค้งไปโดยเร็วประสบอุบัติเหตุ  อีกอย่างหนึ่งก็คือป้ายบอกทางแยกหรือทางร่วม ที่แลไม่เห็นชัดหรือ ใกล้ทางแยกทางร่วมเกินไป ทำให้ผู้ขับต้องเปลี่ยนช่องทางอย่างกระทันหัน จนเกิดอุบัติเหตุ

          ส่วนการบังคับใช้กฎหมายซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น ก็หละหลวมหย่อนยาน  เราจะ ไม่เห็นรถตำรวจทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์ที่แล่นตรวจและจับกุมผู้ทำผิดกฎจราจรเลย  ตำรวจใช้ วิธีตั้งด่านตรวจอยู่กับที่ จึงจับกุมได้แต่เฉพาะรถที่บรรทุกน้ำหนักเกินอัตรา และรถที่มีสภาพผิด กฎหมายเท่านั้น  ส่วนที่แล่นเร็วเกินอัตรากำหนดนั้น แม้จะมีเครื่องมือตรวจรับความเร็ว แต่ก็มี น้อยและแทบไม่เห็นกันเลย

          สมัยนี้มีการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดไว้ตามส่วนต่าง ๆ ของถนน ซึ่งช่วยให้จับกุมผู้ฝ่า ฝืนสัญญาณไฟจราจรได้บ้าง แต่ไม่ช่วยให้คนขับรถช้าลง

          ปัญหาอุบัติเหตุในท้องถนน ที่ไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลนี้ เป็นภัยเงียบที่ทำลายทรัพย์ สินและชีวิตของประชาชนจำนวนมหาศาล และทำลายเศรษฐกิจของประเทศด้วย แต่เราก็ไม่เคยได้ ยินว่ารัฐบาลมีแผนระยะสั้นหรือระยะยาวที่จะแก้ปัญหานี้อย่างไร  พอถึงวันหยุดราชการหรือเทศ กาลประจำปี เช่นวันขึ้นปีใหม่ เมื่อรถยนต์จำนวนมากจะแย่งกันออกไปใช้ถนนและเกิดอุบัติเหตุ เป็นจำนวนมาก เราก็จะเห็นแต่การรณรงค์ที่จะลดจำนวนอุบัติเหตุในกรณีนั้น และคำโฆษณาโอ้ อวดว่าลดจำนวนคนตายเพราะอุบัติเหตุลงได้เท่านั้นเท่านี้  ครั้นเมื่อพ้นช่วงวันหยุดราชการหรือ เทศกาลไปแล้ว ก็ไม่มีใครสนใจว่าคนจะตายมากขึ้นหรือน้อยลงเท่าใดและอย่างไร

          ตราบใดที่ท่าทีของรัฐบาลยังเป็นเช่นนี้อยู่ ตราบนั้นจำนวนคนไทยที่ตายเพราะอุบัติเหตุ ในท้องถนนก็คงจะไม่น้อยลง และอาจจะมากขึ้น จนทำให้ประเทศไทยได้ตำแหน่งชนะเลิศในการ แข่งขันกันตายระหว่างประเทศ

          หรือว่านี่คือนโยบายอีกข้อหนึ่งของรัฐบาล ?

วสิษฐ เดชกุญชร (Vasit Dejkunjorn) (Notes) on Monday, March 25,