ผู้เขียน หัวข้อ: โควิด-19 : ศึกชิงวัคซีน ศบค. เป็น “ผู้คุม” ส่วน สธ. เป็น “คนรับออเดอร์”  (อ่าน 300 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
สองสัปดาห์สุดท้ายก่อนถึงวันดีเดย์ปูพรมฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งประเทศ 7 มิ.ย. ได้ปรากฏความเคลื่อนไหวจาก "ผู้มีอำนาจ" ในการช่วงชิงวัคซีนอย่างหนัก ทั้งในนาม "องค์กร" และ "พื้นที่"

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของพรรครัฐบาลอย่างน้อย 2 พรรคออกมาวิจารณ์แกมวิงวอนรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้รื้อระบบกระจายวัคซีน เพราะหวังผันวัคซีนไปลงพื้นที่ของตัวเองให้ได้มากที่สุด

เช่นเดียวกับส่วนราชการอย่างน้อย 5 กระทรวงที่ยื่นคำขอรับการจัดสรรวัคซีนไปบริหารจัดการเอง

ท่ามกลางศึกชิงวัคซีนครั้งใหญ่ กระทรวงแรงงานเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรวัคซีน 6 ล้านโดส เพื่อฉีดให้แก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในพื้นที่ กทม. และ 9 จังหวัดเศรษฐกิจ ในเดือน มิ.ย.-ก.ค.

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยเบื้องหลังในการตัดโควตาวัคซีนมาฉีดให้แรงงานในระบบว่า เขาได้จัดทำแผนงานเสนอต่อนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ในฐานะที่ปรึกษาด้านการกระจายวัคซีนของภาคเอกชน/ภาคเศรษฐกิจ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพราะมองว่าหากกระจายวัคซีนโควิด-19 ลงไปจังหวัดทั้งหมด ภาคธุรกิจก็เดินต่อไม่ได้

"ถ้าบริษัทคุณมีลูกน้องพันคน คุณไม่มีทางรู้หรอกว่าลูกน้องคุณลงแอปฯ 'หมอชนะ' ได้เท่าไหร่ ได้ฉีดจริงเมื่อไร ไม่มีทางรู้เลยว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในบริษัทเมื่อไหร่ ปัญหามันก็ไม่จบ ผมจึงต้องหาทางช่วยผู้ประกอบการและนายจ้าง โดยขอตัดยอดมาทำเอง" นายสุชาติกล่าวกับบีบีซีไทย

จากยอดผู้ประกันตนราว 11 ล้านคน ซึ่งอยู่ในฐานข้อมูลของกระทรวงแรงงาน ปรากฏว่ามีผู้ประกันตนราว 5.1 ล้านคน แจ้งความประสงค์ขอรับวัคซีนในระหว่างการสำรวจของกระทรวงแรงงานเมื่อ 11-17 พ.ค. ในจำนวนนี้อยู่ใน กทม. ถึง 2.2 ล้านคน จากผู้ประกันตนทั้งจังหวัด 3.7 ล้านคน

กระทรวงแรงงานจึงขอโควตาวัคซีน 1.5 ล้านโดส เพื่อจัดสรรให้แก่ผู้ประกันตนในเมืองหลวงล็อตแรกในเดือน มิ.ย. และต้องรับผิดชอบบริการจัดการทั้งหมด ตั้งแต่จัดจุดฉีดโดยใช้สถานพยาบาลในเครือข่ายสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ซึ่งมีอยู่ 80 แห่ง, จัดทำรายชื่อผู้รับวัคซีน, บริหารสต็อกว่าฉีดไปเท่าไร เหลือเท่าไร และรายงานต่อ ศบค. ทั้งนี้ในการฉีดวัคซีนให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จะทำในลักษณะ "ใครลงทะเบียนก่อน มีสิทธิได้รับวัคซีนก่อน" โดยมีหลักฐานยืนยันเป็นจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล์) ที่นายจ้างส่งถึง สปส.

"หากคุณเป็นแรงงานใน กทม. ก็แสดงว่าคุณมีสิทธิ 2 ขา ขาหนึ่งคืออยู่ใน สปส. หากนายจ้างลงทะเบียนขอรับวัคซีนกลุ่มเข้ามา และอีกขาในฐานะประชาชนทั่วไป ซึ่งผู้ว่าฯ อัศวิน ขวัญเมือง จัดฉีดให้ เอาว่าคุณจะใช้สิทธิอะไรก็ได้ อะไรเร็วกว่า คุณไปตรงนั้นเลย เพราะเราจะตัดระบบหลังบ้านกันเอง ช่วงปลายเดือน มิ.ย. สปส. จะสำรวจข้อมูลผู้ได้รับวัคซีนของแต่ละบริษัทอีกครั้งหนึ่ง" รมว.แรงงานกล่าว

ศึกชิงวัคซีน
พล.อ. ประยุทธ์ ประกาศให้การฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็น "วาระแห่งชาติ" เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในสิ้นปีนี้ โดยกำหนดเป้าหมายไว้ 3 กลุ่มหลัก เพื่อแบ่งบทให้หน่วยงานแยกกันบริหารจัดการวัคซีนที่รับมาจากสต็อกกลางของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

_กลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 โรค สธ. รับผิดชอบ
_กลุ่มเอกชนเพื่อเปิดเศรษฐกิจของประเทศ กระทรวงแรงงาน รับผิดชอบ
_กลุ่มประชาชนทั่วไป ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด รับผิดชอบ

ทว่านอกจากกระทรวงแรงงาน ยังมีส่วนราชการอื่น ๆ แจ้งความจำนงขอรับการจัดสรรวัคซีนไปกระจายต่อให้มวลชนในโครงข่ายของตนเอง โดยมีข้อมูลปรากฏต่อสาธารณะ อาทิ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำหรับบุคลากรด้านท่องเที่ยวราว 3.5 ล้านคน, กระทรวงศึกษาธิการ สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาราว 6 แสนคน, กระทรวงคมนาคม สำหรับบุคลากรด้านขนส่งกว่า 3.5 แสนคน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำหรับอาจารย์และนักศึกษาก่อนเปิดภาคเรียน

อย่างไรก็ตามนายสุชาติ ผู้เป็นรัฐมนตรีจากพรรคแกนนำรัฐบาล แสดงความไม่เห็นด้วยกับกระทรวงต่าง ๆ ที่พาเหรดกันมาขอตัดโควตาวัคซีนไปบริหารจัดการเอง และตั้งคำถามเรื่องความจำเป็นและความซ้ำซ้อนกับโควตาที่แต่ละจังหวัดรับไปบริหารจัดการ

"อย่างครูบาอาจารย์ ต้องถามความจำเป็นว่าวันนี้เราเปิดเทอมหรือยัง แต่ภาคเศรษฐกิจธุรกิจมันหยุดไม่ได้ เพราะมีสายผลิตอยู่ พวกนี้เขาไม่ได้กินเงินเดือนราชการ เขากินเงินเดือนของเขาเอง ถ้าเปิดธุรกิจไม่ได้ เขาก็ไปต่อไม่ได้"

"ถ้าทุกคนทุกหน่วยงานบอกจำเป็นหมด มันจะไปได้ยังไง เข้าใจว่าในภาวะโรคระบาด มันจำเป็นกันอ่ะ แต่ต้องดูความจำเป็นของพื้นที่เสี่ยงด้วย เปรียบเหมือนเราเป็นนักผจญเพลิง ถ้ามีบ้านหลังหนึ่งไฟไหม้ เราจะเจียดน้ำไปดับบ้านข้าง ๆ ก่อนหรือ มันก็ต้องดับบ้านต้นเพลิง" นายสุชาติกล่าว

กทม. กำลังเผชิญการแพร่ระบาดในคลัสเตอร์ "แคมป์คนงาน" หลายแห่ง จนต้องปิดพื้นที่ห้ามเข้าออก

ในฐานะ ส.ส.ชลบุรี พปชร. นายสุชาติยอมรับว่าถูกทวงถามจากคนในพื้นที่ว่าทำไมวัคซีนถึงไปในพื้นที่ภาคตะวันออกน้อย ทั้งที่ จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง ก็เป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญที่ทำรายได้ให้ประเทศไม่แพ้ กทม. ซึ่งเขายืนยันไปว่าต้องรอรับการจัดสรรตามสถานการณ์ "วันนี้ต้องเอา กทม. ให้หมดก่อน ถ้าฉีดที่ กทม. แบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ จะได้ประโยชน์อะไร อีกหน่อยถ้าเมืองหลวงจบหมด มีภูมิคุ้มกันแล้ว ก็สามารถขยับไปตามแผนฉีดใน จ. อื่น ๆ ได้"

นายสุชาติยังโทรศัพท์ไปบ่น ส.ส. ร่วมพรรคที่ออกมาตั้งโต๊ะแถลงเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์รื้อระบบแผนกระจายวัคซีนที่กำลังจะเข้ามาอีกประมาณ 6 ล้านโดส พร้อมระบุว่าที่ผ่านมา ไม่เคยมีการพูดคุยเรื่องการกระจายวัคซีนในพรรคมาก่อน

"นายกฯ พยายามให้ความเป็นธรรมอยู่แล้ว การจัดสรรก็อาจมีเหตุและผลของท่าน เพราะวัคซีนมีจำนวนจำกัด การออกมาตำหนิหรือแสดงความคิดอ่านโดยไม่รู้ข้อมูลทั้งหมด มันไม่ดี" นายสุชาติถ่ายทอดคำเตือน ส.ส.พปชร. ให้ฟัง

เขาบอกด้วยว่า เข้าใจว่าเพื่อน ส.ส. อาจต้องการทำแต้ม แต่นี่มันไม่ใช่เรื่องการเมือง มันคือเรื่องที่อาจแบ่งโดยมีหลักฐานการลงทะเบียนมาในแอปฯ "หมอพร้อม" และนัดหมายวันกันไว้ก่อนหน้านี้หรือเปล่า และคิดตามสัดส่วนประชากรในพื้นที่ แต่ถ้าได้วัคซีนมาเพิ่ม ก็ต้องกระจายไปตามพื้นที่เสี่ยงและจังหวัดเศรษฐกิจต่อไป

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ยืนยันว่าในการบริหารจัดการ เขาต้องมองภาพรวมของประเทศ ไม่ใช่แค่พื้นที่การเมือง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์เรื่องการเปิดศึกชิงวัคซีนในหมู่ผู้มีอำนาจรัฐ-อำนาจการเมือง เพราะยิ่งฉีดได้มาก ฉีดได้ไว ยิ่งครองใจประชาชนผู้รอคอยการรับวัคซีนต้านโควิด แต่ถึงกระนั้น นายสุชาติคาดการณ์ว่าศึกชิงวัคซีนจะไม่เกิดขึ้น เพราะนายกฯ แจ้งแล้วว่าจะมีการปรับหลักเกณฑ์ใหม่โดยพิจารณาจากสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ เชื่อว่า พล.อ. ประยุทธ์คิดไว้หมดแล้ว ขอให้อดทนดูผลการกระจายวัคซีนในเดือน มิ.ย. ก่อน

"ในภาพรวมของประเทศ ขอให้เชื่อมั่นในรัฐบาล และเชื่อตัวนายกฯ เถอะ" รมว.แรงงานกล่าว

เสียงบ่นจากผู้แทนฯ ซีกรัฐบาล
การออกมาให้ความเห็นของรองหัวหน้า พปชร. เกิดขึ้นหลังจาก 7 ส.ส. ของพรรค ประกอบด้วย นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส.ชลบุรี, นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี, นายสุชาติ อุสาหะ ส.ส.เพชรบุรี, นายกฤษณ์ แก้วอยู่ ส.ส.เพชรบุรี, น.ส. ไพลิน เทียนสุวรรณ ส.ส.สมุทรปราการ, นายวันชัย ปริญญาศิริ ส.ส.สงขลา, นายพยม พรหมเพชร ส.ส.สงขลา แถลงเรียกร้องให้นายกฯ รื้อระบบแผนกระจายวัคซีนให้เป็นธรรมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน หลังตรวจสอบพบว่าจังหวัดที่เป็นพื้นที่ "สีแดง" ได้รับการจัดสรรวัคซีนน้อยกว่าแต่จังหวัดที่เป็น "สีขาว" และ "สีเขียว" เช่น สมุทรปราการได้โควตา 237,000 โดส ในเดือน มิ.ย. ส่วนเพชรบุรีไม่ปรากฏข้อมูลว่าได้รับวัคซีนใน 20 อันดับแรก

สำหรับ พปชร. เป็นพรรคที่สนับสนุนให้ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2

นอกจากนี้ยังมีพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ออกมาวิจารณ์แผนกระจายวัคซีนของรัฐบาล ทั้ง ๆ ที่หัวหน้าพรรคอย่างนายอนุทิน ชาญวีรกูล ก็เป็นรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สธ.

นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน ส.ส.กาญจนบุรี เรียกร้องให้ทบทวนแผนกระจายวัคซีน หลังพบว่ากาญจนบุรีซึ่งมีชายแดนติดกับประเทศเมียนมา ไม่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะได้รับการพิจารณาจัดสรรวัคซีนเป็นกลุ่มที่ 2 อีกทั้งยังเป็นจังหวัดท่องเที่ยว แต่กลับ "ไม่อยู่ในสายตา"

เช่นเดียวกับนายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส. สงขลา ที่ขอให้ ศบค. เกลี่ยโควตาของจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อน้อยหรือไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มาให้กับจังหวัดที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง

สธ. เป็น "คนรับออเดอร์"
ปฏิกิริยาจากนายอนุทินคือรับฟัง แต่ทำอะไรไม่ได้ เพราะไม่ใช่ผู้คุมวัคซีนโควิด-19

เขากล่าวว่า ส.ส. ต้องนึกถึงประชาชน มีสิทธิบ่น การกระจายวัคซีนขณะนี้ สธ. เป็นผู้กระจายตามการกำหนดและความเห็นชอบของ ศบค. ว่าจะให้ส่งไปที่ไหน เวลาใด จำนวนเท่าไร

นายอนุทินเน้นย้ำเรื่อง "ไร้อำนาจ" ในระหว่างการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในช่วง 2 วันนี้ (25-26 พ.ค.)

"ตอนนี้กระทรวงสาธารณสุขส่งโดยรับออเดอร์ (คำสั่ง) มาจาก ศบค. ว่าจะให้กระทรวงส่งไปที่ไหนเท่าไหร่ เลขาธิการ สมช. ที่เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงาน ก็ต้องหารือกับอธิบดีกรมควบคุมโรค ถ้าตกลงกันได้ ไม่มีใครโอเวอร์เคลมขอเยอะไว้ก่อน ก็มีสูตรการคำนวณอยู่ เมื่อตกลงกันได้ กรมควบคุมโรคที่ถือสต็อกวัคซีนก็จัดส่งตามขั้นตอนปกติ"

"ผมไม่ได้ไปประชุมร่วม ศบค. ผมมีหน้าที่รับออเดอร์จาก ศบค. ว่าให้จัดวัคซีนไปที่ไหนพอเขาเอาเรื่องนโยบายไปกำกับที่ ศบค. แล้ว ผู้สื่อข่าวก็ต้องปล่อยผมหน่อยสิ ก็ต้องไปถามที่ ศบค. ตอนนี้ผมเป็นผู้ปฏิบัติคนหนึ่ง แต่สิ่งที่ผมยืนยันคือจะทำหน้าที่ผู้ปฏิบัติให้ดีที่สุด" รมว.สธ. กล่าว

"ต้องถาม ศบค."
ท่ามกลางเสียงตัดพ้อต่อว่าแผนกระจายวัคซีนของรัฐบาลที่เกิดขึ้น นพ. โสภณ เมฆธน กรรมการผู้ช่วย รมว.สธ. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กล่าวกับบีบีซีไทยว่า "ได้ยินข่าวเหมือนกัน ที่มีคนออกมาพูดเหมือนว่าจัดไม่เป็นธรรม แต่ต้องถาม ศบค."

ไม่ว่าจะถูกยิงคำถามอะไรใส่ อาทิ ใครคือผู้เคาะยอดวัคซีนให้แต่ละจังหวัด หรือใครจะหย่าศึกแย่งวัคซีนหลังนักการเมืองเริ่มออกมาเคลื่อนไหวขอเพิ่มโควตา นพ. โสภณตอบกลับด้วยประโยคเดิมว่า "ต้องถาม ศบค."

กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีรายนี้ไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการกระจายวัคซีนในปัจจุบัน โดยให้เหตุผลว่า "ศบค. เอาไปดูเองนานแล้ว"

ก่อนวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกจะมาถึงไทยในเดือน ก.พ. คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่มี รมว.สธ. เป็นประธาน ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มีหน้าที่สำคัญคือ "นำเป้าหมายตามแผนการให้วัคซีนของประเทศไทย มาจัดทำแนวทางในการฉีดวัคซีนให้บรรลุตามเป้าหมายภายในสิ้นปี 2564"

คณะอนุกรรมการชุดนี้ประชุมนัดแรกเมื่อ 15 ม.ค. โดยมีการสำรวจความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ก่อนนำมาประเมินลำดับการให้วัคซีน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระยะคือ ช่วงที่วัคซีนมีปริมาณจำกัด และช่วงที่มีวัคซีนมากขึ้นแล้ว

สองหลักการสำคัญที่คณะอนุกรรมการชุด นพ. โสภณ วางไว้ในระยะแรก (ก.พ.-เม.ย.) คือ

ให้กระจายวัคซีนไปยัง 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ บุคลากรการแพทย์/สาธารณสุขด่านหน้า, ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง, ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคด่านหน้าที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย ในพื้นที่แพร่ระบาดหนัก 5 จังหวัด (ในเวลานั้น) คือ จ.สมุทรสาคร ซึ่ง ศบค. จัดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) และพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) อีก 4 จังหวัด ประกอบด้วย กทม. นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต
ให้ฉีดวัคซีนซิโนแวคแก่ประชาชนอายุ 18-59 ปี และฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าให้ประชาชนได้ทุกกลุ่มอายุ รวมถึงผู้สูงวัยเกิน 60 ปีขึ้นไปด้วย
สามเดือนต่อมา รัฐบาลตั้ง "ศูนย์บริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 แบบเบ็ดเสร็จ" มี พล.อ. ประยุทธ์ ผู้เป็น ผอ.ศบค. นั่งบัญชาการด้วยตนเองแบบ "Single Command" และมี พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโควิด-19 (ศปก.ศบค.) เป็น "มือขวา" ของ ผอ.ศบค. คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนที่ สธ. ตั้งขึ้นทั้งหมดจึงหมดบทบาทลง และเป็นเพียงผู้รับและปฏิบัติตามคำบัญชาของ ศบค. เท่านั้น

เมื่อสถานการณ์เดินมาถึงจุดที่ "คนไทยพร้อม" แต่ไม่แน่ใจว่ามี "วัคซีนพร้อม" ฉีดอย่างเพียงพอหรือไม่ นพ. โสภณฝากคำแนะนำด้วยความปรารถนาดี

"ตอนนี้มันเป็นเรื่องการบริหารดีมานด์และซัพพลาย (อุปสงค์และอุปทาน) ความต้องการไม่มีปัญหาแล้ว คนมีความต้องการเยอะ แต่วัคซีนทยอยมา ดังนั้นก็อยู่ที่การบริหารจัดการ อะไรที่เป็นประโยชน์กับคนส่วนมากก็ต้องยึดตามนั้น และให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของวัคซีน... แผนมันปรับได้ทุกวัน ขึ้นกับดีมานด์ซัพพลาย" กรรมการผู้ช่วย รมว.สธ. กล่าว

ปรับแผน จากจัดตาม "ยอดจอง" เป็น "ยอดระบาด"
ศบค. เพิ่งประกาศให้ประชาชนชะลอการลงทะเบียนขอรับวัคซีนผ่านระบบ "หมอพร้อม" ของ สธ. ออกไปก่อน โดยให้ใช้ช่องทางเฉพาะที่ทางจังหวัดจัดขึ้น เช่น ระบบ "ไทยร่วมใจ กรุงเทพปลอดภัย" (เว็บไซต์, แอปฯ เป๋าตัง, ร้านสะดวกซื้อ, ค่ายมือถือ) สำหรับคน กทม., ระบบ "นนท์พร้อม" (แอปพลิเคชัน, เว็บไซต์) สำหรับชาวนนทบุรี หรือเว็บไซต์ "ภูเก็ตต้องชนะ" สำหรับชาวภูเก็ต ยกเว้นกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 โรค ที่ยังลงทะเบียนผ่านแอปฯ "หมอพร้อม" จะได้รับวัคซีนในช่วงเวลาที่เหมาะสม ส่วนจะเป็นวันเวลาใดขึ้นอยู่กับจำนวนวัคซีนที่นำเข้ามา

ในระหว่างการแถลงข่าวประจำวันที่ 26 พ.ค. นพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ยอมรับว่า ศบค. กำลังปรับแผนการกระจายวัคซีนโควิด-19 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โดยนายกฯ ได้สั่งการให้เลขาธิการ สมช. ประชุมหารือกับปลัด สธ. และอธิบดีกรมควบคุมโรคแล้ว

โฆษก ศบค. ระบุว่าหลังจากนี้แอปฯ หมอพร้อม จะใช้เพื่อติดตามการฉีดวัคซีน และออกใบรับรองการฉีดวัคซีนเท่านั้น

จากเดิมใช้เกณฑ์ "คนจองเท่าไร ก็จัดสรรโควตาไปตามนั้น" ซึ่งปรากฏว่าบางจังหวัดที่มียอดจองวัคซีนเข้ามามาก แต่พบผู้ติดเชื้อน้อย จึงเกิดประเด็นว่า "ทำไมถึงเทวัคซีนไปตรงนั้น"

ส่วนหลักเกณฑ์ใหม่ที่ นพ. ทวีศิลป์อ้างถึงมีทั้งอัตราผู้ติดเชื้อในพื้นที่, การขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคม, กลุ่มบุคคลเสี่ยงที่ต้องได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มเฉพาะ เช่น แรงงานตามแคมป์ คนขับรถสาธารณะ บุคลากรทางการศึกษาที่ต้องฉีดวัคซีนให้ก่อนเปิดภาคเรียน

"ขอกราบเรียนว่าเราพยายามทำให้ดีที่สุด เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศและการขับเคลื่อนต่อไป" โฆษก ศบค. กล่าว

หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
26 พฤษภาคม 2021