ผู้เขียน หัวข้อ: ตื่นตา! 'ป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน'รูปแบบพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต  (อ่าน 2222 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ป่าชายเลนมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศของพื้นที่ชายฝั่งทะเลและอ่าวไทย แต่ปัจจุบันป่าชายเลนกำลังถูกบุกรุก และถูกทำลายลงไปโดยผู้แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน จึงควรหาทางป้องกันอนุรักษ์และขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นโกงกาง เป็นไม้ชายเลนที่แปลกและขยายพันธุ์ค่อนข้างยาก เพราะต้องอาศัยระบบน้ำขึ้นน้ำลงในการเติบโตด้วย

    สำหรับป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน อยู่ในพื้นที่โครงการ “ศูนย์ศึกษา พัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ท้องที่ ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 11,000 ไร่ เป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคุ้งกระเบน และป่าอ่าวแขมหนู  ในปัจจุบันจัดว่าเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ และสวยงามแห่งหนึ่งของจังหวัดจันทบุรี มีพันธุ์ไม้ป่าชายเลนจำนวนทั้งสิ้น ประมาณ 30 ชนิด ขึ้นกระจายปกคลุมอยู่รอบอ่าวเป็นแนวกว้างโดยเฉลี่ย 30-200 เมตร และโค้งยาวไปตามขอบอ่าวเป็นระยะทางถึง 5 กม.ป่าชายเลนนับเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญที่สุดของ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพราะเนื่องจากทำหน้าที่สำคัญ ในการรักษาระบบนิเวศชายฝั่งแห่งนี้ให้อยู่ในความสมดุล ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรสามารถเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลได้อย่างยั่งยืนแล้ว ยังเป็นที่มาของสัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู ปลา และแหล่งอาหารตามธรรมชาติ ตลอดจนแหล่งสมุนไพรสำหรับชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบอ่าวอีกด้วย
   
นอกจากนั้น ป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบนผืนนี้ยังขึ้นอยู่ในภูมิประเทศที่มีความงดงามของ ธรรมชาติ ที่ประกอบด้วยผืนผิวน้ำขนาดกว้างใหญ่ คลื่นลมที่ไม่รุนแรง ก่อให้เกิดความรู้สึกที่เปิดโล่ง ปลอดโปร่งเป็นอิสระ และยังมีลำคลองเล็ก ๆ คดเคี้ยวไปมาหลังป่าชายเลน ซึ่งเป็นที่อาศัยของหมู่มวลนกกานานาชนิด ที่มีสีสันสวยงามเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ป่าชายเลนแห่งนี้เป็นบริเวณที่มีเสน่ห์และมีความเหมาะสมที่จะใช้ เป็นที่ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติในรูปของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มี ชีวิต (LIVING MUSEUM) รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจในรูปแบบของนิเวศน์ทัศนา (ECO-TOURISM)  พร้อมด้วยการเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน จะพบกับต้นโกงกางที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งขนาดใบเล็กและใบใหญ่ ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้เด่นของป่าชายเลนแห่งนี้ ที่ขึ้นครอบคลุมพื้นที่อ่าวคุ้งกระเบน กว่าร้อยละ 80 ของจำนวนพันธุ์ไม้ทั้งหมด ส่วนใหญ่จะมีอายุเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 30 ปี ขึ้นไป พร้อมกับจัดสร้างสะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน ซึ่งมีความยาวประมาณ 1,790 เมตร ลดเลี้ยวเข้าไปในป่าชายเลน เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางด้านระบบนิเวศวิทยาป่าชายเลนในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ ธรรมชาติที่มีชีวิต แก่นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป พร้อมกับการอนุรักษ์ป่าชายเลนรอบอ่าวคุ้งกระเบน 610 ไร่ พร้อมกับปลูกป่าชายเลนเพิ่มเติม จำนวน 690 ไร่ ทำให้มีพื้นที่ป่าชายเลนที่สมบูรณ์ที่สุดในจังหวัดจันทบุรี จำนวน 1,300 ไร่ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาด้านนิเวศป่าชายเลนแก่ผู้สนใจและใช้ป่าชายเลนเป็นตัวดูด ธาตุอาหารที่เกิดจากการเลี้ยงกุ้งทะเล ซึ่งเป็นการบำบัดน้ำทางชีวภาพ เพื่อให้การเลี้ยงกุ้งทะเลในโครงการฯยั่งยืนตลอดไป
   
นายทวี  จินดามัยกุล ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า จากอดีตที่ผ่านมาทรัพยากรที่มีคุณค่าบริเวณอ่าวคุ้งกระเบนเริ่มเสื่อมโทรม มีการจับสัตว์น้ำในปริมาณที่เกินระดับความเหมาะสมของการขยายพันธุ์ ทำให้แหล่งประมงที่เคยอุดมสมบูรณ์ลดปริมาณลง การเพาะปลูกได้รับความเสียหายเนื่องจากน้ำทะเลเอ่อล้นถึงพื้นที่การเกษตร พื้นที่เขตป่าสงวนถูกบุกรุกทำลายเป็นป่าเสื่อมโทรมจำนวนมาก ซึ่งจากปัญหาดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยราษฎรที่ประสบปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดังกล่าว จึงมีพระราชดำริที่จะทำการศึกษาพัฒนาพื้นที่ในเขตที่ดินชายทะเล เพื่อแนะนำให้ประชาชนได้มีความรู้และความสำคัญของการใช้และอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติด้านต่าง ๆ อย่างเหมาะสม จึงทรงมีพระราชดำริแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2524 ดังนี้ “ให้พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมจัดทำโครงการพัฒนาอาชีพการประมงและการเกษตรใน เขตที่ดินชายฝั่งทะเลของจังหวัดจันทบุรี” ต่อมาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริเพิ่มเติม ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน กับนายเล็ก จินดาสงวน และ นายสุหะ ถนอมสิงห์ เกี่ยวกับโครงการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในเขตจังหวัดจันทบุรี ดังนี้ “ให้พิจารณาจัดหาพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม หรือพื้นที่สาธารณประโยชน์ เพื่อจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ให้เป็นศูนย์ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาในเขตที่ดินชายทะเล”
   
การพัฒนาจากยอดเขาสู่ท้องทะเล ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯเป็นการดำเนินงานแบบผสมผสานจากหน่วย งานในด้านการอนุรักษ์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการพัฒนาอาชีพของราษฎร เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศให้ยั่งยืนตลอดไป นอกจากนี้จากการดำเนินการท่องเที่ยวเชิงพัฒนาของศูนย์ฯซึ่งเป็นที่แพร่หลาย และพึงพอใจของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทำให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม ครั้งที่  3 “กินรีทอง” ประจำปี 2543 และรางวัลดีเด่น ครั้งที่ 4 “กินรีเงิน” ประจำปี 2545  จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.

รัตนธร เขาหนองบัว / ดำรงค์ สงบภัย

18 กุมภาพันธ์ 2554