ผู้เขียน หัวข้อ: ยกฟ้องหมอรพ.ดังให้แม่เด็กพิการเซ็นยอมความ หลังผ่าตัดลูกหัวใจหยุดเต้น  (อ่าน 629 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 14 มี.ค. ที่ห้องพิจารณาคดี 11 ศาลจังหวัดนนทบุรี ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ผบ.1613/2560 ที่ น้องพอตเตอร์ อายุ 2 ปี โดยน.ส.ศุฑาทิพย์ มีสมบูรณ์ อายุ 20 ปี มารดาผู้แทนโดยชอบธรรม เป็นโจทก์ ฟ้องนายสหรัชต์ ชาติพรหม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา, สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นจำเลยที่ 1 ถึง 3 เรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหาย 2 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จังหวัดนนทบุรี วินิจฉัยว่า น้องพอตเตอร์ป่วยเป็นโรคหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด ต้องรับการผ่าตัดหัวใจจึงส่งตัวไปรักษาต่อที่ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ใช้สิทธิ์ประกันสุขภาพทั่วหน้ากระทั่งวันที่ 1 มีนาคม59 แพทย์ผ่าตัด ปรากฏว่าหลังการผ่าตัดเคลื่อนย้ายเด็กออกจากห้องผ่าตัดเพื่อไปพักฟื้น เด็กเกิดอาการหัวใจหยุดเต้นขาดอากาศหายใจ แพทย์ลงความเห็นว่า “สมองเด็กพิการจากการขาดออกซิเจน” ต้องรับอาหารทางสายยางหน้าท้อง มีอาการชักเกร็ง

ต่อมาวันที่ 17 พฤษภาคม 59 จำเลยทั้ง 3 ได้ให้ น.ส.ศุฑาทิพย์ ทำสัญญาลงลายมือชื่อยินยอมรับค่าชดเชยเยียวยาจาก สปสช.จำเลยที่ 3 จำนวน 280,000 บาท โดยลงลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความและใบสำคัญรับเงินของ สปสช.จำเลยที่ 3 ในสัญญาดังกล่าวมีการระบุห้ามนำเรื่องไปร้องเรียนสื่อมวลชนและดำเนินคดีทางแพ่งและคดีอาญา โดยที่จำเลยที่ 1-3 ไม่ได้ตักเตือนทักท้วง

ต่อมา น.ส.ศุฑาทิพย์ทราบว่า เงินเยียวยาของ สปสช. ไม่จำเป็นต้องทำสัญญาเมื่อเงินเป็นสิทธิ์ของโจทก์และทายาทต้องได้รับ แต่การทำสัญญาดังกล่าวเป็นการตัดสิทธิ์เรียกร้องต่าง ๆ ของโจทก์ จำเลยทั้ง 3 จงใจหลอกลวงให้ทำสัญญาเพื่อไม่ให้ดำเนินคดี โจทก์ขอให้จำเลยทั้ง 3 ร่วมกันชดใช้โจทก์ 1 ล้านบาท และค่าขาดสิทธิ์ทางกฎหมาย 1 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีและค่าเสียหายเชิงลงโทษ จำเลยต่อสู้ว่าในสัญญาประนีประนอมยอมความไม่มีข้อความห้ามมิให้อุทธรณ์ จึงไม่ใช่การจำกัดสิทธิ์ของโจทก์ และการฟ้องร้องคดีขาดอายุความเกิน 1 ปี

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นแพทย์ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยจึงต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐ ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ มาตรา 5 โดยคดีนี้ไม่ขาดอายุความในเวลา 10 ปีไม่ใช่ 1 ปีตามที่จำเลยต่อสู้ ส่วนเงินที่มารดาน้องพอตเตอร์ โจทก์ รับไปจำนวน 280,000 บาท เป็นของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ได้ว่า เป็นความฉ้อฉลตามที่โจทก์อ้าง ได้ความจากบิดาและมารดาของ น้องพอตเตอร์ซึ่งก็เบิกความตรงกันว่า ไม่มีการข่มขู่แต่มีการถามเจ้าหน้าที่ของ สปสช.จำเลยที่ 3 ว่า “ทำไมถึงได้แค่นี้” เจ้าหน้าที่ สปสช.จำเลยที่ 3 ตอบกลับว่า “มีสิทธิ์อุทธรณ์ได้” เป็นการบอกถึงสิทธิ์ให้โจทก์ทราบ ขณะที่โจทก์ถามกลับว่า “อุทธรณ์ยังไง” เจ้าหน้าที่ สปสช.จำเลยที่ 3 ตอบกลับว่า “แต่อุทธรณ์ไปส่วนใหญ่ก็ไม่ได้” เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น


การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นการฉ้อฉลตามบทกฎหมาย มารดา น้องพอตเตอร์โจทก์ ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ กับโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาโดยจำเลยที่ 1 แต่ไม่ปรากฏว่าในการทําสัญญาจำเลยที่ 1 ทำในฐานะตัวแทนจำเลยที่ 2 และ 3 สัญญาจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 และ 3 หากโจทก์ได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุขจากเจ้าหน้าที่รัฐในสังกัดและในกำกับดูแลของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 โจทก์ยังคงมีสิทธิ์ดำเนินคดีกับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เพื่อให้รับผิดในความเสียหายได้ตามกฎหมาย

โจทก์จึงมิได้ถูกจำกัดสิทธิ์ในการดำเนินคดีแพ่งและอาญาแต่อย่างใด เห็นว่าการกระทำสัญญาไม่ได้เป็นนิติกรรมที่เกิดจากการฉ้อฉลไม่ได้เป็นการละเมิดโจทก์ จำเลยทั้งสามไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ พิพากษายกฟ้อง

ภายหลัง น.ส.ศุฑาทิพย์มารดาของน้องพอตเตอร์กล่าวว่า รู้สึกผิดหวัง แต่ก็ยังมีช่องทางที่จะสู้คดีต่อไป ทั้งนี้อยากได้เงินมาดูแลรักษาลูกชายที่ต้องกลายเป็นคนพิการไปตลอดชีวิต เพราะสภาพของน้องตอนนี้แทบจะหมดหวังที่จะฟื้นกลับมาช่วยเหลือตัวเองได้อีก ต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง เพราะหมอเคยบอกว่าเซลล์ในสมองตายจึงไม่มีอะไรมาทดแทนฟื้นฟูได้

โดยหลังการผ่าตัดเมื่อสมองขาดออกซิเจนลูกนอนไม่รู้สึกตัวเป็นเวลา 20 วันถึงจะฟื้นขึ้นมา แต่กลายเป็นคนละคน จากเดิมที่เป็นเด็กร่าเริงตามปกติกลายเป็นตัวแข็งทื่อ ตาไม่กะพริบ แขนและขาเกร็ง ที่ผ่านมาต้องกู้ยืมเงินนอกระบบมา 140,000 บาท เพื่อใช้ในการรักษาและซื้อของใช้ให้ลูก วิงวอนขอความช่วยเหลือผ่านบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาโลตัส นครอินทร์ เลขที่บัญชี 4073998139 ชื่อบัญชี น.ส.ศุฑาทิพย์ มีสมบูรณ์

ด้านนายภิญโญภัทร์ ชิดตะวัน ทนายความของ น.ส.ศุฑาทิพย์ กล่าวว่า เมื่อศาลจะตัดสินอย่างไรก็เคารพในคำพิพากษาศาล ตนจะใช้สิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ต่อไป เมื่อเห็นว่าสัญญาดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย แต่มีการวินิจฉัยเรื่องของอายุความว่าเป็นอายุความทั่วไปมีเวลา 10 ปี จากคำพิพากษายังมีช่องทางในการต่อสู้คดี ซึ่งในการอุทธรณ์คำพิพากษาจะดูว่าเรื่องสัญญาเป็นการละเมิดหรือสัญญาโดยชอบหรือไม่และเป็นโมฆะหรือไม่ นอกจากคดีนี้แล้วยังได้ยื่นฟ้องคดีละเมิด เรียกค่าเสียหายทางแพ่งจำนวน 10 ล้านบาท กระทรวงสาธารณสุขในฐานะหน่วยงานของรัฐ ต่อที่ศาลจังหวัดนนทบุรี ศาลนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 30 พฤษภาคม61

14 มีนาคม 2561
ข่าวสด