ผู้เขียน หัวข้อ: เริ่ม 1 เม.ย.นี้!! เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต รักษาฟรี 72 ชม.เปิด 6 กลุ่มอาการใช้สิทธิ  (อ่าน 575 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
คลอดแล้ว!! สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตรักษาฟรีทุกโรงพยาบาล 72 ชั่วโมงแรก เริ่ม 1 เม.ย. นี้ ชี้ ทุก รพ. ต้องรับดูแลตามกฎหมาย ห้ามเก็บเงินผู้ป่วย เบิกจ่ายค่ารักษาตามหลักเกณฑ์ ย้ำ 6 กลุ่มอาการ “วิกฤต” ที่ใช้สิทธิได้ พร้อมตั้งศูนย์ประสานฯ ไขข้อข้องใจ “ผู้ป่วย - ญาติ” สงสัยคำวินิจฉัยวิกฤต “หมอ” เผยมีค่า พร้อมจัดระบบเตียงรองรับหลังพ้นวิกฤต 72 ชั่วโมง
       
       ความคืบหน้าโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ หรือ ยูเซป (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด ทั้ง รพ.รัฐ และ เอกชน โดยไม่ต้องสำรองจ่ายในระยะ 72 ชั่วโมงแรก ซึ่งที่ผ่านมา เป็นการขอความร่วมมือ ทำให้ยังพบปัญหา รพ.เอกชนเรียกเก็บเงินผู้ป่วย โดยอยู่ระหว่างการรอบังคับใช้กฎหมาย คือ พ.ร.บ. สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 ที่กำหนดให้ทุกโรงพยาบาลต้องปฏิบัติตาม ด้วยการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข 3 ฉบับ

        วันนี้ (31 มี.ค.) ที่ศูนย์ประชุมอิมแพ็ค ฟอรัม เมืองทองธานี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดโต๊ะแถลงข่าว การดำเนินการนโยบาย เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ ว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุข 2 ฉบับ คือ กำหนดผู้ป่วยฉุกเฉิน และหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วยฉุกเฉิน จะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 31 มี.ค. 2560 ขณะที่ประกาศอีกฉบับ คือ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไปเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา ดังนั้น โครงการยูเซปจะเริ่มดำเนินการได้วันที่ 1 เม.ย. 2560 เป็นต้นไป ซึ่งถือเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้ง สธ. สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กรมบัญชีกลาง โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลภาครัฐทั้งหมด ทั้งสังกัดมหาวิทยาลัย กองทัพ ฯลฯ เพื่อร่วมดูแลประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต คือ หากไม่ได้รับการรักษาทันทีจะถึงแก่ชีวิต สามารถเข้ารับการรักษาใน รพ. ที่ใกล้ที่สุด ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน โดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายช่วง 72 ชั่วโมงแรก เพราะมีการกำหนดอัตราการค่ารักษาพยาบาลกรณีฉุกเฉินวิกฤตขึ้น แบ่งออกเป็นกว่า 3,000 รายการ
       
       “ขณะนี้ทุกภาคส่วนพร้อมที่จะดำเนินการอย่างเต็มที่ ประชาชนจะได้รับการดูแลอย่างเต็มที่กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต เพียงแต่อาจจะมีการติดขัดบ้างในขั้นต้นของการดำเนินการ ซึ่งสามารถติชมมาได้ ก็จะพยายามปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นต่อไป สำหรับความเข้าใจเรื่องอาการฉุกเฉินวิกฤตของประชาชนที่อาจจะไม่ตรงกันนั้น คนที่ให้คำวินิจฉัย คือ แพทย์ห้องฉุกเฉินใน รพ. นั้น ซึ่งหากคนไข้ หรือญาติมีปัญหาเรื่องการวินิจฉัยคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ก็ยังมีการกำหนดให้ สพฉ. เปิดศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เบอร์ 0-2872-1669 เป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดว่าเป็นอาการฉุกเฉินวิกฤตหรือไม่ ซึ่งจะมีเกณฑ์พิจารณาอยู่ โดยสามารถ โทร.ได้ตลอด 24 ชั่วโมง” รมว.สธ. กล่าว
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า หากแพทย์วินิจฉัยว่าไม่ใช่เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ผู้ป่วยสามารถไปรักษาที่ รพ. อื่นต่อได้หรือไม่ และต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหรือไม่ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า โดยหลักการแพทย์ต้องดูแลประชาชนก่อน ถ้าผู้ป่วยมาก็ต้องให้การดูแล ซึ่งการวินิจฉัยสามารถวิเคราะห์ได้ใน 10 - 15 นาที ซึ่งหากเป็นฉุกเฉินวิกฤตก็ต้องดูแลต่อ แต่หากไม่ใช่วิกฤต สามารถรอได้ ก็ต้องแจ้งให้ผู้ป่วยทราบว่าจะไปสถานพยาบาลแห่งอื่นหรือไม่ ซึ่งคิดว่าคงไม่ถึงกับมีค่าใช้จ่ายอะไรมากมาย อย่างไรก็ตาม หากใครฝ่าฝืนมติ ครม. ในการเรียกเก็บเงินผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตจะมีโทษทั้งจำทั้งปรับ และหากรุนแรงอาจถึงขั้นเพิกถอนใบประกอบการได้ แต่เชื่อว่าไม่ถึงขั้นนั้น เพราะ รพ. ทุกแห่งพร้อมช่วยเหลือประชาชนให้รอดพ้นวิกฤตฉุกเฉินร่วมกัน


        เมื่อถามถึงเรื่องการดูแลผู้ป่วยหลังพ้นวิกฤต 72 ชั่วโมง นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัด สธ. กล่าวว่า หลังพ้น 72 ชั่วโมงไปแล้ว ผู้ป่วยสามารถเลือกได้ว่าจะรักษาที่เดิมต่อ หรือย้ายกลับไปรักษา รพ. ตามสิทธิ ซึ่งศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิฯ จะเป็นผู้ประสานกองทุนสุขภาพของผู้ป่วยในการประสาน รพ. ต้นสังกัดเพื่อเตรียมรับการย้ายผู้ป่วยให้ทันใน 72 ชั่วโมง ซึ่งหาก รพ. ไม่มีเตียงรองรับ ในพื้นที่ต่างจังหวัดไม่ค่อยมีปัญหา เนื่องจากมี รพ. ของ สธ. รองรับ จะมีก็เพียงแค่ใน กทม. และปริมณฑล ซึ่งก็ได้มีการจัดระบบสำรองเตียง โดยประสาน รพ. สังกัดมหาวิทยาลัย กทม. กองทัพ และ สธ. รวมทั้งโรงพยาบาลในเขตปริมณฑลรองรับ ซึ่งจะมีการจัดเวรในการดูแลรับส่งต่อ เพราะจริงๆ แล้วการเกิดผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตใน กทม. จะมีประมาณ 4 - 5 รายต่อวัน
       
       นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า การดูแลช่วง 72 ชั่วโมงแรก เมื่อมีหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายออกมา ก็คิดว่าไม่น่ามีปัญหาในการดำเนินการ เพราะมีกองทุนต่างๆ ชดเชยค่าใช้จ่ายตามเกณฑ์ที่กำหนดจากการบริการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ส่วนค่าใช้จ่ายหลัง 72 ชั่วโมง ก็จะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายตามอัตราค่ารักษาของสถานพยาบาลนั้นๆ


        พล.อ.ต.นพ.เฉลิมพร บุญสิริ ประธานวิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากนี้จะมีการติดคำนิยาม “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต” หน้าห้องฉุกเฉินของรพ. ต่างๆ เพื่อให้ญาติผู้ป่วย และประชาชนทั่วไปได้รับทราบ ซึ่งจะเป็นเบื้องต้นเท่านั้น เนื่องจากข้อเท็จจริงแพทย์ฉุกเฉินทราบเรื่องนี้แล้ว สำหรับกลุ่มอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่ใช้สิทธิ ยูเซปได้มี 6 กลุ่มอาการ ตามหลักเกณฑ์คัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินที่คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) กำหนด คือ
1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง
3. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม
4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง
5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด และ
6. มีอาการอื่นร่วมที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต
อย่างไรก็ตาม หากติดต่อรับส่งผู้ป่วยผ่าน 1669 จะช่วยให้เกิดการคัดกรองที่ถูกต้องตั้งแต่แรก

โดย MGR Online       31 มีนาคม 2560

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
สปสช. พร้อมเดินหน้าเป็นเคลียริงเฮาส์ ประสานทุกกองทุนจ่ายค่ารักษา เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต สธ. เผย แนวทางดูแลผู้ป่วยหลังพ้น 72 ชั่วโมง ย้ำกลับไป รพ. ตามสิทธิ - รพ. ต้นสังกัดก่อน หากไม่มีเตียง ในภูมิภาคจัด รพศ./รพท. รองรับ ใน กทม. แบ่ง รพ. 3 กลุ่มดูแล ชี้ หากอาการหนักจนย้ายกลับไม่ได้ กองทุนสุขภาพช่วยค่าใช้จ่ายทั้งหมด เหตุโอกาสเกิดน้อย
       
       หลังจากประกาศใช้นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ หรือโครงการยูเซป เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2560 เพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตให้ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทั้ง รพ.รัฐ และ รพ.เอกชน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในช่วง 72 ชั่วโมงแรก โดยให้เบิกจ่ายตามตารางรายการและอัตราค่าบริการการแพทย์ฉุกเฉินวิกฤต (Fee Schedule) จากกองทุนสุขภาพที่ดูแลผู้ป่วยแทน
       
       วันนี้ (3 เม.ย.) ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้มีวาระพิจารณาความก้าวหน้าการพัฒนาระบบบริการอุบัติเหตุ เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าของนโยบายยูเซป โดย สปสช. พร้อมเดินหน้าตามนโยบาย โดยจะทำหน้าที่ประสานข้อมูลทางการเงินเพื่อให้แต่ละกองทุนเป็นผู้จ่ายค่ารักษาตามราคากลางที่กำหนด (Fee Schedule) หรือเป็นเคลียริงเฮาส์ในระยะต้น สำหรับการเดินหน้าโครงการช่วงแรกอาจมีปัญหาบ้าง ก็เป็นเรื่องปกติของการทำสิ่งใหม่ แต่ทุกฝ่ายก็จะทำอย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่จากที่ดำเนินการมา 2 วัน ก็พบว่าเรียบร้อยดี ยังไม่มีปัญหา ส่วนการดูแลผู้ป่วยหลัง 72 ชั่วโมง จะมีการประสานตั้งแต่ต้นว่าจะส่งต่อไป รพ. ใด เมื่อครบ 72 ชั่วโมง ซึ่งบางคนอาการหนักจนไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ก็จะมีการแจ้งมายังสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เพื่อพิจารณาว่ายังย้ายไม่ได้จริงหรือไม่ ซึ่งหากย้ายไม่ได้จริงๆ กองทุนที่ดูแลผู้ป่วยจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหลัง 72 ชั่วโมง
       
       เมื่อถามว่า ค่าใช้จ่ายส่วนเกินที่กองทุนจะดูแลได้ ผู้ป่วยต้องจ่ายเองหรือไม่ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า กรณีอาการหนักจนเคลื่อนย้ายไม่ได้หลัง 72 ชั่วโมง คงไม่ได้เกิดขึ้นเยอะ กองทุนก็พร้อมช่วยค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว ส่วนจะช่วยแค่ไหน แล้วส่วนเกินใครจะช่วย เรื่องนี้กองทุนก็ต้องช่วยอยู๋แล้ว เพราะไม่ได้เกิดบ่อย ซึ่ง รพ. เองก็พร้อมที่จะช่วย เพราะคงไม่ได้แต่จะคิดเงินอย่างเดียว
       
       นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดระบบโปรแกรมการบันทึกข้อมูลเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ เพื่อรับข้อมูล การเบิกจ่าย ค่าบริการทางการแพทย์กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตของ รพ.เอกชนทุกแห่งแล้ว ทั้งนี้ สปสช. จะมีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใน สปสช. เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบ และจะประชุมร่วมกับกรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย
       
       นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า เดิมทีตารางรายการและอัตราค่าบริการการแพทย์ฉุกเฉินวิกฤตมีกว่า 9,000 ราย และปรับมาที่ 3,358 รายการ แต่ล่าสุดที่หารือเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2560 มีรายการที่เข้าเกณฑ์ฉุกเฉินสีแดงที่ 2,975 รายการ แต่เพื่อให้โครงการเดินไปได้ รพ. ทั้งหมดจะรักษา และรวบรวมรายการที่รักษาให้พ้นวิกฤตทั้งหมดไว้ ซึ่งอาจไม่ได้อยู่ในรายการกว่า 2 พันรายการ เพื่อนำมาปรับปรุงในอนาคตให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น แต่ยืนยันว่า นอกเหนือจากรายการสีแดงนี้ จะไม่เก็บจากคนไข้ เพียงแต่ต้องมาดูว่าคนไข้มีกองทุนอะไรอีกหรือไม่ที่จะมารองรับ เช่น พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เป็นต้น
       
       นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. กล่าวว่า การดูแลหลังพ้น 72 ชั่วโมง หลักการคือจะส่งต่อผู้ป่วยกลับไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัด ซึ่งสิทธิบัตรทองและประกันสังคมไม่ค่อยมีปัญหา เพราะมี รพ. ตามสิทธิอยู่แล้ว ส่วนข้าราชการก็จะขอให้ รพ. ต้นสังกัดรับไปดูแล เช่น เป็นทหารเรือก็ให้ รพ.ทหารเรือ รับไปดูแล เป็นตำรวจก็ส่ง รพ.ตำรวจ เป็นต้น ส่วนกรณีไม่สามารถส่งไป รพ. ตามสิทธิ หรือ รพ. ของหน่วยงานต้นสังกัดข้าราชการได้ ก็จะมีการจัดระบบ รพ. รองรับ โดยในส่วนภูมิภาคจะให้ส่ง รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป โดยให้มีการตั้งศูนย์รับส่งกลับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ส่วนใน กทม. ซึ่งค่อนข้างมีปัญหา ได้จัดระบบโดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ

1. รพ.รัฐขนาดใหญ่ใน กทม. ที่สามารถรับผู้ป่วยได้ทุกสาขา มี 15 แห่งทุกสังกัด โดยให้ รพ.ราชวิถี เป็นศูนย์ประสาน ซึ่งในกลุ่มนี้จะมีการจัดตารางเวร ว่า วันใด รพ.ใด เป็นผู้รับผิดชอบ ประกอบด้วย รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน รพ.นพรัตนราชธานี รพ.ตากสิน รพ.กลาง รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี รพ.วชิรพยาบาล รพ.พระมงกุฏฯ รพ.ภูมิพลฯ รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า รพ.ทหารผ่านศึก และ รพ.ตำรวจ
       
2. รพ. เฉพาะทางใน กทม. ในสังกัดกรมการแพทย์ 6 แห่ง ได้แก่ รพ.สงฆ์ รพ.เมตตาประชารักษ์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี สถาบันประสาทวิทยา สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันโรคทรวงอก และ

3. รพ. สังกัด สธ. ในเขตปริมณฑล 7 แห่ง ได้แก่ รพ.พระนั่งเกล้า รพ.นครปฐม รพ.สมุทรปราการ รพ.สมเด็จพระพุทธเลิศหล้า รพ.สมุทรสาคร รพ.ปทุมธานี และ สถาบันบำราศนราดูร สำหรับแนวทางการรับย้าย คือ โรงพยาบาลในกลุ่มที่ 1 จะหมุนเวียนรับย้ายผู้ป่วยที่ละรายจนครบรอบแล้วจึงขึ้นรอบใหม่ หากโรงพยาบาลตามคิวไม่สามารถรับย้ายผู้ป่วยได้จนใกล้ครบ 72 ชั่วโมง หากเป็นผู้ป่วยเฉพาะทางให้ย้ายไปโรงพยาบาลกลุ่มที่ 2 กรณีไม่ใช่ผู้ป่วยเฉพาะทางให้ย้ายไปโรงพยาบาลในกลุ่มที่ 3 โดยให้ไปโรงพยาบาลรัฐในปริมณฑลที่ใกล้ที่สุด โดยโรงพยาบาลที่เข้าร่วมทุกแห่งจะจัดให้มีผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินการ และจะบริหารจัดการให้พร้อมรับย้ายผู้ป่วยโดยเร็วหลังจากได้รับการประสาน

โดย MGR Online       3 เมษายน 2560