ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.เตรียมแก้คำ'ฉุกเฉิน'คนสับสน9เดือนจ่ายชดเชยรพ.เอกชน250ล.  (อ่าน 801 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
 หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ -- พุธที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556 00:00:06 น.
สาธารณสุข * "หมอประดิษฐ" เตรียมปรับนิยาม "ฉุกเฉิน" ใหม่ เหตุทำคนสับสนจนต้องจ่ายเงินเอง จี้ รพ.ให้แจ้งสิทธิ์ก่อนการรักษาทันที ด้าน "หมอวินัย" ระบุ 9 เดือนใช้สิทธิ์ 1.5 หมื่นครั้ง บางรายเข้าฉุกเฉินบ่อยถึง 15 ครั้ง ขณะที่ "โฆษก สปสช." เผยจ่ายเงินชดเชย รพ.เอกชนไปแล้ว 250 ล้าน โอดยังเรียกเก็บจากอีก 2 กองทุนไม่ได้ อ้างต้องแก้ไขระเบียบ


นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ภายหลังตั้งกองทุนเจ็บป่วยฉุกเฉินเข้าได้ทุกโรงพยาบาลโดยไม่ถามสิทธิ์ พบว่าประชาชนที่มาใช้สิทธิ์ประมาณ 40% ไม่เข้าใจถึงสิทธิ์ที่ชัดเจนทำให้เกิดปัญหาในการเบิกจ่ายเงิน โดยเฉพาะในกลุ่มข้าราชการพบมีปัญหาถึง 49% ดังนั้นจึงต้องปรับเปลี่ยนถ้อยคำใหม่ให้เป็นภาษาที่ประชาชนสามารถเข้าใจได้ และจะขอความร่วมมือไปยังโรงพยาบาลให้แจ้งสิทธิ์แก่ประชาชน ว่ามีสิทธิ์ใช้กองทุนฉุกเฉินหรือไม่ โดยเป็นการแจ้งสิทธิ์ไม่ใช่ถามสิทธิ์เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรียกเก็บเงิน นอกจากนี้ยังต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อศึกษาถึงต้นทุนที่แท้จริงในการรักษาพยาบาลประชาชนด้วย

"จะต้องมาปรับถ้อยคำในนิยามคำว่า 'ฉุกเฉิน' ใหม่ เพราะเดิมเราแบ่งระดับออกเป็นสีแดง-สีเหลืองนั้นเพื่อให้แพทย์เข้าใจ แต่ประชาชนกลับไม่เข้าใจ อย่างปวดท้อง คนไข้บอกปวดท้องแทบตาย ทำ ไมไม่ฉุกเฉิน ส่วนแพทย์บอกแค่อาการปวดท้องธรรมดา ทำให้เกิดปัญหา ประชาชนต้องจ่ายเงินเอง ฉะนั้นจะให้ทางโรงพยาบาลแจ้งสิทธิ์ทันที" นพ.ประดิษฐกล่าว

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.ได้สรุปผลการดำเนินการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-31 ธ.ค.2555 พบว่าประชาชนเข้ามารับบริการทั้งหมด 15,708 ครั้ง ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มข้าราชการมาใช้บริการ 7,731 ครั้ง คิดเป็น 49.22% กลุ่มหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) จำนวน 6,870 ครั้ง คิดเป็น 43.86% ประกันสังคม 1,063 ครั้ง คิดเป็น 6.77% และสิทธิ์อื่นๆ 36 ครั้ง คิดเป็น 0.16% ทั้งยังพบว่าในผู้ป่วยบางรายเข้ารับการรักษามากถึง 15 ครั้ง ทั้งนี้ ได้รับอนุมัติเงินชดเชยทั้งหมด 12,625 ครั้ง

สำหรับกลุ่มอาการที่เข้ารับการรักษามากที่สุดคือ โรคระบบทางเดินหายใจ 2,504 ครั้ง ปวดท้องรุนแรง ถ่ายท้อง ลำไส้ ไส้อักเสบ ไส้ติ่งอักเสบ 2,011 ครั้ง หมดสติ ไม่หายใจ 1,910 ครั้ง โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด 1,884 ครั้ง ไข้สูง อ่อนเพลียมาก 1,828 ครั้ง โรคระบบสมองและระบบประสาท 1,268 ครั้ง ตามลำดับ รวมถึงได้รับบาดเจ็บรุนแรงจากเหตุระเบิด 8 ครั้ง ถือเป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉินในลำดับสุดท้าย

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษก สปสช. กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลเอกชนได้เรียกเก็บเงินชดเชยจากบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินทั้งหมด 813,620,145 บาท แต่เมื่อ สปสช.จ่ายให้เพียง 254,689,519 บาท หรือคิดเป็น 31.30% เนื่องจากคำนวณตามแนวทางการวินิจฉัยโรคร่วม หรือดีอาร์จี แล้วเห็นว่าไม่ได้ทำให้โรงพยาบาลขาดทุน เพียงแค่ไม่ได้กำไรมากเท่านั้น ซึ่งทางโรงพยาบาลเอกชนร้องตลอดว่าอยากให้ปรับเพิ่มค่าชดเชย แต่ได้คุยกันมาตั้งแต่แรกแล้วว่าราคาที่เรียกเก็บนั้นไม่มีมาตรฐาน ดังนั้นจึงได้มีข้อเสนอร่วมกันว่าจะทำวิจัยเพื่อหาราคาที่แท้จริง โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่งจะคุยกันอีกรอบ คาดว่าจะใช้เวลาอีกหลายเดือนจึงได้ข้อสรุป

ทพ.อรรถพรกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ได้ส่งบิลเรียกเก็บเงินค่าชดเชยกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินไปยังกองทุนข้าราชการ และกองทุนประกันสังคมหลายครั้งแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับเงินคืนแม้แต่บาทเดียว ซึ่งทั้ง 2 กองทุนอ้างว่ายังต้องรอการปรับแก้ระเบียบการเบิกจ่ายเงินก่อน.