ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 16-22 ธ.ค.2555  (อ่าน 1096 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9785
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 16-22 ธ.ค.2555
« เมื่อ: 23 ธันวาคม 2012, 22:10:35 »
1. “ราเมศ” รองโฆษก ปชป.ถูกลอบทำร้ายสาหัส คาด พันคดี “มีวันนี้เพราะพี่ให้” ด้านแกนนำ ปชป.แฉ 2 มือทุบเป็น ตร.นอกราชการคุมบ่อนย่านบางนา!

       ​เมื่อคืนวันที่ 17 ธ.ค. เวลาประมาณ 21.30น. ตำรวจ สน.บางนา ได้รับแจ้งเหตุชายถูกลอบทำร้ายได้รับบาดเจ็บสาหัสบริเวณปาล์มคอนโด 1 ภายในซอยบางนา-ตราด 19 เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุ พบรถยนต์ยี่ห้อ โตโยต้า คัมรี ทะเบียน วน 9504 กรุงเทพมหานคร และกองเลือดที่พื้นด้านคนขับ ส่วนผู้บาดเจ็บคือ นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ซึ่งเจ้าหน้าที่มูลนิธิได้นำตัวส่งโรงพยาบาลบางนา 1
       
       ด้านนายแทนคุณ จิตต์อิสระ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ เผยหลังเข้าเยี่ยมนายราเมศว่า เบื้องต้นผลการเอ็กซเรย์ พบว่า นายราเมศมีอาการกะโหลกศีรษะร้าว แพทย์คาดว่า อาจถูกของแข็งตีเข้าที่ศีรษะอย่างแรง ส่วนสาเหตุคาดว่า อาจเป็นปมปัญหาส่วนตัว หรือความขัดแย้งทางการเมือง เนื่องจากนายราเมศ เป็มทีมกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ และรับผิดชอบคดีสำคัญหลายคดี
       
       ​ขณะที่ตำรวจ สน.บางนา ได้เก็บหลักฐานที่เกิดเหตุ พร้อมสอบปากคำนายประสพชัย พุทธรักษา เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของอาคาร ซึ่งเห็นเหตุการณ์ เล่าว่า ขณะที่นายราเมศ ขับรถยนต์เข้ามาจอดในคอนโด ตนได้เข้าไปช่วยถือกระเป๋า ระหว่างนั้นมีคนร้าย 2 คน ขับรถจักรยานยนต์ ยามาฮ่า สีฟ้า-ขาว ตรงเข้ามาจอด และลงมารุมทำร้ายร่างกายนายราเมศ ก่อนหลบหนีไปทางท้ายซอย ตนจึงร้องขอความช่วยเหลือให้นำตัวนายราเมศส่งโรงพยาบาล ส่วนห้องพักภายคอนโดดังกล่าว ทราบว่าเป็นของนายราเมศ แต่นานๆ ครั้ง จะแวะเข้ามาพัก
       
       ​ทั้งนี้ หลังรักษาตัวในโรงพยาบาลบางนา 1 ได้ 1 วัน ทางญาติได้ย้ายนายราเมศไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนอีกแห่งหนึ่ง คาดว่าเพื่อความปลอดภัย ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เผยเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ว่า อาการของนายราเมศอยู่ในขั้นปลอดภัยแล้ว แต่ยังไม่สามารถพูดได้ และต้องดูอาการข้างคียงอื่นๆ ต่อไป พร้อมกันนี้ นายอภิสิทธิ์ได้จี้ให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) เร่งสะสางคดีนี้ให้เกิดความชัดเจน และว่า ที่ผ่านมานายราเมศเคยปรารภกับตนว่า ถูกสะกดรอยตาม
       
       ​ขณะที่นายสมชาย โล่สถาพรพิพิธ ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) การตำรวจ สภาผู้แทนราษำร เผยว่า จะทำหนังสือถึง ผบ.ตร.ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเร่งด่วนภายใน 7 วัน จากนั้นจะพิจารณาว่าควรเสนอเข้าที่ประชุม กมธ.เพื่อเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงรายละเอียดหรือไม่ และว่า ที่ผ่านมา นายราเมศเคยเข้ายื่นหนังสือต่อ ผบ.ตร.ให้เร่งรัดสอบสวนพฤติกรรมของ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.) กรณีที่ไปให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคำพิพากษาจำคุก 2 ปีคดีซื้อที่รัชดาฯ ให้ติดยศให้ กระทั่งเกิดวาทะ “มีวันนี้เพราะพี่ให้” และเกิดเหตุม็อบตำรวจบุกมาที่พรรคประชาธิปัตย์หลังยื่นหนังสือถึง ผบ.ตร. นายสมชาย เผยด้วยว่า นายราเมศเคยบอกว่า ถูกข่มขู่คุกคามมาเป็นระยะ ตนจึงเตือนให้ระวังตัว ซึ่งนายราเมศได้เปลี่ยนที่นอนหลายครั้ง แต่ในที่สุดก็ถูกทำร้ายจนได้ มั่นใจว่าสาเหตุน่าจะเป็นเรื่องการเมืองแน่นอน
       
       ​ส่วนในด้านคดีนั้น ยังไม่มีความคืบหน้าจากตำรวจแต่อย่างใด โดยอยู่ระหว่างสืบสวนสอบสวน และยังไม่ตัดประเด็นใดทิ้ง ไม่ว่าเรื่องส่วนตัวหรือการเมือง และเบื้องต้นยังไม่พบกล้องวงจรปิดบริเวณจุดเกิดเหตุแต่อย่างใด ด้าน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. เผยว่า ได้กำชับให้ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ตั้งทีมงานสืบสวนสอบสวนไปหาพยานหลักฐานในคดีดังกล่าว โดยให้ทำด้วยความรวดเร็ว แต่ต้องขอเวลาในการสืบสวนหาหลักฐาน
       
       ​ขณะที่ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ เผยหลังร่วมประชุมติดตามความคืบหน้าของคดีนี้ว่า เป็นคดีที่อุกอาจมาก เพราะนายราเมศเป็นทนายความของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งตำรวจจะเร่งสืบสวนหาคนร้ายให้ได้โดยเร็ว
       
       ด้าน พล.ต.ต.อิทธิพล พิริยะภิญโญ รอง ผบช.น. ออกอาการปกป้อง พล.ต.ท.คำรณวิทย์ โดพูดถึงกรณีที่มีการมองว่า พล.ต.ท.คำรณวิทย์อาจเกี่ยวข้องกับการที่นายราเมศถูกทำร้าย เพราะนายราเมศเคยเรียกร้องให้ ผบ.ตร.ดำเนินการทางวินัยต่อ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ กรณีให้ พ.ต.ท.ทักษิณติดยศให้ โดยอ้างว่า นั่นเป็นเรื่องนานมาแล้ว พล.ต.ต.อิทธิพล ยังพยายามชี้ประเด็นให้การลอบทำร้ายนายราเมศเป็นเรื่องส่วนตัวด้วย โดยบอกว่า คนร้าย 2 คนที่ก่อเหตุใช้เหล็กตีนายราเมศ ผิดสังเกตว่าคนขับจอดจักรยานยนต์แล้วไปเตะซ้ำ เหมือนกับว่ามีลักษณะโกรธแค้นกันมาก่อนหรือเปล่า
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า พล.ต.ต.อิทธิพล ได้เดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อสอบปากคำนายราเมศเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. แต่มารดาและพี่ชายนายราเมศไม่ให้เข้าพบ โดยได้ขอเบอร์โทรศัพท์ติดต่อกลับไว้ ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า ญาตินายราเมศยังไม่มั่นใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่และมีความไม่สบายใจ “ที่เกิดความไม่สบายใจ เพราะเวลาที่มีการมาสอบปากคำ มีความพยายามหาประเด็นอื่นมากกว่าปกติ เช่น พยายามถามว่ามีการขับรถปาดหน้าใครหรือเปล่า เหมือนกับไม่พยายามเจาะลงไปในประเด็นเรื่องความขัดแย้ง เรื่องนี้ต้องตรงไปตรงมา และให้ความเป็นธรรมกับญาตินายราเมศ ตำรวจต้องทำงานอย่างเต็มที่”
       
       ด้านนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า กรณีนายราเมศถูกลอบทำร้ายน่าจะมาจากเรื่องการเมือง เพราะครอบครัวนายราเมศยืนยันไม่มีความบาดหมางกับใคร อีกทั้งนายราเมศไม่ใช่คนอารมณ์ร้อน เชื่อว่าหากตำรวจเอาจริงเอาจัง สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้ไม่ยาก และว่า จากการสืบสวนสอบสวนของพรรคประชาธิปัตย์
       เบื้องต้นพบว่า ผู้ที่ลงมือทำร้ายนายราเมศเป็นตำรวจนอกราชการ 2 นาย เคยเป็นตำรวจในพื้นที่ จ.นนทบุรี ปัจจุบันทำงานในบ่อนย่านบางนา
       
       2. รัฐบาล ชะลอทำประชามติแก้ รธน. อ้าง ตั้งคณะทำงานศึกษาก่อน ด้าน “อภิสิทธิ์” ชวน ปชช.คว่ำประชามติแก้ รธน.ช่วย “ทักษิณ”!

       ​ตามที่พรรคร่วมรัฐบาลได้ประชุมและมีมติเห็นควรให้มีการทำประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แทนการเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวาระ 3 โดยอ้างว่า เพื่อลดกระแสความขัดแย้งในสังคมเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมยืนยัน จะไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 หรือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2522 เพื่อลดจำนวนเสียงที่จะชี้ขาดในการทำประชามติ ซึ่งต้องมีผู้มาใช้สิทธิลงประชามติมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิลงคะแนนทั่วประเทศ หรือ 48 ล้านคน นั่นหมายถึงต้องมีผู้มาใช้สิทธิ 24 ล้านคน และต้องมีเสียงเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิลงประชามติ จึงจะถือว่าได้ข้อยุตินั้น
       
       ​ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเป็นจดหมายเปิดผนึกถึงคนไทยทั้งประเทศทำนองว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่หวังลบมาตรา 309 เพื่อล้มคดีทั้งหลายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่การจะหยุดความล้มเหลวทางการเมืองนี้ได้ ลำพังตนและพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถทำสำเร็จได้ จึงต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนด้วยการล้มประชามติที่นายกฯ ผู้เป็นน้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณกำลังจะทำเพื่อรื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเพื่อหวังลบมาตรา 309 หากพี่น้องทำสำเร็จ จะเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองไทย เพื่อยืนยันว่าประชาชนและกฎหมาย ยิ่งใหญ่กว่าอำนาจเงินและอำนาจรัฐ“มาร่วมกันคว่ำประชามติแก้รัฐธรรมนูญเพื่อนักโทษ ก้าวข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ นำพาประเทศเดินไปข้างหน้า ผมและพรรคประชาธิปัตย์พร้อมร่วมสุขทุกข์กับพี่น้อง เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสอย่างราบรื่น ไร้ความรุนแรง เพื่ออนาคตที่มั่นคงของประเทศสืบไป”
       
       ​ทั้งนี้ หลังนายอภิสิทธิ์พูดถึงการล้มประชามติหรือคว่ำประชามติดังกล่าว ปรากฏว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทยพยายามจุดประเด็นว่า คำพูดของนายอภิสิทธิ์อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายเกี่ยวกับการทำประชามติ ซึ่งนางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง ก็ออกมารับลูก ว่าการรณรงค์ไม่ให้ประชาชนไปใช้สิทธิลงประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของนายอภิสิทธิ์ อาจเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มาตรา 43 ที่ระบุว่า ห้ามก่อความวุ่นวายให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย หรือหลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง ฯลฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
       
       ​อย่างไรก็ตาม นักวิชาการหลายคน เช่น นายปูนเทพ ศิรินุพงศ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า การรณรงค์ให้คนไม่ไปใช้สิทธิลงประชามติ เป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นปกติอยู่แล้วในกระบวนการประชาธิปไตย ไม่ถือว่าเป็นการขัดขวางการทำประชามติ การขัดขวางหมายถึงคนจะไปลงประชามติ แล้วไม่ให้เขาไป จึงไม่แน่ใจว่าที่นางสดศรีพูดนั้นใช้อะไรมาอ้างอิง
       
       ​ ด้านนายอภิสิทธิ์ ก็ข้องใจเช่นกันว่าเหตุใดนางสดศรีจึงมองว่าการเชิญชวนประชาชนที่ไม่เห็นด้วยให้ไม่ต้องไปใช้สิทธิลงประชามติแก้รัฐธรรมนูญเพื่อช่วยคดีของบางคน จะมีความผิดถึงขั้นอาจยุบพรรค พร้อมฝากถึงนางสดศรีว่า อย่ามาขู่ ถ้า กกต.ขู่เท่ากับ กกต.ทำผิดกฎหมาย กกต.มีหน้าที่ดูแลการทำประชามติ ไม่ให้มีการใช้อำนาจอิทธิพลไปขู่คุกคามให้ไปในทางใดทางหนึ่ง จึงอยากให้ กกต.ตั้งหลักให้ดี ถ้าพยายามบอกว่าต้องมีแต่คนเห็นด้วย คนไม่เห็นด้วย ห้ามทำอะไร สงสัยว่า กกต.จะไม่เป็นกลาง
       
       ​ส่วนท่าทีของรัฐบาล แม้ที่ประชุมพรรคร่วมรัฐบาลจะได้ข้อสรุปว่าควรทำประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่มีข่าวว่า รัฐบาลได้ลองเช็คเสียง 6 พรรคร่วมรัฐบาลว่า ถ้าทำประชามติเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ปรากฏว่า เมื่อรวมเสียงของทั้ง 6 พรรคร่วมรัฐบาลแล้ว เสียงก็ยังไม่เกินกึ่งหนึ่ง อาจส่งผลให้ประชามติไม่ผ่านได้ ส่งผลให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ยังไม่ยอมเคาะว่าจะทำประชามติหรือไม่ โดยที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาเกี่ยวกับวิธีการออกเสียงประชามติและประชาเสวนาว่าจะดำเนินการอย่างไร ทั้งในแง่ข้อกฎหมายและวิธีปฏิบัติ เมื่อแล้วเสร็จ ให้สรุปวิธีที่เหมาะสม และจัดทำรายละเอียดเสนอ คม.พิจารณาต่อไป โดยคณะทำงานดังกล่าว ประกอบด้วย นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ,พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ,นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ,นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะใช้เวลาศึกษา 2-3 สัปดาห์
       
       ​ทั้งนี้ นายวราเทพ แจงเหตุที่ ครม.ชะลอเรื่องประชามติว่า เนื่องจากต้องการให้ประชาชนได้ทราบถึงเรื่องที่จะให้ไปใช้สิทธิ ซึ่งกฎหมายกำหนดว่าต้องให้ข้อมูลที่เพียงพอ รวมทั้งต้องให้หน่วยงานที่จะจัดทำประชามติมีความพร้อมด้วย “กฎหมายได้กำหนดว่า หากออกประกาศแล้ว จะต้องดำเนินการลงประชามติภายใน 120 วัน เราคิดในแง่ที่ว่าหากรีบร้อนไป ยังไม่รอบคอบและไม่พร้อม จะสร้างความสับสน ทำให้การทำประชามติไม่ราบรื่น...”
       
       ​เป็นที่น่าสังเกตว่า ในพรรคเพื่อไทยเอง เสียงก็ค่อนข้างแตก โดยมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ โดยคนที่ไม่เห็นด้วย ได้แก่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้เตรียมข้อมูล 9 ประเด็นไว้อธิบายให้ที่ประชุมพรรควันที่ 25 ธ.ค.ได้ทราบว่า ควรแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา จะสำเร็จง่ายกว่าการทำประชามติ “ผมคิดว่าอะไรที่ทำสำเร็จก็ควรทำ ถ้ารู้ว่าทำแล้วไม่สำเร็จ จะเกิดปัญหา ทำให้เสียเวลาการทำงานเปล่าๆ ที่คิดแบบนี้ก็มีคนสนับสนุน อาทิ นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. โทรศัพท์มาสนับสนุน แต่ยังไม่ได้คุยรายละเอียดว่าจะมาเข้าพบเมื่อใด”
       
       3. ศาล อนุญาตปล่อยตัว “ก่อแก้ว” ชั่วคราว หลังรอง ปธ.สภาฯ ขอตัวออกมาทำหน้าที่ ส.ส. ด้านเจ้าตัว เดินหน้าขึ้นเวทีเสื้อแดงทันที!

       เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เผยว่า ศาลอาญาได้รับหนังสือแจ้งจากนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งขอให้ศาลปล่อยตัวนายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และจำเลยคดีก่อการร้าย ที่ถูกศาลเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว หลังพูดข่มขู่คุกคามตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยการปลุกระดมให้คนเสื้อแดงจับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หากวินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ของรัฐบาลที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาในวาระ 3 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 โดยนายเจริญระบุเหตุผลในการขอให้ศาลปล่อยตัวนายก่อแก้วว่า เพื่อออกมาทำหน้าที่ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 131 วรรค 5 เนื่องจากสภามีกำหนดเปิดประชุมในวันที่ 21 ธ.ค.
       
        ทั้งนี้ ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายก่อแก้วตามที่นายเจริญร้องขอ โดยให้ออกมาทำหน้าที่ ส.ส.ได้ตั้งแต่วันเปิดสภาจนถึงวันปิดสมัยประชุมสภาเท่านั้น หลังจากนั้นนายก่อแก้วจะต้องมารายงานตัวต่อศาลและต้องถูกคุมขังตามคำสั่งของศาลเหมือนเดิม เนื่องจากไม่ใช่กรณีที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากการที่เจ้าตัวยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวเอง
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหน้าที่ศาลจะปล่อยตัวชั่วคราวนายก่อแก้วตามที่นายเจริญมีหนังสือขอไป ทางทนายความนายก่อแก้วได้ยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นที่เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวนายก่อแก้ว พร้อมกันนี้ ยังได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสด 6 แสนบาทต่อศาลอาญา เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวนายก่อแก้วอีกครั้ง โดยหวังผลว่า หากศาลอาญาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว นายก่อแก้วจะได้ไม่ต้องกลับไปถูกคุมขังหลังปิดสมัยประชุมสภา ด้านศาลพิเคราะห์คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวแล้วเห็นว่า ยังไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมที่เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวนายก่อแก้ว จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
       
        วันต่อมา(21 ธ.ค.) ซึ่งเป็นวันที่นายก่อแก้วได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อออกมาทำหน้าที่ ส.ส.ระหว่างเปิดสมัยประชุมสภา ปรากฏว่า มีคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งไปรอตอนรับที่เรือนจำหลักสี่ พร้อมด้วยนางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) รวมทั้งภรรยาและบุตรนายก่อแก้ว ขณะที่เจ้าตัวเดินออกจากเรือนจำด้วยสีหน้ายิ้มแย้มพร้อมชูสองนิ้ว
       
        ทั้งนี้ นายก่อแก้ว ได้ขอบคุณคนเสื้อแดงที่มาให้กำลังใจและเยี่ยมเยียนตลอดเวลา พร้อมขอบคุณพี่น้องเสื้อแดงที่อยู่ในเรือนจำหลักสี่ 23 คน เพราะถือเป็นน้ำหล่อเลี้ยงให้ตน ซึ่งอยูในความทุกข์ได้มีความสุข พร้อมยืนยัน หลังจากนี้ตนจะยืนหยัดต่อสู้ต่อไปโดยไม่แข็งกร้าว จะระมัดระวังพฤติกรรมและคำพูดให้มากขึ้น เพราะติดคุกมาแล้ว 2 รอบ นายก่อแก้ว ยังยืนยันด้วยว่า ชีวิตนี้ไม่คิดร้ายต่อใคร ไม่ทำผิดกฎหมาย สิ่งที่พูดไปนั้น พูดด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่เมื่อพูดไปแล้วก็พร้อมรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น หากศาลมองอีกมิติหนึ่ง ก็ยินดีน้อมรับพร้อมแก้ไขและระมัดระวังมากขึ้น นายก่อแก้ว ยังประกาศด้วยว่า จะไปร่วมงานคอนเสิร์ตคนเสื้อแดงที่โบนันซ่า เขาใหญ่ ในวันที่ 22 ธ.ค.แน่นอน
       
        ด้านนางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. บอกว่า มารับนายก่อแก้วเพื่อไปร่วมงานคอนเสิร์ตเสื้อแดงรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญที่โบนันซ่า เขาใหญ่ โดยจะระมัดระวังการพูดบนเวทีให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้ผิดเงื่อนไขของศาล
       
       4. “ประพันธ์ คูณมี” ลาออกจากแกนนำพันธมิตรฯ เพื่อสนับสนุน “เสรีพิศุทธ์”นั่งผู้ว่าฯ กทม. ด้าน “สนธิ” ชี้ เป็นสิทธิ์!

       ​เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 21 ธ.ค.ล่วงเข้าวันที่ 22 ธ.ค. นายประพันธ์ คูณมี แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รุ่น 2 ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ตนสนับสนุน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนต่อไป เนื่องจากเป็นผู้สมัครอิสระ ไม่อยู่ภายใต้การครอบงำของพรรคและนักการเมืองที่ต่างแก่งแย่งแข่งขันชิงอำนาจกัน เพียงเพื่อหวังใช้ กทม.เป็นฐานอำนาจทางการเมือง และเอาคน กทม.เป็นตัวประกัน ซึ่งมีแต่จะทำให้ประชาชนเสียประโยชน์
       
       และว่า ขณะนี้เป็นโอกาสดีที่ประชาชนจะได้เลือกผู้สมัครอิสระ เพื่อเป็นการสั่งสอนให้นักการเมืองได้พึงสังวรและปรับปรุงตัวเอง โดยตนเห็นว่าในบรรดาผู้สมัครอิสระ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุด ซึ่งส่วนตัว รู้จักและเห็นผลงานที่ผ่านมา ประกอบกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เป็นบุคคลที่มีความจงรักภักดีอย่างสูงยิ่งต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ตนจึงสนับสนุน และเมื่อตัดสินใจเช่นนี้แล้ว ตนจึงจำเป็นต้องขอลาออกจากการเป็นแกนนำของพันธมิตรฯ เพื่อให้เกิดความชัดเจน เพราะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เป็นงานเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น เป็นคนละบทบาทและหน้าที่ แต่ความเป็นพันธมิตรฯ จะยังอยู่ในเลือดเนื้อและชีวิตของตนตลอดไป
       
       ด้านนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พูดถึงกรณีที่นายประพันธ์สนับสนุน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์เป็นผู้ว่าฯ กทม.และขอลาออกจากการเป็นแกนนำพันธมิตรฯ ว่า จุดยืนของพันธมิตรฯ ต่อผู้ว่าฯ กทม.นั้น แกนนำพันธมิตรฯ ไม่มีความเห็นว่าควรเลือกใคร เพราะพันธมิตรฯ ไม่เอาการเมืองระบบเก่า ไม่เอาพรรคการเมือง ส่วนที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ลงสมัครอิสระ พันธมิตรฯ ก็ไม่มีความเห็น แล้วแต่พันธมิตรฯ รักใครชอบใครก็ให้เลือกคนนั้น แต่สำหรับตนแล้ว จะไม่เลือกใครสักคน เพราะตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ก็คือตำแหน่งการเมือง ทำอะไรไม่ได้ ทำได้แต่ไล่จับแม่ค้า เปิด-ปิดประตูระบายน้ำ ทำทางเท้า แล้วมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงสูงมากแต่ไม่มีใครไปตรวจสอบ นายสนธิ ยังเผยด้วยว่า นายประพันธ์มาพบตน และบอกว่าตัดสินใจจะไปช่วย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ตนจึงบอกว่าเป็นสิทธิ์ สามารถไปได้ แต่ต้องออกจากแกนนำพันธมิตรฯ และหยุดทำรายการที่เอเอสทีวี
       
       นายสนธิ ยังบอกด้วยว่า พันธมิตรฯ จะให้ความสำคัญต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ก็ต่อเมื่อรัฐบาลยอมกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง เช่น โอนการไฟฟ้า การประปา โรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่ กทม. และโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในท้องที่ กทม. โอนให้เป็นของ กทม.ทั้งหมด และให้ กทม.มีอำนาจเก็บภาษี เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยผู้ว่าฯ กทม.คือนายกฯ น้อย หากเป็นเช่นนี้เมื่อใด พันธมิตรฯ จึงจะแสดงบทบาทต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ให้มากขึ้น

ASTVผู้จัดการออนไลน์    23 ธันวาคม 2555