ผู้เขียน หัวข้อ: “คลองมหาสวัสดิ์” คลองขุดในสมัย ร.4 เส้นทางช่วยผันน้ำลงสู่ท่าจีน  (อ่าน 1358 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9773
    • ดูรายละเอียด
  “การขุดคลองเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญอย่างหนึ่งที่พระเจ้าแผ่นดินไทยนิยมทำมาตั้งแต่ครั้งโบราณ”
       
       ในอดีตนับ 100 กว่าปีมาแล้ว คนกรุงเทพฯ จะไปไหนต้องใช้เรือเป็นพาหนะทั้งสิ้น เพราะสมัยนั้นกรุงเทพฯ ไม่มีถนน มีแต่คลอง จึงพูดได้ว่า “คืบก็คลอง ศอกก็คลอง” จนกรุงเทพฯได้รับการขนานนามว่าเป็น “เวนิสตะวันออก” เพราะไม่ว่าจะไปทางไหน ล้วนแต่เต็มไปด้วยแม่น้ำลำคลอง ซึ่งใช้เป็นทางสัญจรไปมา ที่คลาคล่ำไปด้วยเรือแพนานาชนิดแล่นกันขวักไขว่ในท้องน้ำ เช่นเดียวกับ “เมืองเวนิส” ในประเทศอิตาลี
       
       มาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประชากรไทยได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าเมื่อแรกสร้างพระนครใหม่ ๆ หลายเท่า เป็นผลให้เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้นของเส้นทางคมนาคม ไม่ว่าทางน้ำหรือทางบก และภายหลังการลงนามในสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีแบบเบาริง พ.ศ. 2398 เป็นต้นมา สถานกงสุลต่าง ๆ ส่วนมากจะตั้งอยู่ใกล้หรือริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มีการติดต่อหรือเดินทางสัญจร ไปมาระหว่างคนต่างชาติกับคนไทย ประกอบกับพระองค์ทรงเห็นความสำคัญของการคมนาคม จึงได้มีพระราชดำริโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองขึ้นหลายคลองด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ “คลองมหาสวัสดิ์”
       
       โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ขุด คือ “คลองมหาสวัสดิ์” ขึ้น เพื่อเชื่อมระหว่างแม่น้ำนครชัยศรีและแม่น้ำเจ้าพระยา และใช้เป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ และเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งอ้อยและน้ำตาลจากนครชัยศรีมาสู่โรงงาน โดยให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำบุนนาค) และพระภาษีสมบัติบริบูรณ์ เป็นแม่กองจ้างชาวจีนขุด และเริ่มลงมือขุดเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2402 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2403 พร้อมพระราชทานนามว่า "คลองมหาสวัสดิ์"

       “คลองมหาสวัสดิ์” หรือ “คลองชัยพฤกษ์” เป็นคลองที่เริ่มต้นจากคลองลัดบางกรวย หรือคลองบางกอกน้อย ใกล้วัดชัยพฤกษมาลา ไหลผ่านเป็นเส้นแบ่งเขตอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี กับเขตตลิ่งชัน และเขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร ผ่านอำเภอพุทธมณฑล ไปสิ้นสุดที่ตำบลงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม รวมความยาว 28 กิโลเมตร
       
       เมื่อขุดคลองแล้วเสร็จ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ได้ให้สร้างศาลาสำหรับประชาชนพักเป็นระยะไปตามริมคลองทุก 4 กิโลเมตร จำนวน 7 ศาลา จนเป็นที่มาของชื่อศาลาต่างๆในปัจจุบัน เช่น ศาลาหลังหนึ่งให้เขียนตำรายารักษาโรคต่าง ๆ ติดไว้เป็นการกุศล ต่อมาเรียกกันว่า "ศาลายา" ได้กลายเป็นชื่อตำบลและสถานีรถไฟ และศาลาอีกแห่งหนึ่งสร้างในการกุศลปลงศพคนของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เรียกกันว่า "ศาลาทำศพ" ปัจจุบันกลายเป็น "ศาลาธรรมสพน์" และเป็นชื่อตำบลกับสถานีรถไฟในเขตตลิ่งชัน ธนบุรี
       
       ในคลองมหาสวัสดิ์ยังมีประตูน้ำที่กรมชลประทานสร้างไว้ 2 ประตู เพื่อให้ระดับน้ำในคลองสูงพอแก่การเดินเรือได้ตลอดปี คือ “ประตูน้ำมหาสวัสดิ์” อยู่ทางด้านที่จะออกสู่แม่น้ำนครชัยศรีหรือแม่น้ำท่าจีน ห่างจากสถานีงิ้วรายประมาณ 1 กิโลเมตร สร้างในปีพ.ศ. 2494 และ “ประตูน้ำฉิมพลี” ที่อยู่ด้านคลองบางกอกน้อยห่างจากปากคลองทางด้านวัดชัยพฤกษมาลา ประมาณ 8 กิโลเมตร

       ซึ่งในปัจจุบัน “คลองมหาสวัสดิ์” นอกเหนือจากเป็นคลองประวัติศาสตร์ เป็นเส้นทางสัญจรของชาวบ้าน มีการใช้น้ำเพื่อการเกษตรและรักษาระดับน้ำในทุกฤดูกาลแล้ว ยังเป็นคลองที่ใช้น้ำไปผลิตเป็นน้ำประปาของกรุงเทพฯ จึงนับได้ว่าเป็นคลองที่ยังคงสภาพธรรมชาติที่สวยงาม ระบบนิเวศน์ทางน้ำที่สมบูรณ์และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญด้วย
       
       ไม่เพียงเท่านั้น ที่ชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ หมู่ที่ 1 บ้านสุวรรณาราม ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ปัจจุบันยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชุมชน-เชิงเกษตรที่มีชื่อเสียงของจังหวัดนครปฐม จนเมื่อปี 2550 สถานที่ท่องเที่ยวชุมชนเชิงเกษตรคลองมหาสวัสดิ์แห่งนี้ ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Awards 2007) เป็นการการันตีในคุณภาพ

การเตรียมรับมือกับน้ำที่เอ่อล้นริมคลองมหาสวัสดิ์
       แต่จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ คลองมหาสวัสดิ์ที่เคยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชุมชนชื่อดัง ก็กลับกลายเป็นคลองที่ต้องเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง โดยหลังจากที่คันกั้นน้ำริมคลองพังเสียหายหลายจุด ทำให้น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมชุมชนสวนผัก สวนผลไม้ ไม้ดอก และบ้านเรือนชาวบางกรวย และชาวศาลายาเสียหาย
       
       มนูญ นราสดใส ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.ศาลายา และประธานวิสาหกิจชุมชนล่องเรือชมสวนคลองมหาสวัสดิ์ เล่าให้ฉันฟังว่า ในเรื่องของการท่องเที่ยวชุมชนล่องเรือคลองมหาสวัสดิ์นี้ ได้มีการชะลอตั้งแต่เดือนที่แล้ว ส่วนกลุ่มสุดท้ายที่เข้ามาเมื่อประมาณวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ก็เป็นกลุ่มของฝรั่งที่ซื้อทัวร์ไว้นานแล้ว แม้ช่วงนั้นน้ำจะยังไม่ท่วมมาก แต่ก็ต้องมีการลุยน้ำกันไป เที่ยวได้บางส่วน เหมือนเป็นการมาดูระดับน้ำมากกว่า

       “เรามีการวางแผนรับมือก่อนหน้านี้ในภาคการเกษตร ตั้งคันดินในไร่สวน เวลานั่งรถอีแต๋นไปจะเห็นว่าเป็นเหมือนเขื่อนอีกชั้นหนึ่ง ป้องกันหมู่1 โดยแจ้งเตือนชาวบ้านตั้งแต่เดือนที่แล้ว ทำกระสอบทรายป้องพื้นที่อยู่อาศัย แต่บ้านเรือนส่วนมากอยู่ริมคลองไม่สามารถป้องกันได้”
       
       ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 เล่าถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า “ตอนนี้น้ำท่วมเต็มพื้นที่ ทั้งที่บ้านเรือนที่อยู่อาศัยและพื้นที่สวน โดยเฉพาะที่บ้านสุวรรณารามระดับน้ำสูงมาก บางพื้นที่อยู่ระดับเอวบางพื้นที่อยู่ระดับอก เทียบได้กับช่วงน้ำท่วมเมื่อ พ.ศ.2538 เลยก็ว่าได้”

       “แต่เราก็เข้าใจว่าเป็นความเดือนร้อนโดยทั่วไป หลายพื้นที่หลายจังหวัดโดนเหมือนกัน แม้ว่าเราจะป้องแล้วทั้งกระสอบทรายในส่วนที่อยู่อาศัย และทำคันดินป่องพืชสวนไร่นา แต่ระดับน้ำขนาดนี้ก็ต้านไม่ไหวจริงๆ ส่วนไหนที่พอประคองได้ไม่เสียหายมากนักก็ต้องประคองเต็มที่”
       
       ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 กล่าวทิ้งทายไว้ว่า “หลังจากเหตุการณ์อุทกภัยคลี่คลาย อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเยียวยาชาวบ้านหลังจากกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ถ้าเราสามารถประคองสวนต่างๆให้อยู่ได้ ไม่เสียหายมากนัก ก็จะต้องฟื้นฟูให้เกิดการท่องเที่ยวต่อไป เพราะชาวบ้านที่อยู่แถบนี้ทำสวนเป็นอาชีพหลักก็จริง แต่ก็มีการท่องเที่ยวชุมชนเป็นอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ทั้งทางตรง เช่น การบริการเรือ และโดยการดึงเงินเข้ามาหมุนเวียนในชุมชน ก็ต้องเร่งฟื้นฟูทั้งหมด”
       
       นี่คือสถานการณ์ส่วนหนึ่งของคลองมหาสวัสดิ์ ซึ่งในขณะนี้ชุมชนริมคลองมหาสวัสดิ์ซึ่งเป็นพื้นที่ผันน้ำลงสู่แม่น้ำท่าจีน ในส่วนของศาลายา พุทธมณฑล บางกรวย ได้ถูกน้ำทะลักเข้าท่วมอย่างหนัก และยังคงเร่งเสริมแนวกระสอบทรายริมคลองมหาสวัสดิ์ในช่วงวัดปุรณาวาส เขตทวีวัฒนา อีกทั้งยังมีปัญหาที่โรงสูบน้ำดิบที่คลองมหาสวัสดิ์ ซึ่งรับน้ำที่เอ่อล้นมาจากแม่น้ำแม่กลองมีปัญหาพบสารปนเปื้อนไหลลงมาที่โรงสูบน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำประปาจ่ายไปยังเขตฝั่งธนบุรี ส่งผลให้น้ำมีกลิ่นและสีผิดปกติทำให้คุณภาพน้ำดิบด้อยลง
       
       สำหรับมหาอุทกภัยในวันนี้ที่บานปลายไปหลายจังหวัด แม้กระทั่งในกรุงเทพฯที่รัฐบาลมั่นใจหนักหนาว่าจะ “เอาอยู่” และ “ไม่ท่วมอย่างแน่นอน” แต่ในหลายพื้นที่กลับกลายเป็นคลองอย่างรวดเร็ว ถนนหนทาง บ้านพักอาศัยต้องจมอยู่ใต้น้ำ ไม่สามารถอยู่ได้จนต้องอพยพหนีตายไปอาศัยศูนย์อพยพพักพิงผู้ประสบภัยกันอย่างเนืองแน่น วิกฤตนี้จะคลี่คลายไปในทางใด ก็ต้องจับตาดูกันต่อไป แต่ฉันว่า ณ จุดนี้ เราชาวบ้านพึ่งพากันเองดูเหมือนจะเป็นทางรอดที่ดีที่สุด
       
       สุดท้ายนี้ตัวฉันที่ถูกน้ำท่วมบ้านเหมือนกัน ขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องชาวไทยทุกท่านที่ประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่ อย่าท้อถอย ท้อแท้ สิ้นหวัง แม้เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้จะหนักหนาสาหัส แต่หากเราไม่ย่นย่อท้อแท้สิ้นหวัง ต้องมีวันที่จะสามารถฟันฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปได้

ASTVผู้จัดการออนไลน์    27 ตุลาคม 2554