ผู้เขียน หัวข้อ: “เปิดหน้ากล้อง” พิสูจน์ “บั้งไฟพญานาค” มาจากฝั่งลาว  (อ่าน 1325 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
 “เชื่อในสิ่งที่เฮ็ด เฮ็ดในสิ่งที่เชื่อ” อาจเป็นสิ่งที่อธิบายความเชื่อในปรากฏการณ์ “บั้งไฟพญานาค” ริมฝั่งโขง เมื่อสมาชิกห้อง “หว้ากอ” จากเว็บไซต์พันทิปเดินทางไปพิสูจน์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 โดยภาพที่บันทึกได้ชี้ชัดว่า “บั้งไฟ” นั้นขึ้นมาจากบกทางฝั่งลาว
       
       ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่าเขามีความสงสัยในปรากฏการณ์ “บั้งไฟพญานาค” มานานถึง 20 ปี ซึ่งในช่วงหลังๆ มีการอ้างคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ โดยระบุว่ามีปฏิกิริยาทางเคมีที่ทำให้เกิดการก๊าซมีเทนแล้วผสมกับก๊าซฟอสฟีน (phosphine) ที่ติดไฟได้เองเมื่อสัมผัสกับก๊าซออกซิเจนในอากาศ
       
       ข้อสรุปดังกล่าวยังได้รับการสนับสนุนจากรายงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเมื่อปี 2546 และมีนักวิชาการอีกหลายคนที่ออกมาให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่า บั้งไฟพญานาคนั้นเกิดจากก๊าซที่สะสมตัวแล้วลอยขึ้นสู่ผิวน้ำ แล้วเผาไหม้เมื่อสัมผัสออกซิเจน แต่ก็มีนักวิชาการรวมถึงการพิสูจน์อีกมากมายที่โต้แย้งว่า ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะกระแสน้ำในแม่น้ำโขงนั้นไหลเชี่ยว จึงไม่น่าจะมีโอกาสให้เกิดการสะสมตะกอนหมักหมมเป็นก๊าซมีเทน หรือถ้ามีการสะสมจริง ก๊าซที่เผาไหม้ก็น่าจะกระจายตัวใกล้ๆ ผิวน้ำเมื่อฟองอากาศแตกตัว ไม่ใช่ลอยขึ้นสูงอย่างที่เห็นกัน และถ้าก๊าซมีเทนผสมฟอสฟีนถูกเผาไหม้ก็จะให้สีเขียว ไม่ใช่ สีชมพูอมแดงเหมือนบั้งไฟที่เห็นกัน
       
       อย่างไรก็ดี การพิสูจน์ว่าเป็นฟองก๊าซที่ผุดขึ้นจากแหล่งน้ำหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ให้เห็นกันแน่ชัดต่อไป แต่ ผศ.ดร.เจษฎา กล่าวว่าบางทีเราอาจจะตั้งสมมติฐานที่ผิดไป แทนที่จะหาข้อพิสูจน์ว่าบั้งไฟพญานาคนั้นเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติหรือไม่ ทำไมเราไม่เปลี่ยนคำถามว่า บั้งไฟนั้นผุดขึ้นจากผิวน้ำหรือไม่ ซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ง่ายกว่าเยอะ และจากประสบการณ์ของคนนับแสนนับล้านคนที่ไปชมบั้งไฟพญานาคนั้นยังไม่มีใครบันทึกหลักฐานออกมาเผยแพร่ชัดๆ ว่าลูกไฟดังกล่าวผุดขึ้นจากผิวน้ำ
       
       “หรือเราตั้งคำถามผิด?” ผศ.ดร.เจษฎาตั้งข้อสงสัย และบอกว่าแทนที่จะถามว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติหรือไม่ เราน่าจะถามว่าลูกไฟขึ้นจากน้ำจริงหรือไม่?
       
       เพื่อตอบคำถามนี้ “สมภพ ขำสวัสดิ์” หรือ “สมภพ เจ้าเก่า” จากห้องหว้ากอ ของเว็บไซต์พันทิปจึงได้ชักชวนสมาชิกจากเว็บไซต์ดังไปร่วมพิสูจน์ โดยสมภพบอกทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เขาตั้งคำถามนี้มาตั้งแต่ปี 2550 ว่าทำไมไม่มีใครถ่ายภาพขณะที่ลูกไฟกำลังขึ้นจากน้ำ ในปี 2551 เขาจึงเดินทางเพื่อไปบันทึกภาพปรากฏการณ์ด้วยตัวเองที่ริมน้ำโขง แต่ไม่ปรากฏบั้งไฟพญานาคขึ้นมาสักลูก แต่ในปี 2555 นี้เขาและสมาชิกทั้งหมด 4 คนได้เดินทางไปพิสูจน์อีกครั้งที่ จ.หนองคาย
       
       สมาชิกทั้ง 4 คนมาจากห้องหว้ากอและห้องกล้อง ซึ่งแยกย้ายกันไปบันทึกภาพบั้งไฟพญานาคที่บ้านน้ำเปและบ้านตาลชุม โดยสมภพบอกว่ากล้องนั้นเห็นทุกอย่างเหมือนที่ตาเห็นและจะบันทึกภาพแสงทั้งหมดไว้ จากประสบการณ์ทางสายตาพวกเขาเห็นตรงกันว่าลูกไฟนั้นขึ้นจากน้ำ และเห็นลูกไฟสีชมพูอมส้ม แต่ภาพที่บันทึกด้วยการเปิดหน้ากล้องไว้นานตั้งแต่ 5-30 วินาทีนั้นเผยให้เห็นสิ่งที่ต่างไปจากสายตา เพราะลูกไฟที่เห็นด้วยตาเปล่านั้น เป็นภาพต่อเนื่องเหมือนแสงเลเซอร์ที่มีจุดเริ่มอยู่บนบกของฝั่งลาวที่ห่างจากไทยประมาณ 1 กิโลเมตร
       
       สมาชิกพันทิปจากห้องกล้องที่ชื่อ SRJ หรือ ศรม รุ้งดนัย ช่างภาพอิสระซึ่งร่วมเดินทางไปบันทึกภาพบั้งไฟพญานาคบอกทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่าสนใจอยากไปร่วมพิสูจน์ว่าลูกไฟนั้นขึ้นจากน้ำจริงหรือไม่ ซึ่งเขาเองไม่ได้เชี่ยวชาญในด้านวิทยาศาสตร์ แต่มีทักษะในการถ่ายภาพ และจะเป็นประโยชน์ต่อการพิสูจน์ข้อสงสัยดังกล่าวได้ เขาบอกว่าบริเวณที่จัดไว้ให้ชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคนั้นมืดมาก และภาพที่เห็นก็เหมือนว่าลูกไฟขึ้นมาจากน้ำจริงๆ แต่ภาพที่ออกกลับไม่ใช่
       
       “มันจะเป็นอะไร จะเกิดที่ไหน ไม่รู้ หน้าที่ของผมคือต้องถ่าย (บั้งไฟ) ให้ติด ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะถ่ายไม่ติดก็ได้ ก็ต้องหาวิธีถ่ายให้ได้” ศรมกล่าว และอธิบายด้วยกว่า เขาถนัดถ่ายภาพเยอะๆ แล้วนำมารวมเป็นชุดเดียวกลายเป็นภาพวิดีโอ ซึ่งจะให้รายละเอียดที่มากกว่าการบันทึกวิดีโอโดยตรง และในการถ่ายครั้งนี้เขาได้ปรับเปลี่ยนตำแหน่ง 4 ครั้งจนได้จุดที่พอใจ และตั้งกล้องถ่ายตรงจุดนั้นตลอดทั้งคืน
       
       การพิสูจน์ครั้งนี้ให้หลักฐานว่าลูกไฟนั้นมีจุดกำเนิดจากบนฝั่งลาว แต่ ผศ.ดร.เจษฎาซึ่งไม่ได้เดินทางไปร่วมพิสูจน์ในครั้งนี้ด้วยกล่าวว่า ในปีหน้าเขาจะเดินทางไปพิสูจน์อีกครั้ง และจะเชิญ นพ.มนัส กนกศิลป์ ผู้เชื่อว่าบั้งไฟพญานาคเป็นฝีเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติและแยกแยะได้ว่าลูกไฟใดเกิดจากฝีมือมนุษย์ และลูกไฟใดเกิดจากธรรมชาติ ไปร่วมพิสูจน์ด้วย
       
       อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.เจษฏาเน้นย้ำว่าการออกมาเผยข้อมูลในครั้งนี้เป็นคนละส่วนกับการพิสูจน์ว่า พญานาคมีจริงหรือไม่ และไม่ได้ต้องการก้าวล่วงไปถึงความเชื่อดังกล่าว เพียงแต่จะแก้ความเข้าใจวิทยาศาสตร์ในทางที่ผิด เพราะคำอธิบายว่าบั้งไฟพญานาคเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับหลักการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งลูกศิษย์ของเขาหลายคนก็มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเช่นนั้น พร้อมตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เดิมทีบั้งไฟพญานาคนั้นชื่อว่า “บั้งไฟผี” แต่ถูกเปลี่ยนชื่อไปเมื่อปี 2529 และทำให้คำอธิบายของกำเนิดบั้งไฟเริ่มผิดเพี้ยนไป
       
       พร้อมกันนี้ ผศ.ดร.เจษฎายังเสนอให้ใช้เทคนิคการตั้งกล้องถ่ายภาพและเปิดหน้ากล้องนานๆ เพื่อบันทึกหลักฐานการเกิดบั้งไฟพญานาค ซึ่งมีคำกล่าวอ้างว่านอกจากลำน้ำโขงแล้ว ยังมีผู้พบบั้งไฟตามหนองน้ำ คูคลองต่างๆ โดยอาจจะตั้งกล้องและเปิดหน้ากล้องนานแล้วรอบันทึกภาพทั้งคืน เพื่อเก็บหลักฐานพิสูจน์ว่าบั้งไฟพญานาคนั้นเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติจริง

หนึ่งในภาพที่เกิดการจากการเปิดหน้ากล้องนานๆ ที่สมภาพบันทึกจากฝั่งบ้านตาลชุม จ.หนองคาย เผยให้เห็นเส้นสีแดงที่เมื่อมองด้วยตาเปล่าคล้ายบั้งไฟพญานาค
       
ภาพพิสูจน์บั้งไฟพญานาคใช้หลักการเดียวกันกับภาพนี้ เพื่อหาจุดกำเนิดของบั้งไฟว่าขึ้นมาจากผิวน้ำจริงหรือไม่
   
ภาพนี้คล้ายแหล่งกำเนิดลูกไฟมาจากน้ำ
 
ภาพจากฝั่งลาว มีการสุ่มยิงกระสุนส่องวิถีหลังต้นไม้ใหญ่ (ผศ.ดร.เจษฎากล่าวว่า ไม่สามารถทดสอบยิงปืนชนิดนี้เพื่อพิสูจน์กำเนิดบั้งไฟ เนื่องจากเป็นอาวุธสงครามและผิดกฎหมาย)
       
คลิปจากการถ่ายภาพแล้วนำมาซ้อนกันหลายๆ ภาพ โดย SRJ ซึ่งเผยให้เห็นลูกไฟที่พุ่งมาจากฝั่งลาว แม้ว่าขณะมองด้วยตาเปล่าเขาจะเห็นคล้ายลูกไฟขึ้นมาจากผิวน้ำ คลิปนี้บันทึกจากบ้านน้ำเป จ.หนองคาย เมื่อ 30 ต.ค.55
       

ASTVผู้จัดการออนไลน์    8 พฤศจิกายน 2555