ผู้เขียน หัวข้อ: พ่อนายกฯสอนหมอใหม่จริยธรรมสูงสุด แยกให้พ้นธุรกิจ-การเมือง  (อ่าน 1578 ครั้ง)

Meem

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2576
    • ดูรายละเอียด
“อรรถสิทธิ์”ปาฐกถา สอนหมอจบใหม่ ย้ำจริยธรรมจรรยาบรรณสิ่งสูงสุด ศีลธรรมสอนกันยากเหตุปูมชีวิตต่าง ใครชอบแนวทางแดง,เหลืองฯลฯแล้วแต่สติปัญญาตรอง

ที่กระทรวงสาธารณสุข วันนี้(31 มี.ค.) ศ.เกียรติคุณ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แสดงปาฐกถาเรื่อง “บัณฑิตแพทย์ : ปัจจุบันและอนาคต” ในพิธีปฐมนิเทศและมอบสัมฤทธิบัตรแก่แพทย์ที่สำเร็จจากโครงการผลิตแพทย์เพื่อ ชาวชนบทรุ่นที่ 10 ประจำปีการศึกษา 2552 จำนวน 391 คน โดยแพทย์เหล่านี้จะไปทำงานในโรงพยาบาล สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.เป็นต้นไป

ความตอนหนึ่งว่า การเป็นแพทย์มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะทุกคนเป็นมหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตที่สามารถจะชี้เป็นชี้ตายให้กับเพื่อนมนุษย์ ได้รับทราบมาจากนายกแพทยสภาว่า ปัจจุบันมีแพทย์ไทยลงทะเบียนอยู่ที่แพทยสภา 39,000 คน แต่ติดต่อได้จริง 3.5 หมื่นคน แพทย์หนึ่งคนดูแลประชากรประมาณ 1 ต่อ 2,000 คน แต่ปัญหาที่เรื้อรังมา 40 กว่าปี ก็คือการกระจายของแพทย์ในชนบท

“ปัญหาของแพทย์ในปัจจุบัน ข้อแรกพูดมาเกือบ 10 ปีแล้ว ก็คือปัญหาในการสื่อความหมายกับมนุษย์โดยเฉพาะคนไทยสำคัญมากเลย 2.สำคัญมาก คือ คนที่รักษาผู้ป่วยต้องติดตามเรื่องการรักษาเรื่องยาโดยเฉพาะ ถ้าไม่รู้เรื่องยา อย่าว่าแต่คนไข้เลย เพื่อนร่วมงานซึ่งเป็นเภสัชกร หรือพยาบาลก็อาจจะไม่มีศรัทธาในตัวคุณ 3.แพทย์ส่วนใหญ่มีความคิดเป็นนักวิทยาศาสตร์น้อยกว่าที่ควร ผมมีคนหวังดีเยอะให้ทำพิธีนั้นนี้ ถ้าผมทำ ผมไม่ต้องทำอะไร เอาสายสิญจ์เดินรอบบ้าน ไม่ใช่ผมไม่เชื่อ ผมเชื่อ แต่ผมคิดว่าบางครั้งการมีเหตุมีผลของการเป็นนักวิทยาศาสตร์น้อยกว่าที่ควร หมอไทยเป็นมาก อันนี้โดยทั่วไปคนไทยเป็น เพราะสังคมอยู่ใกล้ชิดกันเป็นสังคมเพื่อนฝูงพี่น้องสำคัญ”

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ น.พ.อรรถสิทธิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ทำอะไรต้องมีความเป็นมืออาชีพ และอย่าเอาไปปนกันกับธุรกิจ ปนกับการเมืองไม่ได้ ควรแยกงานหลัก งานอดิเรก ควรระวังเรื่องอุบัติเหตุ ต้องว่ายน้ำเป็น ออกกำลังกาย เพื่อหัวใจและสมอง สำหรับงานอดิเรก ตนฝึกทำซูโดโกะ ทุกวัน ต้องทำแข่งกับตัวเอง ถามว่าเคล็ดลับของความสำเร็จของการเป็นแพทย์อยู่ที่ไหน ตอบอันเดียวแน่นอนอยู่ที่ตัวคุณเอง อยู่ที่การบริหารเวลา บางทีการบริหารเวลาสำคัญมาก แล้วเรื่องการออมทรัพย์ก็สำคัญมาก ยิ่งอยู่ต่างจังหวัดต้องรู้แล้วว่าเงินส่วนหนึ่งจะแบ่งเป็นที่ดินเท่าไหร่ รถยนต์ บ้าน และการลงทุนในหุ้นต้องมีความรู้ ซึ่งการลงทุนในหุ้น อย่าเป็นประเภทนักการพนัน และนักเก็งกำไร

น.พ.อรรถสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ที่ไหนก็ตามอยู่กันมากๆ ต้องมีกฎหมาย เพราะฉะนั้นต้องมีนิติธรรม ถ้าคนไม่บังคับ ไม่มีกฎหมาย บ้านเมืองถึงยุ่ง ถ้าคนไม่เคารพกฎหมาย อันนี้เป็นการปกครองหลายประเทศที่เลวน้อยที่สุด คือ ประชาธิปไตย ประชาชนยังมีส่วน มีเสียงเป็นใหญ่ เป็นหลักกติกาของสังคมโลก โดยเฉพาะประเทศที่เจริญแล้ว อย่างสหรัฐฯจะพยายามเน้นเรื่องพวกนี้มาก คุณภาพชีวิตมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ คือเรื่องอากาศ สิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่ปัญหามาบตาพุด ไม่ใช่แค่นักธุรกิจ คนรวย ไปทำที่มาบตาพุด แต่ดูปัญหาที่จังหวัดเชียงใหม่ ใครเผาป่า อากาศมันเป็นอย่างไร คุณภาพชีวิตทั้งคนมี คนจน เหมือนกันหมด ดังนั้นทุกคนต้องเคารพกติกาของสังคมโลก

ศ.เกียรติคุณ นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า เวลาทำอะไรก็ตามจะต้องมี 3 อย่าง คือ 1.ความโปร่งใส ซึ่งไม่ได้หมายความว่า คุณมีเรื่องส่วนตัวไม่ได้ มีเงินกี่บาท จะต้องบอกหมดเลย 2.ต้องชี้แจงได้ ว่าได้มาอย่างไร และ 3.ต้องยอมรับการตรวจสอบ ไม่ว่าคนจะเป็นอธิการบดี คุณเป็นเสมียนอะไรก็ตามคุณถูกตรวจสอบในสิ่งที่คุณทำเสมอ

“อย่างเรื่องศีลธรรมสอนกันไม่ได้ มันมาจากภูมิหลัง พื้นฐาน แต่สิ่งที่จำเป็นมากเลยในวิชาชีพคือ จริยธรรม หรือจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ถ้าหากว่าแพทย์ไม่ทราบอาจจะเดือดร้อนได้ อันสุดท้ายคือเรื่องมารยาทแห่งวิชาชีพ หมายความว่าถ้าคุณไม่ทำไม่ผิด แต่มันไม่สวยไม่สง่างาม มีนักปราชญ์เขาเขียนไว้หลายร้อยปี ว่าพื้นฐานของสังคม อยู่ที่ความรู้สึกของประชาชน ปราชญ์ขงจื้อชาวจีนว่าไว้ เพราะฉะนั้นคุณอย่าไปว่าเสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อเขียว เสื้อน้ำเงิน มันอยู่ที่ความรู้สึกของเขา ความเชื่อของเขา อันนั้นเป็นพื้นฐานของสังคมที่คุณต้องรับฟัง และคุณใช้สติปัญญาคิดว่าคุณเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยแล้วจะเป็นอย่างไร” ศ.เกียรติคุณ นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าว

ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

 31 มีนาคม 2010 

today

  • Staff
  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 263
    • ดูรายละเอียด
ครับ อาจารย์