ผู้เขียน หัวข้อ: เด็กหลอดแก้ว-อุ้มบุญ เส้นแบ่ง"กฎหมาย-ศีลธรรม"  (อ่าน 480 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
"บางคนอยากมีลูก ไปดูโฆษณาตามเว็บไซต์หลอกล่อขายสเปิร์มจากหนุ่มรูปลักษณ์ดี ก็หลงเชื่อ แต่หารู้ไม่ว่า อาจมีเชื้อโรค เชื้อไวรัสเอชไอวีไม่รู้ตัว..." ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวตอนหนึ่งในงานแถลงข่าว จัดระเบียบคลินิกเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เมื่อไม่นานมานี้

กรณีสเปิร์มมีเชื้อเอชไอวีนั้น เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีชาวต่างชาติคนหนึ่งทำเรื่องขอบริจาคสเปิร์มมายังประเทศไทย โดยระบุในเอกสารว่าผลการตรวจสเปิร์มปลอดเชื้อโดยเฉพาะเชื้อเอชไอวี

ปรากฏว่า ไม่นานนักคณะกรรมการสหภาพยุโรปทำเรื่องมายังกระทรวงสาธารณสุข และราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยว่า สเปิร์มที่ชายชาวต่างชาติผู้นั้นส่งมาไทยมีเชื้อไวรัสเอชไอวี ให้เร่งดำเนินการหาผู้รับสเปิร์มเพื่อนำไปใช้ในเรื่องเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ด่วน แต่ในความเป็นจริงไม่สามารถหาได้ เนื่องจากไม่มีทางทราบเลยว่าชายผู้นั้นส่งผ่านใคร เพราะแท้จริงไม่ใช่การบริจาค แต่เป็นการซื้อขายสเปิร์มที่ปราศจากการตรวจสอบ แม้แต่ถือเข้ามายังสนามบิน ยังไม่มีการตรวจสอบตรงนี้

การซื้อขายสเปิร์ม มีความน่ากังวลในเรื่องการตรวจหาเชื้อ แต่ในแง่กฎหมายยังไม่มีกฎหมายใดมาบังคับชัดเจน เพราะปัจจุบันหลายประเทศล้วนมีธนาคารสเปิร์ม แม้แต่ไทยก็มีในบางแห่ง ปัญหาที่น่ากังวล คือ การนำสเปิร์มนั้นๆ มาเข้าสู่กระบวนการอุ้มบุญ หรือที่รู้จักในชื่อ "การทำเด็กหลอดแก้ว" โดยเป็นการว่าจ้างหญิงที่ไม่ใช่คู่สมรสมาอุ้มท้อง กรณีนี้ผิดเต็มประตู คือ "ผิดกฎหมาย"และ "ผิดจริยธรรม"

การว่าจ้างอุ้มบุญ จึงเป็นประเด็นที่น่ากังวลที่สุด โดยเฉพาะปัจจุบันชาวต่างชาติที่ไม่มีลูก เนื่องจากมีการโฆษณาผ่านเอเยนซี่ว่า ไทยมีเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ พร้อมทั้งจัดหาหญิงอุ้มท้อง เพื่อคลอดเด็กให้อย่างสมบูรณ์ โดยราคาเฉลี่ยอยู่ 1 ล้านบาท

ล่าสุดยังมีข่าวจากกรมการกงสุลว่า มีกรณีชายรักร่วมเพศชาวอิสราเอลอยากมีบุตร จึงเข้ามาจ้างหญิงไทยอุ้มบุญ มีทั้งนำเชื้ออสุจิชายรักร่วมเพศมาผสมกับรังไข่ของหญิงไทยที่รับจ้างตั้งครรภ์ อีกวิธีคือผสมน้ำเชื้ออสุจิมาเรียบร้อยแล้ว จากนั้นมาฉีดฝากตั้งครรภ์ เมื่อได้เด็กก็จะนำกลับประเทศ โดยการปลอมแปลงเอกสารเท็จนั่นเอง

แล้วการอุ้มบุญที่ถูกกฎหมายทำอย่างไร?

รศ.นพ.กำธร พฤกษานานนท์ ประธานอนุกรรมการเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ขั้นตอนในการทำเด็กหลอดแก้ว หรือการอุ้มบุญที่ถูกกฎหมายและไม่ผิดจริยธรรมนั้น สิ่งสำคัญคือต้องเป็นคู่สมรสที่ไม่สามารถมีลูกได้ โดยเฉพาะฝ่ายหญิงที่มีปัญหาในการอุ้มท้อง โดยอาจพบเนื้องอกที่มดลูก หรือต้องตัดมดลูกทิ้ง ซึ่งแพทย์จะพิจารณาและทำเด็กหลอดแก้ว หรือการอุ้มบุญในหญิงอีกคนที่ไม่ใช่การว่าจ้าง โดยการนำไข่ของฝ่ายภรรยาและสเปิร์มของสามีมาผสมกันให้เกิดการปฏิสนธิภายนอกร่างกายในห้องปฏิบัติการ จากนั้นจึงจะนำไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว (ตัวอ่อน) ย้ายกลับเข้าไปในมดลูกของฝ่ายหญิงที่อุ้มท้อง เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ต่อไป

ประเด็นคือ การอุ้มท้องแทนอย่างถูกกฎหมายจะต้องไม่ใช่การว่าจ้าง แต่ต้องเป็นไปตามประกาศของแพทยสภา ฉบับที่ 1/2540 เรื่องมาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ซึ่งกำหนดว่าฝ่ายหญิงที่รับอุ้มบุญจะต้องผ่านการคลอดบุตรมาแล้ว เพื่อให้ทราบว่ามดลูกมีสภาพดี และมีอายุระหว่าง 20-34 ปี สุขภาพแข็งแรง ที่สำคัญต้องเป็นญาติโดยสายเลือด แต่มิใช่บุพการี  หรือผู้สืบสันดานของทั้งสามีและภรรยาผู้ประสงค์จะมีบุตร

เรื่องนี้ละเอียดอ่อนมากในแง่คนอุ้มท้องแทน จะมีความผูกพันกับเด็ก และไม่ยอมให้ จึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบแพทยสภา นอกจากนี้ หากเป็นการว่าจ้างหญิงอื่นมาอุ้มท้องแทนก็มีความเสี่ยง ในแง่ของสุขภาพของหญิงที่รับการว่าจ้าง เนื่องจากหลักการทำอุ้มบุญ จะต้องมีการฉีดยากระตุ้นไข่ทุกวัน เป็นเวลา 10 วัน ซึ่งหากฉีดยากระตุ้นมากเกินไป หรือร่างกายได้รับฮอร์โมนเพื่อสร้างไข่เกินพอดี จะทำให้เกิดภาวะน้ำซึมทั่วร่างกาย จนอาจเกิดน้ำท่วมปอด ท่วมหัวใจ เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้ในที่สุด ซึ่งกรณีดังกล่าวโดยปกติแพทย์จะทราบดีว่าระดับฮอร์โมนมากเกินไปหรือไม่ หากพบมากจะมีการปรับลด หรือไม่เช่นนั้นก็จะหยุดดำเนินการเด็กหลอดแก้วทันที

ในทางกลับกัน หากเป็นการว่าจ้างหญิงให้มาอุ้มท้องแทนนั้น จะไม่สนใจผลข้างเคียงใดๆ แต่จะสนเพียงแค่ฉีดยากระตุ้นให้ได้ไข่จำนวนมาก เพื่อนำไปผสมกับสเปิร์มเท่านั้น ซึ่งอันตรายที่จะเกิดขึ้นก็ต้องแบกรับเอง ทั้งนี้ จากข้อมูลการรายงานของแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์พบว่า แต่ละปีมีเด็กเกิดจากเทคโนโลยีเหล่านี้ 6,000 รายต่อปี โดยมีคลินิกที่ให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องจาก สบส.และได้รับการรับรองจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ จำนวน 45 แห่ง และมีอีก 2 แห่งอยู่ในขั้นตอนขึ้นทะเบียน

รศ.นพ.กำธรกล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยแม้จะมีกฎหมายควบคุม แต่ก็อยู่ในระดับหนึ่งเท่านั้น อย่างแพทยสภาก็เป็นประกาศข้อห้ามสำหรับแพทย์ ซึ่งเป็นเรื่องจริยธรรม โดยหากพบกระทำผิดจะมีโทษสูงสุดคือ เพิกถอนใบอนุญาตวิชาชีพ ส่วนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จะดูในเรื่องของสถานพยาบาลและคลินิกเป็นหลัก สิ่งสำคัญต้องมีกฎหมายเฉพาะ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ร่างกฎหมายฉบับหนึ่ง คือ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ พ.ศ.... โดยร่างกฎหมายนี้ถูกผลักดันมานาน ทั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ ขณะที่ประเทศอื่นๆ อาทิ อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฯลฯ ต่างมีกฎหมายควบคุมโดยเฉพาะ อย่างในอินเดียถึงขนาดประกาศว่าหากมีต่างชาติเข้ามาทำการอุ้มบุญในประเทศ จะไม่ออกวีซ่าให้

ในเรื่องการจัดระเบียบนั้น ด้าน น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดี สบส. บอกว่า ในส่วนของ สบส.จะดูแลในเรื่องของสถานพยาบาลหรือคลินิก รวมทั้งแพทย์มีการกระทำลักษณะผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งหากพบว่าคลินิกนั้นๆ มีการซื้อขายไข่ และว่าจ้างหญิงรับตั้งครรภ์ที่ไม่ใช่ภรรยา หรือแม้แต่ไปซื้อสเปิร์มจากคนที่ไม่รู้จักที่มีรูปลักษณ์ดี มาผ่านกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว หรืออุ้มบุญ ถือว่าผิด พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มีโทษปรับ 60,000 บาท และจำคุก 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะปิดสถานพยาบาลนั้นๆ พร้อมทั้งจะส่งเรื่องไปยังแพทยสภาในการพิจารณาเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพแพทย์ต่อไป

ในส่วนของแพทยสภาจะเอาผิดได้เฉพาะแพทย์เท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามประกาศแพทยสภาที่ 21/2544 เรื่อง มาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (ฉบับที่ 2) ในข้อ 4/2 (ง) การตรวจวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมของตัวอ่อนก่อนย้ายเข้าสู่โพรงมดลูก ให้กระทำได้เฉพาะการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคตามความจำเป็นและสมควร ที่สำคัญจะต้องไม่เป็นการกระทำในลักษณะที่อาจทำให้เข้าใจว่า เป็นการเลือกเพศ โดยจะต้องมีหนังสือแสดงความยินยอมตามประกาศแพทยสภา และผู้รับผิดชอบในการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์จะต้องได้รับหนังสือรับรองจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย

ในการแก้ปัญหาจะต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ทั้ง สบส.ดูแลในเรื่องสถานพยาบาล/คลินิก แพทยสภาดูแลในส่วนแพทย์ผู้ปฏิบัติ ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ พ.ศ.... ซึ่ง พม.ดูแลนั้น ยังไม่ได้รับการผลักดัน

ก็หวังเพียงว่า กฎหมายจะออกมาในสมัยนี้ เพื่อประโยชน์ทั้งในแง่การควบคุมบริษัทเอเยนซี่ที่จ้องหาผลประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง และหลักจริยธรรมให้สอดคล้องกับเมืองไทยที่เป็นเมืองพุทธ อย่าเห็นการอุ้มบุญเป็นเพียง "ของเล่น" เพราะนั่นคือ "ชีวิต" หนึ่งทีเดียว...


หน้า 11 มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม 2557


26 กรกฎาคม พ.ศ. 2557