ผู้เขียน หัวข้อ: พรบ.คุ้มครองผู้เสียหาย..... ประชาชนได้ประโยชน์จริงหรือ? พญ.ถนอมศรี  (อ่าน 2230 ครั้ง)

somnuk

  • Staff
  • Newbie
  • ****
  • กระทู้: 48
    • ดูรายละเอียด


พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข (ฉบับรัฐบาล)  ใครได้ประโยชน์?  การแก้ไขวิกฤตการแพทย์และการสาธารณสุข ของประเทศไทยทำได้อย่างไร


ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พันเอกพิเศษ แพทย์หญิงถนอมศรี ศรีชัยกุล
พ.บ. M.Sc. Med (Penn)


          ผู้เขียนเป็นแพทย์ศิริราชรุ่นที่ 59 ตั้งแต่จบแพทย์ในปี พ.ศ. 2497 ได้ใช้ชีวิตเป็นอายุรแพทย์มาทั้งหมด 56 ปี   ในระหว่างปี พ.ศ. 2510-2533 ได้เป็น “ครูแพทย์” ผู้ก่อตั้งหน่วยโลหิตวิทยาในสถาบัน 2 แห่ง คือ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี (2510-2522) และที่กองอายุรกรรม วิทยาลัยแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า (2525-2533)   ในปัจจุบันยังเป็นแพทย์ดูแลรักษาผู้ป่วยอยู่


          กาลเวลาที่ผ่านมาถึง 56 ปี มีการเปลี่ยนแปลงในวงการแพทย์และสาธารณสุขอย่างมากมาย  วิชาการใหม่ ๆ ได้เกิดขึ้นทำให้แพทย์สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ดีขึ้น  โรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคตา มะเร็ง ได้รับการรักษาให้หายได้ในระดับหนึ่ง เป็นที่น่าชื่นชมและยินดีสำหรับผู้ป่วยและแพทย์ผู้รักษา อย่าง ไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่เกิดตามมาคือ ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์ – ผู้ป่วย ซึ่งเคยมีมาฉันท์ญาติมิตรได้เปลี่ยนไป  แพทย์ซึ่งครั้งหนึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็น “ผู้ให้” ชีวิตแก่ผู้ป่วย  มิได้รับการยอมรับต่อไป  จากคำนิยามของทางราชการ (กระทรวงสาธารณสุข)  แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เป็น “ผู้ให้บริการ”  ผู้ป่วยเป็น “ผู้รับบริการ”  เปรียบเสมือนการจ้างทำของ – ซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน  ผู้นิยามศัพท์ดังกล่าวนี้คงไม่ใช่แพทย์โดยจิตใจและเป็นผู้ที่มีส่วนทำให้ ความ ผูกพันระหว่างแพทย์และผู้ป่วยเลือนหายไป  การฟ้องร้องเกิดขึ้นมากมาย แพทย์ถูกตัดสินให้ถูกจำคุก  ผู้ป่วยถูกหลอกลวง  โดยการกระทำของแพทย์ซึ่งขาดจรรยาแพทย์แม้ว่าจะเป็นแพทย์ส่วนน้อย – แต่ก็เป็นต้นเหตุให้สถานภาพของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในสังคมเปลี่ยนไปในทางเสื่อม   สาเหตุ ที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งที่สำคัญมากคือ ความโลภ ไม่รู้จักพอของทุก ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ป่วย แพทย์ และสภาพสังคมซึ่งเชี่ยวกรากด้วยวัตถุนิยม  ผู้เขียนได้แต่มองดูด้วยความเป็นห่วงและสะเทือนใจ  เพราะในระยะอันยาวนานด้วยอำนาจของวัตถุนิยมเราได้หลงทางเดินมาไกล จนบัดนี้สถาบันแพทย์และการสาธารณสุขไทยกำลังอยู่ที่ขอบเหว

“พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข”  ทำให้เกิดความหวังขึ้นว่าสถานการณ์อันเลวร้ายจะดีขึ้น  จุดประสงค์ใหญ่ ๆ ของ พรบ. ฉบับนี้มี 4 ข้อ คือ

            1)  ต้องการชดเชยค่าเสียหายจากการรับบริการทางแพทย์แก่ผู้เสียหายอย่างรวดเร็ว โดยจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อชดเชยความเสียหายนั้น ๆ

            2)  ผู้ป่วยได้ประโยชน์จาก พรบ. ฉบับนี้ เพราะได้เงินชดเชยเร็วขึ้นโดยมาตรฐานบริการทางการแพทย์มิได้ลดลง

            3)  จะช่วยลดการฟ้องร้องระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ให้น้อยลง

            4)  จะเป็นการสร้างความสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้รับ (ผู้ป่วย) และผู้ให้บริการ (แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์)
 

          พรบ.นี้มี 7 หมวด และ 50 มาตรา  จากการอ่านพิจารณาดูในฐานะแพทย์ซึ่งมิใช่นักกฎหมาย  มีความเห็นว่า พรบ. นี้มีข้อบกพร่องหลายประการที่จะนำไปสู่ความเสียหายแก่การแพทย์และการสาธารณ สุขของชาติ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในภาวะใกล้ล่มสลาย  ความวกวน ไม่กระจ่างชัด และขัดแย้งกันเอง จะทำให้ พรบ. นี้ไม่สามารถบรรลุจุดมุ่งหมาย 4 ข้อต้นได้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

 

ข้อ 1  หมวดที่ 1 ตามมาตรา 5 ผู้เสียหายมีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงินชดเชยจากกองทุน โดยมิต้องพิสูจน์ความรับผิด

แต่ ในมาตรา 6 มีข้อขัดแย้งกันเองกล่าวคือ มีข้อยกเว้นที่นำมาใช้กับมาตรา 5 ไม่ได้ ดังนี้ คือ 1) ความเสียหายเกิดขึ้นตามปกติธรรมดาของโรคนั้น ๆ    2) ความเสียหายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรฐาน วิชาชีพ   และ 3) ความเสียหายเมื่อสิ้นสุดกระบวนการให้บริการสาธารณสุขไม่มีผลกระทบต่อการดำรง ชีวิตตามปกติ
 

          ข้อความในมาตรา 5 และมาตรา 6 ขัดแย้งกันเอง  ในมาตรา 6 ข้อยกเว้น 3 ข้อ ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ด้วยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์แต่ละสาขา ซึ่งในคณะกรรมการที่รับผิดชอบ พรบ.ฉบับนี้ไม่มีผู้ที่มีคุณสมบัติดังกล่าว  การใช้ความเห็นกรรมการที่ปราศจากความรู้ทางการแพทย์ และให้ลงมติโดยการใช้คะแนนเสียง ทำให้การตัดสินเป็นไปโดยขาดหลักเกณฑ์ ปราศจากความยุติธรรม เป็นผลเสียหายทั้งแก่บุคลากรทางการแพทย์ แพทย์ และผู้ป่วย   นอกจากนั้นเมื่อมีข้อยกเว้นจึงต้องพิสูจน์โดยใช้เวลา  การจ่ายเงินชดเชยจึงทำไม่ได้ในเร็ววันตามที่กำหนดไว้ ผิดจุดประสงค์ใหญ่ของ พรบ. ในข้อ 1 และ ข้อ 2  การไม่ได้เงินชดเชยในระยะเวลารวดเร็วจะนำไปสู่การฟ้องร้องให้มากขึ้น กระทบกระเทือนต่อสัมพันธภาพระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ผิดเจตจำนง ข้อ 3 และ ข้อ 4
 

ข้อ 2  การพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงินชดเชย  ใน หมวด 4 (มาตรา 27-37)  มีข้อน่าสังเกตว่า มีการจ่ายค่าชดเชยเบื้องต้น ถ้าผู้เสียหายไม่พอใจ ให้อุทธรณ์ได้ ถ้ายังไม่พอใจให้ผู้เสียหายฟ้องศาลได้ ทั้งทางแพ่ง อาญา วิ กฎหมายผู้บริโภค  อยากตั้งข้อสังเกตว่า มีการ ฟ้องต่อเป็นลูกโซ่ ซึ่งมีผลเสียหายคือ การฟ้องร้องมีแต่จะมากขึ้นและทวีความรุนแรงขึ้น ความร้าวฉานระหว่างแพทย์ บุคลากรทางแพทย์ และผู้ป่วย หรือผู้เสียหายฝ่ายผู้ป่วยก็จะยิ่งมากขึ้น สัมพันธภาพของแพทย์และผู้ป่วยยิ่งเลวลงเป็นลำดับ  อายุความที่จะฟ้องร้องจะยืดเยื้อจากเดิม 1 ปี เป็น 3 ปี – 10 ปี  การ ที่แพทย์ – บุคลากรทางการแพทย์ซึ่งส่วนใหญ่พยายามปฏิบัติหน้าที่อย่างดีที่สุด แต่ต้องมาพบผลกระทบกับคดีฟ้องร้องอันไม่มีที่สิ้นสุดนี้เป็นการบั่นทอน กำลังใจ กำลังสมอง กำลังกาย ที่ควรจะนำมารับใช้ผู้ป่วยหรือประชาชน มาตรฐานการแพทย์จะลดลง  การมีขบวนการไกล่เกลี่ยซึ่งอาจจะต้องใช้เงินชดเชยแก่ผู้ร้อง ใน พรบ. ฉบับนี้ไม่ได้ระบุไว้ว่าใครจะเป็นผู้จ่าย อาจเป็น แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล สถานพยาบาล ที่เป็นจำเลยก็ได้  พรบ.นี้ให้อำนาจกรรมการอย่างไม่มีขอบเขตและไม่เป็นธรรม


โดยสรุป พรบ. ฉบับนี้มีผลเสียหายต่อการแพทย์และการสาธารณสุขดังนี้ คือ

1.  การ จ่ายเงินชดเชยให้ผู้เสียหาย เมื่อมีข้อขัดแย้งต้องพิสูจน์โดยกรรมการที่ไม่มีความรู้ทางแพทย์  การพิจารณาไม่มีหลักเกณฑ์และอาจจ่ายให้โดยพิจารณายังไม่เสร็จเป็นการ ผลาญ เงินอย่างมหาศาล โดยการใช้เงินจากกองทุนซึ่งได้มาจากภาษีอากรของราษฎรซึ่งถูกรีดไปโดยวิธีการ ต่าง ๆ

2.  คดีฟ้องร้องไม่ลดลง มีแต่จะเพิ่มมากขึ้น และทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

3.  ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยเลวลง นำไปสู่การฟ้องร้องมากขึ้น การรักษาพยาบาลไม่ได้ผล มาตรฐานการแพทย์ต่ำลง เพราะผู้ป่วยขาดความเชื่อถือแพทย์ แพทย์ต้องโดนทำร้ายทางจิตใจ เสียทรัพย์สิน และอาจเสียอิสรภาพ หมดกำลังใจในการดูแลรักษาผู้ป่วย

4.  พรบ.ฉบับนี้ถ้าผ่านเป็นกฎหมายจะนำไปสู่การล่มสลายของการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย ให้เร็วยิ่งขึ้น
 

อ่านต่อได้ที่ ....

http://www.facebook.com/note.php?note_id=107483142649182

...