ผู้เขียน หัวข้อ: กินเจ-กินยังไงจะไปถึงเจ?  (อ่าน 1594 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด
กินเจ-กินยังไงจะไปถึงเจ?
« เมื่อ: 09 ตุลาคม 2010, 08:32:58 »
วันนี้ ศุกร์ที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๓ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีขาล ตามปฏิทินโหราศาสตร์ของ  "ท่านอาจารย์เทพย์ สาริกบุตร" บอกถึงปรากฏการณ์ดวงดาวว่า เป็นวันจันทร์ดับอมาวสี ศุกร์วิกลคติพักร จันทร์ยกเข้าราศีตุล พุธกุมเสาร์ จันทร์ตรีโกณเนปจูน รหัสดวงดาวบอกอะไรบ้างผมไม่ทราบ ต้องรอผู้รู้เฉลย แต่ที่แน่ๆ วันนี้เริ่ม "กินเจ" กันแล้วนะครับ
 ผมก็อยากกินเจ แต่อย่างว่า กินทีไรไปไม่รอดซักที เพราะเจ้าความเห็นแก่กินนี่แหละทำให้ตบะแตกก่อนทุกทีไป ไปโน่น-ไปนี่ ใครเขาเอาอะไรมาให้รับประทานก็อ้างว่า "ไม่อยากขัดศรัทธา" แต่จริงๆแล้ว ไม่อยากขัด "ความตะกละ" ที่รบเร้าใจตัวเองมากกว่า ฉะนั้น ถึงเทศกาลกินเจทีไร ผมก็ทำตนเป็น "คนใจง่าย" ทีนั้น
 คือใครชวนไปกินเจ ผมก็ไปกินเจกับเขา ใครชวนไปกินซากศพสิงสาราสัตว์ ผมก็ไปกินซากสิงสาราสัตว์กับเขา จะไปหวังบุญ-บาปอะไรไม่ได้หรอก นอกจากหวัง "ได้อิ่ม" ไปมื้อๆ เท่านั้น!
 แต่ผมก็สังเกตในเชิงเปรียบเทียบจากตัวเอง ทุกครั้ง ช่วงกินอาหารเจกับไม่เจ ถ้าครั้งไหนรับประทานอาหารเจติดต่อกันทั้งวัน ท้องไส้จะดีมาก เข้าตามตำราที่ว่า "นอนง่าย หลับง่าย กินง่าย ถ่ายง่าย  สบายดี" เนื้อตัวเบา ทั้งที่เดี๋ยวกิน-เดี๋ยวหิวก็ไม่รู้สึกอึดอัด แต่ทั้งที่รู้ว่ากินเจแล้วดี แต่ก็ไม่พยายามตั้งอก-ตั้งใจจะกิน เพราะเจ้าตัว "ตามใจปาก" คือตัวตะกละนั่นแหละเป็นนาย
 คือกินผัก-กินหญ้า แล้ว ถึงอิ่มขนาดไหน ใจก็ยังวิบๆ หวิวๆ "ยังไม่สาแก่ใจ" คงจะเหมือนพวกผีดิบ  คือกินอะไรร้อยแปดพันเก้าไปแล้ว แต่ถ้ายังไม่ได้ "กินเลือด" เจ้าตัวความอยากดูคล้ายกับว่ามันไม่ยอมสงบระงับ กระตุ้นให้ใจกระสับกระส่ายจนกว่าจะได้ "เลือดเนื้อ" มาบำบัด
 นี่แสดงว่า แก่นแท้ของการกินเจ ไม่ได้อยู่ที่ผักหญ้าหรือแป้ง หากแต่อยู่ที่ "ใจ" การกินเป็นเพียงรูปแบบเพื่อให้คนไปถึงแก่น ฉะนั้น ลำพังกินแต่เจ ต่อให้เคร่งครัด-ครบถ้วนขนาดไหน สิ่งที่ได้คงจะเป็น "ประโยชน์ทางกาย" เป็นหลัก ถ้าจะให้ได้ประโยชน์ครบด้าน ต้องเคร่งครัด "ทางใจ" ด้วย
 พูด ถึงด้านไม่กินเจบ้าง คือ "กินทุกอย่างที่ขวางหน้า" มันเป็นการกินที่สนองตัณหาอยาก สุขใจ-พอใจ ตอนที่ได้กินของตามปาก ตามใจ แต่ต่อจากนั้น ของที่กินเข้าไปสะสมอยู่ในร่างกาย ส่วนดีมันก็มี แต่ส่วนร้ายมันก็มาก และเจ้าส่วนร้ายนี้มันจะสร้างทั้งโรค สร้างทั้งความอึดอัด ขัดข้องในร่างกาย โดยเฉพาะการขับถ่ายยากที่สุด
 กินเจ-ท่านว่า กินได้ ถ่ายได้ สบายดี ๑๐๐ ปียังเป็นสุข
 แต่กินสารพัดสัตว์-ท่านว่า กินได้ ถ่ายไม่ดี ไม่ถึง ๑๐๐ ปี ตายแล!
 แต่ อย่างว่าแหละครับ ตามธรรมดาของมนุษย์เรา ทำงานหาเงิน-หาทองแทบตาย ก็อยากจะหาความสุขตามใจอยากสนองอยากบ้าง ฉะนั้น อะไรที่คิดว่าทำแล้ว-กินแล้วใจบอกว่าสุข ก็คว้าไว้ก่อน ส่วนจะทุกข์-ไม่ทุกข์ ค่อยไปว่ากันทีหลัง ไม่ใช่หาเงิน-หาทองได้มามากมาย แต่กลับใช้ชีวิตอย่างจืดชืด เพียงหวังยืดอายุให้ยาว
 ยาวอย่างจืดชืด มิสู้สั้นแต่ซาบซ่าดอกหรือ?
 นี่...ส่วน มากก็จะคิดกันแบบนี้ มันก็จริงอยู่ ชีวิตนี้สั้นนัก ไม่ถึงร้อยปีก็ตาย พระท่านยังบอกว่าให้มีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ดังนั้น จะฝืนอยากเพื่ออดีตหรืออนาคตอันไม่มีความหมายไปทำไม ยึดภาษิต "วันนี้เราอยู่ดูโลกให้มันโศภิน" ตักตวงทุกอย่างเพื่อชีวิตสุขวันนี้-ขณะนี้ให้จมเขี้ยวไปเลยไม่ดีกว่าหรือ?
 แต่ ในข้อเท็จจริงนั้น สั้น-ยาว ของชีวิตไม่ใช่คำตอบของปัจจุบัน กระทั่งอดีต หรืออนาคต เพราะสิ่งที่แต่ละคนต้องบริหารบนความสั้น-ความยาวอันตัวเองกำหนดไม่ได้นั้น คือคำว่า "อยาก" และเจ้าคำว่าอยากนี้แหละจะเป็นตัวให้ค่าของความสั้น-ความยาว
 อยาก-มันมี ๒ อย่าง ดูเหมือนเราเคยคุยกันไปแล้ว มนุษย์ทุกคนต้องมีความอยากเป็นพลังงานขับเคลื่อนทั้งนั้น จะไปสวรรค์ก็ต้องใช้พลังงานอยาก จะไปนรกก็ต้องใช้พลังงานอยาก จะไปนิพพานก็ต้องไปด้วยพลังงานอยาก จะเป็นนายกฯ จะเป็นประธานาธิบดี ก็ต้องใช้พลังงานอยาก
 ฉะนั้น การอยู่กับปัจจุบันอย่างมีคุณค่า จะอยู่แบบจมเขี้ยว หรือลอยเขี้ยวก็ตามเถอะ  ต้องบริหาร "ความอยาก" ให้ดี เพราะไม่ว่าเราจะใช้ชีวิตแบบไหน-อย่างไร จะดีสุดขั้ว หรือจะชั่วสุดขีด เป้าหมายทั้งดี-ทั้งชั่ว เจ้าตัวก็ล้วนอยากให้มีผลออกมาดีด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งมันจะออกมาดีได้ ถ้าควบคุมพลังงานอยากได้ถูกทิศ-ถูกทาง
 อยากที่จะ ให้ผลออกมาดี อยากนั้นต้องเป็นอยากที่เรียกว่า "ฉันทะ" คือความพอใจ พอใจที่จะทำในสิ่งที่ไม่เป็นโทษ ไม่เป็นการเบียดเบียนทั้งกับตัวเองและผู้อื่น ในขณะเดียวกัน การทำนั้นจะยังประโยชน์ให้เกิดทั้งกับตัวเองและผู้อื่น เป็นผู้มีจิตใจไม่เร่าร้อน กระวนกระวาย เป็นผู้มีจิตใจชุ่มเย็น ตื่นก็เป็นสุข  หลับก็เป็นสุข
 ส่วน "อยาก" อีกด้าน จะให้ผลออกมาไม่ดี เพราะเป็นอยากที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานที่เรียกว่า "ตัณหา" เป็นอยากที่จะทำแต่สิ่งเป็นโทษ เป็นการเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น เช่น อยากบึ้ม อยากเปลี่ยนระบบ-ล้มสถาบัน ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ทั้งกับตัวเอง กับผู้อื่น กับสังคมชาติบ้านเมือง วันๆ มีชีวิตอยู่ด้วยจิตใจเร่าร้อน ในอกข้นคลั่กด้วยเพลิงพยาบาท ตื่นก็นรก หลับก็นรก
 นี่แหละเป็นตัว "กำหนดค่า" ความสั้น-ยาวของชีวิต และเป็นตัวควบคุมพฤติกรรม "สนองอยาก" ปัจจุบันให้ความสั้น-ความยาวนั้นว่า...สั้น-ยาว แบบจมเขี้ยว หรือจมคูถ?
 กลับ มาเรื่องกินเจต่อ ถึงอย่างไรผมก็อนุโมทนา ขอเกาะชายกางเกง ชายผ้าถุงขาวของผู้ถือศีล-กินเจไปสู่แดนสุขาวดีด้วย บางท่านศรัทธาจะกินเจ นึกว่าแค่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็พอแล้ว ความจริง "เพื่อความสมบูรณ์พร้อม" มีองค์ประกอบที่ควรปฏิบัติมากกว่านั้น พอดีคุณ BL Today อีเมล์เรื่องนี้มาให้ ขอถือโอกาสนำเผยแพร่ต่อเลย ดังนี้
 หลักธรรมในการ กินเจ ในทัศนะของคนกินเจ การกินที่ทำให้ชีวิตผู้อื่นต้องเดือดร้อนล้มตายนั้น “มันมากเกินไป” ทั้งๆ ที่มนุษย์กินแต่อาหารพืชผักก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้ การกินเจตั้งมั่นอยู่บนหลักธรรมสำคัญ 2 ประการ คือ ดำรงชีวิตอยู่ด้วยอาหารที่ไม่เบียดเบียนตนเองและดำรงชีวิตอยู่ด้วยอาหารที่ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น กล่าวคือ
 1.ไม่เอาชีวิตของสัตว์ทั้งหลายมาต่อเติมบำรุงเลี้ยงชีวิตของตน
 2.ไม่เอาเลือดของสัตว์ทั้งหลายมาเป็นเลือดของตน
 3.ไม่เอาเนื้อของสัตว์ทั้งหลายมาเป็นเนื้อของตน
 การ รับประทานสิ่งใดก็ตามที่ทำลายสุขภาพร่างกายของตนให้ทรุดโทรม คือ การเบียดเบียนตนเอง  ปัจจุบันวิทยาการเจริญก้าวหน้าได้พิสูจน์ยืนยันว่าเลือดและเนื้อของสัตว์ที่ ถูกฆ่าตายเต็มไปด้วยพิษภัยมากมาย
 ดังนั้นการกินเจจึงไม่ใช่เพื่อให้ เกิดผลดีต่อจิตใจเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงการมีสุขภาพพลานามัยที่ดีอีกด้วย ร่างกายและจิตใจเป็นของคู่กัน มีความสัมพันธ์ส่งผลถึงกัน คนเราย่อมไม่อาจจะรู้สึกเบิกบานสดชื่นร่าเริงได้ในขณะที่ร่างกายเจ็บป่วย ทรุดโทรมย่ำแย่
  การปฏิบัติตนในช่วงกินเจ
 ในช่วงเทศกาลกินเจ 9 วัน 9 คืน ผู้ที่ต้องการกินเจอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ตามประเพณีการกินเจ จะต้องปฏิบัติดังนี้
 1.งดเว้นเนื้อสัตว์หรือทำอันตรายต่อสัตว์
 2.งดนม และน้ำมันที่มาจากสัตว์
 3.งดอาหารรสจัด ซึ่งหมายถึงอาหารเผ็ด หวานมาก เปรี้ยวมาก เค็มมาก
 4.งดผักหรือเครื่องเทศที่มีกลิ่นแรง เช่น กระเทียม  หัวหอม  ต้นหอม  กุยช่าย   รวมทั้งใบยาสูบ  สิ่งเสพติดและของมึนเมาต่างๆ
 5.รักษาศีลห้า
 6.รักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ รักษาอารมณ์
 7.ทำบุญทำทาน
 8.นุ่งขาวห่มขาว
 สำหรับ ผู้ที่เคร่งครัดเพื่อการกินเจให้เป็นไปอย่างบริสุทธ์โดยแท้ จะเพิ่มการปฏิบัติโดยการกินอาหารเฉพาะที่คนกินเจด้วยกันเป็นผู้ปรุงเท่านั้น รวมถึงจะล้างหม้อไหจนสะอาดเอี่ยม แยกภาชนะสำหรับการปรุงอาหารเจไว้โดยเฉพาะ
 นอกจากนี้ยังจุดตะเกียง  ไว้ 9 ดวงตลอดช่วงเทศกาลกินเจ 9 วัน โดยไม่ปล่อยให้ดับ เพื่อเป็นพุทธบูชาและรำลึกถึงบุญคุณของพ่อแม่ญาติพี่น้อง ตลอดจนผู้ที่มีบุญคุณต่อผืนแผ่นดินเกิด 7 วันอันควรงดเว้นจากการกินเนื้อสัตว์ แม้ว่าจะมีผู้คนจำนวนมากที่ยังคงเข่นฆ่ากินเลือดกินเนื้อสัตว์ทุกวัน แต่อย่างน้อยที่สุดควรหยุดคิดสักนิดให้เห็นถึงความสำคัญของวันทั้ง 7 ที่ควรงดเว้นเนื้อสัตว์ เพื่อเป็นมงคลชีวิตสู่ความสำเร็จของตนเองและครอบครัว ถือเป็นมหากุศลและเมตตาธรรมสูงสุด
.......
    * เปลว สีเงิน

8 ตุลาคม 2553