ผู้เขียน หัวข้อ: ประพาสต้นบนดอย (สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 2592 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ถนนที่ เริ่มคดเคี้ยวบอกใบ้ว่าเรากำลังไต่ระดับขึ้นสู่เขตพื้นที่สูง จุดหมายปลายทางของฉันอยู่ที่สถานีเกษตรของมูลนิธิโครงการหลวงซึ่งตั้งอยู่ ทางเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ และห่างจากชายแดนพม่าเพียงไม่กี่กิโลเมตร ก่อนหน้านี้ชื่อโครงการหลวงที่ฉันคุ้นเคยตามผลิตภัณฑ์ต่างๆที่หาซื้อได้ใน กรุงเทพ ทำให้คิดเสมอว่าแต่ละบาทแต่ละสตางค์ของเราได้ช่วยกระจายรายได้สู่เกษตรกรบน พื้นที่สูง แต่เมื่อการเดินทางจบลง ความรู้ใหม่ที่ได้รับคือ เราไม่ได้ช่วยเหลือพวกเขาแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น  พวก เขายังช่วยให้คนเมืองกรุงอย่างฉันมี “ตัวเลือก” มากขึ้นในการบริโภคพืชผักผลไม้ทั้งเมืองหนาวและเมืองร้อน (ยังไม่รวมผลิตภัณฑ์แปรรูปอีกสารพัดชนิด) ที่สะอาดและปลอดภัยจากเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรและยาฆ่าแมลง   

“ผมขึ้นมาครั้งแรกเดือนเมษายนปี 2517 พื้นที่แถบนี้เป็นภูเขาหัวโล้นทั้งหมด ชาวบ้านแผ้วถางป่า ทำไร่ แล้วก็เผา” จำรัส อินทร เจ้าหน้าที่รุ่นแรกของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เท้าความหลังถึงสถานีเกษตรหลวงแห่งแรกในความทรงจำ “พวกเขาเผาทำไร่ฝิ่นครับ”           

ใน ยุคนั้น ฝิ่นและข้าวไร่ถือเป็นพืชพื้นฐานสองชนิดที่ชาวเขานิยมปลูกบนพื้นที่สูงของ ไทย ข้าวไร่นั้นปลูกสำหรับบริโภคในครัวเรือน ส่วนฝิ่นนอกจากใช้แทนยาบรรเทาความเจ็บป่วยสารพัดแล้ว ยังเป็นแหล่งรายได้สำคัญอีกด้วย

 “พระ เจ้าอยู่หัวท่านทรงสนพระทัยชีวิตของราษฎร เวลาเสด็จฯไปเชียงใหม่ ท่านทรงทราบว่าบนดอยมีชาวเขา แต่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่กันอย่างไร นอกจากเรื่องปลูกฝิ่นแล้ว ไม่มีใครรู้เรื่องราวเหล่านี้เลย ท่านเสด็จฯโดยเฮลิคอปเตอร์แล้วทรงพระดำเนินต่อไป จึงทรงทราบว่าชาวเขาทำลายต้นน้ำลำธารเพื่อปลูกฝิ่น แต่ว่าไม่ร่ำรวยอย่างที่คนเขาคิดกันหรอก สามเหลี่ยมทองคำนี่ พระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งว่าไม่ใช่ทองคำหรอก แต่เป็นสามเหลี่ยมยากจน  คนปลูกฝิ่นไม่ได้เงินเท่าไหร่     คนเอาฝิ่นไปขายต่างหากถึงรวย” หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ทรงเล่าถึงที่มาของโครงการหลวง

ในปี พ.ศ. 2512 พระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “โครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา” ขึ้นเพื่อทดลองและส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวทดแทนฝิ่น ซึ่งนำไปสู่การแก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำอย่างเป็นระบบ ภายหลังโครงการนี้ได้พัฒนาต่อมาจนกลายเป็น “โครงการหลวง” ซึ่งเป็นรู้จักอย่างกว้างขวางในทุกวันนี้           

 

เมื่อแสงแรกทาบทาพ้นแนวทิวเขาขึ้นมา ชาวเขาในชุดประจำเผ่าเทินตระกร้าสานสะพายบนหลังด้วยท่วงท่าทะมัดทะแมง บ้างเดิน บ้างขี่มอเตอร์ไซค์  มุ่งหน้าสู่เรือกสวนไร่นา ที่แปลกตาไปหน่อยเห็นจะเป็นชุดประจำเผ่าที่ใส่คู่กับรองเท้าบูตยาง

หลาย ชั่วอายุคนมาแล้ว ชาวเขาเดินเท้าเปล่าหรือไม่ก็ลากรองเท้าแตะขึ้นดอยจนกลายเป็นความเคยชิน รองเท้า บูตยางจึงเป็น “ของแปลกใหม่” ที่พวกเขาต้องใช้เวลาทำความรู้จักและรับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำ วัน ฉันใดก็ฉันนั้น การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตดั้งเดิมที่สืบทอดกันมายาวนานอย่างการปลูกฝิ่นจึง เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยทั้งเวลา ความเข้าใจ และความอดทน

“เรา เข้าไปทำงานนี่ เราไปบอกว่าเราจะช่วยเขา มันเหมือนเขาลำบากอยู่ แต่จริงๆแล้ววิถีชีวิตเขาเป็นแบบนั้นเอง” สมชาย เขียวแดง ผู้อำนวยการสถานีเกษตรหลวงอ่างขางและศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอินทนนท์ เล่าถึงหลักการในการส่งเสริมพืชเมืองหนาวเพื่อทดแทนฝิ่น “เราเริ่มจากการทำงานสาธิตในศูนย์ ปลูกผัก ปลูกไม้ผล บ๊วย พีช พลับ เพื่อเรียนรู้ด้วยตัวเองก่อนว่าปลูกได้ไหม แล้วก็เป็นตัวอย่างให้แก่ชาวบ้าน นอกจากนั้นเราก็ไปเยี่ยม ศึกษาชาวบ้าน เรียนรู้ทัศนคติของเขา” สมชายเล่า “ช่วงแรกเราไปศึกษาปฏิทินการเกษตรของเขา ใช้เวลาปีนึง ระหว่างนี้เขาก็เดินผ่านแปลงสาธิตของเรา ก็นึกอยากลองปลูก อีกส่วนหนึ่งผมทำงานกับยุวเกษตรกร ปลูกกระเทียม ผักกาดหอมห่อต้นในสถานี พอเด็กได้เงิน ชาวบ้านก็ได้เงิน” กว่าจะจูงใจชาวบ้านให้มาปลูกไม้ผลและผักเมืองหนาวนั้นใช้เวลานานหลายปี แต่ในที่สุดบนดอยอ่างขางก็มีทั้งแปลงเกษตรของเจ้าหน้าที่และของชาวเขา

ดอย อ่างขางมีรูปร่างเหมือนอ่างสมชื่อ บริเวณ “ก้นอ่าง” เป็นป่าปลูกและที่ตั้งสถานีเกษตร และเมื่อฉันเดินขึ้นไปถึง “ขอบอ่าง” ด้านที่ติดกับชายแดนพม่า เป็นที่ตั้งของโรงเรียนเล็กๆแห่งหนึ่ง ชื่อว่าโรงเรียนบ้านขอบด้ง ครูเรียม สิงห์ทร  ครูคน แรกของโรงเรียนเล่าว่า เมื่อครั้งที่ในหลวงเสด็จฯเยี่ยมโรงเรียน พระองค์ตรัสเพียงสั้นๆว่า “ฝากเด็กๆด้วยนะครู” เด็กๆลูกศิษย์ของครูเรียมก็คือลูกหลานชาวเขาเผ่ามูเซอดำและปะหล่องที่อาศัย อยู่รอบสถานีเกษตรหลวงนั่นเอง

ห่างจากโรงเรียนบ้านขอบด้งมาเพียง 3-4 กิโลเมตร วีระเทพ เกษตรกรชาวเขารุ่นใหม่วัย 24 ปี ผู้ปลูกปวยเล้งและเบบี้สลัด เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนบ้านขอบด้งและไปเรียนต่อจนจบปวส.ด้านการเกษตรมาจาก เชียงราย วันนี้เขาเลือกกลับมาทำเกษตรอย่างพ่อแม่ที่บ้านเกิด  แม้ จะต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปบ้างอย่างการซื้อข้าวกิน (แต่เดิมปลูก) แต่แปลงผักของเขาก็ทำให้ครอบครัวมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ฐานะมั่นคง และมีอาชีพสุจริต วีระเทพอธิบายขั้นตอนและระบบการจัดการ ไล่เรียงมาตั้งแต่โรงเรือนที่ใช้กันฝน ไปจนถึงการคัดเกรดและส่งผัก อย่างละเอียดและคล่องแคล่ว

บ่าย วันเดียวกัน ฉันเดินชมนิทรรศการอยู่ในพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงแห่งที่หนึ่ง ณ ตีนดอยอ่างขาง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นที่ตั้งของโรงงานแปรรูปผลผลิตแห่งแรกของโครงการหลวง นอกจากจะให้อาชีพแก่ชาวบ้านตีนดอยแล้ว ว่ากันว่าโรงงานแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ตรงนี้เพื่อ “ขวาง” เส้นทางลำเลียงยาเสพติดในอดีตอีกด้วย

ใน ห้องสุดท้ายของนิทรรศการ กระดาษสีขาวผืนใหญ่บนผนังมีภาพวาดนกสองตัวเคียงกัน ฉากหลังเป็นเทือกเขาใหญ่ คำกลอนที่เขียนด้วยอักษรจีนบนภาพแปลความได้ว่า “นกจำนวนร้อยๆตัวส่งเสียงต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ จิ้งหรีดร้อยๆตัวส่งเสียงต้อนรับฤดูฝน” ภาพวาดชิ้นนั้นเป็นผลงานของหยางกงกง ศิลปินชาวจีน อดีตทหารจีนคณะชาติของเจียงไคเช็คที่อพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในประเทศไทย เมื่อกว่าห้าสิบปีก่อน เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์อธิบายว่า นกคู่ของหยางกงกงคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ซึ่งชาวบ้านเทิดทูนให้อยู่คู่กับพื้นที่สูง    ส่วนชาวบ้านเองคือจิ้งหรีดซึ่งแสดงความยินดีเมื่อความอุดมสมบูรณ์มาเยือน

 

หลังจากรถยนต์พาเราผ่านด่านตรวจของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์มาแล้ว ไม่นานนัก โรงเรือนผนังพลาสติกสีขาวก็เริ่มปรากฏให้เห็นตลอดสองข้างทาง
                ปัจจุบัน โครงการหลวงย่างเข้าสู่ทศวรรษที่สี่ นับตั้งแต่วันแรกที่ต้นบ๊วยต้นแรกบนดอกอ่างขางหยั่งราก ทุกวันนี้มูลนิธิโครงการหลวงมีสถานีเกษตรและศูนย์พัฒนาโครงการหลวงนับสิบ แห่งกระจายอยู่ทั่วภาคเหนือ  “ที่นี่เราปรับปรุงพันธุ์  ทำลูกผสม เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและลดขั้นตอน แทนการสั่งซื้อจากเมืองนอกที่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์” พรพิมล   ไชย มาลา นักวิชาการซึ่งรับผิดชอบงานเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สถานีเกษตรหลวงดอยอินทนนท์ เล่าถึงงานวิจัยปรับปรุงพันธุ์ดอกไม้ “ถ้าสั่งซื้อเขาตลอด ต่อให้เขาบอกหัวละร้อย เราก็ต้องเอา ไม่มีทางเลือกอื่น”
                จาก ห้องทดลองของพรพิมลลึกเข้าไปในขุนเขาประมาณสิบห้ากิโลเมตร เป็นที่ตั้งของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง ช่อ แซ่ลี เกษตรกรชาวม้งอายุ 34 ปี กำลังถอนวัชพืชจากแปลงเบญจมาศของเขา “ทำมาสิบปีแล้วแต่เพิ่งมาเป็นของตัวเองได้ห้าปี ตอนแรกผมเช่าโรงเรือนอยู่ในสถานีครับ” ช่อเล่า เขาอยู่ในครอบครัวซึ่งเคยปลูกฝิ่น และต่อมาได้เป็นเกษตรกรในโครงการ  ภาย หลังเมื่อเริ่มมีทุนรอนและปลูกดอกไม้เป็นแล้ว ก็กู้เงินจากธกส.มาทำโรงเรือน โดยได้รับความช่วยเหลือเรื่องการติดต่อธนาคารจากเจ้าหน้าที่โครงการ

โครงการ หลวงไม่เพียงรับซื้อผลผลิตในราคาสูง แต่ยังมีมาตรฐานในการคัดเลือกคุณภาพผลผลิต อย่างเข้มงวดที่โรงคัดคุณภาพและบรรจุหีบห่อในสถานีขุนวาง  พนักงาน กำลังบรรจุดอกเบญมาศหลากสีในห่อพลาสติกพร้อมสติ๊กเกอร์ระบุวันเดือนปีที่ ผลิต สติ๊กเกอร์เหล่านี้เป็นเสมือนหมายเลขประจำตัวของผลิตภัณฑ์ ซึ่งตัวเลขหลายหลักนั้นสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปถึงเกษตรกรผู้ปลูกได้ทันที

 

นับแต่วันแรกที่ มีการทดลองปลูกพืชทดแทนฝิ่น องค์ความรู้ที่สั่งสมจากการลองผิดลองถูกและการแก้ปัญหาสารพัดบนพื้นที่สูง ตลอดกว่าสี่ทศวรรษที่ผ่านมา ไม่เพียงเป็นแบบอย่างให้กับพื้นที่อื่นๆในประเทศ หากยังข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงต่างประเทศด้วย “เดิมอัฟกานิสถานเป็นแหล่งปลูกผลไม้ส่งยุโรป แอปริคอตเขาอร่อยมาก” สุทัศน์ ปลื้มปัญญา ผู้อำนวยการสถาบันและวิจัยพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เล่าถึงการเดินทางสู่ดินแดนที่อากาศเย็นและมีทรัพยากรสมบูรณ์พร้อมสำหรับ ปลูกผลไม้เมืองหนาว แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นประเทศที่ปลูกฝิ่นมากที่สุดในโลก “เขาเห็นเราประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาฝิ่นได้โดยไม่ต้องสู้รบปรบมืออะไร กัน จึงอยากได้คำแนะนำ”               

ในปี พ.ศ. 2549 หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง และคณะผู้เชี่ยวชาญของโครงการหลวง   จึงเดินทางสู่อัฟกานิสถานเป็นครั้งแรก เพื่อร่วมวางโครงการนำร่องพัฒนาระบบธุรกิจและการตลาดของพืชผักผลไม้เมืองหนาว

การจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวและธุรกิจการเกษตร เช่น การคัดคุณภาพ การบรรจุหีบห่อ  ไป จนถึงระบบการขนส่ง ล้วนเป็นองค์ความรู้ที่โครงการหลวงได้หยิบยื่นแลกเปลี่ยนในฐานะที่ปรึกษา นอกจากนี้ยังได้ช่วยฝึกอบรมเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและปศุสัตว์ของ อัฟกานิสถาน โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การพัฒนาคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้ขายได้ราคาสูง เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรเลิกปลูกฝิ่นและหันกลับมาปลูกพืชผักผลไม้อื่นๆแทน     
                นอก จากอัฟกานิสถานแล้ว ภูฏาน โคลัมเบีย และลาว เป็นอีกสามประเทศที่ได้รับหรือแลกเปลี่ยนความรู้กับโครงการหลวง ที่ผ่านมาพืชผลเมืองหนาวช่วยแก้ปัญหาความยากจนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของ เกษตรกรในภูฏานและโคลัมเบีย  และเป็นความหวังว่าจะบรรเทาปัญหาการปลูกฝิ่นในลาว

“ใน อนาคตเราจะทำไปเรื่อยๆ แต่คิดว่าคงไม่ขยายจนใหญ่โต เพราะมีสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาเพื่อทำอย่างเราในที่อื่นแล้ว” หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ทรงเล่าถึงแผนการในอนาคตของโครงการหลวง โดยการสร้างบุคลากรและถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังหน่วยงานของรัฐบาลซึ่งตั้ง ขึ้นมาเพื่อขยายผลของโครงการ ไปยังพื้นที่สูงอื่นๆ ในประเทศไทย

กุมภาพันธ์ 2554