ผู้เขียน หัวข้อ: บ้านใหม่ใต้ท้องทะเล(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 2166 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
เพียงสองนาทีเศษๆ เรือตรวจจับขีปนาวุธ เจเนอรัลฮอยต์ เอส. แวนเดนเบิร์ก ก็จมลงสู่ก้นมหาสมุทร เช้าอันแจ่มใสวันหนึ่งของเดือนพฤษภาคม ปี 2009 ในน่านน้ำห่างจากชายฝั่งเมืองคีย์เวสต์ รัฐฟลอริดา ไป 11 กิโลเมตร เสียงระเบิดดังขึ้นอย่างต่อเนื่องจากภายในตัวเรือที่มีการฝังระเบิดไว้ 46 ลูกใต้เส้นแนวน้ำ กลิ่นฉุนของดินปืนโชยมาตามลม และกลุ่มควันสีดำทะมึนเริ่มลอยสูงขึ้น แต่กว่าที่แรงระเบิดจะสร้างความสะทกสะท้านแก่เรือลำนี้ก็กินเวลานานทีเดียว เรือปลดประจำการสนิมเขรอะความยาว 159 เมตร พร้อมจานเรดาร์ที่ใช้การไม่ได้สองจาน ยังคงลอยลำนิ่งราวกับไม่รู้ร้อนรู้หนาว

และ แล้ว ขณะที่เฮลิคอปเตอร์บินวนรายงานข่าวอยู่ด้านบน และท่ามกลางสายตาของสักขีพยานอีกนับพันที่จับจ้องจากเรือน้อยใหญ่ที่จอดลอย ลำห่างจากรัศมีการระเบิด เรือ แวนเดนเบิร์ก ก็ค่อยๆจมลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติกโดยลำเรือยังคงทอดตัวขนานกับเส้นขอบฟ้า จนกระทั่งในที่สุดหัวเรือก็ดิ่งลงและท้ายเรือชี้ขึ้นฟ้า เหลือไว้เพียงพรายฟองสีขาวที่ผุดพลุ่งขึ้นมา “ฝูงปลาจะมาอาศัยอยู่ในซากเรือบ่ายวันนี้!” โจ เวเทอร์บี ประกาศ ชายผู้นี้เป็นหัวหอกของอภิมหาโครงการจมเรือ แวนเดนเบิร์ก  ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปจะกลายเป็นปะการังเทียมที่ดึงดูดนักดำน้ำและชาวประมงจากทั่วสารทิศให้มายังคีย์เวสต์

แน่นอนว่าเรือ แวนเดนเบิร์ก ไม่ใช่เรือลำแรกที่ถูกจมเพื่อทำเป็นปะการังเทียม น่านน้ำนอกชายฝั่งหมู่เกาะฟลอริดาคีส์กลายเป็นสุสานของเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ดวน และ บิบบ์ รวมถึงเรือยกพลขึ้นบก สปีเกิลโกรฟ ของกองทัพเรือสหรัฐฯ และบนพื้นทรายก้นสมุทรห่างออกไปราว 30 กิโลเมตรจากเมืองเพนซาโคลา เป็นที่จอดของเรือบรรทุกเครื่องบินทั้งลำที่ชื่อ ยู.เอส.เอส. โอริสเคนี ซึ่งเป็นเรือลำใหญ่ที่สุดในโลกที่ถูกจมลงเพื่อให้เป็นปะการังเทียม

ผู้ คนทั่วโลกรู้กันมานานแล้วว่า ซากเรืออับปางเป็นแหล่งประมงชั้นยอด วัสดุที่นิยมใช้ในการทำปะการังเทียมมักได้แก่ของเหลือทิ้ง ตั้งแต่ตู้เย็นเก่า รถเข็นของในซูเปอร์มาร์เก็ต ไปจนถึงซากรถยนต์ และตู้ขายสินค้าแบบหยอดเหรียญที่เลิกใช้แล้ว พูดง่ายๆก็คืออะไรที่จมน้ำได้ล้วนมีศักยภาพที่จะเป็นปะการังเทียมได้ทั้ง นั้น ไม่ว่าจะเป็นตู้รถไฟใต้ดินปลดประจำการ รถถังโบราณ รถหุ้มเกราะ หรือแท่นขุดเจาะน้ำมัน รวมไปถึงมอดูลรูปร่างคล้ายรวงผึ้งซึ่งออกแบบมาเป็นพิเศษเรียกว่า รีฟบอล (Reef Ball)

ปะการัง เทียมส่วนใหญ่ดึงดูดสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลโดยแบ่งเป็นระยะต่างๆที่ค่อนข้าง คาดเดาได้ ในระยะแรกเมื่อกระแสน้ำปะทะกับโครงสร้างแนวตั้งอย่างเรือ แวนเดนเบิร์ก จะก่อให้เกิดการลอยตัวขึ้นของสารอาหารและแพลงก์ตอนที่เป็นแหล่งอาหารของปลา เล็กปลาน้อยอย่างซาร์ดีนและปลามินนาว ซึ่งจะล่อสัตว์นักล่าอย่างปลาทูน่าครีบน้ำเงินและฉลามเข้ามาอีกทอดหนึ่ง จากนั้นสัตว์ทะเลน้อยใหญ่ที่แสวงหาแหล่งหลบภัยกลางห้วงสมุทรจะพากันอพยพเข้า มา ได้แก่ปลาที่อาศัยในโพรงและรอยแยกอย่างปลากะรัง ปลากะพง ปลากระรอก ปลาไหล และปลาวัว ส่วนนักล่าจอมฉวยโอกาสอย่างปลาแจ็กและปลาสากก็รีบจับจองพื้นที่ในห้วงน้ำไว้ ดักรอเหยื่อที่เผยตัวออกมา และเมื่อเวลาผ่านไป โครงสร้างเหล็กกล้าแปลกปลอมขนาดมหึมาจะปกคลุมไปด้วยสาหร่าย ปะการังทั้งอ่อนและแข็ง เพรียงหัวหอม และฟองน้ำ มองไปทางไหนก็มีแต่สรรพชีวิตที่ก่อกำเนิดขึ้น

นักชีววิทยาบางคนกังวลว่าปะการังเทียมจะดึงดูดปลามาจากปะการังธรรมชาติ  เจมส์ เอช. โคแวน จูเนียร์ อาจารย์ประจำภาควิชาสมุทรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ชายฝั่งที่มหาวิทยาลัย ลุยเซียนาสเตต ให้ความเห็นว่า “หากความสำเร็จตัดสินจากปริมาณปลาที่จับได้มากขึ้นเพียงอย่างเดียว ปะการังเทียมก็ถือว่าได้ผลพอใช้ครับ แต่หากโครงสร้างเหล่านั้นซึ่งมักมีการทิ้งลงในน่านน้ำตื้นเพื่อประโยชน์ใน การทำประมง ดึงปลาจากปะการังธรรมชาติที่อยู่ห่างจากชายฝั่งออกไป นั่นอาจเป็นการซ้ำเติมปัญหาการทำประมงเกินขนาดโดยเฉพาะชนิดพันธุ์ที่อยู่ใน ภาวะวิกฤติอยู่แล้ว”

ปะการัง เทียมบางประเภทเป็นอันตรายต่อการเดินเรือและก่อมลพิษให้มหาสมุทร โดยสิ่งปนเปื้อนจะค่อยๆรั่วไหลออกมาเป็นเวลาหลายปี มลพิษนี้เองเป็นเหตุผลที่งบประมาณเกือบร้อยละ 70 จากทั้งหมด 8.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่ใช้ในการจมเรือ แวนเดนเบิร์ก หมดไปกับการทำความสะอาด ซึ่งรวมถึงการนำแร่ใยหินหรือแอสเบสทอสกว่าสิบตันและสายไฟกว่า 243,000 เมตรออกจากตัวเรือ

ปะการัง เทียมไม่ได้เป็นเพียงสุสานของยางรถยนต์และเรือเท่านั้น หลายบริษัทเริ่มให้บริการแก่ผู้ที่ปรารถนาจะอุทิศร่างกายตนเองเป็นปะการัง เทียม แต่ธุรกิจสุสานปะการังยังเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มขนาดเล็กมาก เช้าวันหนึ่งในฤดูใบไม้ผลิ จิม ฮัตสลาร์ หนึ่งในสามหุ้นส่วนของบริษัทเนปจูนเมโมเรียลรีฟ ชวนผมดำน้ำลงไปชมการบำรุงรักษาสุสานใต้น้ำที่เขาสร้างขึ้นลึกลงไป 12 เมตร ห่างจากชายฝั่งเมืองไมแอมีบีชไป 7 กิโลเมตร ขณะที่ฮัตสลาร์ง่วนกับการใช้มีดขูดสาหร่ายออกจากป้ายหลุมศพ ผมก็แหวกว่ายสำรวจโครงการระยะแรกของสวนอนุสรณ์สถานใต้น้ำที่เมื่อเสร็จ สมบูรณ์จะครอบคลุมพื้นที่ 65,000 ตารางเมตร

สาย น้ำขุ่นมัวช่วยสร้างบรรยากาศขรึมขลังให้การค้นพบโครงสร้างใต้น้ำอันน่าพิศวง นี้ได้เป็นอย่างดี ภาพที่ผมเห็นคือกลุ่มเสาแตกหักพร้อมด้วยเสาบริวารทอดตัวเป็นแนวออกไปทั้งสอง ข้าง และราชสีห์สำริดขนาดยักษ์สองตัวทำหน้าที่ทวารบาลเฝ้าประตูเหล็กอยู่

เดิมทีแนวปะการังเนปจูน (Neptune Reef) ตั้งใจ ให้เป็นงานศิลปะ ทว่าต่อมาธุรกิจบริการด้านหลุมศพได้กลายเป็นช่องทางหารายได้เพื่อสนับสนุน โครงการนี้ และจนถึงปัจจุบันมี “หลุมศพ” อยู่ที่นั่นราว 200 หลุม

ผู้ ที่ทอดร่างลง ณ แนวปะการังเนปจูนจะได้รับการฌาปนกิจ อัฐิของพวกเขาจะถูกนำมาผสมกับปูนซีเมนต์ และถ้าไม่บรรจุไว้ในเสาหิน ก็อาจนำไปหล่อเป็นประติมากรรมรูปดาวทะเล ปะการังสมอง หรือรูปทรงอื่นๆ ผมแหวกว่ายอยู่ท่ามกลางปลาสลิดหินบั้ง ปลาสร้อยนกเขา ปลานกแก้ว และปลาสินสมุทรฝรั่งเศส ขณะทำความเคารพและไว้อาลัยแด่ผู้อุทิศร่างเป็นแหล่งอาศัยของสรรพชีวิตใต้ ทะเล
                ผมดำน้ำผ่านหน้าราชสีห์ยักษ์ตัวหนึ่งซึ่งตั้งตระหง่านอยู่บนแท่นสูงลิ่วกว่า 4.5 เมตร ภาพที่ผมเห็นนั้นพร่าเลือนเป็นช่วงๆเพราะฝูงปลาที่ว่ายผ่านไปมา ราชสีห์ตัวนี้มาอยู่ที่นี่ได้เพียงหกปี แต่ดูราวกับว่ามันเร้นกายจากสายตามนุษย์มาหลายชั่วอายุคน สาหร่ายสีแดงงอกงามอยู่ตามกรงเล็บ ส่วนปะการังก็รุกคืบยึดครองทั่วแผงคอ จนดูประหนึ่งประจักษ์พยานแห่งพลานุภาพของมหาสมุทรที่สามารถกลืนกินวัสดุแทบ ทุกประเภท รวมถึงร่างกายมนุษย์ และเปลี่ยนสรรพสิ่งเหล่านั้นให้กลายเป็นอุทยานแห่งชีวิต

กุมภาพันธ์ 2554