ผู้เขียน หัวข้อ: ชี้โลกไซเบอร์ทำครอบครัวไทยเปลี่ยน เด็กโตเร็วแต่วุฒิภาวะต่ำ  (อ่าน 1497 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด
สมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวและบริษัท รักลูกกรุ๊ป จำกัด จัดเสวนาทางวิชาการ เรื่อง "การเปลี่ยนผ่านของครอบครัวไทย" ณ ห้องประชุมกัลยาณมิตร บริษัทรักลูกกรุ๊ป จำกัด เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา
       
       ทั้งนี้ได้เชิญนักวิชาการด้านครอบครัวและประชากร พร้อมนักการตลาดภาคเอกชน นักสื่อสารมวลชน และหน่วยงานภาคสังคมที่ดูแลครอบครัว ระดมข้อมูล และความคิดเห็น พบว่า ครอบ ครัวไทยยุคใหม่มีขนาดเล็กลงเหลือ 3.5 คนต่อครัวเรือน เด็กเกิดน้อยแต่คนแก่มากขึ้นกลายเป็นสังคมคนสูงวัย เด็กถูกรุมเอาใจทำให้โตเร็วแต่วุฒิภาวะต่ำลง อิทธิพลของโลกออนไลน์ทำให้ครอบครัวสื่อสารและใช้ชีวิตร่วมกันน้อยลง พ่อแม่ลดบทบาทการสั่งสอนโยนหน้าที่ให้ครูและสื่อมวลชน เตรียมวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ในการประชุมวิชาการ "ครอบครัวศึกษาแห่งชาติครั้งที่ 3" ประจำปี 2554 วันที่ 10-11 กุมภาพันธ์นี้ ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ถ.วิภาวดี-รังสิต กทม.
       
       ศาสตราจารย์ ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล นักวิชาการด้านประชากรและสังคม สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความคิดเห็นว่า โครงสร้างประชากรไทยเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อายุเฉลี่ยของคนไทยจาก 40 ปี เป็น 73 ปี เกิดน้อยตายน้อย เป็นภาวะ“อัตราการเจริญพันธุ์ต่ำกว่าระดับทดแทน” ซึ่งจะทำให้โครงสร้างสังคมเปลี่ยนไปสู่สังคมผู้สูงอายุ
       
       ดร.อุทัย ดุลยเกษม อธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ครอบครัวยุคใหม่มีการเปลี่ยนแปลงไปในหลายเรื่อง อาจไม่ได้ประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก เสมอไป เพราะอัตราการหย่าร้างสูง สภาพครอบครัวจึงมีความมั่นคงลดลง ส่วนปัจจัยภายนอก อย่างกระแสสังคมทำให้ครอบครัวหันไปให้ความสำเร็จกับเรื่องชื่อเสียง เงินทอง วัตถุ สิ่งของ มากกว่าการเอาใจใส่คนในครอบครัว พ่อแม่ขาดความเชื่อมั่นในการเลี้ยงดูลูก ต้องพึ่งพาโรงเรียนดีๆ หลักสูตรเสริมทักษะต่างๆ เอาอนาคตลูกไปฝากไว้กับตัวช่วยภายนอก
       
       "เด็กถูกรุมเอาใจจากคนในครอบ ครัว จนมีวุฒิภาวะไม่สมวัย สังคมสมัยใหม่เน้นข่าวสารทำให้พ่อแม่กลับลดบทบาทตนเอง การปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมที่ดีให้ลูกหลาน กลับเป็นสื่อมวลชนมีอิทธิพลมากกว่าครอบครัว"
       
       ดร.อุทัยเสนอว่า ควรนิยามความหมายของ "ครอบครัว" กันใหม่เพราะที่ผ่านมาเน้นไปที่การอธิบายลักษณะองค์ประกอบของครอบครัว ไม่พูดเรื่องสัมพันธภาพ โดยเน้นไปที่บทบาท หน้าที่ สมาชิกครอบครัวต้องช่วยกันผลักดันการทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์อย่างเอาใจใส่
       
       ด้านอาจารย์ศิวพร ปกป้อง รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอมุมมองว่าครอบครัวจะมีสุขภาวะที่ดีต้องหยุดการสร้างทุกข์ ได้แก่ ทุกข์จากอบายมุข ทุกข์จากหนี้สิน รายได้ไม่พอใช้ หยุดความรุนแรง และการนอกใจ และต้องสร้างสุข ได้แก่ การสื่อสารที่ดี มีเวลาร่วมกัน แบ่งปันใส่ใจ และการห่วงใยสุขภาพ
       
       จากข้อมูล พบว่าครอบครัวปัจจุบันการสื่อสารที่ดีแย่ลง การพูดจาไม่ไพเราะ หารือกันในครอบครัวลดลง ผู้นำครอบครัวไม่ฟังและไม่ยอมเข้าใจความเห็นของสมาชิก ผสมโรงดุด่าเมื่อคนในครอบครัวทำผิด ขาดการชื่นชมกันเอง นอกจากนี้ยังพบว่าครอบครัวโดยส่วนใหญ่ที่มีปัญหา คือครอบครัวที่อยู่กันพร้อมหน้า พ่อ แม่ ลูก เพราะอาจเกิดการเกี่ยงหน้าที่กัน ส่วนครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ปัญหาจะมีน้อย อาจมีแค่ปัญหาด้านรายได้เท่านั้น
       
       อาจารย์ศิวพร นำเสนอทางแก้ปัญหาครอบครัว คือการหันมาพูดคุย ปรับความเข้าใจ และควรมีเวลาร่วมกัน
       
       "ปัจจุบันเวลาส่วนใหญ่ของ สมาชิกจะหมดไปกับการสนใจโลกไซเบอร์ ทำอย่างไรให้เรามีเวลาให้โลกไซเบอร์น้อยลง ให้เวลากับคนในครอบครัวมากขึ้น ถือเป็นเรื่องท้าทายของครอบครัวสมัยใหม่"
       
       นายทวีศักดิ์ อุชุคตานนท์ จิตรกร นักคิด ที่ปรึกษาด้านการบริหารการจัดการและกลยุทธ์ กล่าวว่าปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อครอบครัวมี 4 ประการ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงด้านประชากร ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และการผันผวนของค่าเงิน เมื่อแรงทั้งสี่ปะทะกันทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป ครอบครัวก็มีความหลากหลายมากขึ้น ปัญหาคือ เมื่อบริบทสังคมเปลี่ยน แต่นักวิชาการบางคนยังทำงานวิจัยในกรอบของครอบครัวแบบในยุคสังคมเกษตรกรรม สังคมอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมที่หมดยุคไปแล้ว
       
       ครอบครัวยุคใหม่มีความอิสระสูง พร้อมถูกชักจูงทางการตลาดจากข่าวสารและปัจจัยภายนอกได้ง่าย สิ่งสำคัญที่จะช่วยยึดโยงความเป็นครอบครัวให้คงอยู่คือ “อำนาจความใส่ใจ” ควรเพิ่มทักษะการสื่อสารกับคนใกล้ชิด
       
       "ปัญหาในครอบครัวส่วนหนึ่งมา จากการไร้ความสามารถในการสื่อสารกับคนใกล้ชิด เราพูดคุย สื่อสารกับคนในครอบครัวกันน้อยมาก ผู้นำครอบครัวต้องรู้จักบริหารความใส่ใจให้สมดุลกับการบริหารความสำเร็จทาง การงาน ผนึกกำลังกับคู่ชีวิตเพื่อสร้างความสำเร็จร่วมกัน"
       
       นายวงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ กรรมการผู้จัดการบริษัทเดย์ โพเอทส์ จำกัด ให้ความเห็นว่าไลฟ์สไตล์ของคนในยุคนี้ได้รับอิทธิพลจากโซเชียล เน็ตเวิร์ก เด็กรุ่นใหม่โหยหาการติดต่อกับผู้อื่น ต้องการเป็นใครบางคนที่สำคัญ หากถูกปฎิเสธหรือวิจารณ์ในสังคมออนไลน์จะรู้สึกล้มเหลว ซึ่งสะท้อนถึงการขาดความอบอุ่นในครอบครัว เด็กบางคนไม่คุยเรื่องบางเรื่องกับพ่อแม่แต่ไปเปิดเผยในโลกออนไลน์ แนวโน้มสังคมไทยในอนาคต เด็กไทยจะเป็นเด็กอเมริกามากขึ้นเพราะต้องการอิสระ หนุ่มสาวแยกครอบครัวออกไป ผู้ใหญ่ไทยกลับคล้ายญี่ปุ่น คือมีคนแก่ล้นประเทศ ดังนั้น ครอบครัวไทยจึงกำลังเปลี่ยนรูปแบบ
       
       คุณพรรณิภา ปรปักษ์ขาม Managing Director บริษัท P.Approach จำกัด ให้ข้อมูลงานวิจัยการตลาดพบว่าผู้หญิงมีบทบาทในสังคม ทำงานนอกบ้านมากขึ้น มีตำแหน่งการบริหารมากขึ้น ลูก ๆ จะภูมิใจหากแม่ทำงานนอกบ้านมากกว่าเป็นแม่บ้านอยู่บ้าน และในสังคมที่บริโภคข่าวสาร สื่อออนไลน์ชี้ถูกชี้ผิดได้ จะสอนลูกหลานอย่างไรไม่ให้อินกระแสและใช้สื่อออนไลน์อย่างมีความรับผิดชอบ

ผู้จัดการออนไลน์    2 กุมภาพันธ์ 2554