ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 7-12 เม.ย.2557  (อ่าน 942 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9784
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 7-12 เม.ย.2557
« เมื่อ: 26 พฤษภาคม 2014, 10:40:52 »
1. พท.ส่งสัญญาณไม่รับอำนาจศาล รธน. แนะ “ยิ่งลักษณ์” ใช้ ม.7 หากถูกชี้พ้นสภาพ ให้ “ในหลวง” มีพระบรมราชวินิจฉัย จะให้พ้นตำแหน่งหรือไม่!

       ความคืบหน้าหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 เสียง รับคำร้องที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และกลุ่ม ส.ว.รวม 28 คน ขอให้ศาลวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182(7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่ หลังศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ใช้อำนาจโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) โดยไม่ชอบ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 18 เม.ย.
      
       ปรากฏว่า ทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ และแกนนำพรรคเพื่อไทย ต่างออกมาตอบโต้และดิสเครดิตศาลรัฐธรรมนูญเป็นการใหญ่ โดยนายชัยเกษม นิติสิริ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อ้างว่า นายกฯ มีอำนาจย้ายนายถวิล เพราะเป็นการใช้อำนาจหน้าที่บริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา พร้อมประกาศว่า ไม่ว่าจะอย่างไร ครม.ชุดนี้ก็ต้องอยู่รักษาการต่อ แม้จะมีความพยายามชี้มูลความผิด หรือถอดถอนนายกฯ ก็ตาม เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ระบุว่า ครม.พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งจนกว่า ครม.ชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่
      
       ด้านนายพิชิต ชื่นบาน คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ก็อ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 ว่า รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งแล้วเมื่อมีการยุบสภา จึงไม่มีเหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องรับคำร้องมาวินิจฉัยสถานภาพนายกฯ ให้เกิดความซ้ำซ้อนอีก
      
       ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของกลุ่ม ส.ว.ไว้วินิจฉัยสถานภาพของตนกรณีโยกย้ายนายถวิล โดยอ้างเหมือนฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยว่า ตนพ้นสภาพนายกฯ ตั้งแต่ยุบสภาแล้ว ตอนนี้มีหน้าที่แค่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อรอการเลือกตั้งเท่านั้น นี่จึงเป็นกรณีแรกที่ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยกรณีโยกย้ายข้าราชการหลังจากมีการยุบสภาแล้ว “ดิฉันไม่ขออะไรค่ะ ขอเพียงแค่ความยุติธรรมที่เท่าเทียมกับผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคนอื่นๆ ในอดีตที่เคยได้รับ”
      
       ไม่เพียง น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะให้สัมภาษณ์ดิสเครดิตศาลรัฐธรรมนูญ แต่วันต่อมา(9 เม.ย.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กโจมตีศาลรัฐธรรมนูญซ้ำอีก โดยอ้างว่า ไม่มีเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับวินิจฉัยคำร้องของกลุ่ม ส.ว.ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยสถานภาพของตน เพราะตนพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ตั้งแต่หลังยุบสภาแล้ว
      
       ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์พยายามเทียบเคียงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องวินิจฉัยสถานภาพตนหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภา แต่ศาลฯ รับคำร้องวินิจฉัยสถานภาพ น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า กรณีของตนศาลยกคำร้อง เนื่องจากหลังยุบสภา ตนก็พ้นจากสภาพ ส.ส.แล้ว แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังรักษาการตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ จึงเทียบเคียงกันไม่ได้ ดังนั้นหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่อยากให้มีคดีนี้อยู่ในศาล ก็ควรลาออกเสีย ไม่ต้องรักษาการต่อ รับรองศาลจะไม่รับพิจารณาคดีนี้แน่
      
       ขณะที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาตำหนิ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ออกมาดิสเครดิตศาลรัฐธรรมนูญว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องการสร้างความสับสน บิดเบือน และใส่ร้ายศาลรัฐธรรมนูญอย่างน่าละอาย เพื่อให้ตัวเองหลุดพ้นจากความผิด ขอยืนยันว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการรับคำร้อง เพราะแม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ไปแล้ว แต่ยังรักษาการอยู่
      
       ด้านพรรคเพื่อไทยเดินเกมร้องคัดค้านศาลรัฐธรรมนูญต่อ โดยนายสิงห์ทอง บัวชุม สมาชิกพรรคเพื่อไทย บอกว่า วันที่ 17 เม.ย.จะไปยื่นคำร้องคัดค้านกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหากับพวก ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยสถานภาพของนายกฯ กรณีโยกย้ายนายถวิล โดยอ้างว่านายไพบูลย์ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องดังกล่าว ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีอำนาจรับคำร้องไว้
      
       ขณะที่นายชัยเกษม นิติสิริ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ออกมาผุดแผนใหม่ให้รัฐบาลใช้มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเหมือนกับการกลืนน้ำลายตัวเอง เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยพยายามโจมตีว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.ต้องการขอนายกฯ มาตรา 7 โดยนายชัยเกษม บอกว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายกฯ พ้นสภาพและคณะรัฐมนตรีถูกถอดถอนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 รัฐบาลจะต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ต่อไป แต่หากศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าห้ามอยู่ปฏิบัติหน้าที่ ถือว่าเป็นการวินิจฉัยเกินรัฐธรรมนูญ หากรัฐบาลเห็นว่าไม่สามารถทำตามคำวินิจฉัยได้ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ให้รัฐบาลใช้วิธีการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 โดยการทูลเกล้าฯ ให้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย เนื่องจากไม่มีองค์กรใดสามารถชี้ได้ ดังนั้นคงต้องทำตามมาตรา 7 เนื่องจากรัฐบาลมาจากการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง หากรัฐบาลจะต้องพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ก็ต้องมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง
      
       2. ทนาย “ยิ่งลักษณ์” ส่อยื้อคดีจำนำข้าว ยื่นสอบพยานเพิ่มไม่จบไม่สิ้น พร้อมอ้างไม่ได้ความเป็นธรรม ด้าน “วิชา” ยัน ให้ความเป็นธรรมมากกว่าใคร!

       ความคืบหน้ากรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เข้าชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) กรณีถูกแจ้งข้อกล่าวหาละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ ไม่ระงับยับยั้งการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวเมื่อวันที่ 31 มี.ค. พร้อมขอให้ ป.ป.ช.สอบพยานเพิ่ม 11 ปาก แต่ ป.ป.ช.มีมติให้สอบเพิ่มแค่ 3 ปาก ประกอบด้วย นายยรรยง พวงราช รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดย ป.ป.ช.กำหนดให้นายยรรยงเข้าให้การวันที่ 9 เม.ย. ,นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าให้การวันที่ 10 เม.ย. และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าให้การวันที่ 11 เม.ย.
      
       ปรากฏว่า นายกิตติรัตน์ ได้ขอเลื่อนเข้าให้การต่อ ป.ป.ช.จากวันที่ 11 เม.ย.เป็นวันที่ 18 เม.ย. โดยอ้างว่ามีภารกิจต้องไปร่วมประชุมธนาคารโลกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 9-12 เม.ย. ซึ่ง ป.ป.ช.อนุญาตตามที่ขอ ด้านนายยรรยง ได้เข้าให้การต่อ ป.ป.ช.ตามกำหนดวันที่ 9 เม.ย. โดยยืนยันว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้จัดทำนโยบายรับจำนำข้าวอย่างถูกต้องชอบธรรมทั้งทางกฎหมายและขั้นตอนทางการเมือง และนายกฯ ไม่สามารถระงับ ยับยั้ง หรือยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวได้ เนื่องจากเป็นนโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชนและแถลงไว้ต่อรัฐสภา ขณะที่นายนิวัฒน์ธำรง เข้าให้การเมื่อวันที่ 10 เม.ย.โดยยืนยันว่า รัฐบาลได้กวดขันป้องกันและปราบปรามการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวอย่างเต็มที่ และว่า โครงการรับจำนำข้าวไม่ได้สร้างความเสียหายด้านการเงินแก่ประเทศ แต่เป็นการสร้างโอกาสให้ชาวนา
      
       ทั้งนี้ นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง และนายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.ขอให้สอบพยานเพิ่มอีก 4 ปาก คือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ,พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ,พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายพิชัย ชุณหวชิร นายกสภาวิชาชีพบัญชีแห่งประเทศไทย แต่ ป.ป.ช.พิจารณาแล้ว มีมติให้สอบเพิ่มเพียง 1 ราย ซึ่ง ป.ป.ช.เห็นว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องที่อยู่ระหว่างไต่สวน คือ พล.ต.ต.ธวัช จึงมีมติเชิญ พล.ต.ต.ธวัช มาให้ถ้อยคำต่อ ป.ป.ช.ในวันที่ 17 เม.ย.เวลา 13.30น.
      
       ด้านทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่พอใจ จึงได้ยื่นหนังสือให้ ป.ป.ช.ทบทวนการตัดพยานออก 3 รายดังกล่าว เพราะทำให้นายกฯ ไม่ได้รับความเป็นธรรม พร้อมยืนยันว่า พยานทั้ง 3 รายมีข้อมูลยืนยันได้ว่านายกฯ มีคำสั่งให้ตรวจสอบปัญหาการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว พร้อมเรียกร้องให้ ป.ป.ช.ชี้แจงแนวทางการไต่สวนว่าเป็นไปโดยสุจริตหรือไม่ หาก ป.ป.ช.ไม่ชี้แจง จะดำเนินคดี ป.ป.ช.ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เพราะคดีดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ ยังมีเวลาสอบพยานเพิ่ม เพื่อให้ความเป็นธรรมต่อนายกฯ พร้อมกันนี้ ทนายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังได้ยื่นขอเพิ่มพยานอีก 2 ราย คือ นายสมชัย สัจจพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) และนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี
      
       ขณะที่นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.ได้ออกมายืนยันว่า ป.ป.ช.ให้ความเป็นธรรมกับนายกฯ มาก สังเกตได้จาก ป.ป.ช.ได้ผ่อนปรนหลายข้อบังคับในการพิจารณาคดี ทั้งอนุญาตให้นายกฯ ใช้ทนายความส่วนตัวได้ เนื่องจากสถานการณ์ไม่ปกติ ทั้งที่ในระบบการไต่สวน ไม่สามารถใช้ทนายความได้เด็ดขาด และถือว่าผิดกติกาที่ปล่อยให้ทนายความส่วนตัวแสดงความเห็นเกี่ยวกับคดีผ่านสื่อมวลชน ซึ่งในระเบียบการไต่สวนไม่เคยมีการอนุญาตขนาดนี้ พร้อมเตือนไปถึงพรรคการเมืองที่พยายามดิสเครดิตการทำงานของ ป.ป.ช.ว่า ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงเวลาการเลือกตั้ง การให้ความเห็นในทำนองนี้อาจขัดต่อกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ กกต.ต้องดูแลรับผิดชอบ นายวิชา ยังยืนยันด้วยว่า การพิจารณาคดีนี้จะเป็นไปอย่างรอบคอบ พร้อมเชื่อว่า ผลการตัดสินจะไม่เป็นต้นเหตุทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย
      
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พยายามยื่นคำร้องขอถอดถอนนายวิชา ออกจากองค์คณะไต่สวนคดีจำนำข้าวให้ได้ โดยยื่น 3 รอบแล้ว แต่ ป.ป.ช.ได้ยกคำร้องทั้ง 3 รอบ เนื่องจากเหตุผลไม่เพียงพอให้ถอดนายวิชาออกจากองค์คณะไต่สวน ส่งผลให้ทนายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่พอใจ ขู่ฟ้องศาลอาญาเพื่อเอาผิดกรรมการ ป.ป.ช.ข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
      
       3. “สุเทพ” เดินสายพบ ขรก.-ปลัดกระทรวง สุดชื่นมื่น ด้าน ศอ.รส.ไม่พอใจ เรียกปลัดทุกกระทรวงมาเตือน 17 เม.ย.!

       ความคืบหน้าหลังนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) ได้ประชุมแกนนำ กปปส.ทั่วประเทศเมื่อวันที่ 5 เม.ย. ก่อนได้ข้อสรุปว่าจะเคลื่อนไหวใหญ่เพื่อเผด็จศึกในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยสถานภาพของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กรณีโยกย้ายนายถวิลโดยมิชอบ และวันที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในคดีทุจริตจำนำข้าว พร้อมประกาศว่า หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกศาลฯ วินิจฉัยให้พ้นสภาพหรือถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด กปปส.จะทวงคืนอำนาจอธิปไตยมาเป็นของประชาชน แล้วประกาศเป็นรัฏฐาธิปัตย์ จากนั้นจะแต่งตั้งนายกฯ และ ครม.ประชาชน และนำรายชื่อทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐบาลของประชาชน และดำเนินการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และให้สภาประชาชนปฏิรูปประเทศ
      
       ปรากฏว่า หลังนายสุเทพประกาศดังกล่าว ทางรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยรีบออกมาหาช่องเอาผิดนายสุเทพเป็นการใหญ่ อ้างว่า การประกาศเป็นรัฏฐาธิปัตย์เป็นสิ่งผิดกฎหมาย เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง โดยนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ให้ดำเนินคดีนายสุเทพและพวก ขณะที่ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.) ได้สั่งให้ดีเอสไอ อัยการ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำคำพูดของนายสุเทพเรื่องรัฏฐาธิปัตย์ไปประกอบการดำเนินคดีนายสุเทพและแกนนำ กปปส.รวม 58 คน ฐานร่วมกันเป็นกบฏด้วย
      
       ด้านนายสุเทพ ได้นำมวลชนเคลื่อนไปยังกระทรวงต่างๆ หลายกระทรวง หลังเปิดให้ข้าราชการทุกกระทรวงเข้าทำงานได้ตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย. ยกเว้นกระทรวงมหาดไทยและทำเนียบรัฐบาล ทั้งนี้ นายสุเทพเริ่มด้วยการนำมวลชนเคลื่อนไปยังกระทรวงยุติธรรมเมื่อวันที่ 8 เม.ย. เพื่อเรียกร้องให้ข้าราชการออกมาร่วมต่อสู้กับประชาชน และเลิกทำงานรับใช้ระบอบทักษิณ ซึ่งหลังจากเดินทางไปถึง ข้าราชระดับสูงของกระทรวง นำโดยนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้เปิดห้องรับรองเพื่อพูดคุยกับนายสุเทพ
      
       ด้านรัฐบาลและ ศอ.รส.ไม่พอใจการกระทำของปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นอย่างมากที่ต้อนรับพูดคุยกับนายสุเทพ โดยนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รักษาการรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกมาเตือนปลัดกระทรวงและข้าราชการทุกคนไม่ให้ต้อนรับกลุ่ม กปปส.เนื่องจากนายสุเทพเป็นผู้ต้องหาฐานกบฏ พร้อมคาดโทษหากปลัดกระทรวงหรือข้าราชการคนใดใช้เวลาราชการออกมาสนับสนุน กปปส.ถือว่ามีความผิดวินัยร้ายแรง และผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ศอ.รส.ยังได้ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงทุกคนให้มาร่วมประชุมที่ ศอ.รส.ในวันที่ 17 เม.ย.เวลา 14.00น.เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่
      
       ด้านนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้ออกมาชี้แจงว่า การออกมาต้อนรับนายสุเทพ เพราะตนเป็นปลัดกระทรวง จึงต้องลงมากำกับดูแล เนื่องจากเห็นว่ามีคนจำนวนมาก อาจเกิดการเผชิญหน้า จึงให้กลุ่ม กปปส.คัดเลือกตัวแทนเข้าพูดคุย 4-5 คน นายกิตติพงษ์ ยังย้ำด้วยว่า พร้อมรับผิดชอบกับการตัดสินใจดังกล่าว ซึ่งเป็นการตัดสินใจของตนเพียงคนเดียว ไม่เกี่ยวกับผู้บริหารกระทรวงฯ คนอื่น
      
       ขณะที่นายสุเทพได้เดินหน้านำมวลชนเคลื่อนไปยังกระทรวงกลาโหมเมื่อวันที่ 9 เม.ย. พร้อมขอเข้าพบพูดคุยกับ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงฯ ซึ่ง พล.อ.นิพัทธ์ ได้อนุญาตให้เข้าพบ แต่ห้ามสื่อมวลชนเข้าทำข่าว หลังการพูดคุย พล.อ.นิพัทธ์ได้เปิดแถลงร่วมกับนายสุเทพ โดยนายสุเทพ บอกว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 12-15 เม.ย. กปปส.จะงดการเคลื่อนไหว เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้พักผ่อน โดยเป็นไปตามคำขอของ พล.อ.นิพัทธ์ นายสุเทพ ยังชี้แจงเรื่องรัฏฐาธิปัตย์ด้วยว่า เป็นแค่เรื่องสมมุติ ซึ่งเหตุที่พูด เพราะเมื่อถึงวันที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไป อำนาจอธิปไตยก็จะกลับคืนสู่ประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ประชาชนจะกลายเป็นรัฏฐาธิปัตย์ทั้งหมด ไม่ใช่แค่ตนเพียงผู้เดียว ซึ่งตนเป็นเพียงตัวแทนของประชาชนเท่านั้น แต่สถานการณ์นั้นยังไม่เกิดขึ้น
      
       ด้าน พล.อ.นิพัทธ์ กล่าวว่า เชื่อว่าการที่นายสุเทพมาพูดคุย มาด้วยความหวังดีต่อประเทศ และขอบคุณที่นายสุเทพตอบรับว่า กปปส.จะไม่เคลื่อนไหวระหว่างวันที่ 12-15 เม.ย. “วันนี้เป็นครั้งแรกที่ได้เจอกับนายสุเทพ ผมก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่ได้มีสิทธิต่อรอง บรรยากาศพูดคุยวันนี้ก็เป็นไปด้วยดี...หวังว่าบรรยากาศที่สามารถพูดคุยกันได้ จะเป็นบันไดและสะพานในการพูดคุยกันครั้งต่อไป หลังจากสงกรานต์แล้ว เราอาจจะเจอกันอีก...”
      
       ทั้งนี้ นายสุเทพ ได้ปราศรัยบนเวทีที่สวนลุมฯ ในคืนเดียวกัน(9 เม.ย.) ว่า ได้แจ้ง พล.อ.นิพัทธ์ว่า หากมีการชุมนุมใหญ่หลังจาก ป.ป.ช.และศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน แล้วยังแพ้ก็จะยอมมอบตัวแก่ พล.อ.นิพัทธ์ หรือ พล.อ.ประยุทธ์ ทันที “เราจะออกมาอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นครั้งสุดท้าย และต่อสู้กันให้สำเร็จ ไม่ว่าจะใช้เวลาเท่าไร 9 วัน 14 วัน เราจะสู้แบบม้วนเดียวจบ ยกนี้เป็นยกสุดท้าย ผลออกมาแพ้ชนะก็ต้องยอมรับ”
      
       นอกจากกระทรวงกลาโหมแล้ว นายสุเทพยังได้นำมวลชนเคลื่อนไปยังกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 11 เม.ย. โดยได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากข้าราชการกระทรวงฯ ก่อนเข้าประชุมหารือกับ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และบุคลากรทางการแพทย์ในนามประชาคมสาธารณสุข
      
       ด้านพรรคเพื่อไทยยังคงเดินหน้าหาทางเอาผิดนายสุเทพกรณีพูดถึงรัฏฐาธิปัตย์ โดยนอกจากยื่นเรื่องให้ดีเอสไอดำเนินคดีแล้ว เมื่อวันที่ 10 เม.ย. นายสิงห์ทอง บัวชุม สมาชิกพรรคเพื่อไทย ยังได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายสุเทพใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อล้มล้างการปกครองหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยมิชอบหรือไม่
      
      

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9784
    • ดูรายละเอียด
Re: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 7-12 เม.ย.2557
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 26 พฤษภาคม 2014, 10:41:00 »
 4. “โกตี๋” เหิม ให้สัมภาษณ์สื่อเทศใส่ร้ายเบื้องสูง ด้านศาลอนุมัติหมายจับแล้ว ขณะที่เจ้าตัวรีบเผ่น พร้อมโวย รบ.เสร็จนาฆ่าโคถึกฯ!

       เมื่อวันที่ 8 เม.ย.ในเว็บไซต์ยูทูบและเฟซบุ๊ก ได้มีการแชร์วิดีโอคลิปนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ “โกตี๋” แกนนำคนเสื้อแดงปทุมธานี ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวต่างประเทศ VICE NEWS เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย โดยตอนหนึ่งผู้สื่อข่าวได้ถามนายวุฒิพงศ์ ว่า กปปส. สู้เพื่อกำจัดระบอบทักษิณ แล้วคนเสื้อแดงสู้เพื่ออะไร ซึ่งนายวุฒิพงศ์ตอบว่า เรียกร้องให้ กปปส. ยุติการก่อม็อบกลางถนน เรียกร้องให้มีระบอบการเลือกตั้ง...
       
       นายวุฒิพงศ์ กล่าวอีกว่า ตนสู้กับระบอบที่ครอบงำเมืองไทยมาชั่วนาตาปีแล้ว นายสุเทพเป็นแค่ตัวละคร แต่เจ้าของม็อบตัวจริงต่างหากที่ตนสู้ พร้อมกับกล่าวถ้อยคำจาบจ้วงใส่ร้ายป้ายสีสถาบันเบื้องสูงอย่างรุนแรง ซึ่งเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างชัดเจน
       
       ทั้งนี้ ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์คลิปนายวุฒิพงศ์หมิ่นสถาบันกันอย่างกว้างขวาง พร้อมจี้ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีนายวุฒิพงศ์ ส่งผลให้รัฐบาลอยู่เฉยไม่ได้ วันต่อมา(9 เม.ย.) นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ รักษาการเลขาธิการนายกฯ จึงได้ออกมาเผยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ให้ตนทำหนังสือถึง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดกรณีมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอที่มีลักษณะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยเฉพาะกรณีของนายวุฒิพงศ์ที่เป็นผู้เผยแพร่คลิป ขอให้สอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดโดยด่วน
       
       วันเดียวกัน(9 เม.ย.) พล.ต.อ.อดุลย์ ได้รับรายงานจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บก.ปอท.) ว่ามีการเผยแพร่คลิปวิดีโอคำพูดของนายวุฒิพงศ์ทางยูทูบ ซึ่งอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญา มาตรา 112 พล.ต.อ.อดุลย์ จึงได้เรียกประชุมและสั่งการเร่งด่วนให้ บก.ปอท.ประสานกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ปิดกั้นการเข้าถึงคลิปดังกล่าว พร้อมทั้งมอบหมายให้ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร.เป็นหัวหน้าคณะทำงานสืบสวนสอบสวน และให้ พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้ช่วย ผบ.ตร.เร่งพิสูจน์ทราบและจับกุมผู้กระทำผิดโดยด่วน
       
       วันต่อมา(10 เม.ย.) ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.) ได้แถลงความคืบหน้าการดำเนินการกรณีคลิปนายวุฒิพงศ์ว่า ได้เร่งรัดให้ตำรวจดำเนินคดี คาดว่าจะขอศาลออกหมายจับนายวุฒิพงศ์ได้ภายในวันที่ 11 เม.ย. พร้อมเตือนคนที่เผยแพร่หรือส่งต่อคลิปดังกล่าว อาจมีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 เช่นกัน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี นอกจากนี้ยังอาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ด้วย
       
       ด้าน พล.ต.อ.อดุลย์ ยืนยันว่า จะดำเนินการกรณีนายวุฒิพงศ์อย่างเร่งด่วน และว่า ได้พูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกแล้วว่า จะต้องรวบรวมพยานหลักฐานอย่างเร่งด่วนและออกหมายจับกุม ส่วนกรณีนายเอกภพ เหลือรา หรือ “ตั้งอาชีวะ” ผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันเช่นกันนั้น พล.ต.อ.อดุลย์ บอกว่า นายตั้งได้ออกนอกประเทศไปตั้งแต่ต้นแล้ว ขณะนี้กำลังติดตาม โดยมีการประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้ว และมอบหมายให้ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร.เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ
       
       วันเดียวกัน(9 เม.ย.) นายวุฒิพงศ์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนทางโทรศัพท์ โดยอ้างว่า ไม่มีเจตนาหมิ่นสถาบันเบื้องสูงแต่อย่างใด และว่า คลิปดังกล่าวมีการตัดต่อเพื่อหวังทำลายตน จึงอยากให้ทางรัฐบาลและตำรวจไปตรวจสอบคลิปดังกล่าวก่อน นายวุฒิพงศ์ ยังพูดเหมือนทวงบุญคุณและตำหนิรัฐบาลด้วยว่า “ผมต่อสู้เพื่อพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลมาโดยตลอด โดยเฉพาะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่พอทางฝ่าย กปปส.พูดมานิดเดียว ก็จะมาดำเนินคดีกับผม โดยไม่มีการตรวจสอบแต่อย่างใด จึงอยากขอความเป็นธรรมบ้าง ไม่ใช่ว่าเสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล” นายวุฒิพงศ์ ยังยืนยันด้วยว่า ตนไม่ได้หนีไปต่างประเทศ แต่ที่เดินทางไปต่างประเทศ เพราะไปทำธุระ เมื่อเสร็จแล้วก็จะเดินทางกลับ
       
       ทั้งนี้ ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีนายวุฒิพงศ์ฐานหมิ่นสถาบันในหลายพื้นที่ เช่น ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ เข้าแจ้งความต่อตำรวจกองปราบปราม ขณะที่หลวงปู่พุทธะอิสระ นำมวลชนเข้าแจ้งความต่อตำรวจ สภ.คูคต จ.ปทุมธานี ให้ดำเนินคดีนายวุฒิพงศ์ โดยหลวงปู่พุทธะอิสระได้ตั้งรางวัลนำจับนายวุฒิพงศ์ด้วย 5 แสนบาท
       
       ล่าสุด(11 เม.ย.) ตำรวจกองปราบปราม ได้ขอศาลอนุมัติหมายจับนายวุฒิพงศ์ฐานหมิ่นสถาบันเบื้องสูงแล้ว และศาลได้อนุมัติหมายจับแล้วในวันเดียวกัน ด้าน พ.ต.อ.ประสพโชค พร้อมมูล รองผู้บังคับการกองปราบปราม บอกว่า หลังจากนี้จะนำหมายจับไปประสานฝ่ายสืบสวน เพื่อดำเนินการติดตามจับกุมตัวนายวุฒิพงศ์มาดำเนินคดีต่อไป
       
       5. กกต. รับรอง ส.ว.ล็อตแรกแล้ว 58 จังหวัด “คุณหญิงจารุวรรณ” ยังถูกแขวน ด้าน คกก.สรรหา ป.ป.ช. เคาะแล้วเลือก “สุภา”!

       เมื่อวันที่ 8 เม.ย. คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้ประชุมเพื่อลงมติเห็นชอบประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ว.อย่างเป็นทางการให้กับบุคคลที่ได้รับคะแนนสูงสุดและไม่มีเรื่องค้องคัดค้านการเลือกตั้ง หลังประชุม นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต.แถลงว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบประกาศรับรองผลเลือกตั้ง ส.ว.58 จังหวัด ที่ไม่มีเรื่องร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส่วนอีก 19 จังหวัด ยังไม่สามารถประกาศรับรองได้ เนื่องจากมีเรื่องร้องคัดค้านการเลือกตั้งอยู่ ประกอบด้วย 1. กทม. คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา 2.ชัยภูมิ นายบัณฑูรย์ เกียรติก้องชูชัย 3.นครนายก นายมารุต โรจนาปิยาวงศ์ 4.ปทุมธานี นางนิพัทธา อมรรัตนเมธา 5.เพชรบูรณ์ นายพิพัฒน์ชัย ภัครัชตานนท์
       
       6.แพร่ ด.ต.บุหลัน ราษฎร์คำพรรณ์ 7.แม่ฮ่องสอน นายสุรพล สันติโชตินันท์ 8.ระนอง นายศักดา ศรีวิริยะไพบูลย์ 9.ลพบุรี นายประทวน สุทธิอำนวยเดช 10.ลำปาง นายวราวุฒิ หน่อคำ 11.ลำพูน นายตรี ด่านไพบูลย์ 12.ศรีสะเกษ น.ส.ยิลดา อินฉัตร 13.สมุทรปราการ น.ส.วราภรณ์ อัศวเหม 14.สมุทรสาคร นายสุนทร วัฒนาพร 15.สิงห์บุรี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ 16.สุราษฎร์ธานี พล.อ.อ.สุจินต์ แช่มช้อย 17.หนองบัวลำภู นายประพาส นวนสำลี 18.อำนาจเจริญ นางญาณีนาถ เข็มนาค และ 19.อุบลราชธานี นายสมชาย เหล่าสายเชื้อ
       
        นายภุชงค์ บอกด้วยว่า คำร้องที่เข้าสู่การพิจารณาของ กกต.มีทั้งสิ้น 46 คำร้อง เป็นคำร้องที่ร้องถึงตัวผู้ได้รับการเลือกตั้ง 44 คำร้อง ส่วนกรณีคุณหญิงจารุวรรณ ถูกร้องเรียน 4 คำร้อง ทั้งนี้ กกต.จะสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หากไม่แล้วเสร็จ กกต.จะประกาศรับรองผลไปก่อน จากนั้นจะพิจารณาภายในกรอบ 1 ปี ส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งวินิจฉัย โดย กกต.จะประชุมเพื่อพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งต่อไปในวันที่ 29 เม.ย.
       
        ส่วนความคืบหน้าการสรรหาผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. แทนนายใจเด็ด พรไชยา กรรมการ ป.ป.ช.ที่ครบวาระเนื่องจากอายุครบ 70 ปีนั้น เมื่อวันที่ 9 เม.ย. คณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งประกอบด้วย นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา ,นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยะกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด และนายจรูญ อินทจาร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประชุมร่วมกันเป็นครั้งที่ 2 เพื่อพิจารณาสรรหาผู้เหมาะสมเป็นกรรมการ ป.ป.ช.ให้เหลือ 1 คน จากผู้สมัครทั้งหมด 14 คน ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเลือก น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.ด้วยคะแนนเสียง 2 คะแนน โดยเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดว่า ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของคณะกรรมการสรรหาที่มีอยู่ และหลังจากนี้คณะกรรมการสรรหาจะนำชื่อ น.ส.สุภา เสนอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้เปิดประชุมวุฒิสภาและให้สมาชิกวุฒิสภาได้ลงมติให้ความเห็นชอบ ก่อนนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป

ASTVผู้จัดการออนไลน์    13 เมษายน 2557