ผู้เขียน หัวข้อ: ติดเชื้อในรพ.สูญ4พันล./ปีสธ.สั่งลด  (อ่าน 1257 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
ติดเชื้อในรพ.สูญ4พันล./ปีสธ.สั่งลด
« เมื่อ: 06 กรกฎาคม 2011, 23:27:30 »
สธ.สั่ง รพ.ทั่วประเทศประเมินผลจำนวนผู้ติดเชื้อ เสียชีวิต และค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปปีละกว่า 4 พันล้านบาท จากสาเหตุการติดเชื้อใน รพ. กลับมาพิจารณาใน 1 เดือน เพื่อวางแผนป้องกันและแก้ไข ตั้งเป้าทั่วประเทศลดการติดเชื้อแค่ 1% แม้ทำได้ยาก
 นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงสถานการณ์และการป้องกัน ควบคุมการติดเชื้อใน รพ. ว่า จากการประชุมหารือร่วมกับคณะกรรมการป้องกันควบคุมการติดเชื้อใน รพ. พบว่าจากการติดตามสถานการณ์ในช่วงระยะ 8 ปีที่ผ่านมา พบการติดเชื้อใน รพ.ทั่วประเทศคิดเป็นร้อยละ 5 ขณะที่ทั่วโลกก็พบการติดเชื้อใน รพ. คิดเป็นร้อยละ 5  เช่นกัน โดยเฉพาะในห้องผ่าตัด แม้เชื้อที่พบใน รพ.ส่วนมากจะเป็นเชื้อที่ไม่อันตราย แต่มีผลกับผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ
 ปลัด สธ. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ตนได้สั่งการให้คณะกรรมการป้องกันควบคุมการติดเชื้อใน รพ. ที่เป็นศูนย์กลางในการติดตามปัญหาดังกล่าวอยู่แล้ว รวบรวมสถิติการติดเชื้อใน รพ.ในปัจจุบันคิดเป็นร้อยละเท่าใด มีเสียชีวิตจำนวนกี่ราย  และค่าใช้จ่ายเรื่องการใช้ยาต้านจุลชีพในกรณีดังกล่าวคิดเป็นเท่าไหร่ ภายในระยะเวลา 1 เดือน ก่อนจะนำกลับมาประมวลผลและพิจารณาหาแนวทางป้องกันที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากที่สุด
 นพ.ไพจิตร์กล่าวต่อว่า สมมติถ้าผู้ป่วยในทั่วประเทศ 10 ล้านคน มีการติดเชื้อร้อยละ 5 เท่ากับผู้ป่วยติดเชื้อเป็นจำนวน 5 แสนรายต่อปี และใน 5 แสนราย อาจมีผู้เสียชีวิตถึงร้อยละ 10 ดังนั้นประเด็นคือว่า เมื่อทำไปแล้วต้องมาทบทวนหาดูว่า 1.ข้อมูลที่ผ่านมาข้อเท็จจริงมีผู้ติดเชื้อใน รพ.จริงๆ คิดเป็นร้อยละเท่าใด ป่วยกี่ราย ติดเชื้อใน รพ.เสียชีวิตกี่ราย เสียค่าใช้จ่ายเรื่องการใช้ยาต้านจุลชีพประมาณการปีละ 4 พันล้าน ข้อเท็จจริงเท่าไหร่กันแน่ นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามมาด้วยหากว่าผู้ป่วยนอนใน รพ.เป็นเวลานาน ซึ่งโดยมาตรฐานแล้ว รพ.ศูนย์ไม่เกิน 5 วัน รพ.ทั่วไปไม่เกิน 3 วัน รพ.ชุมชนไม่ควรเกิน 2 วัน เพราะฉะนั้นถ้าใครนอน รพ.เฉลี่ยเกิน 5 วัน แสดงว่ามีปัญหาเชิงประสิทธิภาพ การติดเชื้อ การรักษา นี่เป็นวิธีประเมินคร่าวๆ เสร็จแล้วก็จะบอกว่าถ้านอน รพ.มาก ค่าใช้จ่ายก็จะสูง
 "วิธีการป้องกันที่ง่ายๆ คือ เวลาที่ญาติมาเยี่ยมผู้ป่วย โดยเฉพาะที่ห้องผ่าตัดควรล้างมือให้สะอาด สวมถุงมือ และใช้ผ้าปิดจมูกเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรคสู่ผู้ป่วย อีกทั้งในส่วนของ รพ.จะต้องหมั่นทำความสะอาดพื้น เตียงผู้ป่วย  และอุปกรณ์ต่างๆ โดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ โดยส่วนตนแล้วไม่อยากให้มีการติดเชื้อใน รพ.เลย ซึ่งความจริงแล้วมีความเป็นไปได้ยากมาก จึงตั้งความหวังว่าจะมีการติดเชื้อใน รพ.เพียง 1% แต่ก็ยังถือว่ามีความเป็นไปได้ยากอีกเช่นกัน".

ไทยโพสต์ 6 กรกฎาคม 2554