แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - patchanok3166

หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 19
61
ปลัด สธ.สั่ง รพ. 4 เส้นทางหลักเดินทางช่วงปีใหม่ เตรียมพร้อมรับมืออุบัติเหตุตลอด 24 ชั่วโมง ร่วม ศปถ.จังหวัดเน้น 144 อำเภอเสี่ยง กำชับมาตรฐานรถพยาบาลฉุกเฉินส่งต่อผู้ป่วย คนขับต้องเพียงพอต่อระยะทาง


วันนี้ (26 ธ.ค.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางลงพื้นที่ไปตรวจติดตามความพร้อมของโรงพยาบาลเพื่อรับมือสถานการณ์ด้านสุขภาพช่วงปีใหม่ 2562 ว่า ตนได้สั่งการให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลใน 4 เส้นทางหลักของการเดินทาง คือ นครปฐม สระบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง นครราชสีมา และชลบุรี ให้เตรียมความพร้อมรับอุบัติเหตุตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน ที่มีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) เป็นผู้บัญชาการ บูรณาการร่วมกับศูนย์ความปลอดภัยทางถนนจังหวัด (ศปถ.) เน้นอำเภอเสี่ยง 144 อำเภอ ใน 60 จังหวัด สำหรับเรื่องการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล ได้เน้นย้ำว่า ต้องมีจำนวนคนขับตามระยะทาง ผ่านการอบรม ตรวจแอลกอฮอล์ก่อนปฏิบัติงาน และหากต้องมีการทำหัตถการระหว่างทางจะต้องมีการหยุดรถก่อน


นพ.สุขุม กล่าวว่า สำหรับนโยบายการปรับพฤติกรรมคนเมาแล้วขับโดยให้ รพ.ศูนย์เป็นผู้ดำเนินการนั้นที่ผ่านมา เพื่อต้องการให้ได้ไปดู ไปเห็นว่าคนที่เขาได้รับความเสียหายจากการเมาแล้วขับนั้นมีความทุกข์ยากขนาดไหน บางคนต้องพิการ บางครอบครัวต้องสูญเสียคนที่รัก ยอมรับว่าการปรับพฤติกรรมคนนั้นเป็นเรื่องยาก แต่อย่างน้อยก็ได้เห็นว่าการเมาแล้วขับเกิดผลกระทบอะไรบ้าง เห็นแล้วจะได้มีความยับยั้งชั่งใจ


เผยแพร่: 26 ธ.ค. 2561    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

62
คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบเพิ่ม 2 โรคใหม่ต้องเฝ้าระวัง "โรคติดเชื้อใน รพ. - พยาธิใบไม้ตับ" เหตุเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญ ต้องรู้ข้อมูลวางแผนแก้ปัญหา รายงานทุกสัปดาห์ พร้อมถอด 4 โรคเดิมออก ทั้งโรคบิดจากเชื้อชิเกลลา เหตุซ้ำซ้อนอุจจาระร่วง โลนที่อวัยวะเพศ หูดข้าวสุก และพยาธิทริโคโมแนส


วันนี้ (26 ธ.ค.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง พ.ศ. 2559 มีจำนวนทั้งสิ้น 57 โรค ซึ่งปกติสำนักระบาดวิทยาจะมีการทบทวนปรับปรุงรายชื่อโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังทุก 2-3 ปี ในปีนี้จึงได้มีการเสนอทบทวนรายชื่อโรค เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยบางโรคที่มีความสำคัญมากขึ้นก็ต้องเพิ่มเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ส่วนบางโรคที่ไม่ค่อยเป็นปัญหาหรือมีความสำคัญน้อยลงมากก็ต้องนำรายชื่อออก มิเช่นนั้นก็จะกลายเป็นภาระที่ต้องรายงานทุกโรค และไม่รู้ว่าโรคอะไรสำคัญหรือไม่สำคัญ ซึ่งโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังจะมีการรายงานข้อมูลจากทุกโรงพยาบาลเข้ามาทุกสัปดาห์ เพื่อติดตามสถานการณ์และวางแผนรับมือแก้ปัญหา


นพ.โสภณ กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ เห็นชอบการทบทวนรายชื่อโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งครั้งนี้มีทั้งการเพิ่มโรคและตัดบางโรคออก โดยเพิ่มโรคที่ต้องเฝ้าระวัง 2 โรค ได้แก่ 1.โรคติดเชื้อในโรงพยาบาล เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ไปรับบริการที่โรงพยาบาลมากขึ้นเรื่อยๆ และมีการติดเชื้อมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องการการป้องกัน การที่เรารู้สถานการณ์ว่ามีโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลเป็นอย่างไร ก็จะเป็นประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วย และ 2.โรคพยาธิใบไม้ตับ เพราะเป็นสาเหตุของการเป็นมะเร็งท่อน้ำดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสาน การที่เรามีข้อมูลของโรคนี้เข้ามาจากทุกโรงพยาบาล จะเป็นประโยชน์ในการทราบสถานการณ์และวางแผนแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบ


นพ.โสภณ กล่าวว่า ส่วนที่นำออกจากรายชื่อโรคเฝ้าระวัง มี 4 โรค คือ 1.โรคบิด (Dysentery) ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชิเกลลา (Shigella) ซึ่งหากตรวจพบในผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ก็จะได้รับการรายงานโรคอุจจาระร่วงโดยระบุเชื้อ ซึ่งอาศัยผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการทำให้รู้ว่ามีเชื้ออะไรบ้าง จึงไม่ต้องรายงานแยกเป็นโรคบิดต่างหาก ทำให้ลดความซ้ำซ้อนในการรายงานข้อมูล 2.โลนที่อวัยวะเพศ 3.หูดข้าวสุก และ 4.พยาธิทริโคโมแนสของระบบสืบพันธุ์และทางเดินปัสสาวะ เนื่องจากทั้ง 3 โรค เป็นโรคที่พบน้อยลงมากแล้ว ไม่ถือว่าเป็นปัญหาที่สำคัญในทางสาธารณสุข และหาข้อมูลได้จากฐานข้อมูลการรักษาพยาบาล


เมื่อถามถึงเกณฑ์ในการพิจารณาว่าโรคใดควรเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง นพ.โสภณ กล่าวว่า ต้องเป็นโรคที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพชัดเจน เป็นปัญหาทางสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นโรคที่ต้องมีแผนยุทธศาสตร์เฉพาะในการป้องกันและควบคุม อย่างกรณีโรคที่เพิ่มเข้ามาใหม่ทั้งโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล และพยาธิใบไม้ในตับ ต่างก็มียุทธศาสตร์หรือแผนในระดับชาติเพื่อจัดการกับปัญหา ซึ่งการจะแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพจะต้องมีข้อมูลสถานการณ์โรคเข้ามา จึงต้องกำหนดให้เป็นโรคเฝ้าระวังที่ต้องมีการรายงานข้อมูลให้ผู้เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค ซึ่งจะช่วยให้รู้ว่าโรคเกิดขึ้นพื้นที่ไหน ประชากรกลุ่มไหน ระยะเวลาใดมากน้อยเพียงใดและอย่างไร จึงจะสามารถวางแผนกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับให้บรรลุตามเป้าหมายภายในทศวรรษได้ เป็นต้น


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังล่าสุดจึงมีเพียง 55 โรค ประกอบด้วย 1.กามโรคของต่อมและท่อน้้าเหลือง 2.ไข้กาฬหลังแอ่น 3.ไข้ดำแดง 4.ไข้เด็งกีหรือโรคไข้เลือดออก 5.ไข้ปวดข้อยุงลาย 6.ไข้มาลาเรีย 7.ไข้ไม่ทราบสาเหตุ 8.ไข้สมองอักเสบชนิดญี่ปุ่น 9.ไข้สมองอักเสบไม่ระบุเชื้อสาเหตุ 10.ไข้หวัดนก 11.ไข้หวัดใหญ่ 12.ไข้หัด 13.ไข้หัดเยอรมัน 14.ไข้เอนเทอริค 15.ไข้เอนเทอโรไวรัส 16.คอตีบ 17.คางทูม 18.ซิฟิลิส 19.บาดทะยัก 20.โปลิโอ


21.แผลริมอ่อน 22.พยาธิทริคิเนลล่า 23.เมลิออยโดซิส 24.เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากพยาธิ 25.เยื่อหุ้มสมองอักเสบไม่ระบุเชื้อสาเหตุ 26.เริมของอวัยวะสืบพันธุ์และทวารหนัก 27.โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัส ชนิด เอ บี ซี ดี และ อี 28.โรคตาแดงจากไวรัส 29.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 30.โรคติดเชื้อสเตร็ปโตคอคคัสซูอิส 31.โรคเท้าช้าง 32.โรคบรูเซลโลสิส 33.โรคปอดอักเสบ 34.โรคพิษสุนัขบ้า 35.โรคมือเท้าปาก 36.โรคเรื้อน 37.โรคลิซมาเนีย 38.โรคเลปโตสไปโรสิส 39.โรคสครัปไทฟัส 40.โรคสุกใส หรือ อีสุกอีใส


41.โรคอัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกเฉียบพลัน 42.โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน 43.โรคเอดส์ 44.โรคแอนแทรกซ์ 45.วัณโรค 46. ไวรัสตับอักเสบไม่ระบุเชื้อสาเหตุ 47.หนองใน 48.หนองในเทียม 49.หูดอวัยวะเพศและทวารหนัก 50.อหิวาตกโรค 51.อาการภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค 52. อาหารเป็นพิษ 53.ไอกรน 54.โรคติดเชื้อในโรงพยาบาล และ 55.พยาธิใบไม้ตับ



เผยแพร่: 26 ธ.ค. 2561    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

63
สธ. สั่งสอบดื่มเหล้างานเลี้ยงใน รพ.ลำพูน ชี้ ดื่มในสถานที่ราชการ โทษทั้งจำ ทั้งปรับ หากเป็นข้าราชการเอาผิดวินัยด้วย


วันนี้ (24 ธ.ค.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีภาพการนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานเลี้ยงของ รพ.ลำพูน ว่า ตาม พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 กำหนดชัดเจนว่า ห้ามมีการดื่มในสถานที่ราชการ เพราะฉะนั้นจะอ้างว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ไม่ได้ ถ้าดื่มในสถานที่ราชการก็ผิดแน่นอน เรื่องนี้ตนมอบหมายปลัด สธ. ดำเนินการแล้ว


นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. กล่าวว่า จากภาพที่ปรากฏนั้นก็ต้องตรวจสอบเพิ่ม การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ราชการผิดกฎหมาย มีโทษทั้งจำทั้งปรับ ส่วนคนที่ดื่มในสถานที่ราชการหากเป็นข้าราชการก็จะถือว่า ทำผิดวินัยด้วย เพราะไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตนได้กำชับ ผอ.รพ. รวมถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ให้เข้มงวด เรื่องการจัดงานเลี้ยงในสถานที่ราชการต้องไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์





เผยแพร่: 24 ธ.ค. 2561    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

64
สปสช. ร่วมลงนาม 11 หน่วยงานรัฐ หนุนทำ “Big Data” บูรณาการข้อมูลสวัสดิการดูแลประชาชน สร้างความเท่าเทียม วิเคราะห์ ประเมินผล และพัฒนาระบบบัตรทอง ด้านตัวแทนเครือข่ายผู้ป่วยขอบคุณรัฐบาล บัตรทองช่วยให้เข้าถึงการรักษา



นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหนึ่งในหน่วยงานภาครัฐที่ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในการสนับสนุน “การจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อใช้กำหนดและติดตามประเมินผลการจัดสวัสดิการภาครัฐและการนำระบบบริการจัดการข้อมูลแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytic Platform : TPMAP) มาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ร่วมเป็นหน่วยงานหลักดำเนินการ



การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ มีเป้าประสงค์เพื่อบูรณาการข้อมูลสวัสดิการของหน่วยงานภาครัฐที่ร่วมลงนามเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลผู้รับสวัสดิการให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อสนับสนุนภาครัฐในบริหารจัดการด้านสวัสดิการภาครัฐเพื่อประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึงและเหมาะสม สร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ และยังเป็นประโยชน์ในการติดตามและประเมินผล รวมถึงการจัดทำนโยบายต่างๆ ขณะเดียวกัน ยังช่วยสนับสนุนการตรวจสอบการดำเนินโครงการต่างๆ ให้เกิดความโปร่งใส


นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า สปสช. เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นสวัสดิการภาครัฐด้านสุขภาพที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ มีภารกิจสำคัญคือการดำเนินการเพื่อให้ประชาชนกว่า 48 ล้านคนทั่วประเทศ มีหลักประกันสุขภาพรองรับ เข้าถึงบริการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุข ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในช่วงตลอด 16 ปีที่ผ่านมา มีข้อมูลที่เป็นผลจากการดำเนินงานในระบบมากมาย ทั้งข้อมูลการรักษาพยาบาล ข้อมูลสาธารณสุข ข้อมูลด้านสุขภาพ และข้อมูลด้านงบประมาณในระบบสุขภาพ เป็นต้น ที่ผ่านมา คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ก็บริหารกองทุนโดยนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์อยู่แล้ว สำหรับการลงนามครั้งนี้ นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ข้อมูลต่างๆ ที่ได้เหล่านี้จะถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อบริหารประเทศ ขณะเดียวกัน สปสช. สามารถร่วมใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อใช้วิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ วางแผนและจัดสรรงบประมาณบริหารจัดการระบบ การจัดทำสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อดูแลประชาชน นำไปสู่การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


“ด้วยความร่วมมือการสนับสนุนจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data โดยทุกหน่วยงานภาครัฐที่ลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากเป็นการสนับสนุนนรัฐบาลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมแล้ว ยังเป็นโอกาสสู่การพัฒนาศักยภาพของแต่ละองค์กรให้รุดหน้า ทันต่อการกระแสการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและสังคมในปัจจุบัน” เลขาธิการ สปสช. กล่าว


ทั้งนี้ ในการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ สปสช. ได้ร่วมจัดนิทรรศการ “สร้างสุขทุกช่วงวัย สวัสดิการแห่งรัฐ” โดยนายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมผลการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกล่าวทักทายตัวแทนเครือข่ายผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องและผู้ป่วยลูคีเมีย ที่ได้มากล่าวขอบคุณรัฐบาลที่ได้ดำเนินโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้เข้าถึงการรักษา พร้อมกันนี้ ยังได้เยี่ยมชมผลงานผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ผลิตจากถุงน้ำยาล้างไต อาทิ ผ้ากันเปื้อน เสื้อกันฝน เป็นต้น เป็นการสร้างมูลค่าให้กับวัสดุเหลือใช้และช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ป่วย




เผยแพร่: 24 ธ.ค. 2561   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

65
สธ. พร้อมตรวจเลือดวัดแอลกอฮอล์ “เมาแล้วขับ” เกิดอุบัติเหตุทุกราย ตั้งแต่ช่วง 7 วันอันตรายปีใหม่ ถึงตลอดปี 62 ยัน นมเปรี้ยว รางจืด ไม่ช่วยแอลกอฮอล์ลดลง เข้มห้ามขายเหล้าช่วงห้ามขาย เด็กต่ำกว่า 20 ปี สตช. ลุยจับฝ่าฝืนกฎหมาย ห้ามรถบรรทุกวิ่งช่วงปีใหม่ 5 เส้นทาง ลดอุบัติเหตุ เล็งคุมประพฤติคนเมาต้องรักษา


วันนี้ (24 ธ.ค.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าว “สธ. ห่วงใย เที่ยวปีใหม่ปลอดภัย สุขใจทั้งครอบครัว” ว่า ช่วง 7 วันอันตรายปีใหม่ พบผู้บาดเจ็บจากการดื่มและขับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7 ดังนั้น ช่วง 7 วันอันตรายปีใหม่ 2562 ระหว่างวันที่ 27 ธ.ค. 2561 - 2 ม.ค. 2562 สธ. จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการสร้างความปลอดภัยทางถนน โดยร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เจาะเลือดคนขับกรณีอุบัติเหตุมีคนเจ็บตายทุกราย ส่วนความพร้อมบริการการแพทย์ฉุกเฉิน จะใช้ 3 เรื่อง คือ 1. เข้าเหตุเร็ว โดยเปิดคู่สายหมายเลข 1669 เพิ่มเป็น 300 สาย 2. เข้าพื้นที่เกิดเหตุเร็ว ไม่เกิน 10 นาที โดยมีชุดปฏิบัติการทั่วประเทศ และ 3. ส่งทีมแพทย์เร็ว ซึ่งมีการเตรียมพร้อมทั้งสถานพยาบาล อุปกรณ์การแพทย์ เลือด ไว้รองรับตลอด 24 ชั่วโมง


“ย้ำว่า เมื่อเกิดวิกฤตฉุกเฉินอันตรายถึงแก่ชีวิตสามารถเข้าได้รักษาได้ทุก รพ. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใน 72 ชั่วโมงแรก ทั้งนี้ เราจะดำเนินมาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มข้น เอาจริงและมีโทษแน่นอน เพราะสิ่งที่ทำขณะที่ท่านเมานั้น คือ ความเสียหายที่ยิ่งใหญ่ อุบัติเหตุ เจ็บ ตาย ครอบครัวต้องสูญเสียเราจะไม่ปล่อย” นพ.ปิยะสกล กล่าว


นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. กล่าวว่า สธ. ได้มีตั้งศูนย์ EOC ติดตามดูแลเรื่องนี้ทั้งส่วนกลางและระดับจังหวัด เตรียมทีมแพทย์คอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง จากการวิเคราะห์ข้อมูลช่วง 7 วันอันตราย ปี 2561 พบว่า มีผู้บาดเจ็บเข้ารักษา 27,158 ราย เฉลี่ยวันละ 3,880 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงปกติร้อยละ 67 ซึ่งช่วงปกติมีอุบัติเหตุเข้า รพ. เฉลี่ยวันละ 2,320 อย่างไรก็ตาม จะเน้นการส่งเรื่องความปลอดภัยของรถพยาบาลด้วย โดยจัดหน่วยกู้ชีพระดับพื้นฐาน และหน่วยปฏิบัติการระดับสูง ประจำบนเส้นทางถนนสายหลักที่มีจุดตรวจ จุดบริการอยู่ห่างกันมาก โดยมีชุดปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับ 8,583 หน่วย รถฉุกเฉินทุกระดับ 20,741 คัน และผู้ปฏิบัติการทุกระดับ 166,441 คน


นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ข้อมูลปีใหม่ 2561 พบว่า มีอุบัติเหตุเกิด 3,841 ครั้ง บาดเจ็บรุนแรง 4,005 คน เสียชีวิต 423 คน เสียชีวิตในที่เกิดเหตุร้อยละ 60 สาเหตุมาจากเมาสุรา ร้อยละ 43.66 ขับรถเร็ว ร้อยละ 25.23 กลุ่มที่บาดเจ็บเสียชีวิตมากที่สุด คือ อายุ 15-19 ปี ส่วนใหญ่เกิดช่วงเวลา 16.00-21.00 น. วันที่เกิดเหตุมากที่สุด คือ วันที่ 31 ธ.ค. ดังนั้น ปีนี้ได้สั่งการสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ที่ 1-12 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศคุมเข้มการบังคับใช้ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เรื่อง การเจาะเลือดตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ ซึ่งช่วง 7 วันอันตรายของปีใหม่ปี 2561 พบว่า ร้อยละ 60 ของคนขับมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แต่เป็นมาตรการที่ทำให้การบาดเจ็บลดลง ดังนั้น จะขยายมาตรการนี้ทั้งปี


นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอออล์แห่งชาติ ที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กำชับให้เข้มงวด 1. การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาที่กฎหมายห้าม ซึ่งพบว่าขายกันตั้งแต่ช่วงบ่ายๆ สะท้อนได้จากเมาจนเกิดอุบัติเหตุมากในช่วงเย็น 2. ห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และ 3. การขายโดยไม่มีใบอนุญาต นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้คัดกรองบำบัดรักษา ควบคุมประพฤติคนเมาสุรา หากศาลมีคำสั่งจะต้องส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ที่ใช้มีประสิทธิภาพมาก เพราะผ่านการตรวจทดสอบจากกรมฯ แล้ว โดยจะติดสติกเกอร์รับรองไว้ ทั้งนี้ การดื่มนมเปรี้ยว หรือ รางจืด ไม่สามารถรอดพ้นจากการเป่าวัดได้ ดังนั้น ทางที่ดี คือ ดื่มไม่ขับ และกรณีของผู้ใหญ่ขับรถจะยึดที่ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี รวมถึงคนขับที่ไม่มีใบขับขี่หรือมีใบขับขี่ชั่วคราวต้องไม่เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์


พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ปีนี้จะส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปร่วมกับด่านชุมชนทั่วประเทศ และมีมาตรการทางกฎหมายเข้มข้นข้อหาขับเร็ว เมาแล้วขับ ขับย้อนศร ฝ่าสัญญาณจราจร ไม่คาดเข็มขัด ไม่สวมหมวกกันน็อก ไม่มีใบขับขี่ และใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างขับ นอกจากนี้ จะห้ามรถบรรทุก 10 ล้อ วิ่งในเส้นทางที่ประชาชนเดินทางจำนวนมาก ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. 2561 - 3 ม.ค. 2562 คือ 1. ถนนมิตรภาพ ตั้งแต่ อ.ทับกวาง จ.สระบุรี ถึง อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา 2. ถนนพหลโยธินช่วง อ.เมืองนครสวรรค์ 3. ถนนกบินทร์บุรี-ปักธงชัย 4. เส้นอรัญประเทศ-นางรอง และ 5. สายนครสวรรค์-พิษณุโลก เพื่อให้พื้นผิวจราจรมีประสิทธิภาพมากที่สุดและเกิดความปลอดภัยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากรถบรรทุกมีความจำเป็นสามารถทำเรื่องขออนุญาตเดินทางกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามเส้นทางได้ที่ 1193


ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) การสื่อสารมีผลให้กระตุกความคิด ความรู้สึก และ พฤติกรรมได้ ซึ่งช่วงปีใหม่ที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นมาก จึงทำการสื่อสารรณรงค์ลดอุบัติเหตุภายใต้แคมเปญ “กลับบ้านปลอดภัย” ผ่านโฆษณาชุด “สูญเสียกันทุกฝ่าย” และบทเพลง “คิดถึง” เพื่อย้ำเตือนถึงความรักของคนในครอบครัวที่รอคอยการเดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย พร้อมรณรงค์ย้ำเตือนให้เหล้า=แช่ง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ภาวินี ซุ่นสั้น ลูกสาว ดาบตำรวจ อนันต์ ซุ่นสั้น เหยื่อเมาแล้วขับ เสียชีวิต 5 ราย ที่ จ.ตรัง เมื่อปี 2560 และเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เข้าพบ รมว.สาธารณสุข เพื่อมอบดอกไม้เป็นกำลังใจและสนับสนุนมาตรการตรวจเลือดวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในกรณีเกิดอุบัติเหตุจราจรทุกราย




เผยแพร่: 24 ธ.ค. 2561  โดย: ผู้จัดการออนไลน์

66
สปสช.แจง รพ.จัดคลินิกพิเศษนอกเวลารักษาผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน ช่วยลดแออัด ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินจริงๆ ได้รับการดูแล เพิ่มทางเลือกให้ประชาชน ย้ำยังใช้สิทธิบัตรทองได้ แต่อาจต้องร่วมหนุนค่าบริการเพิ่มเติมบ้าง


นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ครอบคลุมบริการพื้นฐาน ทั้งการรักษาพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ รวมถึงบริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต โดยมีหน่วยบริการทุกระดับทั่วประเทศร่วมกันดูแล “ผู้ป่วยฉุกเฉิน” โดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน ไม่สามารถรอเวลาเพื่อรับบริการต่างจากผู้ป่วยทั่วไป โรงพยาบาลจึงจัดบริการห้องฉุกเฉินเพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยเฉพาะ แต่จากข้อมูลการเข้ารับบริการที่ห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลพบว่า ในช่วงนอกเวลาราชการ ผู้ป่วยที่เข้ารับบริการส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน บางแห่งมีจำนวนมาก จึงจัดแยกจัดบริการผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินนอกเวลาราชการ อย่างคลินิกพิเศษ ออกจากบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน


ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน ลดความแออัดห้องฉุกเฉิน ป้องกันความขัดแย้งจากการรอรับบริการที่แพทย์จำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินก่อน ทั้งลดแรงกดดันปฏิบัติหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ ถือเป็นทางเลือกให้กับประชาชน แต่เนื่องจากทำให้โรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ทั้งด้านบุคลากรที่ให้บริการ ค่าน้ำ ค่าไฟ และอื่นๆ จึงต้องจัดเก็บค่าบริการเพิ่มเติมจากสิทธิประโยชน์พื้นฐานของกองทุนรักษาพยาบาลที่ได้รับ


“ผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินที่รับบริการนอกเวลาราชการในโรงพยาบาลที่แยกบริการรองรับ ที่เป็นหน่วยบริการตามสิทธิขึ้นทะเบียนบัตรทอง การเบิกจ่ายค่ารักษายังเป็นไปตามสิทธิประโยชน์พื้นฐาน ทั้งค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ เป็นต้น เพียงแต่ต้องจ่ายสนับสนุนค่าจัดบริการเพิ่มเติมเท่านั้น อย่างไรก็ตามหากประชาชนที่เจ็บป่วยไม่ฉุกเฉิน แต่ยืนกรานจะรับบริการที่ห้องฉุกเฉินก็เป็นเรื่องที่ห้ามได้ยาก” นพ.ชาตรี กล่าว


ฃนพ.ชาตรี กล่าวว่า ในการจัดบริการนอกเวลาราชการสำหรับผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข มีแนวทางปฏิบัติชัดเจนคือโรงพยาบาลต้องแจ้งให้ประชาชนรับทราบก่อน แต่อาจยังทำได้ไม่ทั่วถึง ประกอบกับมีโรงพยาบาลที่เปิดบริการนอกเวลาราชการมากขึ้น จึงมีเรื่องร้องเรียนมายัง สปสช. และมีการตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาร่วมกัน ทั้ง สปสช. กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และมีมติร่วมกัน เน้นสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจว่า สิทธิบัตรทองของประชาชนที่ได้รับ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิม เพียงแต่โรงพยาบาลจัดบริการเสริมเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน ซึ่งประชาชนต้องร่วมสนับสนุนค่าบริการบ้างเท่านั้น


อย่างไรก็ตามหน่วยบริการต้องระวังไม่รอนสิทธิ แม้ว่าผู้ป่วยจะรับบริการที่คลินิกนอกเวลาราชการ แต่สิทธิประโยขน์พื้นฐานเบิกจ่ายกองทุนบัตรทองยังอยู่ โรงพยาบาลเก็บเงินผู้ป่วยได้เฉพาะค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลต้องจ่ายเพิ่มขึ้นในการจัดบริการเท่านั้น และการเข้ารับบริการยังต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของประชาชนเอง เรื่องนี้หากทำได้ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ เพราะประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทอง หรือกองทุนรักษาพยาบาลอื่นไม่ได้เสียประโยชน์ แต่ช่วยแก้ปัญหาความแออัดในห้องฉุกเฉิน ลดความขัดแย้งระหว่างผู้ป่วยและผู้ให้บริการ ประชาชนเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น เรียกว่าเป็นผลดีกับทุกฝ่าย



เผยแพร่: 23 ธ.ค. 2561    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

67
สธ.-พม. โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จัดตั้งศูนย์บริการคนพิการทั่วไปในโรงพยาบาล เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในระดับอำเภอ สนับสนุนการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 35 นำร่องในโรงพยาบาล จำนวน 32 แห่ง


วันนี้ (22 ธ.ค.) นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมป้องกัน กล่าวถึงความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ ว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ประชุมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน เพื่อหารือการจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการทั่วไป รูปแบบการจ้างงานคนพิการการดูแลสุขภาพคนพิการที่ได้รับการจ้างงานในโรงพยาบาล และแนวทางการสนับสนุนความเข้มแข็งให้กับคนพิการและชุมชน ส่งเสริมการประกอบอาชีพ โดยเริ่มนำร่องในโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ที่มีศักยภาพเพื่อพัฒนาเป็นต้นแบบ จำนวน 32 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลชุมชน 29 แห่ง และโรงพยาบาลทั่วไป จำนวน 3 แห่ง


นพ.ยงยศ กล่าวต่อว่า การจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการทั่วไปในโรงพยาบาล จะช่วยอำนวยความสะดวกให้คนพิการในพื้นที่ห่างไกลได้เข้าถึงสิทธิและสวัดิการ และการบริการภาครัฐ ขับเคลื่อนนโยบายผลักดันให้เกิดการดำเนินการจัดบริการให้แก่คนพิการ ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 เพื่อสร้างโอกาส และคุ้มครองการมีงานทำของคนพิการอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานของรัฐ และสถานประกอบการเอกชน ซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการจ้างงานคนพิการในสัดส่วน 100 ต่อ 1 ตามมาตรา 33 รวมทั้งการดำเนินการสร้างงานสร้างอาชีพตามมาตรา 35


ทั้งนี้ หลักการจ้างงานคนพิการของ สธ.มี 3 ลักษณะดังนี้ 1.การจ้างงานตามมาตรา 33 โดยกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการจ้างเอง สามารถจ้างคนพิการได้ทุกประเภท แบบเต็มเวลาเป็นลูกจ้างประจำ จ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือนหรือรายวันตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ระยะเวลาการจ้างไม่น้อยกว่า 1 ปี 2.การจ้างตามมาตรา 35 โดยกระทรวงสาธารณสุขจ้างเอง เช่น การให้สัมปทานแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินในการประกอบอาชีพ การจัดสถานที่ในการจำหน่ายสินค้าหรือบริการ การจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการ การฝึกงานแก่คนพิการให้มีความรู้ ทักษะที่นำไปประกอบอาชีพได้ เป็นต้น และ3.การจ้างงานคนพิการ ตามมาตรา 33 และจ้างเหมาบริการคนพิการตามมาตรา 35 โดยประสานภาคเอกชน ทั้งมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมและกรมส่งเสริมและพัฒนาชีวิตคนพิการ



เผยแพร่: 22 ธ.ค. 2561    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

68
หมอมะเร็ง ย้ำ "กัญชา" ไม่ช่วยรักษามะเร็ง ส่วนการลดเจ็บปวด ผลข้างเคียงจากเคมีบพบัด ไม่ต่างจากยาแผนปัจจุบันที่มีอยู่ ชี้หากปลดลฌอกให้ใช้ทางการแพทย์ ก็ไม่ขอใช้ "น้ำมันกัญชา" เหตุยังไม่มีการศึกษามากพอต้องใช้มากน้อยเท่าไร ปรับสูตรยาดูแลคนไข้ยาก


วันนี้ (21 ธ.ค.) ที่อาคารเฉลิมพระบารมี ๕๐ ปี ซอยศูนย์วิจัย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย แถลงข่าว "แนวทางการใช้สเต็มเซลล์ในการรักษาโรคมะเร็งและบทบาทของกัญชากับมะเร็ง" โดย รศ.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ อดีตนายกสมาคมมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย และหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคมะเร็งครบวงจร รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลายภาคส่วนออกมาสนับสนุนให้ปลดล็อกกัญชาทางการแพทย์ และไม่ควรจัดอยู่ในกลุ่มสารเสพติด อย่างไรก็ตาม พบว่า มีการสื่อสารออกไปผิดๆ ว่า กัญชาสามารถรักษาโรคมะเร็งได้ ซึ่งในฐานะหมอมะเร็งยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง ยังไม่มีการศึกษาใดที่ใช้กัญชารักษามะเร็งในมนุษย์แล้วประสบความสำเร็จ ที่มีการวิจัยอยู่ว่าสารจากกัญชาฆ่าเซลล์มะเร็งได้นั้น ก็แค่การทดลองในหลอดทดลอง ซึ่งต้องเข้าใจว่าเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองเลี้ยงยาก สารอะไรก็มีโอกาสสูงที่กำจัดเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองได้ แต่ไม่ใช่ทุกสารที่ได้ผลในหลอดทดลอง แล้วเอามาใช้ในมนุษย์จะปลอดภัย


รศ.นพ.วิโรจน์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่ากัญชาไม่มีประโยชน์อะไร กัญชายังมีประโยชน์ทางการแพทย์ อย่างเรื่องของการรักษาโรคลมชักต่างๆ ที่มีผลชัดเจน ซึ่งหากอนาคตมีการปลดล็อกให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ ซึ่งมีข้อแนะนำให้ใช้ใน 4 กลุ่มโรค ซึ่งในนั้นมีเรื่องของการลดอาการข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด ส่วนตัวคงยังไม่นำน้ำมันกัญชามาใช้ เนื่องจากประสิทธิภาพไม่แตกต่างจากยาแผนปัจจุบันที่มีอยู่ แต่กัญชาหากใช้ในปริมาณมากยังมีโอกาสเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนรุนแรงจากกัญชาได้ หรือเลิกใช้แล้วมีอาการอยากยา นอกจากนี้ ยังไม่มีความคุ้นเคยว่าจะต้องใช้ปริมาณมากน้อยเท่าใด ให้ผลลัพธ์อย่างไร ก็ยังไม่มีการศึกษา เพราะหากเป็นยาแผนปัจจุบันเรามีความรู้อยู่แล้วว่าต้องปรับสูตรอย่างไรให้เหมาะสมกับอาการ


"ส่วนเรื่องของบรรเทาอาการเจ็บปวดจากโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่มะเร็ง ในปี 2015 มีงานวิจันพบว่า ช่วยควบคุมความเจ็บปวดได้ไม่ต่างกับการรักษาที่ไม่ใช้กัญชา แต่กัญชายังเกิดผลข้างเคียงมากกว่า ขณะที่การศีกษาปี 2006 วิจัยเอากัญชาและสาร THC มาใช้เพื่อกระตุ้นความเจริญอาหาร เปรียบเทียบกับกลุ้มที่ไม่ได้รับกัญชา พบว่า กัญชาไม่สามารถเพิ่มความเจริญอาหารมากกว่ากลุ่มที่ไม่รับกัญชา" รศ.นพ.วิโรจน์ กล่าวและว่า เรื่องการแก้กฎหมายเอากัญชามาใช้ทางการแพทย์นั้นควรเป็นลักษณะการคลายล็อก ใช้และควบคุมโดยองค์การเภสัชกรรม และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เหมือนมอร์ฟีน แต่คำถามคือ การเปิดให้ใช้กว้างมากๆ จะมีการควบคุมอย่างไร

รศ.นพ.วิโรจน์ กล่าวว่า ปัญหาคือตอนนี้มีการพูดถึงกันมาก แล้วทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งไปหามาใช้ ซึ่งตนมีคนไข้หลายคนที่ญาติต้องหามมาพบแพทย์ด้วยอาการซึม ไม่รู้สึกตัว เพราะใช้น้ำมันกัญชาใต้ดินหยดโดยไม่มีความรู้ว่า ต้องใช้ปริมาณเท่าไร บางคนบอกว่าใช้เพื่อลดความเจ็บปวด แต่ตนไม่แน่ใจว่าแบบนี้เป็นการมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นหรือไม่ เพราะพอใช้แล้วก็ทำให้นอนหลับ เมื่อหลับก็ไม่รู้สึกเจ็บปวด แต่ไม่มีโอกาสได้นอนหลับไม่รู้สึกตัว บางรายขนาดลูกวัย 3 ขวบขึ้นไปบนตัวยังไม่รู้สึกตัว ไม่ได้กอด ไม่ได้เล่นด้วย ครอบครัวก็กังวลว่าเป็นอะไรหรือไม่ ที่สำคัญก้อนมะเร็งไม่ยุบ ไม่หาย แต่พอได้รับการรักษามาตรฐานก็กลับมาใช้ชีวิตได้ ไม่ต้องหลับๆ ตื่นๆ เพราะฤทธิ์กัญชา




เผยแพร่: 21 ธ.ค. 2561    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

69
เครือข่ายพยาบาลฯ โวย โชว์ใบเสร็จจ่ายชดใช้ทุนเรียนพยาบาลคืน จี้ สธ.รับผิดชอบ หลังบอกบรรจุข้าราชการทุกกรมในสังกัด สธ.ไม่ต้องจ่ายเงิน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีสัญญาทุนเรียนพยาบาล ซึ่งหลังจากหารือกับทาง สธ.แล้ว ได้ข้อสรุปว่า หากเป็นข้าราชการหรือการจ้างงานใดๆ ในสังกัด สธ. ไม่ว่าอยู่ในกรมใดก็ตาม ไม่ต้องชดใช้ทุน เพราะอยู่ภายใต้ร่ม สธ. แต่ปรากฏว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวนมากจากพยาบาลที่ส่งข้อมูลใบเสร็จมาว่า สุดท้ายก็ต้องจ่ายเงิน โดยระบุว่า


"ไหนกระทรวงบอก นักเรียนทุนทาสหากปฏิบัติงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุขไม่ต้องใช้ทุนไงแล้วนี่อะไรแค่บางส่วนเท่านั้นจากที่น้องๆ inbox มา #เรื่องนี้กระทรวงต้องออกมาชี้แจงก่อนปีใหม่นะ ไม่งั้นมีเฮโลแน่นวล เอ้า!!! ขอแชร์ ขอไลท์ ขอคอมเม้นคนที่ได้รับผลกระทบหน่อยเร็ว #เอาทุนทาสคืนไปเอาทุนรัฐบาลคืนมา #นักเรียนทุนทาสกระทรวงสาธารณสุข"


น.ส.วราพร กวีวิทยาภรณ์ เลขานุการเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นอีกปัญหามาก เพราะจากการหารือกับ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เมื่อเร็วๆนี้ ก็ยืนยันกรณีการใช้ทุนว่า หากเรียนจบและทำงานใช้ทุนไม่ครบ 4 ปี เพราะบรรจุข้าราชการได้ แม้คนละสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงฯ แต่อยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุขก็ไม่ต้องใช้ทุนคืนนั้น ปรากฎว่า ความเป็นจริง ไม่ใช่ เพราะมีนักเรียนพยาบาลที่เรียนจบ และทำงานใช้ทุนให้ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) ขอนแก่น แต่สอบบรรจุข้าราชการของกรมการแพทย์ได้ ซึ่งกรมการแพทย์อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ปรากฎว่าต้องใช้ทุนคืนอยู่ดีประมาณ 1.7 แสนบาท โดยจ่ายให้แก่ทาง สสจ.ขอนแก่น ไปแล้ว มีใบเสร็จเรียบร้อย ซึ่งตรงนี้ต้องขึ้นอยู่กับทางกระทรวงฯว่าจะทำอย่างไร เพราะจ่ายไปแล้ว และยังมีกรณีนี้อีกเยอะ ทางเครือข่ายฯจึงบอกน้องๆว่า ให้ไปทำงานตามที่บรรจุได้ แต่ขอชะลอการใช้ทุนไปก่อน และจะเร่งสอบถามไปยังกระทรวงสาธารณสุขว่าจะดำเนินการอย่างไร คิดว่าคงจะมีความชัดเจนในต้นปีใหม่ 2562


"จากตัวเลขที่ร้องปัญหาเข้ามาคาดว่า ไม่ต่ำกว่า 50 คนที่น่าจะคืนทุนไปแล้ว ซึ่งบางส่วนก็ไปเป็นข้าราชการ บางส่วนก็ไปอยู่เอกชน ตรงนี้หลายปีมาก ตัวเลขชัดๆ ยังไม่เคยสำรวจเลย แต่ขณะนี้กำลังเริ่มทำแบบสอบถาม น่าจะกระจายแบบสอบถามไปยังพื้นที่ต่างๆในเดือนมกราคมปีหน้า เพราะถ้าไม่ชัดเจนแบบนี้ ก็กระทบต่อบุคลากรมาก หลายคนเคยติดต่อไปสถาบันพระบรมราชชนก(สบช.) ว่าตกลงเรื่องนี้อย่างไร แต่ได้รับคำตอบว่าไม่เกี่ยวข้อง ให้ติดต่อกระทรวงสาธารณสุขเอง เพราะว่าเรียนจบแล้ว การใช้ทุนให้ไปคุยกับกระทรวงเอง" น.ส.วราพร กล่าว




เผยแพร่: 21 ธ.ค. 2561   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

70
ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็น social media ทางไหน ก็เห็นแต่คนพูดถึงกระแส “ผักชีฟีเวอร์” หรือความบ้าผักชีของชาวญี่ปุ่น ผักที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยสำคัญ ไม่มีเมนูหลักของตัวเอง ทำได้แต่เพียงเป็นตัวประกอบในหลายๆ จาน และถูกนำไปเปรียบในสุภาษิตของไทยที่ว่า “ผักชีโรยหน้า” คือการทำอะไรลวกๆ ส่งๆ แปะๆ ให้เห็นแค่เบื้องหน้า นั่นสื่อถึงว่าบ้านเรา ผักชี เป็นเพียงผักที่ไม่ได้สำคัญต่ออาหารจานหลักเท่าใดนัก


แต่ที่ญี่ปุ่น “ผักชี” กลายเป็นผักที่หลายนิยมชมชอบกันมาก ทานกันเป็นกำๆ (ทั้งๆ ที่ผักชีที่บ้านเขาราคาก็ไม่ได้ถูกเท่าบ้านเรา) ขนาดมีนักร้องบอยแบนด์ของญี่ปุ่นร้องเพลง “ผักชีเฮเว่น” (เฮเว่น = สวรรค์) โดยสื่อถึงความคลั่งผักชีของคนญี่ปุ่นนั่นเอง


จากกระแสผักชีฟีเวอร์ขนาดหนัก จึงทำให้ที่ประเทศญี่ปุ่นมีร้านอาหารที่ขึ้นชื่อเรื่องเมนูที่มีผักชีเป็นส่วนประกอบหลัก ไม่ได้เป็นเพียงผักโรยหน้าแบบบ้านเรา เป็นผักชีกองๆ ทานกันเป็นกำๆ เลยทีเดียว แถมยังมีร้านอาหารที่ทั้งร้านจำหน่ายแต่เมนูที่มีผักชีเป็นส่วนประกอบเท่านั้นอีกด้วย นอกจากนี้เมนูผักชี ยังกลายเป็นเมนูแห่งปีของญี่ปุ่นเป็นที่เรียบร้อย (ปี 2016) ตอกย้ำกระแสชื่นชอบผักชีของคนญี่ปุ่นได้อย่างชัดเจน


ถ้าจะพูดถึงรสชาติ คงจะเป็นเรื่องเฉพาะตัวจริงๆ บางคนอาจจะชอบ บางคนอาจจะไม่ชอบ เหมือนกับ “ทุเรียน” ในบ้านเรา ที่คนชอบก็ชอบมาก แต่ใครที่ไม่ชอบก็เกลียดไปเลย เพราะรสชาติและกลิ่นมันเข้มข้น และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวจริงๆ แต่หากพูดถึงประโยชน์ของ “ผักชี” กันแล้ว ขอบอกว่ามีเพียบจนคุณอาจจะต้องหันมาคลั่งผักชีเหมือนกับชาวญี่ปุ่นกันเลยทีเดียว



สารอาหารในผักชี

- วิตามินเอ

- วิตามินบี

- วิตามินซี

- ธาตุเหล็ก

- เบต้าแคโรทีน

- แคลเซียม

และอื่นๆ



ประโยชน์ดีๆ ของ “ผักชี”


1. ช่วยลดน้ำตาลในเลือด จึงเหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน และผู้ที่กำลังลดน้ำหนัก

2. ป้องกันโรคหวัด

3. แก้อาการกระหายน้ำ

4. ต่อต้านเชื้อโรคต่างๆ ในลำไส้

5. ช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร

6. มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง

7. เป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยให้ขับถ่ายคล่องมากยิ่งขึ้น

8. แก้อาการวิงเวียนศีรษะ

9. บำรุงสายตา

10. ช่วยกระตุ้นการทำงานของเลือด และกล้ามเนื้อ

 

ถึงแม้ผักชีจะมีกลิ่นเฉพาะตัวที่ค่อนข้างฉุน แต่ไม่ต้องกังวลไปนะคะ กลิ่นผักชีที่ว่าจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ หากไม่ทานในปริมาณที่มากเกินไป จะไม่ทำให้ตัวเหม็นอย่างที่หลายคนอาจจะเคยได้ยินกันแน่นอน แต่ถึงกระนั้น การจะหันมาทานผักชีกันอย่างจริงจังเป็นกำๆ ก็ไม่ควรทานมากเกินไป เพราะไม่ว่าอาหารชนิดใดที่ว่าดี หากทานมากเกินไปก็เป็นโทษได้ทั้งนั้นค่ะ




15 ธ.ค. 61  sanook.com

71
คกก.นโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ เห็นชอบตั้งระบบเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย นำร่องในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน 50 แห่ง เน้นสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนและเกษตรกร



นพ.ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ให้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2561 โดยที่ประชุมได้เห็นชอบให้ดำเนินการ 4 เรื่อง เพื่อประโยชน์ประชาชนใน 4 เรื่อง เรื่องแรก ให้มีระบบเฝ้าระวังการบริโภคยาต้านจุลชีพในประเทศไทย (Thailand-SAC) เป็นเครื่องมือในการติดตามข้อมูลการบริโภคยาต้านจุลชีพของประเทศไทย เพื่อลดการบริโภคยาต้านจุลชีพ และรายงานผลต่อเนื่องทุกปี 2. มอบคณะอนุกรรมการเสริมสร้างความตระหนักรู้ด้านเชื้อดื้อยาและการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมแก่ประชาชนเสนอนโยบายเสริมสร้างการสร้างความตระหนักรู้ด้านเชื้อดื้อยาและยาต้านจุลชีพแก่ประชาชน และให้ สสส. นำประเด็นเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพให้เป็นส่วนหนึ่งในนโยบายส่งเสริมสุขภาพที่สำคัญ



3. เห็นชอบให้นำร่องระบบการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างบูรณาการในโรงพยาบาล (Integrated AMR Management: IAM) นำไปสู่ผลลัพธ์ของการลดการป่วยจากเชื้อดื้อยาในกลุ่มโรงพยาบาลรัฐสังกัดต่างๆ และโรงพยาบาลเอกชน รวม 50 แห่ง และให้คณะอนุกรรมการลดผลกระทบจากปัญหาเชื้อดื้อยาในสถานพยาบาลติดตามและกำกับการดำเนินงานดังกล่าว และ 4. ให้กรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกันเร่งทำความเข้าใจกับเกษตรกรเพื่อลดการใช้ยาต้านจุลชีพในการรักษาโรคกรีนนิ่งในส้ม และมอบหมายให้ อย.ควบคุมการกระจายยาด้านจุลชีพ ทั้งที่เป็นเคมีภัณฑ์และยาสำเร็จรูป รวมทั้งให้คณะอนุกรรมการการจัดการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพในภาคการเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ จัดทำแนวทางการแก้ปัญหาการใช้ยาต้านจุลชีพในส้มและรายงานความคืบหน้าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติในการประชุมครั้งต่อไป



เผยแพร่: 15 ธ.ค. 2561   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

72
ฟุ้ง "บัตรทอง" เป็นวาระระดับโลก ต้นแบบการสร้างหลักประกันสุขภาพ สธ.จับมือ สปสช. ก.ต่างประเทศ ทำข้อมูล ผลงาน 16 ปี โชว์ต่างประเทศในเวทีสมัชชาสหประชาชาติปี 2562ใน ก.ย. 62


วันนี้ (12 ธ.ค.) ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการฯ นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเฉลิมฉลอง “วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล : ใบไม้ต้นเดียวกัน” โดยปีนี้ได้จัดร่วมในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 พ.ศ. 2561 พร้อมแถลงข่าว “12 ธันวาคม วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยก้าวไกลสู่โลก”


นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า การเฉลิมฉลอง “วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล” หรือ Universal Health Coverage Day หรือ UHC Day ตามที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติกำหนดให้ UHC Day ตรงกับวันที่ 12 ธันวาคม ของทุกปี โดยปี 2561 องค์การอนามัยโลกได้รณรงค์ชูประเด็น “รวมพลังเพื่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” หรือ “UNITE FOR UNIVERSAL HEALTH COVERAGE” สะท้อนผลสำเร็จของประเทศไทยในเวทีโลก


ทั้งนี้การที่ประเทศไทยได้รับการยอมรับและมีบทบาทในประเด็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในเวทีโลกได้ เนื่องจากประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจัดตั้ง “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ในปี 2545 ที่เป็นการปฏิรูประบบสุขภาพครั้งใหญ่ของประเทศ ส่งผลให้ประชาชนทั้งประเทศมีหลักประกันสุขภาพรองรับ เข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง สร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพให้กับประชาชนมาตลอด 16 ปี และปีนี้เป็นปีที่ 17 ซึ่งเป็นผลจากการสนับสนุนที่จริงจังทั้งในด้านนโยบายและงบประมาณของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้วันนี้ประเทศไทยได้รับการยกย่องให้เป็นต้นแบบกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางที่ดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยมีนานาประเทศเข้าศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง


“หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในวันนี้กลายเป็นวาระระดับโลก องค์กรระหว่างประเทศและนานาประเทศต่างให้ความสำคัญเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นอกจากเป็นการดูแลสุขภาพประชาชน ยังเป็นพื้นฐานการพัฒนาและสร้างความมั่นคงของประเทศ และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติประจำปี 2562 ได้กำหนดให้มี “การประชุมระดับสูงในเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” เพื่อเป็นเวทีผลักดันทางการเมืองเพื่อนำไปสู่การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในแต่ละประเทศ” ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข กล่าว


นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพไทยนั้นได้รับการยอมรับในระดับโลก ที่ผ่านมา กระทรวงต่างประเทศได้ส่งเสริมผลักดันความสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยในเวทีระหว่างประเทศมาโดยตลอด โดยได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงสาธารณสุขและ สปสช. เพื่อนำประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีของไทยไปเผยแพร่ในเวทีระหว่างประเทศ รวมทั้งเชื่อมประสานให้ประเทศต่างๆ ที่สนใจและต้องการเรียนรู้จากไทยเข้ามาเรียนรู้เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจากผู้เชี่ยวชาญของไทยด้วย


นางกาญจนา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ในปี 2555 ที่ประเทศไทยได้ร่วมกับนานาประเทศกำหนดให้การสร้างสุขภาพที่ดีถ้วนหน้าเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ให้บรรลุในปี 2573 แล้ว ในปี 2560 ไทยได้ร่วมกับประเทศในกลุ่ม Foreign Policy and Global Health Initiative (FPGH) ผลักดันให้เกิดวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากลขึ้น โดยปีนี้นับเป็นปีที่ 2


สำหรับการจัดประชุมระดับสูงเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติปี 2562 นั้น ไทยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ประสานงานร่วมเพื่อเสนอรูปแบบของการประชุมระดับสูง ซึ่งจะมีการจัดประชุมดังกล่าวในเดือนกันยายน 2562 โดยไทยได้ร่วมกับญี่ปุ่นจัดเตรียมร่างข้อมติเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุม การกำหนดรูปแบบการประชุม และจะมีส่วนในการเจรจาเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมดังกล่าว ซึ่งจะเป็นแนวทางการดำเนินงานของประเทศสมาชิกสหประชาชาติต่อไป


“ในการประชุมระดับสูงนี้ ไทยจะมีโอกาสแสดงวิสัยทัศน์ในการดำเนินการเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าผ่านถ้อยแถลงของหัวหน้าคณะ และจะมีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความสำเร็จและแนวปฏิบัติที่ดีของไทยกับประเทศสมาชิกสหประชาชาติอื่นๆ ในกิจกรรมคู่ขนานที่จะจัดขึ้นอีกด้วย”


ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการรณรงค์วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากลของประเทศไทยในปีนี้ ได้ชูประเด็นขับเคลื่อน “การลงทุนด้านสุขภาพ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เพื่อมุ่งให้ทุกภาคส่วนตระหนักและเห็นความสำคัญของการลงทุนด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการเพิ่มทรัพยากร เพื่อทำให้ประชาชนทุกกลุ่มมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขอย่างครอบคลุมและทั่วถึง เป็นการต่อยอดการดำเนินหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น


ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติประจำปี 2562 ซึ่งมีขึ้นในเดือนกันยายน 2562 สปสช.ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการต่างประเทศในการเตรียมข้อมูล องค์ความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลายมิติ รวมทั้งผลการดำเนินงานเชิงประจักษ์ตลอด 16 ปี เพื่อนำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้แต่ละประเทศนำไปดำเนินการภายใต้บริบทของตนเอง ขณะเดียวกันในส่วนของประเทศไทยจะนำความคิดเห็นต่างๆ ที่ได้รับมาพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยต่อไป




เผยแพร่: 12 ธ.ค. 2561   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

73
เครือข่ายพยาบาลลูกจ้าง สธ.เตรียมยื่นสถาบันพระบรมราชชนก แก้ปัญหาสัญญาทุนพยาบาล พร้อมหารือรองปลัด สธ. หวังได้รับความเป็นธรรม สร้างขวัญกำลังใจ


น.ส.วราพร กวีวิทยาภรณ์ เลขานุการเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าภายหลังออกมาเรียกร้องถึงสัญญาทุนพยาบาลที่ไม่เป็นธรรม ว่า หลังจากมีการเปิดเผยถึงความทุกข์ที่เครือข่ายพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ต้องทนมาตลอดหลายปี ซึ่งไม่ใช่แค่ภาระงานมาก แต่เป็นปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุด้วยการถูกบังคับจากสัญญาทุนพยาบาล ที่กำหนดว่า เมื่อเรียนจบพยาบาลจะต้องใช้ทุนด้วยการเป็นลูกจ้างชั่วคราวของกระทรวงเป็นเวลา 4 ปี จากเดิมทุนนี้จะให้ใช้ทุนด้วยการเป็นข้าราชการ แต่กลับถูกยกเลิกไปประมาณปี 2545 ทำให้วิทยาลัยพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ ซึ่งสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก ใช้ข้อกำหนดเหล่านี้ จนทำให้พยาบาลต้องทนกล้ำกลืนในการเป็นลูกจ้างชั่วคราว ไร้สิทธิสวัสดิการที่ควรจะได้รับ


น.ส.วราพร กล่าวว่า ล่าสุด นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองปลัด สธ. ได้เรียกหารือพวกตนในวันที่ 13 ธ.ค. เวลา 15.30 น. ซึ่งก่อนหน้านั้นในช่วงเช้าวันเดียวกันจะมีการประชุมกับทางกองการพยาบาลของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขถึงปัญหาต่างๆ ที่พยาบาลได้รับ ทั้งภาระงาน รวมทั้งทุนพยาบาลดังกล่าว จากนั้นผู้แทนเครือข่ายพยาบาลฯ จะไปยื่นหนังสือต่อสถาบันพระบรมราชชนกในเวลา 13.00 น. เกี่ยวกับสัญญาทุนพยาบาล ก่อนจะเข้าพบรองปลัดสธ.ตามนัดหมาย ซึ่งพวกเรามีความหวังว่า การหารือครั้งนี้จะช่วยสร้างขวัญและกำลังใจ เป็นความหวังให้พยาบาลลูกจ้างชั่วคราวทุกคน รวมทั้งน้องๆพยาบาลในอนาคตจะได้ทุนพยาบาลที่เป็นธรรมขึ้น



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับปัญหาทุนพยาบาลนั้น เดิมทีวิทยาลัยพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข มีทุนโดยระบุในสัญญาว่า ต้องทำงานในโรงพยาบาลของกระทรวงฯ ซึ่งเดิมพยาบาลที่ได้รับทุนจะได้บรรจุเป็นข้าราชการ แต่มีการยกเลิกในปี 2545 ซึ่งเป็นการลดอัตรากำลังข้าราชการลง ทำให้นับตั้งแต่นั้นพยาบาลที่รับทุนต้องใช้ทุนด้วยการเป็นลูกจ้างชั่วคราวของกระทรวงสาธารณสุข มีสัญญา 4 ปี หากไม่ต้องการใช้ทุน ต้องคืนทุนเป็นเงินมากกว่าทุนที่ได้รับตลอด 4 ปีที่ผ่านมาถึง 2-3 เท่า หรือประมาณ 2.6 แสนบาท ในขณะที่การเป็นลูกจ้างชั่วคราวเงินเดือนในชั่วระยะเวลา 4 ปีจะอยู่ที่ประมาณ 11,000 ถึง 15,000 บาทเท่านั้น จึงเป็นเหตุให้เครือข่ายพยาบาลฯ ได้ออกมาเรียกร้องเรื่องนี้






เผยแพร่: 12 ธ.ค. 2561    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

74
มีคำกล่าวมากมายว่าอยากผอมอยากหุ่นดีด้วยวิธีง่ายๆ วันนี้บทความจาก CNN ว่าด้วย 5 ปัจจัยสุดแปลก ที่ทำให้ผอมได้โดยไม่รู้ตัว

 

1.คนที่หุ่นดี มักอาศัยอยู่ใกล้กับยิมหรือฟิตเนส

การศึกษาเมื่อปี 2017 ที่ตีพิมพ์ลงในวารสารการแพทย์ Lancet ระบุว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ห่างจากยิม ฟิตเนส สนามกีฬา สระว่ายน้ำ หรือสนามเด็กเล่น ในรัศมี 1 กิโลเมตร จะมีน้ำหนักน้อยกว่า หรือมีรอบเอวที่เล็กกว่า คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ไกลกว่านั้น และสัดส่วนนี้จะต่างกันอย่างเห็นได้ชัดในผู้หญิง และกลุ่มที่มีรายได้สูงขึ้น

 

ส่วนอีกการวิจัย ระบุว่า การสร้างย่านชุมชนที่เหมาะแก่การเดินไปไหนมาไหนได้สะดวก มีส่วนเชื่อมโยงกับน้ำหนักที่น้อยลงด้วย แต่ตรงข้ามกับการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Lancet อีกเช่นกัน ที่ระบุว่า คนที่อยู่ห่างจากร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดในระยะ 2 กิโลเมตรขึ้นไป จะมีหุ่นที่ผอมกว่าคนที่อาศัยอยู่ใกล้ร้านอาหารเหล่านี้ โดยเฉพาะกับผู้หญิง

 

2.คนหุ่นดี มักชอบขยับร่างกายบ่อยๆ

การศึกษาด้านต่อมไร้ท่อ เบาหวาน และโรคอ้วน จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ NIH ระบุว่า การขยับเขยื้อนร่างกายบ่อยๆ จะทำให้มีน้ำหนักตัวน้อยลงได้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นการออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว เช่น เดิน ยืน ทำกับข้าว ทำสวน ล้วนแต่ให้ผลดีต่อร่างกายและลดน้ำหนักได้เช่นกัน

และการขยับเขยื้อนร่างกายมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น เพราะจากการศึกษาเมื่อปี 2003 พบว่า การใช้อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น เครื่องล้างจาน เครื่องซักผ้า รถยนต์ บันไดเลื่อน จะไปลดการใช้พลังงานของร่างกายราว 111 กิโลแคลอรีที่ต้องเผาผลาญไปในแต่ละวัน

 

3.กินเผ็ดอาจช่วยให้ผอมได้

อาหารมื้อต่อไป อย่าลืมเพิ่มความเผ็ดร้อนในเมนู เพราะในการศึกษาของทีมวิจัยหลายฉบับ ชี้ว่า พริกชนิดต่างๆ จะมีส่วนช่วยควบคุมน้ำหนัก เช่น ลดความอยากอาหาร เพิ่มการเผาผลาญในร่างกาย นอกจากพริกแล้ว เครื่องเทศต่างๆ อาทิ ขิง โรสแมรี ออริกาโน ซินนามอน ขมิ้น และยี่หร่า จะช่วยลดอาการบวม กระตุ้นการตอบสนองของสารอินซูลิน


4.ยิ่งสูง ยิ่งผอม

ตามการศึกษาของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของสหรัฐฯ หรือ CDC ระบุว่า ผู้คนที่อาศัยในรัฐโคโลราโด มีสัดส่วนของโรคอ้วนต่ำที่สุดในอเมริกา ส่วนหนึ่งมาจากการอาศัยอยู่ในที่สูง

การศึกษานี้สอดคล้องกับบทความของ International Journal of Obesity ที่ระบุว่า คนที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลเท่าไหร่ จะมีสัดส่วนของโรคอ้วนที่ต่ำลงเท่านั้น โดยการศึกษาชิ้นนี้ ระบุว่า ปัจจัยเกี่ยวเนื่อง นั่นคือ ระดับออกซิเจนที่ต่ำ ระบบเผาผลาญในร่างกายที่สูงขึ้น และความอยากอาหารลดลงเมื่ออยู่บนที่สูง


5.คนหุ่นดี มักอยู่ตามเมืองใหญ่

การศึกษาที่มีทั้งการสนับสนุนและคัดค้าน จาก Harvard School for Public Health ระบุว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ที่มีประชากรตั้งแต่ 1 ล้านคนขึ้นไป จะมีความเสี่ยงต่อภาวะอ้วนลดลง เมื่อเทียบกับคนที่อยู่ในเมืองเล็กหรือชนบท สาเหตุมาจากความมั่นคงทางด้านอาหาร ชุมชนเมืองที่เหมาะแก่การเดินไปไหนมาไหน และอาหารการกินที่ดีกว่า


ในการศึกษาอีกด้านหนึ่ง กลับมองว่า ชุมชนเมืองคือต้นเหตุของความอ้วนได้เหมือนกัน โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชน และกลุ่มที่มีรายได้น้อย เนื่องจากพวกเขามีทางเลือกไม่มากในการรับประทานอาหาร จากที่ฟาสต์ฟู้ด ที่มีแคลอรีสูง ถือเป็นอาหารราคาย่อมเยาว์ในเมืองใหญ่ นอกจากนี้ ชุมชนเมืองทำให้ขนส่งสาธารณะเพียงพอจนไม่ต้องพึ่งพาการเดิน รวมทั้งการขยับเขยื้อนร่างกายที่น้อยลงเมื่ออยู่ในเมืองใหญ่ที่งานการรัดตัวจนไม่มีเวลาทำอะไร

 

อย่างไรก็ตาม หากคุณไม่เข้าข่ายปัจจัยทั้ง 5 ก็สามารถปรับพฤติกรรมให้ลดความเสี่ยงต่อโรคอ้วนได้เช่นกัน


12 ธ.ค 61 โดย sanook.com

75
สบส. คาด พาณิชย์กำหนด รพ.เอกชน ประกาศค่ายา ค่ารักษา 1,000 รายการ ในเว็บไซต์กลาง เป็นกลุ่มโรคที่พบบ่อย หรือโรคจำเป็นก่อน ชี้ ช่วยเปรียบเทียบราคาได้ ส่วนราคากลางไม่ละทิ้ง แต่ต้องใช้เวลาออกประกาศ


วันนี้ (11 ธ.ค.) นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีกระทรวงพาณิชย์ให้โรงพยาบาลเอกชนดำเนินการประกาศค่ารักษาพยาบาลและค่ายาทางเว็บไซต์ของโรงพยาบาล และเว็บไซต์กลางของกระทรวงพาณิชย์รวมกว่า 1,000 รายการ ตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย. 2562 เป็นต้นไป เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ไทยให้กับประชาชน ว่า ที่จริงการรักษาพยาบาลมีหลากหลายกลุ่มโรค มากกว่า 5 พันรายการ แต่จากการหารือร่วมกันแล้วเห็นว่าระยะแรกให้ประกาศเพียงประมาณ 1 พันรายการก่อน ส่วนจะเป็นรายการไหนบ้างจะมีการหารือกันอีกครั้ง เบื้องต้นคิดว่าจะเป็นโรคจำเป็น โรคที่พบได้บ่อย โรคที่พบได้ในทุกกลุ่มวัย เป็นต้น ทั้งนี้ การกำหนดให้เชื่อมโยงข้อมูลมาที่เว็บไซต์กลางจะทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบ และเปรียบเทียบค่ารักษาได้



“ข้อดีคือ ในช่วงที่เรายังไม่สามารถประกาศให้ค่ารักษาเป็นสินค้าและบริการที่ต้องควบคุมได้นั้น การประกาศราคา การได้รู้ราคาก็เป็นเรื่องที่ดี แต่อนาคตยังมีความเป็นไปได้ที่จะกำหนดราคากลางค่ารักษา ซึ่งเป็นเรื่องของการออกกฎหมายของทางกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งต้องใช้เวลา เช่นเดียวกับการประกาศให้ค่ารักษาฯ เป็นสินค้าที่ต้องควบคุมนั้นเราเองก็ไม่ได้ละทิ้ง” นพ.ณัฐวุฒิ กล่าว





เผยแพร่: 11 ธ.ค. 2561 โดย: ผู้จัดการออนไลน์

หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 19