ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.เพิ่มบริการแพทย์แผนไทยใน 10,580 รพ. ใช้ยาสมุนไพร 20 รายการทดแทนยานำเข้า  (อ่าน 1189 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเเผยว่า ได้เร่งดำเนินการสนองนโยบายนายกรัฐมนตรี ในการลดค่าใช้จ่ายด้านยารักษาโรค ข้อมูลล่าสุดพบคนไทยใช้ยาแผนปัจจุบันอยู่ในขั้นฟุ่มเฟือย ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งขับเคลื่อน ส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาติมาใช้ทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบันที่มีมูลค่าสูงปีละกว่า 130,000 ล้านบาทหรือร้อยละ 35 ของค่าใช้จ่ายสุขภาพ ซึ่งสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วที่ใช้เพียงร้อยละ 20
 
ในปีนี้ มีนโยบายส่งเสริมให้โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศที่มี 10,580 แห่ง เพิ่มบริการตรวจรักษาด้วยการแพทย์แผนไทยหรือการแพทย์ทางเลือกที่แผนกผู้ป่วยนอก และใช้ยาสมุนไพรรักษาอาการเจ็บป่วยเพื่อลดการใช้ยาแผนปัจจุบันให้ลดลง โดยให้โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือรพ.สต. ใช้ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติอย่างน้อย 20 รายการจากที่มี 71 รายการ เป็นยาสมุนไพรเดี่ยว 21 รายการ ที่เหลือเป็นตำรับยาสมุนไพรแบบดั้งเดิม โดยให้รพ.สต.ใช้ยาสมุนไพรรักษาโรคมีมูลค่าร้อยละ 10 ของยาแผนปัจจุบัน ส่วนโรงพยาบาลชุมชนมูลค่าร้อยละ 5 รวมทั้งจัดแพทย์แผนไทย สาขาเวชกรรมไทยหรือสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ อย่างน้อย 1 คน ประจำโรงพยาบาลชุมชนให้ได้ 588 แห่งหรือร้อยละ 80 ของโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ และจะอบรมถ่ายทอดความรู้การใช้ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ให้ผู้บริหารโรงพยาบาลชุมชนเพื่อให้เกิดการนำไปใช้รักษาผู้ป่วยอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ดูแลคุณภาพวัตถุดิบสมุนไพรที่จะนำมาผลิตเป็นยา และควบคุมมาตรฐานการผลิตให้อยู่ในมาตรฐานจีเอ็มพี ตามเกณฑ์ที่อย.กำหนด ซึ่งจะเป็นการรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของประเทศไทยในอีก 3 ปีข้างหน้าด้วย

 ทั้งนี้ ผลสำรวจการจัดบริการการแพทย์แผนไทยในปี 2552 ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 3,478 แห่ง พบร้อยละ 72 หรือ 2,521 แห่ง มีเจ้าหน้าที่ให้บริการการแพทย์แผนไทย ส่วนใหญ่ให้บริการมากกว่า 1 ประเภท ที่นิยมมากที่สุดคือ การรักษาด้วยยาสมุนไพรร้อยละ 59 รองลงมาคือการนวดไทยเพื่อรักษาร้อยละ 35 นวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพร้อยละ 35 อบประคบร้อยละ 33 และดูแลหลังคลอดร้อยละ 14 มีผู้รับบริการทั้งหมดเกือบ 3 ล้านคน โดยผู้ใช้บริการ 1 ใน 3 อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

มติชนออนไลน์  23 มีนาคม พ.ศ. 2555