ผู้เขียน หัวข้อ: “บางกอก-กรุงเทพฯ” ล้วนต่างมีชื่อมาจากน้ำ  (อ่าน 1319 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ในที่สุดทั้งน้ำเหนือ น้ำฝน น้ำทุ่ง และน้ำทะเลหนุน ก็ทำให้พื้นที่กรุงเทพฯส่วนใหญ่จมบาดาล(โดยเฉพาะในฝั่งตะวันตกนั้นหนักหนาสาหัสนัก) อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่าน้ำท่วมกทม.ครั้งนี้จะขยายวงกว้าง(จากปัจจุบัน)เพิ่มขึ้นเรื่อยๆและน้ำก็จะยังคงอยู่กับเราไปอีกยาว ชนิดที่ปีนี้ผู้คนในหลายพื้นที่สามารถลอยกระทงกันกลางท้องถนนได้
       
       ส่วนที่มีเสียงแหลบๆ(แหลๆ+ แหบๆ)บอกผ่านสื่ออยู่บ่อยครั้งว่า“เอาอยู่ค้า”นั้น มันก็คือสัญญาณตรงกันข้ามว่า หายนะกำลังมาเยือน ให้เตรียมขนข้าวของไว้ในที่สูงหรือยกขึ้นชั้นสอง(บางบ้านแม้ชั้นสองก็เอาไม่อยู่) หรือใครที่มีบ้านชั้นเดียว มีผู้เฒ่าผู้แก่ เด็กเล็ก ผู้ป่วย ก็ควรอพยพย้ายออกไปอยู่บ้านญาติ ศูนย์อพยพ หรือสถานที่ที่เหมาะสมเป็นดีที่สุด
       
       สำหรับไข่แดงอย่างกรุงเทพฯเมืองหลวงนั้น เป็นที่รู้กันดีว่าเมืองนี้ถูกน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง เพราะกรุงเทพฯเป็นทางผ่านสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนที่จะไหลออกไปสู่ทะเล ซึ่งบรรพบุรุษของเรานั้นได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับน้ำอย่างเป็นมิตร แม้กระทั่งที่มาของชื่อเมืองหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ก็ยังมีบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่น่าคิดในอีกแง่มุมหนึ่งว่า ชื่อของเมืองนี้ตั้งแต่ยุคบางกอกมาจนถึงกรุงเทพมหานครนั้น มีความเกี่ยวข้อง มีความผูกพัน และมีที่มาจากน้ำที่น่าสนใจยิ่ง
       
       บางกอก เมืองแห่งน้ำ
       
       “บางกอก” หรือ ที่ฝรั่งยังคงเรียกติดปากว่า “แบงคอก” มาจนถึงทุกวันนี้ เป็นตำบลเก่าแก่ที่มีชุมชนใหญ่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
       
       สำหรับที่มาของชื่อเมืองบางกอกนั้น มีข้อสันนิษฐานน่าสนใจอยู่ 4 ประเด็นด้วยกัน
       
       ข้อสันนิษฐานแรกมาจากความเชื่อที่ว่าแต่เดิมบริเวณนี้เป็นป่ามะกอก จึงเรียกว่าบางกอก โดยบาง หมายถึงหมู่บ้าน ส่วนกอกก็คือ มะกอก
       
       ข้อสันนิษฐานที่สองมีบันทึกไว้ในหนังสือ “จดหมายเหตุรายวันของบาทหลวง เดอ ชวาสี” แปลและเรียบเรียงโดย หลวงสันธานวิยาสิทธิ์(กำจาย พลางกูร) ได้ระบุว่า “บางกอกคือจังหวัดธนบุรี บาง แปลว่า บึง กอก แปลว่า น้ำ(กลายเป็นแข็ง) หรือน้ำกลับเป็นดินหรือที่ลุ่มเป็นที่ดอน” ซึ่งจากข้อสันนิษฐานนี้อาจเป็นไปได้ว่า บางกอกจากเดิมที่เป็นที่ลุ่มได้มีการสะสมตะกอนมาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นที่ดอนขึ้นมาก็เป็นได้
       
       ข้อสันนิษฐานต่อมาในหนังสือ“เล่าเรื่องบางกอก” โดย ส.พลายน้อย(เล่ม 1) ให้ข้อมูลว่า ผู้รู้บางคนกล่าวว่าบางกอกน่าจะมาจากคำว่า Benkok เป็นภาษามลายู แปลตามตัวว่า คดโค้ง หรือ งอ โดยอ้างว่าแม่น้ำในบางกอกสมัยก่อนคดโค้งอ้อมมาก
       
       ข้อสันนิษฐานลำดับสุดท้าย ผมยังคงอ้างอิงจากหนังสือเล่าเรื่องบางกอกเช่นเดิม ซึ่งท่าน อาจารย์ ส.พลายน้อย ให้ข้อมูลว่า มีนักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่ง(ส.พลายน้อย ไม่ได้ระบุชื่อไว้) ให้ข้อคิดว่า...คำ Bangkok นั้น ฝรั่งแต่โบราณเขียนเป็น Bangkoh ซึ่งมีทางว่าน่าจะอ่านว่า “บางเกาะ”...และคำๆนี้ก็มีการออกชื่อปรากฏอยู่ในจดหมายของท้าวเทพสตรีที่มีไปถึงกัปตันไลน์หรือพระยาราชกัปตันด้วย แต่เสียดายที่มีชื่อปรากฏเป็นหลักฐานอยู่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น
       
       ชื่อนี้สอดคล้องกับชื่อบางเกาะที่เชื่อว่าตั้งชื่อเมืองตามสภาพภูมิประเทศของลำน้ำเจ้าพระยาสายเดิมที่ลดเลี้ยวเคี้ยวโค้ง จนสภาพพื้นที่บางแห่งมีลักษณะเป็นเกาะ ซึ่งสันนิษฐานว่าชื่อบางเกาะคงจะเพี้ยนเป็น“บางกอก” ในภายหลัง
       
       และนั่นก็เป็นที่มาของชื่อเมืองบางกอกที่ต่อมากลายเป็นกรุงเทพมหานคร ซึ่งแม้ข้อสันนิษฐานแรกจะได้รับการยอมรับมากสุด แต่ 3 ข้อสันนิษฐานหลังก็มีเหตุผลน่ารับฟัง มีหลักฐานอ้างอิง สอดคล้องกับการเป็นเมืองแห่งน้ำของบางกอกอยู่ไม่น้อย
       
       อย่างไรก็ดีเมืองบางกอกเดิมมีลักษณะเป็นแผ่นดินผืนแผ่นเดียวติดกัน ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา(สายเดิม)ที่ไหลลดคดเคี้ยวเลาะคู่เมืองนี้ไป เริ่มตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อย อ้อมไปตลิ่งชัน บางระมาด แล้วเลี้ยวมาคลองบางกอกใหญ่(คลองบางหลวง) ก่อนวกมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองบางกอกใหญ่แล้วไหลไปออกทะเลดังในเส้นทางน้ำปัจจุบัน
       
       แต่ในปี พ.ศ.2065 สมเด็จพระไชยราชาธิราช โปรดฯให้ขุดคลองลัดบางกอกขึ้นเป็นครั้งแรก เชื่อมลำน้ำเจ้าพระยาระหว่างปากคลองบางกอกน้อยกับปากคลองบางกอกใหญ่ กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาดังในปัจจุบัน
       
       และมีการขุดคลองลัดเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาอีก 2 ครั้ง ในช่วงเวลาต่อมา ได้แก่ การขุดคลองลัดบางกรวย เชื่อมคลองบางกอกน้อย-คลองบางกรวย ในปี พ.ศ. 2081 สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และการขุดคลองลัดนนทบุรี เชื่อมคลองบางกรวย-คลองอ้อมนนท์ ในปี พ.ศ. 2139 สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายหลักเหมือนกับการขุดคลองลัดในครั้งแรก
       
       สำหรับการขุดคลองลัดบางกอกนั้น สายน้ำได้แบ่งเมืองบางกอกออกเป็น 2 ฝั่ง คือ บางกอกฝั่งขวา(อ้างอิงตามทิศเหนือ)ที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา(สายใหม่)ปัจจุบันคือกรุงเทพมหานครเป็นที่ราบลุ่มริมเจ้าพระยาเหมาะสำหรับการทำนา และบางกอกฝั่งซ้ายที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นที่สวนอันอุดมสมบูรณ์เคียงคู่กับสวนบางช้าง ซึ่งรู้จักกันดีในนาม “บางช้างสวนนอก บางกอกสวนใน”
       
       ทั้งนี้หลังการขุดคลองลัดได้ปรากฏว่ามีการตั้งอยู่เมืองบางกอกอย่างเป็นทางการว่า “เมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร” ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของเมืองนี้กับทะเลได้เป็นอย่างดี
       
       กรุงเทพฯ นครแห่งน้ำ
       
       ในปี พ.ศ.2310 พระเจ้าตากสินมหาราช สถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี และทรงโปรดฯให้ตั้งเมืองบางกอกฝั่งซ้ายเป็นเมืองหลวง โดยมีการสร้างกำแพงเมืองขึ้นเพื่อป้องกันข้าศึกศัตรู ขณะเดียวกันความเจริญของเมืองหลวงก็ทำให้มีการขยายเมืองไปเติบโตหนาแน่นที่เมืองบางกอกฝั่งขวา
       
       ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หลังปราบดาภิเษกเสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ ทรงมีพระราชดำริว่า “เมืองธนบุรีนี้ ฝั่งฟากตะวันออกเป็นที่ชัยภูมิดีกว่าที่ฟากตะวันตก โดยเป็นที่แหลม มีลำน้ำเป็นขอบเขตอยู่กว่าครึ่ง ถ้าตั้งพระนครข้างฝั่งตะวันออก แม้นข้าศึกยกมาติดถึงชานพระนครก็จะต่อสู้ป้องกันได้ง่ายกว่าอยู่ข้างฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นที่ดอน แต่ก็เป็นคุ้งน้ำเซาะทรุดพังอยู่เสมอไม่ถาวร พระราชมมณเฑียรสถานเล่าก็ตั้งอยู่ในอุปจาร ระหว่างวัดแจ้งและวัดท้ายตลาดขนาบอยู่สองข้าง ควรเป็นที่รังเกียจ”
       
       หลังจากนั้นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯก็สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี พร้อมกับตั้งเมืองหลวงใหม่ขึ้นในปี พ.ศ. 2325 โดยพระราชทานนามเมืองหลวงใหม่ว่า “กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทราอยุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” ก่อนที่จะมีการแปลงสร้อยบวรรัตนโกสินทร์ เป็น“อมรรัตนโกสินทร์” ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า รัชกาลที่ 4
       
       กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่มีชื่อเต็มอย่างเป็นทางการ ได้รับการบันทึกจากกินเนสบุ๊คว่าเป็นเมืองที่มีชื่อยาวที่สุดในโลก โดยที่มาของชื่อเมือง ในวิกิพีเดีย ระบุว่า หมายถึง "พระนครอันกว้างใหญ่ ดุจเทพนคร"
       
       อย่างไรก็ดีชื่อเมืองกรุงเทพมหานครนี้ ในหนังสือ “น้ำบ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมไทย” โดย : (ดร.)สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ได้ให้ข้อมูลถึงความหมายของชื่อกรุงเทพมหานครที่น่าสนใจเอาไว้ว่า
       
       ...ใน พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสถาปนาเมืองฝั่งซ้ายเป็นราชธานี ซึ่งเหมือนกับพระเจ้าอู่ทองย้ายข้ามฟากเข้าไปอยู่ในโค้งแม่น้ำเพื่อตั้งกรุงศรีอยุธยา เพราะเป็นจุดยยุทธศาสตร์ที่ดีกว่า...
       
       ...ในลักษณะการสร้างพระนครในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะจำลองความรุ่งเรืองของกรุงเก่ามาไว้ ณ ที่ใหม่ ในประเด็นนี้ชื่อเมืองก็ระบุให้เห็นถึงความพยายามที่จะ “ย้าย” กรุงศรีอยุธยามาไว้ในโค้งแม่น้ำใหม่นี้ ชื่อ “กรุงเทพมหานคร” มีความหมายว่า “มหานครแห่งเทพเจ้าซึ่งตั้งอยู่บนแม่น้ำ(กรุง)”...
       
       อนึ่งในหนังสือน้ำฯเล่มดังกล่าว ได้มีข้อมูลที่ปรากฏก่อนหน้านี้ซึ่งช่วยขยายความเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มเติมว่า
       
       ...คำว่า “กรุง” นั้นมาจากคำว่า “เกริง”(เสียงสั้น) เป็นคำภาษามอญซึ่งหมายถึงแม่น้ำลำคลอง สมเด็จพระจอมเกล้าฯ มีพระราชวินิจฉัยดังนี้ “ผู้ใดว่ามีอำนาจเหนือพื้นน้ำหรือเป็นเจ้าแห่งน้ำตั้งแต่ปากน้ำไปจนถึงที่สุดของแม่น้ำสายนั้น ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็นเจ้ากรุง และเมืองที่เจ้ากรุงพระองค์นั้นประทับอยู่ก็เลยเรียกว่า กรุง”...
       
       ขณะที่คำว่า “เกริง”(เสียงยาว) ในหนังสือน้ำฯได้ให้ข้อมูลว่า เป็นภาษามอญ หมายความว่าใหญ่ ส่วนอีกคำหนึ่งที่สำคัญก็คือคำว่า “นคร”นั้นมีความหมายว่าชาวเมือง และมีรากศัพท์มาจาก “นาคา” ที่หมายถึงนาค ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงแล้วตามความเชื่อนี้ได้มีเหตุผลสนับสนุนชื่อเมือง“กรุงเทพมหานคร” ที่มีความหมายถึง “มหานครแห่งเทพเจ้าซึ่งตั้งอยู่บนแม่น้ำ” ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
       
       และนั่นก็เป็นภูมิปัญญาของคนโบราณที่ตามความเชื่อทั้งหลายที่กล่าวมาข้างต้น ได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นมาของชื่อเมืองหลวงในยุคปัจจุบันของเรา ตั้งแต่บางกอกมาจนถึงกรุงเทพมหานครว่า ล้วนต่างมีที่มาจากน้ำ
       
       ขณะเดียวกันความเป็นเมืองแห่งน้ำของบางกอกหรือกรุงเทพมหานครที่อุดมไปด้วยวิถีชาวน้ำและแม่น้ำลำคลองมากมาย ก็ถูกตอกย้ำด้วยชื่อ“เวนิสตะวันออก” ที่ฝรั่งต่างชาติขนานนามจนโด่งดังไปทั่วโลก
       
       แต่ทว่า...ในวันนี้ความเป็น(ชื่อ)เมืองแห่งน้ำทั้งบางกอก กรุงเทพมหานคร และเวนิสตะวันออก ล้วนต่างถูกทำลายด้วยวิถีสมัยใหม่ ที่มุ่งเน้นการทำลายวิถีแห่งสายน้ำมากกว่าเลือกที่จะอยู่กับสายน้ำอย่างเป็นมิตร กลมกลืน และนอบน้อมคารวะต่อธรรมชาติ เหมือนเช่นในอดีต ซึ่งสุดท้ายแล้วธรรมชาติได้พิสูจน์สัจธรรมให้เราได้เห็นแล้วว่า
       
       ...มนุษย์ไม่ว่ายิ่งใหญ่แค่ไหนก็มิอาจเอาชนะธรรมชาติได้...

โดย ปิ่น บุตรี    
ASTV ผู้จัดการออนไลน์ 30 ตุลาคม 2554