ผู้เขียน หัวข้อ: ทัพอังวะล้อมอยุธยา อยู่ร่วมกับ น้ำหลากท่วมกรุง  (อ่าน 1407 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
กองทัพอังวะยกมาล้อมกรุงศรีอยุธยาก่อนฤดูฝน และก่อนกรุงแตกราว 2-3 ปี

พอถึงฤดูฝนก็มีน้ำหลากลงมาจากทางเหนือทุกปี แล้วท่วมกรุงศรีอยุธยาทุกครั้งเป็นปกติ

แต่ แม่ทัพอังวะครั้งนั้นบริหารจัดการกองทัพให้อยู่ร่วมกับน้ำท่วมได้อย่างปลอดภัย พอน้ำลดก็ยกเข้าตีจนกรุงแตกสำเร็จช่วงสงกรานต์ พ.ศ.2310 ราว 244 ปีมาแล้ว

น้ำหลากท่วมใหญ่คราวนี้ก็มีคำถามลั่นไป ว่ากองทัพอังวะก่อนเอาชนะอยุธยาอยู่ร่วมกับน้ำหลากท่วมอย่างไร?

จะ คัดข้อความในหนังสือหลักอย่าง "มหาราชวงษ์ พงศาวดารพม่า" แล้วโปรดให้นายต่อ แปลจากต้นฉบับภาษาพม่าไว้ตั้งแต่แผ่นดินรัชกาลที่ 5 (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2545) มาแบ่งปันเผยแพร่ไว้ จะได้รู้ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีดังนี้

บรรดานายทัพนายกองอังวะครั้งนั้นเมื่อยกเข้าตีอยุธยาไม่ได้ เพราะชัยภูมิอยุธยาได้เปรียบ ต้องตั้งล้อมเมืองไว้เท่านั้น จึงบอกแม่ทัพใหญ่ให้หนีน้ำท่วมก่อน ดังนี้

"เวลานี้จวนฤดูฝนจะลงแล้ว ถ้าแม้นน้ำลงมากน้ำก็จะท่วมไปทุกหนทุกแห่งดุจเมืองทะเล แล้วแผ่นดินกรุงศรีอยุธยานี้เป็นพื้นเดียวกับทะเล ถ้าขืนล้อมอยู่เช่นนี้ฝนลงมามากน้ำก็จะท่วม เมื่อน้ำท่วมแล้วช้างม้ารี้พลทั้งปวงก็จะไม่มีที่อาศัยจะเป็นการลำบากมาก เพราะฉะนั้นขอท่านได้ถอยจากที่ล้อมไปหาที่อาศัยที่น้ำท่วมไม่ถึงเทอญ เมื่อสิ้นฤดูฝนแล้วจึงยกเข้ามาล้อมแลเข้าตีกรุงศรีอยุธยาๆ ก็จะไม่พ้นฝีมือพวกข้าพเจ้าเป็นแน่"

มหานรทาแม่ทัพใหญ่อังวะ บอกนายทัพนายกองว่า "เราจะถอยจากที่ล้อมไปไม่ได้ ถ้าแม้เราไปแล้วพวกอยุธยาทั้งหลายก็จะออกจากเมืองทำไร่ไถนา เมื่อได้เสบียงอาหารแล้วก็จะเป็นกำลังแก่ชาวอยุธยา"

แล้วแม่ทัพใหญ่อังวะก็บอกยุทธวิธีอยู่ร่วมกับน้ำหลากท่วม แถมทำนาปลูกข้าวได้ผลดังนี้

"เวลานี้พวกอยุธยาเปรียบเหมือนปลาติดอยู่ในอวนแห ถ้าปล่อยก็จะกำเริบ จะทำให้เราลำบาก ภายหน้ากาลที่เราได้พยายามตั้งล้อมอยู่โดยช้านานนั้นก็จะไม่มีประโยชน์อะไร

เพราะฉะนั้น พวกเราจงแย่งชิงโคกระบือของพลเมืองอยุธยาทั้งปวง เมื่อได้แล้วก็ไปทำนาตามนาพลเมืองแลนาหลวงอยุธยาให้มีกำลังแก่เรา แลอย่าให้พลเมืองอยุธยาทำไร่ทำนาได้มิดีกว่าหรือ

แต่ช้างม้ารี้พลของเรานั้นก็เอาไปไว้ที่ดอนน้ำไม่ท่วมถึงแลที่หญ้างาม แล้วก็จัดพลทหารให้เป็นเวรมาล้อมผลัดเปลี่ยนกัน

ถ้าน้ำลึกก็ถอยไปหาที่ตื้นชักปีกกาให้มาช่วยถึงกันกับหัวเมืองใหญ่น้อยแถวนั้น แล้วก็จัดให้กองลำเลียงส่งเสบียงอาหารอย่าให้ขาดได้

ถ้าประเทศอื่นจะมาช่วยกรุงศรีอยุธยา เราก็จัดให้พลทหารเราออกตีให้แตกไป

ถ้าเราทำดังนี้แล้วพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาแลพลทหารพลเมืองอยุธยา ก็จะไม่พ้นฝีมือเราเป็นแน่ ถึงแม้ว่าเราจะต้องล้อม 10 ปี เราก็จะล้อมไว้กว่าจะได้กรุงศรีอยุธยา"

มหาราชวงษ์ พงศาวดารพม่า พรรณนาต่อไปอีกว่า

"ในเวลานั้นน้ำเหนือแรกมาเข้าคลองเล็กคลองน้อย น้ำยังไม่สู้มาก มหานรทาแม่ทัพจึงจัดให้พลทหารเอาช้างม้ารี้พลยกไปไว้ที่ดอนแลที่หญ้างาม

ครั้นต่อมาประมาณสัก 5 วัน น้ำเหนือมามากน้ำก็ท่วมรอบกรุงศรีอยุธยาดุจดังมหาสมุทร ท่วมไปทุกหนทุกแห่ง

เมื่อเป็นดังนั้นมหานรทาแม่ทัพจึงจัดให้พลทหารทั้งปวงพูนดินแลเอาอิฐมาก่อเป็นเกาะให้สูงพ้นน้ำขึ้น เมื่อทำเสร็จแล้วให้พลทหารทั้งปวงทำเรือรบเป็นอันมาก"

แม่ทัพใหญ่อังวะไม่ได้สั่งให้กองทัพอังวะเอาชนะน้ำที่หลากท่วม แต่บริหารจัดการให้กองทัพขึ้นตั้งบนที่ดอนนอนร่วมกับน้ำหลากท่วมอยุธยาอย่างอยู่ดีมีแรง จนตีกรุงแตก

โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ
(ที่มา คอลัมน์สยามประเทศไทย หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 27 ตุลาคม 2554)