ผู้เขียน หัวข้อ: การมีสุขภาพดี  (อ่าน 476 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
การมีสุขภาพดี
« เมื่อ: 30 เมษายน 2017, 23:48:30 »
การมีสุขภาพดี  โดย นายแพทย์สำลี เปลี่ยนบางช้าง
๐๕ กุมภาพันธ์ ๖๐

บทนำ

ทุกคนไม่ว่ายากจน หรือร่ำรวย อยากมีสุขภาพที่ดี ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย สามารถไปไหนมาไหนได้ และทำงานได้ตามความต้องการ เมื่อคนมีสุขภาพที่ดีเขาย่อมมีความพึงพอใจในชีวิตและความเป็นอยู่ในระดับหนึ่ง
โดยทั่วไป เมื่อคนอยากมีสุขภาพที่ดี เขาจะนึกถึงสถานบริการสุขภาพต่างๆ โรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอื่นๆ โดยคิดว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะทำให้เขามีสุขภาพที่ดีได้ มีความสุขได้ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งก็เป็นความจริงอยู่มาก
โรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอื่นๆ สามารถช่วยประชาชนได้มากทีเดียวในเวลาที่เขาเจ็บไข้ได้ป่วย โดยให้การรักษาพยาบาลให้หายจากโรค และทำการฟื้นฟูสมรรถภาพ ในกรณีที่มีความพิกลพิการเกิดขึ้นจากความเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นๆ
ดังนั้นโรงพยาบาลระดับต่างๆ แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด้านสุขภาพทั้งหลาย จึงเป็นด่านหน้าที่ประชาชนจะต้องไปหาในเวลาที่เขามีปัญหาด้านสุขภาพ มีความเจ็บไข้ได้ป่วย หรือในเวลาที่เขาต้องการมีสุขภาพที่ดี

รัฐบาลของประเทศต่างๆ ก็คิดเช่นเดียวกัน เมื่อต้องการให้ประชาชนของเขามีสุขภาพที่ดีอย่างถ้วนหน้า ก็จะนึกถึงโรงพยาบาล สถานีอนามัย และสถานบริการสุขภาพอื่นๆ นึกถึงแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ต่างๆ ดังนั้น การลงทุนของรัฐบาลในการผลักดันให้ประชาชนมี”สุขภาพดีถ้วนหน้า” จึงเน้นไปที่การสร้าง และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านการให้บริการทางการแพทย์เป็นเบื้องแรก และเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ซึ่งมุ่งไปที่การสร้างโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ศูนย์การแพทย์ ผลิตแพทย์ พยาบาล ผลิตผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ทางการแพทย์ ที่เน้นและให้ความสำคัญแก่งานรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพของประชาชนที่ป่วย หรือมีความพิกลพิการ ในขณะที่การส่งเสริมโดยตรงให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้นก่อนที่จะเจ็บป่วยหรือเป็นโรคเป็นวัตถุประสงค์รองของการพัฒนาสุขภาพประชาชน
ในความเป็นจริง ถ้ามองไปที่ประชาชนในชุมชนโดยส่วนรวมจะเห็นว่ามีอยู่ ๒ กลุ่มใหญ่ๆ คือ

๑.ประชาชนที่เจ็บป่วยหรือพิกลพิการแล้ว ที่ต้องการการรักษาพยาบาลและการฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยเฉพาะการรักษาพยาบาลและการฟื้นฟูสมรรถภาพในสถานบริการต่างๆทางการแพทย์ เช่นโรงพยาบาล ที่ต้องมีแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์อื่นๆเพื่อการให้บริการดังกล่าว
๒. ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งของประชาชนในชุมชนคือผู้ที่อาจจะมีโรคอยู่แล้วบ้าง แต่ยังไม่แสดงอาการหรือยังไม่หนักหนา ยังไม่รู้สึกว่าเขาเป็นโรค หรือเป็นโรคที่ต้องการการรักษาพยาบาลแล้ว ประชาชนจำนวนไม่น้อยไม่รู้สึกแม้กระทั่งว่าเขาเป็นโรคหรือมีโรค เพราะเขายังไปไหนมาไหนได้ ไม่ล้มหมอนนอนเสือ นี่เป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งของการส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น

สำหรับประชาชนกลุ่มแรกคือกลุ่มที่ป่วยแล้ว รัฐบาลจะต้องมีหลักประกันว่า เขาเหล่านั้นจะได้รับการรักษาพยาบาลและการฟื้นฟูสมรรถภาพที่ดีที่สุด มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากที่สุด ให้ผู้ป่วยหายจากความเจ็บไข้ และสามารถกลับไปมีชีวิตอยู่ในชุมชนได้เหมือนเดิมให้มากที่สุด อย่างน้อยที่สุดสามารถทำอะไรๆ ให้แก่ตัวเองได้ ช่วยตัวเองและครอบครัวได้ ไม่เป็นภาระแก่ใคร ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม
สำหรับประชาชนกลุ่มที่ 2 นั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขควรจะต้องมีมาตรการเพื่อช่วยไม่ให้เขาต้องเจ็บป่วย ล้มหมอนนอนเสื่อ จนต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานบริการทางการแพทย์โดยไม่จำเป็นหรือมีเหตุผลอันควร เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะต้องช่วยประเมินสถานะการณ์ด้านสุขภาพของประชาชนในชุมชนอยู่เสมอๆ เป็นระยะๆ เพื่อให้เห็นภาพรวมของสุขภาพประชาชนในชุมชนนั้นๆ มีการตรวจเช็คร่างกายเพื่อการคัดกรองโรคอยู่เสมอๆ ในระยะเวลาที่เหมาะสมตามอายุขัย ประยุกต์ใช้ความรู้ด้านสุขภาพ ทั้งที่เป็นความรู้สมัยใหม่ และภูมิปัญญาพื้นบ้านในลักษณะที่ ผสมผสาน และสมดุลกันอย่างเหมาะสมในการประเมินและในการดูแลสุขภาพของประชาชนในชุมชน
จุดมุ่งหมายคือ เตรียมการและการดำเนินงานป้องกัน ไม่ให้สุขภาพของประชาชนต้องเสื่อมโทรมและเลวร้ายลงไปกว่าที่เป็นอยู่โดยไม่จำเป็นหรือมีเหตุผล เตรียมการและดำเนินการที่จะทำให้สุขภาพของประชาชนดียิ่งๆ ขึ้นไป หรืออย่างน้อยให้คงสภาพของการไม่เป็นโรคอยู่อย่างเดิมให้นานที่สุดที่จะนานได้ และประการสำคัญให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีอยู่เสมอ มีศักยภาพของการเข้าไปมีส่วนร่วมในสังคม เป็นพลกำลังที่มีประสิทธิภาพสำหรับช่วยผลักดัน การพัฒนาชุมชน และประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งๆขึ้นไป

เป็นความจริงว่าทุกๆคนต้องแก่ แต่ขอให้การแก่นั้นเป็นเพียงตัวเลขของอายุ อย่าให้ศักยภาพ หรือความสามารถของร่างกายต้องแก่ตามอายุไปได้ง่ายๆ แต่ให้ความสามารถของร่างกายที่มีพลกำลังมีศักยภาพคงสภาพเหมือนเดิมให้มากที่สุดและนานที่สุดเท่าที่จะทำได้

สุขภาพคืออะไร

เมื่อพูดถึงเรื่อง “สุขภาพดีถ้วนหน้า” ก็ให้นึกถึง คำจำกัดความขององค์การอนามัยโลก (2491) ไว้ เป็นเบื้องต้นด้วย ที่ว่า สุขภาพคือ “สภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม และไม่เพียงแต่การไม่มีโรค หรือความพิกลพิการเท่านั้น“ เป็นคำจำกัดความที่เปิดโอกาสให้นักวิชาการและนักคิด สร้าง”ความปรารถนา” และสร้าง”จินตนาการ”ในเรื่องสุขภาพที่สมบูรณ์ในทุกรูปแบบตามคำจำกัดความ แต่ในทางปฏิบัติ การที่จะไปให้ถึงสภาวะสุขภาพตามคำจำกัดความนี้คงเป็นไปได้ยากมาก หรือ เป็นไปไม่ได้ตามที่หลายๆคนมีความเชื่อ เป็นคำจำกัดความสำหรับคนที่มีความสนใจอย่างแรงกล้าที่จะดำเนินการให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น ที่ดีที่สุด มันเป็นคำจำกัดความเพื่อการสร้างจินตนาการและความปรารถนาเพื่อความพยายามในอนาคต เมื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้าถึงระดับสูงสุดในการช่วยมนุษย์ด้านสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่

แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน อาจจะพูดได้เต็มปากว่า ไม่มีใครที่จะไม่มีโรค หรือความพิกลพิการ ไม่มีใครที่จะสามารถหลีกเลียงสิ่งต่างๆเหล่านี้ได้ ทุกๆคนยังต้องเป็นไปตาม”ธรรมชาติ” ทุกๆคนต้องประสบความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมากมายทุกคนมีโรค มากบ้าง น้อยบ้าง รุนแรง ไม่รุนแรง ลดหลั่นกันไปตามสภาวะและสถานะการณ์

ดังนั้นประเทศต่างๆทั่วโลกจึงได้ตกลงร่วมกันในปี ๒๕๒๐ ในสมัชชาอนามัยโลก ว่าการมี “สุขภาพดีถ้วนหน้า” หมายถึง ระดับสุขภาพที่จะทำให้ประชาชนทุกๆคนในโลกสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นอิสระ ไม่เป็นภาระแก่ใคร และมีความสามารถช่วยตนเอง ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติได้ ทั้งในทางสังคม และเศรษฐกิจ และมีความพึงพอใจในชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองตามสมรรถนะและความสามารถของตน

ความหมายของสุขภาพในแง่นี้ดังกล่าว ยอมรับความจริงที่ว่า ในสถานะการณ์ที่เป็นอยู่ ไม่มีใครที่จะไม่มีโรค หรือยอมรับความจริงว่าคนส่วนมากจะต้องมีชีวิตอยู่กับโรคในลักษณะที่แตกต่างกัน และการที่จะให้บรรลุถึงสุขภาพในลักษณะนี้นั้น ต้องมีการดำเนินงานบนพื้นฐานของความเสมอภาค และความยุติธรรมในสังคมด้านสุขภาพอย่างแท้จริง มีการเข้าถึงบริการการดูแลสุขภาพอย่างทั่วถึง ทั้งด้านกายภาพและจิตวิทยาสังคม มีการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสุขภาพประชาชนของทุกๆ ฝ่าย ทุกๆวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง และประการสำคัญ การเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนทุกๆคน ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของสุขภาพโดยตรง

แม้ว่าการมีสุขภาพที่ดีเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกๆ คน แต่ความรับผิดชอบต่อสุขภาพในเบื้องแรกเป็นของประชาชนเอง เพราะทุกๆ คนเป็นเจ้าของสุขภาพของตนดังที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้น ทุกๆ คน ต้องเอาใจใส่ในสุขภาพของตนเอง ดูแลสุขภาพของตนอย่างดีที่สุด เท่าที่ความรู้ความสามารถมีอยู่

บทบาทของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
เป็นที่แน่นอนว่า ประชาชนโดยทั่วไป ไม่มีความรู้เพียงพอหรือเหมาะสม ไม่มีเครื่องมือที่เหมาะสมสามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในการดูแลสุขภาพของตนเอง หรือของครอบครัว นี่เป็นหน้าที่ที่สำคัญของฝ่ายรัฐบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่จะต้องช่วยสร้างเนื้อหาขององค์ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร และกำหนดกลไกตลอดจนกระบวนการสำหรับการให้การศึกษาในการสร้างสมรรถนะความสามารถของประชาชน และช่วยสร้างเครื่องมือและวิธีการที่เหมาะสมสำหรับประชาชนใช้ในการดูแลสุขภาพของตนเองและของครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขในทุกระดับ ตลอดจนอาสาสมัครสาธารณสุขในชุมชน มีบทบาทที่สำคัญมากในการส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนทุกคน มีความรู้ ความสามารถที่จะพึ่งตนเองได้ในการดูแลสุขภาพดังกล่าว

การพัฒนาประชากรให้มีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนถาวร เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับการผลักดันการพัฒนาประเทศ ทั้งในทางสังคม และเศรษฐกิจ ที่จะนำไปสู่ความมั่งคั่งยั่งยืนที่แท้จริง
เพื่อเป้าหมายนี้ การพัฒนาสุขภาพในระบบการดูแลสุขภาพแห่งชาติจะต้องเน้นการส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรคเป็นประการสำคัญ เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องเจ็บป่วย ล้มหมอน นอนเสื่อได้ง่ายๆ เน้นงานสาธารณสุขในระดับบุคคลครอบครัวและชุมชนเป็นพื้นฐานในหลักการของการสาธารณสุขมูลฐานเพื่อสุขภาพดีถ้วนหน้า โดยมีการส่งเสริมสนับสนุนจากสถานบริการการดูแลสุขภาพต่างๆ โรงพยาบาลในระดับต่างๆ ตลอดจนสถาบันทางการแพทย์ และสาธารณสุขในมหาวิทยาลัย และที่จะลืมไม่ได้คือการส่งเสริมสนับสนุนจากภาคส่วนและวิชาชีพต่างๆ เช่น การศึกษา เกษตร ปศุสัตว์ สิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรม และอื่นๆ ตลอดจนองค์กรทั้งหลายในชุมชน ทั้งภาคเอกชนและอาสาสมัคร

การดูแลสุขภาพที่จะให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด ต้องเป็นการดูแลสุขภาพแบบครบวงจร ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์มารดา วัยเด็กอ่อน วัยเด็กโต วัยเรียน วัยทำงาน และวัยชรา (ตั้งแต่เกิดจนตาย) เป็นการดูแลสุขภาพตลอดชีวิตที่ครอบคลุมเนื้อหา และกระบวนการที่กว้างขวาง ผสมผสาน และต่อเนื่อง เป็นการดูแลสุขภาพที่ต้องการความร่วมมือ ประสานงานที่มีประสิทธิภาพ จากทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขในทุกระดับ ตั้งแต่ศูนย์การแพทย์ และโรงพยาบาลต่างๆ ระดับจังหวัดและอำเภอต่าง จนถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล ตลอดจนบุคคลและกลุ่มบุคคลต่างๆที่ทำงานด้านสุขภาพในชุมชน

ยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาพ

ได้มีการพูดกันเสมอว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาพของประชาชน มี 2 ลักษณะคือ
1. ยุทธศาสตร์เชิงรับ ซึ่งเป็นการสร้างระบบบริการสุขภาพเพื่อการดูแลรักษาพยาบาลผู้เจ็บไข้ได้ป่วย ประชาชนที่เจ็บป่วยแล้ว เป็นเบื้องแรก มีการสร้างศูนย์การแพทย์ โรงพยาบาล และสถานบริการทางการแพทย์อื่นๆ ผลิตแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่มีความจำเป็นในด้านต่างๆ ตามความต้องการ ยุทธศาสตร์เชิงรับมีความจำเป็นสำหรับการตอบสนองต่อความต้องการเร่งด่วน เฉียบพลัน ความต้องการเฉพาะหน้าของประชาชน ควรระลึกอยู่เสมอว่าความต้องการเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องมากที่สุดในทุกๆวัน เป็นการเรียกร้องที่มีผลในทางสังคมมากที่สุด

ในหลายๆ กรณีของเรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องของความเป็นและความตาย ดังที่กล่าวมาแล้ว โดยทั่วไป รัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั่วโลก จะให้ความสำคัญแก่งานในด้านนี้ และทุ่มเทการลงทุนจำนวนมาก เพื่อการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพไปในลักษณะเช่นนี้ ในหลักการที่ว่า เมื่อมีประชาชนเจ็บไข้ได้ป่วย เขาเหล่านั้นต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างดีที่สุด มีคุณภาพมากที่สุด สามารถแก้ปัญหาความเจ็บไข้ได้ป่วย และการเป็นโรคของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด

ประเทศไทยโชคดีที่มีระบบบริการทางการแพทย์ที่สมบูรณ์ แข็งแรง ทันสมัยที่สุด มีศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยที่มีการผลิตแพทย์และให้บริการทางแพทย์ที่ดีที่สุดอยู่ทั่วประเทศ มีโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอยู่ทั่วประเทศ ที่เป็นฐานสำคัญสำหรับการให้บริการทางกาแพทย์
ถึงกระนั้นก็ตาม บริการทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพเท่าที่มีอยู่ ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนอีกส่วนหนึ่ง ประชากรของประเทศเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ มีคนเจ็บป่วยและเป็นโรคมากขึ้นเรื่อยๆ และบริการที่มีอยู่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจของประชาชนจำนวนไม่น้อย
2.ในแง่ยุทธศาสตร์เชิงรุก รัฐบาลจะต้องหาทางดำเนินการที่มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลอย่างแท้จริง ในการยับยั้ง หรือหยุดยั้งความเจ็บป่วย หรือการเป็นโรคของประชาชน โดยการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค เป็นประการสำคัญ ช่วยดูแลประชาชน ไม่ให้เจ็บป่วยหรือเป็นโรคได้ง่ายๆ ให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคของประชาชน หาทางลด หรือควบคุมปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นให้ได้
มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคอยู่มากมาย และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน มลพิษในอากาศ น้ำ และดิน ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากความไม่ปลอดภัยของอาหาร และน้ำ พฦติกรรมและวิถีชีวิตที่เป็นปัจจัยเสี่ยงในรูปแบบต่างๆนอกจากนั้น การสูบบุหรี่ การดื่มของมึนเมา และการใช้สารเสพติดทั้งหลาย ที่ยากต่อการป้องกัน และควบคุม ก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ด้านสาธารณสุขของประเทศไทย

รัฐบาลได้พยายามผลักดันการพัฒนาระบบบริหารการดูแลสุขภาพ เพื่อให้บริการสุขภาพมีเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนอยู่เสมอ โดยจัดสรรงบประมาณจำนวนมากให้แก่ระบบการประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อ “จ่ายค่าบริการสาธารณสุขแทนประชาชน” แต่ก็ยังไม่เพียงพอแก่ความต้องการ และความต้องการงบประมาณเพื่อการนี้ก็มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าสถานะการณ์ยังเป็นไปในลักษณะนี้ ในอนาคตอันไม่ไกล รัฐบาลจะไม่สามารถแบกภาระงบประมาณส่วนนี้ ซึ่งมาจากภาษีของประชาชนได้
รัฐบาลจึงควรต้องหาทางลดค่าใช้จ่ายในด้านนี้ โดยเน้นการป้องกัน และการควบคุมความเจ็บไข้ได้ป่วยและการเป็นโรคของประชาชนให้ได้ผลอย่างจริงจัง นั่นคือ รัฐบาลต้องให้ความสนใจอย่างแท้จริงและมากขึ้น และลงทุนให้มากยิ่งขึ้น ในยุทธศาสตร์สาธารณสุขเชิงรุก
ดังที่กล่าวมาแล้ว รัฐบาลจะต้องหาทางดำเนินการที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ในการยับยั้ง หรือหยุดยั้งความเจ็บป่วย หรือการเป็นโรคของประชาชน โดย
1.การดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค เป็นประการแรกและประการสำคัญ ช่วยดูแลประชาชน ไม่ให้เจ็บป่วยหรือเป็นโรคได้ง่ายๆ ให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคของประชาชน หาทางลด หรือควบคุมปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นให้ได้ ให้ความสนใจมากยิ่งขึ้นต่อการส่งเสริมสนับสนุนในเรื่องอาหาร และโภชนาการ ซึ่งมีความสำคัญมากต่อการป้องกันการเป็นโรค ต่อการมีสุขภาพที่ดี เพื่อให้ประชาชนมีศักยภาพและพละกำลังเพื่อการพัฒนาประเทศ

การส่งเสริมสุขภาพยังรวมถึง การสนับสนุนให้ประชาชนมีสุขภาพทีดี ไม่เพียงแต่ด้านกายภาพเท่านั้น ยังรวมถึงสุขภาพในด้านชีวิตจิตใจ และสังคมด้วย ประชาชนตระหนักในคุณค่าของศิลธรรมและจริธรรม อันจะนำไปสู่ความสงบสุขและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชุมชนและประเทศชาติ
ต้องเน้นว่าอีก ยุทธศาสตร์เชิงรุกที่ได้ผล ต้องเป็นงานที่ทุกๆ ฝ่าย (Sectors) มีความรับผิดชอบต่อสุขภาพของประชาชนร่วมกัน เช่น การศึกษา เกษตร ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรม เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร และการสื่อสาร และอื่นๆ อันจะนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีขึ้นของประชาชนอย่างยั่งยืนถาวร อันนอกเหนือไปจากการทำให้เขาหายจากการเป็นโรค หรือปราศจากความพิกลพิการ

อย่างไรก็ตาม งานพัฒนาสุขภาพเชิงรุก และงานพัฒนาสุขภาพเชิงรับ เป็นงานที่ต่อเนื่อง และเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน จะแยกจากกันไม่ได้ เป็นงานที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน ดังนั้น ในการพัฒนาสุขภาพของประชาชนโดยทั่วไป งานใน 2 ด้านนี้ จะต้องดำเนินการควบคู่กันไปในลักษณะที่ผสมผสานกันอย่างเหมาะสม และสมดุลกันให้มากที่สุดที่จะมากได้

สรุป
ตามที่ได้กล่าวแล้วในตอนต้นว่า ประชาชนเป็นเจ้าของ และต้องมีความรับผิดชอบต่อสุขภาพของตนเอง ต้องดูแลสุขภาพของตนเองเป็นเบื้องแรก
เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพ และคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มีบทบาทและหน้าที่ที่สำคัญมากในการส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ ความสามารถ มีทักษะ ในการดูแลตนเอง ครอบครัว และเพื่อนบ้านในชุมชน ให้ความรู้ และแนะนำวิธีการเพื่อการปฏิบัติในการดูแลสุขภาพของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ การส่งเสริมสุขภาพของตนเอง การทำให้ตนเองมีสุขภาพดีขึ้นเป็นหน้าที่ และความรับผิดชอบขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกๆ คน
ประชาชนไม่ควรรอให้รัฐบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือใครก็ตาม มาทำให้ตนเองมีสุขภาพที่ดีในแง่ของยุทธศาสตร์เชิงรุกที่จะทำให้ได้ผลอย่างถาวรในระยะยาว ต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและปรับปรุงวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของอาหาร โภชนาการ การออกกำลังกาย การงดการสูบบุหรี่ การงดการดื่มเครื่องดองของเมา และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เหล่านี้เป็นเรื่องของพฤติกรรมของคนเป็นส่วนใหญ่ ที่จะต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม เพื่อการมีสุขภาพที่ดี

อีกประการหนึ่งที่สำคัญ ร่างกายมนุษย์ เป็นสิ่งที่วิเศษที่สุด ที่ธรรมชาติได้สร้างให้มา ร่างกายของเรามีความสามารถโดยธรรมชาติที่จะต้านทานความเจ็บไข้ได้ป่วย หรือการเป็นโรคได้ในระดับหนึ่ง ถ้าเราทำการบำรุงรักษาทนุถนอมร่างกายของเรา เป็นอย่างดี ทำการส่งเสริมสุขภาพอย่างดีตามความรู้ความสามารถที่มีอยู่ เช่น ในเรื่องอาหาร โภชนาการ การออกกำลังกาย อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีปราศจากมลพิษทั้งหลายทั้งปวง และประการสำคัญเราต้องไม่ทำร้ายร่างกายของเราเอง โดยการสูบบุหรี่ กินเหล้า เสพสารเสพติด หรือมีพฦติกรรมเสี่ยงอื่นๆ ไม่เข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ที่จะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของเรา

แต่เมื่อเจ็บป่วยแล้วควรจะพิจารณาเป็นเบื้องต้นว่า เราควรจะดูแลสุขภาพของเราเองในขั้นแรกอย่างไร ถ้าจะต้องขอความช่วยเหลือ จะต้องไปที่ไหน อย่างไร เพื่ออะไรในอันที่จะได้รับการแก้ปัญหาสุขภาพที่ถูกต้องมีประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่แสวงหาการรักษาพยาบาลให้แก่ตัวเองอย่างพร่ำเพรื่อ เกินความจำเป็น ไม่กินยาฆ่าเชื้อโรคโดยไม่จำเป็นหรือไม่มีเหตุผลอันควร
การตัดสินใจในเรื่องเหล่านี้ของประชาชน มีความสำคัญมากทีเดียว แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขต่างๆ สามารถให้คำแนะนำเพื่อการปฏิบัติของประชาชนที่เหมาะสมและได้ผลอย่างดีที่สุด เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขเท่านั้นที่จะเป็นกุญแจสำคัญในเรื่องนี้

การดูแลสุขภาพของตนเองที่มีประสิทธิภาพ เป็นหัวใจสำคัญของการมีสุขภาพดีถ้วนหน้า
สุขภาพดีถ้วนหน้าจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ ประชาชนถ้วนหน้าสามารถดูแลตนเองได้อย่างมีประสิทธิผล และประชาชนถ้วนหน้าเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการพัฒนาสุขภาพในทุกระดับของระบบการสาธารณสุขแห่งชาติ