ผู้เขียน หัวข้อ: แพทย์ชนบทไล่ รมต.เพื่อใคร  (อ่าน 936 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
แพทย์ชนบทไล่ รมต.เพื่อใคร
« เมื่อ: 29 มีนาคม 2013, 11:31:43 »
การที่ชมรมแพทย์ชนบทและเครือข่ายแพทย์ใน ภูมิภาค แต่งชุดดำออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเปลี่ยนตัว นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข และนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวง ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เหตุเพราะจะทบทวนการจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุข โดยจัดแบ่งพื้นที่โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ใหม่ และปรับอัตราการจ่ายค่าตอบแทนเป็นอัตราเดียวทุกพื้นที่ทุกหน่วยบริการ เป็นการจ่ายตามผลการปฏิบัติงาน หรือพีฟอร์พี (Pay for Performance) ส่งผลให้เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย (เบี้ยกันดารหรือเงินกินเปล่า) ของ รพช.ที่ความเจริญเข้าถึงแล้ว กลับหดหายไป ซึ่งแพทย์ชนบทระบุว่า พีฟอร์พีจะทำให้แพทย์ชนบทลาออกไปอยู่ภาคเอกชนมากขึ้น เพราะขาดแรงจูงใจการทำงาน
   
ขณะที่ กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า วงเงินค่าตอบแทนในภาพรวมไม่ได้ลดลง แต่ปรับวิธีการจ่ายเป็น 2 ระบบคู่ขนานกัน คือ 1) จ่ายแบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานในบางพื้นที่ที่มีความยากลำบากในการดำรงชีวิต พื้นที่ที่มีเงื่อนไขพิเศษมีลักษณะเฉพาะ พื้นที่ห่างไกล หรือพื้นที่ชายแดน เพื่อเป็นการชดเชยและค่าเสียโอกาส 2) จ่ายตามผลการปฏิบัติงาน เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ปฏิบัติงานทุกคนทุกฝ่าย ทั้งยังเป็นการจ่ายให้เหมาะสมกับภาระงานที่แต่ละวิชาชีพได้ให้บริการ ช่วยสร้างแรงจูงใจแก่บุคลากรที่ทำงาน เอื้อให้อยู่ในพื้นที่มากขึ้น
   
น่าเห็นใจ คนเคยได้ มาวันหนึ่งกลับไม่ได้ ย่อมรู้สึกไม่เป็นธรรม เพราะคนเราอาจเสพติดกับสิ่งเคยรับมานานปี แต่ขึ้นชื่อว่า “แพทย์” ผู้ประกอบวิชาชีพนี้ล้วนมีหน้ามีตา เป็นที่ยอมรับ เคารพและนับถือของผู้คนในสังคม จึงควรพูดจากันด้วยเหตุผลและความจำเป็นของการปรับเปลี่ยน มิควรทำให้ผู้ป่วยขวัญผวา สูญเสียประโยชน์ เนื่องเพราะกรมบัญชีกลางได้ชี้ว่า เบี้ยกันดารนี้ไม่ถูกต้อง มีความลักลั่น ไม่เป็นธรรมกับอาชีพอื่น ๆ อีกทั้งพื้นที่ทุรกันดารในอดีต แต่ปัจจุบันหลายแห่งความเจริญเข้าถึง จึงควรปรับเปลี่ยน และยังทำให้ รพช.สามารถยกฐานะเป็นโรงพยาบาลทั่วไป ไม่ใช่ส่งต่อ (Refer) ผู้ป่วยอาการไม่หนักหนาไปโรงพยาบาลศูนย์ ถ่ายเดียว เพื่อลดภาระของตัวเอง
   
ในอดีต “แพทย์ชนบท” เคลื่อนไหวครั้งใดล้วนมีพลัง และประสบความสำเร็จ ต่างกับกรณีนี้ที่แม้แต่ “แพทย์ในเมือง” และอีกหลายฝ่ายกลับเห็นต่าง ไม่เข้าใจเจตนาที่แท้จริง เห็นได้จากฝ่ายการเมืองตั้งคำถามกลับว่า มีอะไรแอบแฝงหรือไม่ หากยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี แพทย์ชนบทก็ยังต้องการไล่ รมว.พ้นจากตำแหน่งอยู่ดี แม้แพทย์ชนบท ยืนยันไม่มีเจตนาแอบแฝง แต่ก็จะเคลื่อนไหวต่อไป ทั้งหมดนี้ต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ใครผิด-ใครถูก ใครยืนอยู่บนผลประโยชน์ส่วนรวมหรือผลประโยชน์ส่วนตนกันแน่.

เดลินิวส์ 28 มีนาคม 2556