ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 1-7 พ.ค.2559  (อ่าน 763 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 1-7 พ.ค.2559
« เมื่อ: 19 มิถุนายน 2016, 21:43:18 »
1. คตง.มีมติ “อุโมงค์ไฟ กทม.” 39.5 ล้าน ส่อทุจริต-ฮั้วประมูล เตรียมส่ง ป.ป.ช.ฟัน “สุขุมพันธุ์” กับพวก ด้านเจ้าตัวขู่ฟ้อง หากใครหาว่าผิด!

        เมื่อวันที่ 3 พ.ค. นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) แถลงผลการตรวจสอบโครงการติดไฟประดับอุโมงค์ไฟแอลอีดี 5 ล้านดวงช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว(Motif of Light) ของกรุงเทพมหานคร บริเวณลานคนเมือง เป็นเวลา 1 เดือน วงเงินงบประมาณ 39.5 ล้านบาท โดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.) ได้พิจารณาข้อพิรุธต่างๆ ของโครงการแล้วพบว่า มีพฤติกรรมฮั้วราคา ส่อไม่สุจริต ตั้งแต่การนำงบฉุกเฉินมาใช้ ทั้งที่ต้องนำไปใช้ในเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วน ขณะที่บริษัทที่ชนะการประกวดราคา พบว่าไม่มีประสบการณ์การประดับไฟ บริษัททั้งหมดเพิ่งจดทะเบียนในช่วงที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. มีนโยบายจัดกิจกรรมดังกล่าว
      
       นอกจากนี้ยังพบว่า 2 บริษัทเป็นเครือข่ายเดียวกัน จดทะเบียนเพื่อไปสอบถามราคากลาง ทั้งที่ 2 บริษัทไม่มีคุณสมบัติเหมาะสม แต่มาจดทะเบียนเพื่อให้ตรงกับทีโออาร์ และยังพบว่า บริษัทที่ชนะการประกวดราคา ได้เตรียมสิ่งของก่อนจะทราบผลการประมูลด้วย จึงเป็นข้อพิรุธที่ชัดเจน ทั้งนี้ คตง.ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ราคานำเข้าอุปกรณ์ไฟดังกล่าวอยู่ที่ 29 ล้านบาท ไม่ใช่ 39.5 ล้านบาท “จากข้อพิรุธต่างๆ คตง.จึงมีมติเอกฉันท์ว่า พฤติการณ์ดังกล่าวน่าเชื่อว่ามีการทุจริต มีผู้เกี่ยวข้อง 9 คน คือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม., นางปราณี สัตยประกอบ ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว, นายธวัชชัย จันทร์งาม ผู้อำนวยการกองการท่องเที่ยว กทม., นายยศศักดิ์ คงมาก ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กทม., นายสิโรตม์ แสงเจริญ คณะกรรมการทีโออาร์, น.ส.วันทนา เตชะสุวรรณ คณะกรรมการทีโออาร์, นายพงษ์พันธ์ ธัญญเจริญ คณะกรรมการทีโออาร์, นายมรกต ภูมิพานิช คณะกรรมการทีโออาร์ และนายสิทธิโชค อภิบาล คณะกรรมการทีโออาร์”
      
       ผู้ว่าฯ สตง. เผยด้วยว่า “ที่ผ่านมา สตง.ได้มีหนังสือเชิญให้เข้าชี้แจงถึง 2 ครั้ง แต่ผู้ว่าฯ กทม.ก็ไม่สะดวกในการเข้าชี้แจงข้อเท็จจริง แต่ สตง.ก็ยืนยันว่า การตรวจสอบโครงการเป็นไปตามหน้าที่ ซึ่งโครงการที่เกี่ยวข้องกับ กทม.ในโครงการอื่น ที่มีผู้ร้องเรียน อาทิ โครงการจัดซื้อเครื่องดนตรี โครงการติดตั้งกล้องซีซีทีวี สตง.ก็อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการดำเนินโครงการเช่นกัน” และว่า หลังจากนี้ สตง.จะแจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงผู้ว่าฯ กทม. รวมทั้งดำเนินการทางวินัยและอาญาแก่เจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ สตง.จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ภายในสัปดาห์นี้ และว่า ความผิดกรณีดังกล่าว เบื้องต้นผู้ที่เกี่ยวข้องจะมีความผิดตามคดีอาญา มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 400,000 บาท
      
       ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.ได้เปิดแถลงในวันต่อมา(4 พ.ค.) โดยยืนยันว่า การจัดงานประดับไฟดังกล่าวเป็นนโยบายที่ถูกต้องแล้ว และหากจะถามว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ ให้ดูว่ามีคนเข้ามาท่องเที่ยวจำนวนกว่า 1.7 ล้านคน มีการใช้จ่ายกว่า 10 ล้านบาท ตลอด 33 วันของการจัดงาน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ยังชี้แจงกรณีมีการบอกว่าตนหนี ไม่ยอมไปชี้แจง สตง. โดยยืนยันว่าตนไม่ได้หนี แต่ได้มอบหมายให้รองผู้ว่าฯ กทม.เป็นตัวแทนเข้าไปชี้แจง ถือว่าตนได้ส่งคนที่รู้รายละเอียดทั้งหมดไปให้ข้อมูล และตนจะให้ความร่วมมือในการตรวจสอบต่อไป
      
       ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ยังย้ำด้วยว่า ขณะนี้ สตง.ยังไม่ได้ชี้ว่าตนหรือลูกน้องกระทำผิด ดังนั้นหากใครบอกว่าผิด ตนจะไม่ไว้หน้าแล้ว “ผมถือว่ามติของ สตง.ยังไม่ใช่การระบุว่าใครผิด เป็นแค่การเริ่มต้นกระบวนการตรวจสอบเท่านั้น ผมก็จะทำงานต่อไป ต่อไปนี้ใครที่บอกว่าผมหรือลูกน้องของผมทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการประจำผิด จะไม่ไว้หน้าแล้ว จะดำเนินการตามกฎหมาย...”
      
       ขณะที่นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตประธานกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาผู้แทนราษฎร แถลงวันเดียวกัน โดยตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใด สตง.จึงเอาผิด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์เพียงคนเดียว ทั้งที่รองผู้ว่าฯ กทม.ทั้ง 2 คน คือ นายอมร กิจเชวง ซึ่งเป็นผู้ลงนามเสนอโครงการ และนายจุมพล สำเภาพล ซึ่งเป็นผู้ลงนามอนุมัติงบประมาณ ต้องมีความผิดด้วย และว่า ตนจะไปยื่นหนังสือให้ สตง.ตรวจสอบในสัปดาห์หน้า นายวิลาศ ยังบอกด้วยว่า อยากให้ สตง.เร่งตรวจสอบการทำงานของรองผู้ว่าฯ กทม.3 คน ที่เคยยื่นร้องเรียนเรื่องที่ส่อทุจริตไว้ ทั้งเรื่องกล้องซีซีทีวี การจัดซื้อเปียโน การจัดซื้อเครื่องจักรที่ไม่สามารถนำมาใช้งานได้ และการแต่งตั้งโยกย้ายใน กทม.ซึ่งทุกเรื่องมีหลักฐานชัดเจน และส่งมอบให้ สตง.ไปแล้ว ขณะเดียวกัน อยากให้ สตง.ตรวจสอบบริษัท ซึ่งคนใน กทม.รู้จักดีในชื่อของทัวร์ก้อย ซึ่งชนะการประกวดราคาได้รับงานของ กทม.ทุกงาน แม้บางงานจะไม่เกี่ยวข้องกับงานทัวร์ แต่มีการเปลี่ยนวัตถุประสงค์ในการประมูลงานเพื่อให้ได้รับงานนั้น อยากให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) เข้าไปตรวจสอบด้วย
      
       2. แกนนำพันธมิตรฯ –ญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ 7 ต.ค.51 ยื่นค้าน ป.ป.ช.ถอนฟ้องคดี ขู่หากดึงดัน อาจมีชุมนุม ด้าน “ชาญชัย” เตือน ป.ป.ช.อย่าทำตัวเป็นศาลเตี้ย!

        ความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ที่มี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ เป็นประธาน อยู่ระหว่างพิจารณาข้อกฎหมายในการถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 7 ต.ค.51 ที่ ป.ป.ช.ชุดเดิมมีมติชี้มูลความผิดและเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นจำเลยที่ 1-4 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 7 ม.ค.58 โดยศาลฎีกาฯ รับฟ้อง และมีการไต่สวนไปบ้างแล้ว แต่ ป.ป.ช.ชุดนี้ อ้างว่า จำเลยในคดีนี้ ร้องขอความเป็นธรรมเข้ามา โดยระบุว่ามีหลักฐานใหม่และขอให้ ป.ป.ช.ถอนฟ้องคดี ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายในสังคมว่า กฎหมายไม่เปิดช่องให้ ป.ป.ช.ถอนฟ้องคดี อีกทั้งไม่มีความเหมาะสมที่จะถอนฟ้อง เพราะคดีอยู่ในชั้นศาลแล้ว หากจำเลยอ้างว่ามีหลักฐานใหม่ ก็สามารถยื่นต่อศาลได้อยู่แล้ว แต่ พล.ต.อ.วัชรพล ประธาน ป.ป.ช.ก็ยังไม่หยุดแนวคิดที่จะถอนฟ้อง โดยสั่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาเรื่องการถอนฟ้องคดีนี้ และให้นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช.เป็นหัวหน้าคณะทำงาน
      
        ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 4 พ.ค. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รุ่นที่ 2 และโฆษกพันธมิตรฯ พร้อมด้วยอดีตแกนนำพันธมิตรฯ หลายคน อาทิ นายศิริชัย ไม้งาม นางมาลีรัตน์ แก้วก่า นายสาวิทย์ แก้วหวาน นายสำราญ รอดเพ็ชร เป็นต้น รวมทั้งนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความ และญาติพี่น้องผู้สูญเสียหรือได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค.51 ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อคัดค้านและขอให้ทบทวนการถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ โดยมีนายสุทธิ บุญมี ผู้อำนวยการสำนักการข่าวและกิจการพิเศษ เป็นผู้รับหนังสือ ขณะที่บรรยกาศการยื่นหนังสือครั้งนี้ มวลชนได้ให้กำลังใจ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.ที่เป็นกรรมการเสียงข้างน้อยที่ยืนยันว่า ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจถอนฟ้องคดีนี้ด้วย
      
        ทั้งนี้ นายนิติธร กล่าวว่า การยื่นหนังสือครั้งนี้เพื่อขอให้ ป.ป.ช. ทบทวนการพิจารณาถอนฟ้องคดีการสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 เนื่องจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ไม่ได้กำหนดอำนาจดังกล่าวไว้ โดยในมาตรา 86 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวระบุว่า เรื่องที่ศาลรับฟ้องในประเด็นเดียวกันและอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล หรือที่ศาลพิจารณา หรือมีคำสั่งเด็ดขาดแล้ว ห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยกข้อกล่าวหานั้น ดังนั้น หาก ป.ป.ช. ยื่นถอนฟ้องจริง ต้องมีการฟ้องร้องกันใหม่อยู่ดี ส่วนที่ ป.ป.ช.ระบุว่าได้พยายามให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหานั้น นายนิติธร กล่าวว่า หากผู้ถูกกล่าวหามีหลักฐานใหม่ตามที่อ้าง ก็ควรไปยื่นหลักฐานนั้นต่อศาลฎีกาฯ จะเหมาะสมกว่า
      
        นายนิติธร กล่าวอีกว่า ป.ป.ช. จำเป็นต้องทบทวนและยุติเรื่องนี้ เพราะถ้าทำต่อ จะฟ้องร้องกรรมการ ป.ป.ช. และว่า พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. เคยเป็นอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำเลยคดีนี้ จึงถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ต้องดูว่าประธาน ป.ป.ช. จะพิจารณาเรื่องนี้ได้หรือไม่ ซึ่งกลุ่มพันธมิตรฯ จะหารือกับสภาทนายความที่เป็นทนายผู้รับผิดชอบคดีนี้ และจะหารือกับพี่น้องประชาชนเพื่อขอรับฟังการพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯ ทุกครั้ง รวมทั้งจะดูข้อกฎหมายว่าสามารถขอเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้ได้หรือไม่ และขอให้ ป.ป.ช. เปิดเผยคำฟ้องต่อสาธารณชนทั้งหมด รวมถึงเปิดเผยหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของจำเลยทั้ง 3 รายด้วย นายนิติธร ยังตั้งข้อสังเกตถึงพยานฝ่าย ป.ป.ช. ที่ไม่ได้เดินทางมาไต่สวนที่ศาลฎีกาฯ เมื่อวันก่อนด้วยว่า ทำไมถึงไม่เดินทางมาศาล
      
        ขณะที่นายปานเทพ กล่าวว่า ป.ป.ช.อย่าทำลายความชอบธรรมและความศรัทธาที่มีต่อองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และว่า ตั้งแต่มีการสรรหากรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้ทำให้เห็นว่า น้ำหนักยังอยู่ที่รัฐบาล เชื่อมโยงจนแยกกันไม่ออก แม้แต่ก่อนหน้านี้ กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ออกคำสั่ง คสช.รับ พล.ต.อ.พัชรวาท กลับเข้าสู่ตำแหน่ง ซึ่งเป็นการใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ช่วย พล.ต.อ.พัชรวาท เป็นคำสั่งเฉพาะเพื่อช่วยคนๆ เดียว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะมาอ้างว่าไม่เกี่ยว เป็นเรื่องของ ป.ป.ช.ไม่ได้ เนื่องจาก พล.ต.อ.วัชรพล เคยเป็นอดีตผู้ใต้บังคับบัญชา พล.ต.อ.พัชรวาท เคยเป็นตำรวจติดตาม พล.ต.อ.พัชรวาท เคยทำงานใกล้ชิดกับ พล.อ.ประวิตรโดยตรง นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์เองที่ได้ใช้คำสั่ง คสช. ให้มีการสรรหากรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้ จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องรับผิดชอบด้วย
      
        นายปานเทพ กล่าวอีกว่า ที่ประชาสัมพันธ์กันว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับปราบโกง แต่องค์กรปราบโกงไปเป็นองค์กรที่ฟอกความผิดให้กับคนอื่น ถามว่ารัฐธรรมนูญจะปราบโกงได้อย่างไร ถ้า ป.ป.ช.ไปฟอกความผิดให้คนในรัฐบาลชุดนี้ ถามว่า คสช.จะยึดโยงอำนาจอีก 5 ปีไปเพื่ออะไร อย่าว่าแต่ 5 ปี อยู่ต่ออีกวันเดียวก็ไม่รู้จะอยู่เพื่อปฏิรูปได้อย่างไร ดังนั้น ถ้า ป.ป.ช.ยังฝืนพิจารณาเรื่องนี้ ก็ต้องเรียกร้องไปยังรัฐบาลเพื่อให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อหยุดยั้งกระบวนการถอนฟ้องคดีนี้ ตนไม่อยากให้เรื่องนี้เป็นน้ำผึ้งหยดเดียว “อดีตแกนนำพันธมิตรฯ ได้หารือเรื่องนี้กันมาตลอด หากจำเป็น อดีตแกนนำที่เคยยุติบทบาทไปแล้วอาจต้องทบทวนบทบาทใหม่ ถ้า ป.ป.ช.ชุดนี้มาฟอกความผิดให้ พล.ต.อ.พัชรวาท ผมจำได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า ดีแล้วที่อดีตแกนนำพันธมิตรฯ ประกาศยุติบทบาท ท่านอย่าได้ทำเรื่องนี้หรือบีบบังคับให้อดีตแกนนำพันธมิตรฯ ต้องกลับมารวมตัวกันเพื่อดำเนินการกับรัฐบาลชุดนี้”
      
        ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 3 พ.ค. โดยเตือนสติ ป.ป.ช.พร้อมชี้ทางออกที่เหมาะสมที่สุดต่อเรื่องนี้ว่า “ทางออกที่เหมาะสมที่สุดก็ขอให้ยึดหลักการของท่านนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ที่เคยพูดไว้หลายครั้งในรอบปีสองปีนี้เป็นดีที่สุด คือ ให้ทุกกรณีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้หมด คดีนี้อยู่ในการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดีๆ อยู่แล้ว ควรปล่อยให้เป็นไปตามขั้นตอนกระบวนการเป็นดีที่สุด อย่าไปสร้าง “ตัวแปรสถานการณ์” ขึ้นมาโดยไม่จำเป็นเลย”
      
        ขณะที่นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองประธาน กมธ.วิสามัญแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช.เพิ่มเติม ปี 54 สภาผู้แทนราษฎร ได้เตือน ป.ป.ช.ว่า ป.ป.ช.รู้ดีอยู่แล้วว่า กฎหมาย ป.ป.ช.ไม่ให้อำนาจกรรมการ ป.ป.ช.ถอนฟ้องคดี จึงน่าสงสัยว่า ป.ป.ช.ต้องการช่วยคนที่ถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจหน้าที่มิชอบ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และว่า ขณะนี้คดีอยู่ในชั้นศาล ถือว่าอยู่นอกเขตอำนาจของ ป.ป.ช.แล้ว แม้จะใช้กฏหมาย ป.วิอาญาไม่ว่ามาตราไหน ศาลก็เปิดโอกาสให้จำเลยชี้แจงในชั้นไต่สวนได้อยู่แล้ว ทำไม ป.ป.ช.จึงจะถอนคดีที่ตัวเองเป็นผู้โจทก์ฟ้องต่อศาลแล้ว โดยอ้างเหตุมีการร้องขอความเป็นธรรมจากคน 2 วงศ์ คือ วงศ์สวัสดิ์ และวงษ์สุวรรณ ถามว่า ป.ป.ช.ใช้อำนาจใด จึงทำตัวเป็นศาลเตี้ยเสียเอง!
      
        ด้าน พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ยืนยันเมื่อวันที่ 4 พ.ค.ว่า ขณะนี้ ป.ป.ช.ยังไม่มีมติใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ “เวลานี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังไม่ได้พิจารณาใดๆ เกี่ยวกับคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เพียงแต่ดูว่าเมื่อมีการร้องขอความเป็นธรรมเข้ามา เราจะดำเนินการอย่างไร จึงให้คณะทำงานพิจารณาอย่างรอบคอบ” เมื่อถามว่า เรื่องนี้มีใบสั่งหรือมีแรงกดดันจากใครหรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า “การทำตามหน้าที่ กฎหมาย ใครจะกล้าสั่งให้เราทำในสิ่งที่ผิด... ยิ่งมีคนเฝ้ามองด้วย ก็ไม่ทำแน่ กรรมการ ป.ป.ช.ทุกคนเสียสละมาทำงาน ผ่านการสรรหา คงไม่มีใครเอาชื่อเสียงเกียรติยศมาทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน ยืนยันได้ ไม่ต้องห่วง”
      
        ขณะที่นายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. และประธานอนุกรรมการไต่สวนคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวถึงกรณี ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันกำลังพิจารณาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการถอนฟ้องคดีสลายกลุ่มพันธมิตรฯ 7 ต.ค.51 และกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ยื่นร้องคัดค้าน ป.ป.ช.ถอนฟ้องคดีว่า เป็นสิทธิของผู้เสียหายที่จะร้องคัดค้าน และว่า ปกติแล้วคดีทั่วๆ ไป ผู้เสียหายมีสิทธิเป็นโจทก์ร่วมได้ เป็นการรักษาสิทธิของตนเอง นายวิชา ยังแนะ ป.ป.ช.ด้วยว่า ควรรักษาหลักการที่ว่า เมื่อคดีถึงศาลแล้ว ควรให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัย “เรื่องการถอนฟ้องเป็นสิ่งที่ ป.ป.ช.ต้องคิดและตระหนัก ซึ่ง น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นหนึ่งในผู้ที่ทักท้วงว่า ไม่ควรที่จะถอนฟ้อง เพราะถือว่าเป็นกฎหมายมหาชน ผมคิดว่าหลักการนั้นก็ควรที่จะรักษาไว้ และในเมื่อเรื่องถึงศาลแล้ว ก็เปิดโอกาสให้ศาลวินิจฉัย”
      
       3. ศาลทหารออกหมายจับ “แม่จ่านิว” ข้อหาหมิ่นสถาบัน ด้านเจ้าตัวเข้ามอบตัวแล้ว ตำรวจไม่ให้ประกัน ขณะที่ 8 แอดมินเพจต้าน คสช.วืดประกันรอบสอง!

        ความคืบหน้ากรณีทหารได้ควบคุมตัว 8 แอดมินเพจเฟซบุ๊กที่ต่อต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) รวมถึงรัฐบาล และผู้นำรัฐบาล ด้วยข้อความและภาพในลักษณะที่ทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนในระดับที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้น มีการยุยงปลุกปั่น โดยมีการทำเป็นขบวนการ มีการแบ่งงานกันทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีผู้บงการ ผู้รับคำสั่ง โดยทหารได้ส่งตัวแอดมินเพจทั้ง 8 คนให้ตำรวจดำเนินคดีข้อหาผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 โดยมี 2 รายถูกแจ้งข้อหาเพิ่มในความผิดฐานหมิ่นสถาบัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย ซึ่งต่อมา พนักงานสอบสวนได้ขอศาลทหารฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 8 คนเป็นเวลา 12 วัน(29 เม.ย.-10 พ.ค.) โดยศาลอนุญาตฝากขัง และไม่อนุญาตให้ประกันตัว เนื่องจากมีพฤติการณ์ร้ายแรงและทำเป็นขบวนการ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบและสอบสวนผู้ต้องหา มีการเชื่อมโยงถึงนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด และนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้จ่ายเงินให้แอดมินเพจดังกล่าวด้วย
      
        ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 4 พ.ค. พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เผยว่า การเชื่อมโยงว่าบุคคลดังกล่าวอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของผู้ต้องหาทั้ง 8 คนนั้น หลังจากตรวจสำนวนแล้ว น่าจะเป็นคำซัดทอดของผู้ต้องหามากกว่า พยานหลักฐานยังไม่ชัดเจน จึงยังไม่ต้องออกหมายเรียกหรือหมายจับนายพานทองแท้ นายจตุพร และนายสมบัติ เนื่องจากยังต้องมีหลักฐานอีกหลายส่วนเพิ่มเติม
      
        ขณะที่นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ นปช.ซึ่งเป็นทนายให้แอดมินเพจทั้ง 8 คน ได้ยื่นขอประกันตัวผู้ต้องหาทั้ง 8 คนอีกครั้งเมื่อวันที่ 3 พ.ค. โดยยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 150,000 บาท ด้านศาลทหารพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ยังไม่มีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมที่จะเป็นเหตุให้ศาลเปลี่ยนแปลงดุลพินิจเดิม จึงไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทั้งนี้ มีรายงานว่า ทนายความจะยื่นขอประกันตัวอีกครั้งในวันที่ 10 พ.ค.ซึ่งเป็นวันครบกำหนดฝากขังผัดแรก
      
        เป็นที่น่าสังเกตว่า ได้มีกลุ่มนักวิชาการที่เรียกตัวเองว่า เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง เช่น นายพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นนักวิชาการสายเสื้อแดง ได้พยายามดึงต่างชาติให้เข้ามายุ่งเกี่ยวสถานการณ์ในไทย โดยได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นโอเอชซีเอชอาร์) ที่สำนักงานองค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 3 พ.ค. โดยขอให้ตรวจสอบรัฐบาลและ คสช.เนื่องจากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ที่คิดเห็นต่างจากรัฐบาล พร้อมชี้ว่า การจับกุมผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊กที่ล้อเลียนหัวหน้า คสช. 8 คนดังกล่าว เป็นจุดเริ่มต้นของการกวาดล้างผู้เห็นต่าง และสอดคล้องกับการที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ
      
        ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 พ.ค. ศาลทหารกรุงเทพได้ออกหมายจับ น.ส.พัฒน์นรี หรือหนึ่งนุช ชาญกิจ อายุ 40 ปี มารดานายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว ข้อหาร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ม.14 (3) จากนั้น ช่วงบ่ายวันเดียวกัน น.ส.พัฒน์นรี ได้เข้ามอบตัวต่อตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อรับทราบข้อหาดังกล่าว โดยเดินทางมาพร้อมกับนายอานนท์ นำภา กลุ่มพลเมืองโต้กลับ และนายธีรพันธ์ พันธ์คีรี ทนายความ
      
        นายอานนท์ กล่าวว่า จากการสอบถามนางพัฒน์นรี เบื้องต้น ยืนยันว่า รู้จักกับนายบุรินทร์ อินติน ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้เพียงผิวเผิน เคยเจอกันในการชุมนุมเท่านั้น แต่ยืนยันว่า ไม่เคยมีเบอร์โทรศัพท์ แอปพลิเคชันไลน์ หรือแชตผ่านแอปพลิเคชันเฟซบุ๊ก และไม่เคยพูดคุยหรือติดต่อกันเป็นการส่วนตัวกับนายบุรินทร์แต่อย่างใด และว่า หากพนักงานสอบสวนให้ประกันตัว จะใช้หลักทรัพย์พร้อมเงิน 500,000 บาท ซึ่งเป็นเงินจากกลุ่มประชาชนที่ร่วมสนับสนุนโอนมาให้ แต่หากพนักงานสอบสวนไม่ให้ประกันตัว จะยื่นประกันตัวที่ศาลทหาร ด้าน น.ส.พัฒน์นรี กล่าวเพียงสั้น ๆ ว่า ตนไม่พร้อมพูดคุยอะไร และตอนนี้สภาพจิตใจแย่มาก
      
        ทั้งนี้ ในเวลาต่อมา พนักงานสอบสวนพิจารณาแล้วไม่อนุญาตให้ น.ส.พัฒน์นรี ประกันตัว เนื่องจากเป็นคดีร้ายแรง มีโทษสูง เกรงว่าจะมีพฤติการณ์หลบหนี และเกรงว่าจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน จากนั้นได้นำตัวไปคุมขังไว้ที่ สน.ทุ่งสองห้อง ก่อนนำตัวไปสอบปากคำเพิ่มที่กองปราบฯ ในวันที่ 7 พ.ค.
      
      

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 1-7 พ.ค.2559(ต่อ)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 19 มิถุนายน 2016, 21:43:32 »
 4. ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนยกฟ้อง “พล.ต.ท.สมคิด-พวก” คดีอุ้มฆ่า “อัลรูไวลี” นักธุรกิจชาวซาอุฯ เหตุไม่มีพยานหลักฐานใหม่!

        เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีอุ้มฆ่านายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตจเรตำรวจ และอดีต ผบช.ภ.5 , พ.ต.อ.สรรักษ์ หรือสมชาย จูสนิท ผกก.สภ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน , พ.ต.อ.ประภาส ปิยะมงคล ผกก.สภ.น้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี , พ.ต.ท.สุรเดช อุดมดี และ จ.ส.ต.ประสงค์ ทอรั้ง ตำรวจนอกราชการ เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน และขอให้ศาลมีคำสั่งคืนแหวนของกลางให้แก่ทายาทของนายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี ด้วย
       
        คดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาวันที่ 31มี.ค.57 ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด เนื่องจากเห็นว่า ฝ่ายโจทก์ไม่ได้นำ พ.ต.ท.สุวิชัย แก้วผลึก พยานโจทก์ปากสำคัญเข้าเบิกความต่อศาล มีเพียงบันทึกคำให้การของ พ.ต.ท.สุวิชัย เท่านั้น ทั้งยังมีข้อพิรุธน่าสงสัยเกี่ยวกับแหวนทองคำของผู้ตาย ศาลเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังมีข้อพิรุธน่าสงสัย จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ต่อมา อัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลย
       
        ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การยื่นเบิกความพยานและหลักฐาน เป็นพยานหลักฐานเดิม ส่วนพยานโจทก์ปากสำคัญ คือ พ.ต.ท.สุวิชัย แก้วผลึก ศาลเห็นว่าไม่อาจรับฟังได้ เนื่องจากมีการเบิกความกลับไปกลับมาในชั้นพนักงานสอบสวน อีกทั้งพยานแวดล้อมไม่สามารถยืนยันได้ว่า จำเลยที่ 2-5 ซึ่งเป็นตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชาของ พล.ต.ท.สมคิด ได้นำตัวนายอัลรูไวลี ผู้เสียชีวิต เข้าไปในโรงแรมฉิมพลีจริง ส่วนแหวนที่อ้างว่าพบใกล้ถังน้ำมันในที่เกิดเหตุ เมื่อมีการนำสืบแล้ว ไม่มีญาติคนใดยืนยันได้ว่าเป็นของผู้เสียชีวิตจริง ประกอบกับมีประเด็นต้องสงสัย เหตุที่ไม่มีการนำแหวนวงนี้ส่งให้ตำรวจตรวจสอบ แต่ส่งให้ญาติเป็นผู้เก็บรักษา และการเบิกความจากช่างที่รับแหวนไปซ่อม ยืนยันว่าไม่พบรอยไหม้แต่อย่างใด ศาลอุทธรณ์จึงเห็นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่พิพากษายกฟ้องคดีนี้
       
        หลังฟังคำพิพากษา นายเอนก คำชุ่ม ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากมารดานายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี กล่าวว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ วินิจฉัย 2 ประเด็น คือโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เเละพยานหลักฐานที่นำมาฟ้องไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่ ดังนั้นจะกลับไปพิจารณาประเด็นข้อกฏหมายเพื่อที่จะยื่นฎีกาต่อไป เเต่ประเด็นเเหวนจะถือเป็นพยานหลักฐานใหม่ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจศาล
       
        ด้าน พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม จำเลย กล่าวว่า ที่ผ่านมามีกระบวนการนำพยานหลักฐานเท็จมากล่าวหากลั่นเเกล้ง และมีการร่วมกันนำพยานที่เป็นผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาที่หนีออกไปต่างประเทศมากล่าวหา และว่าที่ผ่านมาตนยื่นฟ้องดำเนินคดีอาญาทั้งนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ดีเอสไอเเละพนักงานอัยการอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งขั้นตอนอยู่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง และได้หยุดการพิจารณาคดีไว้ เนื่องจากต้องรอผลจากคำพิพากษาในคดีนี้
       
       5. ทหาร-ตำรวจ บุกค้นบ้านตระกูล “สะสมทรัพย์” และเครือข่าย 12 จุด ตามแผนปฏิบัติการ “นครปฐมร่มเย็น” ยึดปืนนับร้อยกระบอก-กระสุนเพียบ!

        เมื่อวันที่ 3 พ.ค. พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพรามณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะ ผอ.ศูนย์ปราบปรามผู้มีอิทธิพลและมือปืนรับจ้าง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร นำโดย พล.ต.ธรรมนูญ วิถี ผบ.พล.ร.9 ได้ร่วมกันแถลงข่าวผลการปิดล้อมตรวจสอบ 12 จุด ใน จ.นครปฐม ตามแผน “นครปฐม ร่มเย็น”
       
        โดย พล.ต.อ.ศรีวราห์ แถลงว่า จากการตรวจค้นจุดที่ 1 บ้านนายไชยา นางจุไร สะสมทรัพย์ พบอาวุธปืนสั้น 2 กระบอก กระสุน 328 นัด และพบการกระทำผิดเพิ่มเติม คือ 1.ลักลอบต่อกระแสไฟฟ้าจากเสาไฟฟ้าสาธารณะโดยไม่ผ่านมิเตอร์เข้าไปในบ้าน 2.ติดตั้งวิทยุสื่อสารของราชการ ไว้ที่บ้านและรถยนต์ 3.พบสัตว์พาหนะ (ม้า) จำนวน 2 ตัว (อยู่ระหว่างตรวจสอบ) 4.พบสัตว์ป่าคุ้มครอง จำนวน 8 ตัว จึงกล่าวหานางจุไร ในความผิด “ลักทรัพย์”(กระแสไฟฟ้า) และกล่าวหานายไชยา และนางจุไร ในความผิดมีวิทยุโทรคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต และนำเข้าสัตว์ที่รัฐมนตรีห้ามนำเข้า-ส่งออก (ไซเตส) โดยไม่ได้รับอนุญาต
       
        จุดที่ 2 บ้านนายปองพล สะสมทรัพย์ พบอาวุธปืนสั้น 4 กระบอก อาวุธมีดยี่ห้อกล็อก จำนวน 1 ด้าม บ้านนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ พบอาวุธปืนสั้น 1 กระบอก เครื่องบันทึกวิดีโอวงจรปิด 1 เครื่อง บ้านนายอนุชา สะสมทรัพย์ เป็นผู้ครอบครอง พบอาวุธปืนสั้น และอาวุธปืนยาว รวม 65 กระบอก พร้อมด้วยเครื่องกระสุน (อยู่ระหว่างตรวจสอบทะเบียน)
       
        จุดที่ 3 บ้านนายชัยพร วิจิตรโสภณ(เสี่ยเหลียง) พบอาวุธปืนสั้น 3 กระบอก พร้อมเครื่องกระสุนขนาด .380 จำนวน 25 นัด
       
        จุดที่ 4 บ้านนายชัยพร วิจิตรโสภณ(เสี่ยเหลียง) พบสัตว์ป่าคุ้มครองหลายชนิด จึงได้จับกุมและแจ้งข้อหาในความผิดมีสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และนำเข้าสัตว์ซึ่งรัฐมนตรีห้ามนำเข้า-ส่งออก (ไซเตส) โดยไม่ได้รับอนุญาต
       
        จุดที่ 5 บ้านนางสุวรรณ มังน้อย พบอาวุธปืนสั้น 4 กระบอก เครื่องกระสุนปืนขนาด 9 มม. และ .22 รวม 76 นัด เครื่องบันทึกวิดีโอวงจรปิด 1 เครื่อง
       
        จุดที่ 6 บ้านนายชุมพล เชื่อมวราศาสตร์(กำนันหลี) โดยบ้านหลังแรกพบปืนลูกซองสั้น จำนวน 1 กระบอก กระสุน 5 นัด พร้อมเครื่องกระสุนปืนขนาด .45 มม. จำนวน 19 นัด วิทยุสื่อสาร จำนวน 1 เครื่อง เครื่องบันทึกวิดีโอวงจรปิด 1 เครื่อง ส่วนบ้านหลังที่สองพบอาวุธปืนพกสั้น 4 กระบอก เครื่องกระสุนขนาด .380 จำนวน 2 กระบอก พร้อมเครื่องกระสุน ซองกระสุน 3 อัน เครื่องกระสุนขนาด .45 มม. จำนวน 31 นัด เครื่องกระสุน ขนาด .25 และ .38 จำนวน 95 นัด
       
        จุดที่ 7 บ้านนายสังเวียน นัดสูงวงศ์(ส.จ.สังเวียน) พบอาวุธปืนยาวขนาดต่างๆ จำนวน 7 กระบอก อาวุธปืนสั้นขนาดต่างๆ จำนวน 15 กระบอก เครื่องกระสุนขนาดต่างๆ จำนวน 715 นัด เครื่องบันทึกวิดีโอวงจรปิด จำนวน 1 เครื่อง และพบความผิดเพิ่ม คือมีการติดตั้งวิทยุสื่อสารของทางราชการโดยไม่ได้รับอนุญาต
       
        จุดที่ 8 บ้านนายธนพันธ์ โชคดำรงสุข(ส.จ.หมี) พบปืนยาว 1 กระบอก เครื่องกระสุน 2 นัด โพยสลากกินรวบ 4 แผ่น
       
        จุดที่ 9 บ้านนายสมบัติ ภู่แก้ว(กำนันแบน) พบอาวุธปืนลูกซอง 1 กระบอก อาวุธปืนสั้น 2 กระบอก เครื่องกระสุนปืนจำนวน 17 นัด โพยสลากกินรวบ 20 แผ่น
       
        จุดที่ 10 บ้านนายอภินันท์ ศิริรังษี(ส.จ.แขก) ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย
       
        จุดที่ 11 บ้านนายรัฐกร เจนกิจณรงค์(ส.ส.เบ้) พบอาวุธปืนสั้นขนาด .380 จำนวน 1 กระบอก กระสุน 18 นัด เครื่องบันทึกวิดีโอวงจรปิด 1 เครื่อง ฮาร์ดดิสก์ จำนวน 2 ชิ้น รถกระบะ 1 คัน รถยนต์เก๋ง 1 คัน รถจักรยานยนต์ 4 คัน
       
        จุดที่ 12 บ้านนายเอกพันธ์ คุปตวัช(นายกฟลุ๊ค) พบเครื่องบันทึกวิดีโอวงจรปิด 1 เครื่อง
       
        ทั้งนี้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ เผยว่า การจับกุมดังกล่าว สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้สืบสวนหาข่าวจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง พบว่า ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม มีบุคคลที่มีพฤติการณ์ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพล มีอาวุธสงคราม อาวุธปืน ยาเสพติดไว้ในครอบครอง และการฮั้วประมูล จึงได้รายงานผู้บังคับบัญชา และมีการจู่โจมตรวจค้นตั้งแต่เช้าตรู่วันดังกล่าว

 MGR Online       7 พฤษภาคม 2559