My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ข่าวเกี่ยวกับวงการแพทย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: story ที่ 25 กันยายน 2016, 19:55:39

หัวข้อ: สธ.จ่อพลิกรูปแบบ “คลินิกนอกเวลา” เช่น ร.ร.แพทย์ ดึงคนจ่ายเงินได้ออกจากระบบปกติ
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 25 กันยายน 2016, 19:55:39
“หมอปิยะสกล” ชี้คลินิกนอกเวลา รพ.สธ.เพิ่มรายจ่าย แนะเก็บค่าบริการเพิ่มแบบ ร.ร.แพทย์ ดึงคนที่กำลังจ่ายได้บ้างออกจากระบบปกติ ช่วย รพ.เลี้ยงตัวเองได้ ลดแออัด ลดเวลารอคิวบริการในเวลา นำร่อง รพ.ที่พร้อมและเหมาะสม เล็งศึกษาขัดระเบียบหรือไม่
       
       นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การเปิดคลินิกพิเศษนอกเวลาของโรงพยาบาลสังกัด สธ.มีความแตกต่างจากของโรงพยาบาลสังกัดโรงเรียนแพทย์ เนื่องจากคลินิกพิเศษนอกเวลาของโรงพยาบาลสังกัด สธ.เป็นการเพิ่มงบประมาณรายจ่าย ต้องจ่ายค่าอยู่เวรเพิ่มให้กับแพทย์ที่มาประจำ แต่ให้บริการประชาชนเหมือนการมารับบริการแบบในเวลา แต่โรงเรียนแพทย์มีการเก็บค่าใช้จ่าย เช่น ค่าตรวจ ค่าอุปกรณ์ต่างๆ แต่สามารถเบิกได้บางส่วน อย่างข้าราชการที่เลิกงานแล้วมารับบริการตอนเย็นก็จ่ายเพิ่มเองบางส่วน เบิกได้บางส่วน ทำให้คนที่มีกำลังจ่ายเองได้บ้างและสามารถเบิกได้ในบางส่วนยินดีที่จะมารับบริการ ทำให้การบริการในเวลาว่างมากขึ้น ช่วยลดความแออัดได้ และเพิ่มรายได้ให้โรงพยาบาล
       
       “รพ.สังกัด สธ.จะตั้งคลินิกพิเศษนอกเวลาก็ต้องใช้แนวคิดแบบโรงเรียนแพทย์ เปิดแล้วไม่กระทบต่องบประมาณ คือใครมาใช้บริการก็จ่ายเพิ่ม คนที่ต้องการแบบนั้นก็ไปที่คลินิกพิเศษได้ไม่ต้องมาตรวจรักษาที่ระบบปกติ ก็จะทำให้การให้บริการในระบบปกติลดความแออัดลง ไม่หนาแน่น เวลาในการรอตรวจก็จะน้อยลง เพราะคนไข้จำนวนหนึ่งเลือกที่จะไปใช้บริการที่คลินิกพิเศษ ขณะที่แพทย์ก็มีรายได้เพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายที่คนไข้สมัครใจจ่ายเอง และไม่กระทบต่องบประมาณของโรงพยาบาลที่รัฐจะต้องสนับสนุนเพิ่มขึ้น เพราะโรงพยาบาลสามารถนำเงินจากที่ให้บริการคลินิกนอกเวลามาดำเนินการเองได้ หากมีรายได้ส่วนเกินมากพอ หน่วยบริการก็สามารถนำมาใช้ในการจัดหาอุปกรณ์และสิ่งจำเป็นในการตรวจรักษาพยาบาลต่างๆได้ โรงพยาบาลสามารถเลี้ยงตัวเองได้ เป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์แบบบวก บวกกับทุกส่วน ทั้งคนไข้ เจ้าหน้าที่ และโรงพยาบาล” รมว.สาธารณสุขกล่าว
       
       นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า การจัดตั้งคลินิกพิเศษนอกเวลาแบบโรงเรียนแพทย์ใน รพ.สธ.จะต้องค่อยๆ เริ่มทำ โดยเริ่มจากโรงพยาบาลที่มีความพร้อมทั้งสถานที่ บุคลากรและจำนวนคนไข้ที่มีความแออัดมากในระบบปกติประจำวัน โดยในการจัดตั้งคลินิกนอกเวลาก็ไม่ใช่เป็นการก่อสร้างอาคารขึ้นมาใหม่ แต่ให้ปรับปรุงจากสถานที่ที่มีอยู่ก่อนแล้วค่อยๆ พัฒนาต่อไปเมื่อสามารถเลี้ยงตัวเอง อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นต้องเปิดทุกโรงพยาบาล เปิดเฉพาะโรงพยาบาลที่มีความเหมาะสม โดยโรงพยาบาลแต่ละแห่งจะต้องรู้สภาวะตัวเองว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ที่สำคัญก่อนที่จะเปิดให้บริการในลักษณะนี้จะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้ดีก่อน เมื่อเปิดแล้วต้องได้รับคำชมจากประชาชน โดยขณะนี้ได้มอบหมายให้มีการศึกษาว่าการเปิดคลินิกพิเศษนอกเวลาเช่นนี้จะติดขัดระเบียบของ สธ.ตรงไหน อย่างไร หรือไม่ หากไม่ติดขัดโรงพยาบาลที่มีความพร้อมก็สามารถดำเนินการเปิดให้บริการได้

โดย MGR Online       18 กันยายน 2559