ผู้เขียน หัวข้อ: สพผท.เตรียมฟ้องศาล หลังถูกกล่าวหาเจตนาล้มบัตรทอง พ่วงฟ้อง “วิทยา”  (อ่าน 1035 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
 สพผท.เตรียมฟ้องศาล กรณีกลุ่มรักหลักประกันฯ กล่าวหาว่า มีเจตนาล้มระบบหลักประกันสุขภาพ พ่วงฟ้อง “วิทยา” ไม่ดำเนินการตาม กม.กรณี เลขา สปสช.ถูก สตง.ท้วงติง ขณะผู้ประสานงานกลุ่มรักหลักประกันฯ ยันพร้อมหอบหลักฐานสู้คดี
       
       พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สพผท.) กล่าวว่า จากกรณีที่มีหลายองค์กรพยายามกล่าวอ้างว่า ตนและเครือข่ายพยายามจะล้มระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดย สผพท.จะฟ้องคดีกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในข้อหาหมิ่นประมาท เนื่องจากได้ถูกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวหาว่า จะล้มหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเราจะดำเนินการฟ้องคดีกรณีกลุ่มคนที่ใส่ความ สผพท.ให้ได้รับความเสียหายไปทั่วประเทศ ว่า มีแผนการสมคบคิดกันเป็นกลุ่มก๊วนจะล้มระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ทำให้ประชาชนโดยทั่วไปเข้าใจว่า สผพท.และมวลสมาชิกจะยกเลิกระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และจะเข้าไปหาประโยชน์จากงบประมาณส่วนนี้
   
       พญ.เชิดชู กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ จะยื่นคำร้องต่อประธานศาลฎีกาเรื่องความผิดของ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ในฐานะดำรงตำแหน่งผู้กำกับการทำงานของ สปสช. โดยจะยื่นคำร้องต่อประธานศาลฎีกาเพื่อขอให้ตั้งผู้ไต่สวนกรณี นายวิทยา บุรณศิริ ไม่ดำเนินการตามกฎหมายกับเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช.และผู้เกี่ยวข้องตามที่ สำนักงานตรวจสอบเงินแผ่นดิน (สตง.) ชี้ประเด็นความผิดของเลขาธิการและคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติวาระ พ.ศ.2548-2553 ซึ่งทำให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับความเสียหาย และสถานบริการสาธารณสุข รวมทั้งประชาชน ได้รับความเสียหาย กล่าวคือขาดงบประมาณที่จะใช้ในการปฏิบัติการดูแลรักษาประชาชนตามมาตรฐาน และการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในเรื่องอื่นๆ อีกมาก เช่น กรณี Vertical program
       
       นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ รองประธาน สผพท.กล่าวว่า เรื่องคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดำเนินการจัดโครงการ Vertical program (การให้บริการสาธารณสุขเชิงรุก) เช่น การผ่าตัดต้อกระจก โดยให้หน่วยบริการผ่าตัดต้อกระจกเชิงรุก โดยจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรกรรวมทั้งสิ้น 1,200 บาท โดยตั้งค่าตอบแทนในอัตรา 7,000 บาทต่อการผ่าตัดตา 1 ข้าง และถ้ามีโรคแทรกซ้อนจ่าย 9,000 บาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวต้องจ่ายผ่านเงินบำรุงของสถานบริการ แต่การผ่าตัดดังกล่าวเป็นการผ่าตัดในเวลาราชการ ซึ่งเป็นงานประจำที่มีเงินเดือนอยู่แล้ว แต่การจ่ายเช่นนี้ สปสช.ย่อมรู้อยู่แล้วว่า เป็นการผิดระเบียบที่ สตง.เคยทักท้วง
       
       “โครงการเชิงรุกดังกล่าวย่อมมีการพิจารณาโดยคณะกรรมการ สปสช.ซึ่ง รมว.กระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายและเสียหายต่อการบริหารราชการแผ่นดินของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2553 มีโครงการเช่นนี้แต่มีระเบียบให้โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งเข้าร่วมโครงการผ่าตัดต้อกระจกข้ามเขตข้ามจังหวัด ซึ่งผิดระเบียบดังกล่าว ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดต้อกระจก ซึ่งบางรายมีโรคแทรกซ้อน แต่ไม่ได้รับการติดตามผลและแก้ไข ปล่อยให้เป็นภาระของจักษุแพทย์ในพื้นที่เปรียบเสมือนการไข่แล้วทิ้งไม่ดูแล เป็นการผิดหลักจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตามประกาศ สปสช.วันที่ 28 ตุลาคม 2553 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการร่างคำร้อง ซึ่งน่าจะแล้วเสร็จประมาณสัปดาห์หน้า” นพ.ฐาปนวงศ์ กล่าว
       
       ด้าน นส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ทางกลุ่มไม่มีความกังวลใดๆ ต่อกรณีการเดินหน้าฟ้องศาลไม่ว่าในข้อใดๆ และพร้อมจะนำหลักฐานขึ้นสู้คดีหากมีการดำเนินการขึ้นมาจริงๆ ก็จะเป็นการดี เพราะจะได้ชี้แจงต่อศาลให้ชัดเจน ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และเชื่อมันว่า สิ่งที่ทางกลุ่มดำเนินการนั้นเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง

ASTVผู้จัดการออนไลน์    18 มกราคม 2555