ผู้เขียน หัวข้อ: หมัดแรกของสงครามแพทย์ยุค คสช.  (อ่าน 1560 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
หมัดแรกของสงครามแพทย์ยุค คสช.
« เมื่อ: 18 กรกฎาคม 2016, 10:32:44 »
ผมสัญญาว่าฉบับนี้ผมจะเขียนหมัดแรกของสงครามแพทย์ยุค คสช. จะไหวหรือเปล่าก็ยังไม่แน่

ผมไม่สบายมาเป็นเดือนแล้ว อ่อนเพลีย วิงเวียนและเดินเซ ผมโชคดีที่ได้หมอที่เก่งที่สุดหลายคน แต่กระนั้นก็ตาม ท่านพากันตรวจ(หา)โรคต่างๆในตัวผมอย่างสุดฝีมือและเทคโนโยโลยีที่บ้านเมืองเรามี ทุกท่านบอกว่าตับไตใส้พุงหัวใจปอดสมองของผมแข็งแรงเหมือนคนหนุ่มอายุ 60 แต่อนิจจา ไม่มีหมอท่านใดตรวจ(อาการ)ผมเลย ผมจึงยังไม่ได้รีบการรักษาใดๆทั้งสิ้นนอกจากคำแนะนำอันล้ำค่าว่าอย่าเครียดและพักผ่อนนอนหลับให้มากๆ

ผมไม่เครียดนะครับ ที่ผมจะเขียนถึงสงครามแพทย์ขณะนี้ก็ด้วยจิตที่ว่างและเป็นธรรมอย่างยิ่ง เพราะผมว่ามันมีผลกระทบถึงคนไข้ทุกคน โดยเฉพาะคนยากคนจนที่เข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดๆ

พูดแล้วก็ทำให้ผมนึกถึงบุญคุณของบุคคลเหล่านี้ที่มีต่อประชาชนคนไทยทั่วไป คือ นายกคึกฤทธิ์สำหรับโครงการรักษาฟรีทุกโรค หมอสงวนสำหรับสูตร 30 บาทรักษาทุกโรค นายกทักษิณที่นำความคิดหมอหงวนไปทำ หมอรมว.มงคล ณ สงขลา ที่ขจัดอิทธิพลอุตสาหกรรมผูกขาดยาโลกทำให้คนยากคนจนเข้าถึงยาถูก (ถึงแม้อาจจะไม่รู้ตัวว่าเป็นเหตุสำคัญทางอ้อมที่ทำให้เกิดสงครามแพทย์ก็ตาม)

เมื่อผมยังเด็กไม่ถึง 10 ขวบบ้านอยู่ในโรงพยาบาล ผมเป็นไข้รากสาดอย่างแรง สมัยนั้นยังไม่มียาปฏิชีวนะหรือเพนนิสซิลิน ถ้าผมไม่ใช่ลูกหมอผมก็คงหมดเวรไปนานแล้ว พ่อย้ายผมออกจากโรงพยาบาลมานอนอยู่บ้านชายทุ่งลมโชย ประคบประหงมดูแลผมอยู่เป็นปี ผมจึงรอดตายขึ้นมาเป็นเด็กง่อย
ที่ผมพูดนี้เพราะผมต้องการให้ทุกคนรำลึกถึงความสำคัญของการเข้าถึง(คนที่เป็น)หมอ ไม่ว่าจะอยู่นอกหรือในโรงพยาบาลก็ดี

ผมจึงเห็นว่า เป็นหน้าที่ของผมที่จะต้องเขียนถึงเรื่องสงครามแพทย์ ไม่ใช่ให้แพทย์ยิ่งแตกกันมากขึ้นไป จนกระทั่งฉิบหายไปทั้งอาชีพ ปล่อยให้คนไข้เป็นเหยื่อของยถากรรม แต่เพื่อให้เราสามารถพัฒนาระบบสาธารณสุขใหเเข้าถึงประชาชนอย่างจริงจังเสียที

บุคคลสำคัญ 3 คนที่โทรมาหาผมหลังเหตุการณ์วุ่นวายสปสช.วันที่ 4 กรกฎาคมล้วนเป็นเหยื่อหมัดแรกด้วยกันทั้งสิ้น วิธีการแก้ของท่านน่าจะมิใช่การรำมวยเข้าไปสมทบ แต่ควรจำเริญ เวสารัชชกรณธรรม ๕ หรือธรรมทั้ง ๕ ที่ทำให้เกิดความแล้วกล้าเสียก่อน แล้วกลับไปปฏิบัติหน้าที่ของใครของมันตามครรลองที่ชอบธรรมตามหลักเกณฑ์และกฎหมาย

ท่านทั้ง 3 เช่นเดียวกับสังคมไทย และท่านที่สนใจเรื่องนี้ ไม่ว่าท่านจะถือหางผู้ใดก็ตาม จะได้ข้อมูลและข้อคิดที่เป็นประโยชน์มาก ถ้าหากท่านจะได้อ่าน "รายงานการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วันที่ 19 กรกฎาคม 2517"
นั่นเป็นเรื่องราวของสงครามแพทย์ครั้งที่ 1

บุคคลที่กรุณาโทรมาหาผม 3 ท่านได้แก่ 2 ท่านแรกก่อน 6 กรกฎาคม

1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
2. นายแพทย์เกรียงไกร (ขอประทานโทษจำนามสกุลไม่แม่น) ชมรมแพทย์ชนบท
3. ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิทย์ อาจารย์นิดา และคู่กรณีกับสปสช.ร่วมกับแพทย์หญิงเชิดชู

ทั้งท่านรัฐมนตรีทีผมนิยมเลื่อมใส และคุณหมอเกรียงไกรที่ผมยังไม่เคยมีโอกาสพบเป็นกิจลักษณะมีความประสงค์จะให้ข้อมูลที่ท่านมีกับผม ผมได้ขอโทษทั้งคู่ไปว่าโปรดชลอไว้ก่อน ผมพร้อมจะฟังต่อเมื่อผมได้ให้สัมภาษณ์วิทยุหรือทีวีชุมนุมผู้ใช้บริการสาธารณสุข(ชื่อจริงๆผมจำไม่ได้) ในวันที่ 6 กรกฎาคมเสียก่อน ผมได้ขอข้อมูลที่สื่อคณะนั้นมีพร้อมทั้งคำถามล่วงหน้า
เพื่อผมจะได้ตอบได้โดยไม่เข้าข้างหนึ่งข้างใด แต่อาจจะชี้ให้เห็นถึงข้อหรือความบกพร่องของระบบที่อาจจะทำให้คนดีๆทุกฝ่ายตกเป็นเหยื่อ ผมไม่ต้องการเกี่ยวข้องกับตัวบุคคล

ความจริงผมได้เรียนท่านรัฐมนตรีไปว่าในอนาคตอันใกล้นี้ผมอยากเห็นท่านพาประเทศไทยไปประกาศความเป็นผู้นำโลกทาง integrative medicine เพราะไทยเรามีมรดกและคุณสมบัติเหนือผู้อื่นในโลก แต่จะต้องไปทำในต่างประเทศ เพราะในประเทศระบบการเมืองและราชการไม่เอาไหน ซ้ำยังมายกพวกตีกันเสียอีก

ในวันที่ 6 นั้นสื่อที่นัดสัมภาษณ์ผมไม่รักษาสัญญา ผมจึงต่อว่าสื่อว่าจะเอาแต่สนุกยุให้คนตีกัน ตั้งแต่วนนั้นมาทั้ง 2 ท่านและสื่อมิได้โทรมาหาผมอีกเลย

3. ดร.อานนท์ ทีผมรักและนับถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่กล้าหาญเอาจริง ส่งข่าวผ่านคนที่คุ้นเคยว่าเป็นห่วงผมเพราะผมเล่นกับชมรมแพทย์ชนบทเต็มๆ กลัวผมจะเสีย ผมขอบคุณไปและบอกว่าไม่ต้องเป็นห่วง อีกไม่นานผมก็จะเสียแล้ว คนอายุขนาดผมจะอยู่ได้นานสักเท่าไร ถ้าเสียผมไปเมื่อไรจะขาดคนที่รักแพทย์ รู้จักแพทย์และสาธารณสุขเมืองไทยมาตลอดชีวิต

วันพุธที่แล้วดร.อานนท์ไลนมาว่าต้องมาพบผมให้ได้เพราะมีข้อมูลสำคัญ ซึ่งนายกเอาด้วยแล้ว ผมบอกว่าอย่ามาเลยส่งข้อมูลมาก็ได้ ผมกำลังจะต้องออกไปประชุมที่วัดบวรฯ เรื่องที่จะประชุมยังเตรียมไม่เสร็จเลย

ผมต้องขออภัยท่านทั้ง 3 อย่างยิ่งที่นำเรื่องมาเล่าโดยขออนุญาตไม่ทัน แต่ผมเห็นว่าทุกท่านหวังดีต่อบ้านเมืองแลให้เกียรติผม ที่ผมเขียนนี้มีเจตนาจะยกย่องท่าน และขอพึ่งท่านเป็นตัวอย่างหรือบทเรียนเพื่อจะช่วยให้สังคมเรารู้จักแก้ปัญหาและข้อขัดแย้งให้มีสัมฤทธิผล

ผมคิดว่าสังคมเราและโดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรหรือสถาบันต่างๆน่าจะเรียนรู้สร้างบันทัดฐานที่เปิดเผยและมีคุณภาพ เพื่อให้เกิดการบริหารที่โปร่งใสตามขั้นตอนและวัตถุประสงค์ที่วางไว้ล่วงหน้าอย่างถูกต้อง และมีวิธีการแก้ความขัดแย้งที่ขึ้นกับหลักการ หลักเกณฑ์และหลักฐาน มิใช่ขึ้นกับตัวบุคคลหรือผู้นำที่สักแต่ว่าจะใช้อำนาจ สังคมไทยกลายเป็นสังคมชั่วคราวที่ไม่น่าเชื่อถือเพราะติดยึดบุคลาธิษฐานและอำนาจ ที่มาแล้วก็ไป

ยังมีท่านผู้หวังดีที่อ่านเฟสบุ๊กแล้วเขียนถึงผมโดยตรงให้ข้อมูลและข้อคิดที่ดีๆ บ้างก็อนุญาตให้เปิดเผย บ้างก็บอกให้เอาข้อมูลไปใช้เฉยๆ

เรื่องสงครามแพทย์นี้เป็นเรื่องใหญ่ กระทบกระเทือนถึงชีวิตและอนาคตของประชาชนและลูกหลานบ้านเมือง การมีข้อมูลและการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบจึงจำเป็นอย่างยิ่ง สถาบันการศึกษาและวิจัยมัวแต่ทำอะไรอยู่ กรรมาธิการสาธารณสุขในสภาก็เช่นเดียวกัน

ผมกำลังรอคำตอบอนุญาตจากผู้ใหญ่ 2 ท่านที่เข้าใจความเป็นมาและตัวบุคคลในสงครามแพทย์ รวมทั้งผู้ปล่อยหมัดแรกเป็นอย่างดี

คอยนิดนะครับ ทราบแล้วรีบตอบด้วย

หมายเหตุุ: เวสารัชชกรณธรรม ธรรมที่ทำให้เกิดความกล้าหาญ


พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงวางหลัก 5 ประการ เรียกว่า เวสารัชชกรณธรรม ธรรมที่ให้เกิดความกล้าหาญเพื่อให้เราสามารถเอาชนะความวิตกกังวลให้ได้ดังนี้

1.ศรัทธา มีความเข้าใจในเรื่องของกฎแห่งกรรม โลกนี้โลกหน้า บุญบาป เพราะถ้าหากไม่เข้าใจเรื่องดังกล่าว ความคิดจะคับแคบ คิดได้แต่เรื่องสมมุติที่นำมาซึ่งความวิตกกังวล

2.ศีล การรักษาศีลจะทำให้เราเป็นผู้แกล้วกล้าอาจหาญในท่ามกลางที่ประชุมชน เพราะไม่มีความผิดบาปอันใดให้ต้องปกปิด ไม่มีความวิตกกังวลว่าใครจะมาล่วงรู้ข้อผิดพลาด เพราะมือที่ไม่มีบาดแผล ย่อมไม่กลัวยาพิษ เราต้องทำตัวให้เป็นคนไม่มีบาดแผล คือรักษาศีลให้ดีสิ่งนี้จะเป็นเกราะคุ้มกันภัยให้กับชีวิต ไม่ให้บาปอกุศลมาตัดรอน เราจะดำเนินชีวิตด้วยความสุขสบายใจ โปร่งใจ ปลอดกังวลแต่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเชื่อมั่นกล้าหาญ

3.พาหุสัจจะ การเป็นผู้ที่มีความรู้มาก จะทำให้เกิดความเชื่อมั่น ดังนั้นไม่ว่าเราจะทำเรื่องอะไรก็ตามต้องศึกษาหาความรู้เรื่องนั้นให้แตกฉาน ให้มีความเชี่ยวชาญรู้จริง เมื่อเรารู้จริงแล้วเราก็จะเกิดความเชื่อมั่นและสามารถทำสิ่งนั้นให้สำเร็จได้

4.วิริยารัมภะ ความพากเพียรวิริยะอุตสาหะ หนักเอาเบาสู้ เป็นพลังสร้างความเชื่อมั่นได้ เมื่อมีปัญหาเกิดอุปสรรคขึ้นมา อย่าเสียเวลานั่งวิตกกังวลแต่ให้ไตร่ตรองดูปัญหาให้รอบคอบด้วยความไม่ประมาท แล้วจึงเดินหน้าสู้ต่ออย่าอยู่เฉย เพราะถ้าอยู่เฉยก็จะคิดวิตกกังวลหมกหมุ่นอยู่กับเรื่องนั้นไม่รู้จบ ดังนั้นจงเดินหน้าทำงานเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนั้นหรืออาจทำงานเรื่องใหม่ที่สำคัญยิ่งขึ้นไป เพราะคนเราหาทุ่มเทกับงานใดใจจะไปจดจ่ออยู่กับงาน แล้วความคิดก็จะเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ทำให้ก้าวไปข้างหน้าได้

5.ปัญญา การเจริญสมาธิภาวนา ทำให้เกิดปัญญาในระดับภาวนามยปัญญา เพราะเมื่อเรานั่งสมาธิบุญก็หล่อเลี้ยงใจ พลังบุญจะหนุนส่งพลังใจ ให้เราสามารถเอาชนะความกังวลทั้งหลาย แล้วก็ปฏิบัติภารกิจทุกอย่างได้สำเร็จตามที่ตั้งใจทุกประการ

...............................................................................
เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 ศ.ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการอิสระ

กล่าวในการให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการชวนคิดชวนคุย ของสมาคมเครือข่ายนักสื่อสารชุมชน ออกอากาศทาง www.aorsocho.com ว่า

สถานการณ์ของเมืองไทยในขณะนี้ ผู้นำประเทศตั้งแต่สูงสุดลงมา ถึงรัฐมนตรี นายกสภามหาวิทยาลัย กรรรมการสรรหาทั้งของหน่วยงานอื่นก็ดี และของ สปสช.ก็ดีไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ เพราะมักไม่ทำตามหลักการ หลักเกณฑ์ และหลักฐานในเรื่องที่กระทบถึงประชาชน ถึงผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยก็ดี หรือกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ดีที่ต้องรับผิดชอบต่อคนไข้ทั่วประเทศ

ดังนั้นการตัดสินใจในเรื่องใด ต้องยืนอยู่บนหลักการที่ถูกต้อง ไม่ออกนอกหลักเกณฑ์ หากไม่ยืนหยัดหลักการและหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องเมื่อไหร่ การตัดสินใจก็จะเป็นในลักษณะที่ใครอยากจะได้ใคร ก็ทำได้ ใช้ดุลยพินิจส่วนตัวที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมาย ทำแบบนี้ก็ไม่เกิดประโยชน์กับส่วนรวม

ศ.ดร.ปราโมทย์ กล่าวต่อว่า ในทางการปกครอง หากกลับไปทบทวนและพบว่าทำผิดหลักการและผิดหลักเกณฑ์จริง รมว.สาธารณสุข ก็มีหน้าที่ต้องแก้ไขให้ถูกต้อง แทนที่จะปล่อยให้เกิดสถานการณ์ยกพวกตีกันบนรากฐานของการตีความกฎหมายที่ต่างกัน สถานการณ์ของ 30 บาทรักษาทุกโรค ณ เวลานี้ ตนไม่อยากเห็นสิทธิการรักษาของประชาชนที่ได้รับการยกย่องจากต่างประเทศว่าดี กลายเป็นเรื่องที่กระทบผู้ป่วย จากที่ผู้ป่วยกล้าไปรักษาเพราะรู้ว่ามีสิทธิ ต้องกลายเป็นไม่กล้าไปรักษาเพราะเหมือนเป็นผู้มีรายได้น้อยที่รอความอนุเคราะห์จากหมอ จากโรงพยาบาล ตนไม่อยากให้คิดว่าโครงการนี้เกิดในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตรแล้วต้องทำลาย แม้ว่าความจริงโครงการนี้จะมีที่มาจากข้อเสนอของกลุ่มหมอๆ แต่เกิดในรัฐบาลทักษิณ ซึ่งประชาชนได้ประโยชน์อย่างมาก

“ผมห่วง รมว.สาธารณสุขที่เป็นสุภาพบุรุษ เมื่อเข้ามาก็ทำให้เกิดความสงบพอสมควร แต่ในระยะหลังอาจจะถูกชักนำ เข้าใจผิด ไม่เอาหลักการ หลักเกณฑ์ที่ถูกต้องมาใช้ สถานการณ์ตอนนี้เหมือนขิงก็รา ข่าก็แรง การทำงานก็จะล้าหลัง และคนที่แพ้คือประชาชน การทำงานนั้น เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องแก้ไขให้ถูกต้องตามหลักการ หลักเกณฑ์ และหลักฐาน” ศ.ดร.ปราโมทย์ กล่าว
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18 กรกฎาคม 2016, 10:37:23 โดย story »

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
จดหมายเปิดผนึกถึงดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 18 กรกฎาคม 2016, 10:34:12 »
18 กรกฎาคม 2559
กราบเรียนท่านผู้อาวุโส

ดิฉันได้รับเกียรติจากท่านที่อ้างถึงว่าเป็นคู่กรณีกับสปสช. ท่านคงหมายถึงกรณี ที่ท่านเรียกว่า "สงครามแพทย์"

ดิฉันเห็นด้วยว่ามันเป็นสงคราม แต่น่าจะเป็น "ธรรมา-ธรรมะสงคราม" กล่าวคือสงครามเพื่อแก้ไขให้เกิดธรรมาภิบาลในระบบการแพทย์ สาธารณสุขและหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ดิฉันยอมรับว่ากลุ่มหมอสงวน หมอมงคล ที่ท่านอาจารย์ปราโมทย์กล่าวถึง (รวมทั้งหมอประเวศ ที่ท่านอาจารย์ปราโมทย์ไม่ได้กล่าวถึงนั้น) ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในการทำให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่สามารถทำให้อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ออกกฎหมายหลักประกันสุขภาพที่ทำให้ประชาชนคนไทย “กล้า”ที่จะไปโรงพยาบาลในเวลาป่วยแม้ไม่มีเงินในกระเป๋าซักบาทเดียว

แต่การบริหารจัดการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น มันผูกขาดอยู่กับคน 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มที่เติบโตมาจากสมาชิกชมรมแพทย์ชนบท และกลุ่มที่ 2 คือเครือข่ายNGO ที่ได้ประโยชน์จากการเข้ามามีส่วนร่วมในการ “แบ่งปันผลประโยชน์โดยมิชอบ” จากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

กลุ่มคนทั้งสองกลุ่มนี้ ได้รับการจัดตั้งและเข้ามาเป็นกรรมการ อนุกรรมการ ในสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และยังขยายเครือข่ายหรือทำโครงการ จัดตั้งมูลนิธิเพื่อรับเงินจากงบประมาณแผ่นดิน ไปทำกิจการต่างๆนานาสารพัดสารพัน รับทุนวิจัย (แต่ผลงานวิจัยจะคุ้มทุนหรือไม่ ยังน่าสงสัยและน่าจะช่วยกันค้นหาคำตอบ)

ผลจากการทำเช่นนั้น ทำให้งบประมาณที่ควรจะตกไปเป็นประโยชน์แก่ประชาชนพลเมืองโดยตรง กลับหายไปอย่างมากมายมหาศาลทุกๆปี ทำให้โรงพยาบาลต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ได้รับเงินมาทำการดูแลรักษาประชาชน น้อยกว่าที่รัฐบาลจัดสรรมาให้อย่างน้อยประมาณ 35%

การขาดงบประมาณในการดูแลรักษาประชาชนในระบบ 30บาทนี้ เป็นมานานตั้งแต่เริ่มระบบนี้ในปี 2546 และพวกเรา(หมายถึงดิฉันและบุคลากรทางการแพทย์)ท่ำงานในกระทรวงสาธารณสุข ต่างรู้ดีว่า นี่คือผลพวงที่เกิดจากการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพโดยกลุ่มคน 2 กลุ่มที่กล่าวข้างต้น

ท่านอาจารย์ปราโมทย์จะกล่าวหาว่าเราเริ่มปล่อยหมัดแรกหรือเริ่มสงครามก่อนก็ได้

แต่เป็นสงครามที่เกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจในการบริหารบ้านเมือง เข้ามาทำการตรจสอบการใช้งบประมาณแผ่นดินของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อขจัดการทุจริตประพฤติมิชอบ และการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interest) ของคนสองกลุ่มที่กล่าวถึงข้างต้น

และ เพื่อสอบสวนและนำงบประมาณแผ่นดินของกองทุนหลักประกันสุขภาพกลับคืนมาให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนตาดำๆอย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลรักษาด้วยยาและเครื่องมือแพทย์ที่มีประสิทธิผลและมีมาตรฐานเท่าเทียมกับนานาอารยะประเทศ ประชาชนพลเมืองไทยจะได้มีสุขภาพดี มีคุณภาพชีวิตดี

ดิฉันได้ติดตามศีกษา/วิเคราะห์การทำงานของสปสช.และองค์กรตระกูลส.อื่นๆมาอย่างยาวนาน และเคยไปพบท่านอาจารย์ปราโมทย์ครั้งหนึ่ง (โดยมีแพทย์ประจำตัวท่านพาไปที่บ้านท่าน) และได้มอบหนังสือและเอกสารมากมาย เกี่ยวกับความไม่สุจิตโปร่งใสในการทำงานของกลุ่มคนตระกูลส.และองค์กรตระกูลส.

แต่ท่านจำได้ไหมว่าท่านเคยพูดกับดิฉันตรงๆว่า “ผมไม่เชื่อ”(ที่ดิฉันบอกท่าน) มันก็เป็นสิทธิของท่าน

แต่ดิฉันก็จะขอร้องให้ท่านศึกษาและวิเคราะห์ในหลัก “เวสารัชชกรณธรรม ธรรมที่ทำให้เกิดความกล้าหาญ” ที่ท่านกรุณานำมาเผยแพร่ ให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง เพื่อจะมี “ดวงตาเห็นธรรม” มองทุกอย่างด้วยใจเป็นกลาง ด้วยจิตว่าง ปราศจากความรัก โลภ โกรธ หลง แล้วท่านก็จะไม่เสียคน ก่อนที่จะเสียใจไปตลอดชีวิต

อยากจะกราบเรียนท่านว่า พวกเรามีความกล้าหาญตาม “เวสารัชชกรณธรรม”นี้ จึงได้ถูกข่มขู่หลายครั้งว่าจะฟ้องศาล หรือถูกฟ้องไปแล้วจริงๆก็มี

แต่พวกเราก็ไม่กลัวที่จะนำความจริงมาเปิดเผย เพราะทุกคนเมื่อเกิดแล้วก็ต้องตายทุกคน แต่ก่อนตายถ้าได้ทำงานเพื่อความถูกต้องของสังคม ก็ไม่เสียทีที่เกิดมาชาติหนึ่ง

ขอแสดงความนับถือ

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
กลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง
สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท.)
กรรมการแพทยสภา(โดยการเลือกตั้ง)
ที่ปรึกษาสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ที่ปรึกษากิติมศักดิ์ กรรมกาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
ผมไม่ใช่คู่กรณีกับ สปสช หรือ ตระกูล ส
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 18 กรกฎาคม 2016, 10:42:13 »
ผมไม่ใช่คู่กรณีกับ สปสช หรือ ตระกูล ส แต่ผมเป็นคู่กรณีกับความไม่ถูกต้องของสปสช และ ตระกูล ส

ผมเห็นด้วยกับโครงการบัตรทอง แต่ไม่เห็นด้วยเลยกับความไม่ชอบมาพากลฉ้อฉลทุจริตของโครงการบัตรทอง สปสช และตระกูล ส

ไม่มีใครอยู่เบื้องหลังผม และผมไม่ได้ทำงานตามใบสั่งใคร และไม่ได้ผลประโยชน์อะไรใดๆ จากใครทั้งนั้น ไม่ว่าจะบริษัทยา บริษัทเหล้า บุหรี่ บริษัทประกันภัย โรงพยาบาลเอกชน หรือแม้แต่หน่วยงานใดๆ มีแต่เปลืองตัว

อนึ่งผมไม่ทราบด้วยว่าท่านนายกรัฐมนตรีจะจัดการอย่างไรกับ สปสช หรือ ตระกูล ส ต่อไป แต่ผมเชื่อว่าท่านนายกรัฐมนตรีจะทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ

แต่ผมเชื่อมั่นในหลักฐานอันแน่นอน โดยเฉพาะเอกสารหลักฐานทางสถิติ ระบาดวิทยา และการบัญชี ซึ่งผมได้เรียนมาโดยตรง และเอกสารทางกฎหมาย ตลอดจนผมการตรวจสอบของหน่วยราชการ อันได้แก่ คตร ศอตช สตง คตง ตลอดจนกฤษฎีกาที่ทำหน้าที่ตีความกฏหมาย

ผมมีเอกสารเหล่านี้อยู่ในมือเป็นนับพันๆ ฉบับ และได้ทำสำเนาเก็บไว้ทั้งในประเทศไทย และในต่างประเทศ ทั้ง hard copy และ soft files มีครบหมดทุกอย่าง และมีผู้ที่สามารถเข้าถึงได้มากกว่าตัวกระผมเอง

ทั้งนี้เอกสารเหล่านี้ได้ยื่นให้กับทางราชการผู้มีหน้าที่ตรวจสอบ กำกับดูแลความสุจริตในระบบการเงิน และคงเป็นคดีความทางกฎหมายต่อไปในอนาคตอีกยาวนาน และผมเชื่อมั่นในความถูกต้องและความยุติธรรม

ผมต้องขอขอบคุณผู้บริหารระดับสูงใน สสส สปสช และ สวรส ที่ได้กรุณาส่งเอกสารหลักฐานเหล่านี้มาให้ผมเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อทำความจริงให้ปรากฎ

ผมไม่มีส่วนได้เสียใดๆ ไม่ได้เป็นแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ แต่ทำหน้าที่นักวิชาการด้านสถิติ ด้านวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง ตามหลักวิชาการโดยสุจริตใจ ตามพระราชปณิธาณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงจัดตั้งคณะสถิติประยุกต์ ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ด้วยพระองค์เอง ดังนี้

“เวลานั้นประเทศไทยกำลังตื่นตัวที่จะมีการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานดำริแก่ประธานกรรมการบริหารสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ คือ ม.ล. เดช สนิทวงศ์ ม.ล. เดช ท่านก็บอกผมว่าในหลวงมีพระราชดำริ ในการพัฒนานั้นต้องใช้ข้อมูล ใช้สถิติมาก และถ้ามีการตั้งสถาบันขึ้นมาสอนวิชาเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ เน้นการให้วิชาในการสร้างคนเตรียมไว้เพื่อจะส่งเสริมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การเมืองเป็นไปได้ดีเร็วขึ้น”

พระเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ครั้งแรกว่า

...ท่านทั้งหลายที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ เป็นผู้ที่เชื่อได้ว่า มีความรู้ความสามารถสูง จึงเป็นที่หวังของคนไทยทั้งชาติ รวมทั้งของข้าพเจ้าด้วย ที่จะได้อาศัยความรู้ ความคิด สติปัญญา และความสามารถ ในอันที่จะนำพาประเทศชาติให้ก้าวไปสู่ความมั่นคง และสมบูรณ์พูนสุข ขอให้ท่านรับหน้าที่อันมีเกียรตินี้ด้วยความมั่นใจ ตั้งใจและบริสุทธิ์ใจ แล้วร่วมกันปฏิบัติหน้าที่น้อยใหญ่ให้ลุล่วงไป ด้วยความขยันหมั่นเพียรและด้วยความสุจริต เที่ยงตรง ทั้งต่อตนเองและต่อประชาชน.....

ผมเองนอกจากจะเป็นศิษย์เก่าสถาบันแห่งนี้แล้วยังเป็นอาจารย์ในสถาบันแห่งนี้ สอนวิชาที่เกี่ยวข้องกับ ประกันภัย ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ โดยตรง มีความรู้ทางการบัญชี การเงิน สถิติ และระบาดวิทยา อยู่พอสมควร ซึ่งน่าจะทำหน้าที่เป็นประโยชน์กับประเทศได้บ้างเพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณและตอบแทนคุณแผ่นดิน

ผมจึงต้องขอปวารณาตัวทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของ สปสช และ ตระกูล ส ตามภารกิจหน้าที่นักวิชาการ โดยสุจริตใจ ไร้ผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ โดยอาศัยหลักวิชา และความสามารถ และข้อมูลเชิงประจักษ์ (Empirical Evidence) เป็นสำคัญ โดยไม่สนใจว่าใครจะรู้จักกับใคร มีพรรคพวกมากแค่ไหน จะใหญ่โตแค่ไหน ก็ไม่สามารถเอาชนะความถูกต้องได้ทั้งสิ้น

ทั้งนี้คำตัดสินของศาลปกครองกลาง ได้พิพากษาลงมาว่าผมแม้จะไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง แต่ทำหน้าที่ องคาพยพในการตรวจสอบของรัฎฐาธิปัตย์ คือ คสช ตามคำสั่ง คสช เพราะผมได้ไปฟ้องที่ศาลปกครองมา อันแสดงให้เห็นว่าศาลปกครองกลางก็ยอมรับบทบาทหน้าที่ในการตรวจสอบของผมในฐานะนักวิชาการ

นี่คือเหตุที่ผมต้องออกมาต่อสู้

สำหรับ ดร ปราโมทย์ นาครทรรพ นั้นเป็นบุคคลที่ผมเคารพรักยิ่งเป็นการส่วนตัว จึงกราบขอบพระคุณอาจารย์ที่กรุณาให้เกียรติกระผม และขอชี้แจงด้วยความถ่อมใจยิ่งมา ณ ที่นี้

อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์