ผู้เขียน หัวข้อ: สปส.เผยยอดร้องเรียนรพ.ในระบบ406กรณี  (อ่าน 1748 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9761
    • ดูรายละเอียด
สปส.เผยยอดร้องเรียนรพ.ในระบบ406กรณี
« เมื่อ: 28 มิถุนายน 2011, 20:24:44 »
เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล ผอ.สำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กล่าวว่า ปัจจุบัน สปส.มีโรงพยาบาลรัฐและเอกชน คลินิกที่เป็นเครือข่ายสถานพยาบาลในระบบประกันสังคมทั้งสิ้น 2,120 แห่ง โดยในช่วงตั้งแต่เดือน ม.ค. 2553 จนถึงเดือน พ.ค. 2554 มีผู้ประกันตนร้องเรียนเรื่องการรักษาพยาบาลทั้งหมด 406 ราย ส่วนใหญ่ร้องเรียนใน 3 ประเด็นได้แก่

1. การบริหารจัดการ

2. พฤติกรรมการให้บริการ และ

3. มาตรฐานการให้บริการ

โดยเฉพาะมาตรฐานการให้บริการนั้นมีการร้องเรียนมากที่สุด เช่น ตรวจรักษาไม่ละเอียดทำให้ไม่พบโรค รักษาล่าช้า เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจควรผ่าตัดทำบายพาสแต่กลับไม่ผ่าตัด ไม่ยอมส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลอื่น กรณีนี้ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งบางแห่งทำเพื่อต้องการเงินจากประกันสังคม
   
นพ.สุรเดช กล่าวอีกว่า หาก สปส.ตรวจสอบพบว่าโรงพยาบาลประกันสังคมรักษาไม่ได้มาตรฐานการให้บริการ เช่น ไม่ยอมส่งต่อผู้ป่วย จะมีบทลงโทษตั้งแต่ตักเตือน ภาคทัณฑ์ ลดโควตาผู้ประกันตนและยกเลิกสัญญา ที่ผ่านมามีโรงพยาบาลถูกยกเลิกสัญญา 3 ราย ส่วนกรณีโรงพยาบาลประกันสังคมตรวจรักษาคนไข้ไม่ละเอียด ทำให้ไม่พบโรคและผู้ประกันตนไปรักษาโรงพยาบาลอื่น ๆ แล้วพบโรค หากตรวจสอบแล้วพบข้อบ่งชี้ว่าโรงพยาบาลประกันสังคมรักษาไม่ได้มาตรฐานการให้บริการ โรงพยาบาลประกันสังคมแห่งนั้น จะต้องรับผิดชอบจ่ายค่ารักษาให้แก่ผู้ประกันตน
   
“ส่วนกรณีโรงพยาบาลประกันสังคมรักษาไม่เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ ส่งผลให้ผู้ประกันตนต้องพิการหรือเสียชีวิตจากการรักษาพยาบาลซึ่งที่ผ่านมามีกรณีเสียชีวิต 1 ราย สปส.จะส่งเรื่องต่อไปยังกองการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขเพื่อพิจารณาว่า จะให้โรงพยาบาลช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกันตนหรือญาติอย่างไรโดยให้ทั้งสองฝ่ายมาเจรจากัน” นพ.สุรเดช กล่าว
   
นพ.สุรเดช กล่าวด้วยว่า การพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์นั้น สปส.ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีโรคและยาที่เสียค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคไต โรคเรื้อรัง ทันตกรรม ยาราคาแพง และเตรียมจะเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านอุปกรณ์ เช่น ลิ้นหัวใจ สายสวนหัวใจด้วย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ประกันตน และจัดระบบตรวจสอบมาตรฐานการให้บริการโดยเฉพาะกระบวนการให้บริการเข้มข้นมากขึ้น รวมทั้งให้ผู้แทนผู้ประกันตนกับโรงพยาบาลมาพูดคุยกันถึงปัญหาต่าง ๆ เพื่อทำความเข้าใจและแก้ปัญหาร่วมกัน ให้ระบบการบริการสังคมสามารถตอบสนองผู้ประกันตนได้ดียิ่งขึ้น.

เดลินิวส์  28 มิถุนายน 2554