ผู้เขียน หัวข้อ: หมอเมือง'ชน'หมอชนบทสพศท.เตรียมขนม็อบพันคนหนุนสธ.ใช้'P4P'จ่ายค่าตอบแทน 25มี.ค.  (อ่าน 1025 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
แพทย์ชนบทแห่โลงศพชุมนุมหน้าทำเนียบ26มี.ค. ไล่"หมอประดิษฐ" ชมรมเภสัชกรฯ ออกมาหนุน สธ.ให้ใช้ P4P จ่ายค่าตอบแทน เชื่อเพิ่มความเป็นธรรม-สร้างขวัญกำลังใจ สวนทางกลุ่มแพทย์ชนบทออกมาคัดค้านก่อนหน้านี้ อัดคนค้านเป็นพวกไม่ทำงาน ด้านปลัด สธ.พร้อมรับข้อเสนอทุกวิชาชีพมาปรับปรุง ขณะที่ สพศท.เตรียมขนม็อบกว่า 1 พันคน 25 มี.ค.นี้ หนุน สธ. เดินหน้า P4P ตัดหน้าแพทย์ชนบทที่ไปค้านหน้าทำเนียบ 1 วัน ขณะที่แพทย์ชนบทเตรียมแห่โลงศพ หมอประดิษฐ-วางพวงหรีด

จากกรณีที่แพทย์ชนบทจะนัดชุมนุมประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาลทุกวันอังคาร เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2556 จนกว่านางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะปรับ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) พ้นจากตำแหน่ง และขึ้นป้ายประณามรมว.สธ.ที่รพช. เนื่องจากไม่พอใจที่ สธ.จะปรับการจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ส่วนที่ไม่ใช่เงินเดือนจากแบบอัตราเดียว (Flat rate) เป็นแบบจ่ายตามผลการปฏิบัติงาน หรือ พีฟอร์พี (P4P : Pay for Performance) ซึ่งมีการจัดแบ่งพื้นที่ตั้งของโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ใหม่ ทำให้บางพื้นที่ถูกปรับลดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายหรือเบี้ยกันดาร ซึ่งจะเริ่มจ่ายระยะแรกในวันที่ 1 เมษายน 2556 ก่อนมีการประเมินผลและจ่ายระยะ 2 ในวันที่ 1 เมษายน 2557

ล่าสุด วานนี้ (22 มี.ค.) ภก.ประทิน ฮึงวัฒนากุล หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ในฐานะประธานชมรมเภสัชกรโรงพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมด้วยตัวแทนเภสัชกรโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.)/โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) และโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ประมาณ 10 คนเข้ายื่นหนังสือต่อ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. เพื่อสนับสนุนและให้กำลังใจในการดำเนินการปรับวิธีจ่ายค่าตอบแทนเป็นแบบพีฟอร์พี

ภก.ประทิน กล่าวว่า นโยบายการปรับวิธีจ่ายค่าตอบแทนเป็นแบบ P4P จะเป็นแนวทางสร้างความเป็นธรรมและขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในกลุ่ม วิชาชีพอื่นๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยและโรงพยาบาล จึงเห็นด้วยที่จะมีการจ่ายแบบนี้ เนื่องจากปัจจุบันงานสาธารณสุขมีภาระงานมากขึ้น หากการทำงานมากจะได้เงินเพิ่มก็น่าจะเป็นขวัญกำลังใจที่ดี อย่างไรก็ตาม การกำหนดคะแนนค่างานของกิจกรรมต่างๆ เพื่อนำมาคิดภาระงานนั้น สธ.ควรดำเนินการให้มีความชัดเจนเป็นที่ยอมรับและเป็นธรรมสำหรับทุกวิชาชีพ เมื่อออกเกณฑ์เสร็จแล้วก็ควรมีการเรียกตัวแทนแต่ละวิชาชีพมาหารือในเรื่องของเกณฑ์การคิดคะแนนให้เกิดการยอมรับร่วมกัน มีสัดส่วนที่เหมาะสม และลดความขัดแย้งระหว่างแต่ละวิชาชีพจากการเปรียบเทียบคะแนนระหว่างวิชาชีพ ระดับความยากง่ายของงาน ความเสี่ยงและความรู้ทางวิชาการ

ด้าน ภก.ฉวีวรรณ ม่วงน้อย หัวหน้าเภสัชกรรมชุมชนฝ่ายเภสัชกรรม ในฐานะประธานชมเภสัชกร รพช. กล่าวว่า สมาชิกเภสัชกร รพช.เห็นด้วยกับหลักการจ่ายค่าตอบแทนแบบ P4P แต่ขอให้ สธ.พิจารณาในเรื่องของเกณฑ์พื้นที่และสัดส่วนการคิดคะแนนตามภาระงานให้มีความเหมาะสมมากขึ้นกว่าเดิม เช่น การคิดคะแนน P4P เบื้องต้นของเภสัชกรอยู่ที่ 0.35 คะแนน ถือว่าน้อยเกินไป ทั้งที่ภาระงานของเภสัชกรไม่ได้น้อยกว่าแพทย์ ค่าคะแนนจึงควรได้ไม่ต่ำกว่า 0.5 คะแนน โดยในเรื่องการขอเพิ่มคะแนนนั้นตนจะยื่นรายละเอียดให้ทันการปรับเกณฑ์ในรอบแรก

สธ.พร้อมรับทุกข้อเสนอไปปรับปรุง

ขณะที่ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า วันนี้ทางชมรมเภสัชกรฯ ได้ส่งความเห็นกรณีการปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทน ซึ่งมีการปรับลดค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายลง และปรับเพิ่มการจ่ายตามภาระงาน ซึ่งทางชมรมเภสัชกรฯก็เห็นด้วยกับแนวทางนี้ และพร้อมที่จะทำงานร่วมกันกับ สธ. แต่ก็ยังคงมีการเสนอจุดที่เห็นต่าง ซึ่งทาง สธ.ก็พร้อมรับมาพิจารณาและทบทวน โดยจะยึดหลักในเรื่องของการสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกวิชาชีพและในวิชาชีพ ผู้ที่ทำงานมากก็ควรจะได้รับค่าตอบแทนมาก เพื่อให้ระบบค่าตอบแทนมีความยั่งยืน โดยผลลัพธ์นี้จะไปตกอยู่ที่ประชาชนด้วย เพราะบุคลากรตั้งใจทำงานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงมีเรื่องของความแตกต่างด้านพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่อยู่ยาก การปรับวิธีจ่ายค่าตอบแทนก็จะพยายามทำให้สมดุลกัน โดยพร้อมที่จะรับข้อเสนอจากทุกวิชาชีพ เพื่อนำเสนอรมว.สธ.

การบันทึกข้อมูลตามภาระงานของแพทย์จะไม่มีความยุ่งยากและเป็นการเพิ่มภาระ เพราะเป็นการเก็บข้อมูลจากระบบคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว โดยการบันทึกนั้นจะมีการตั้งกรรมการตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เบื้องต้นจะหารือเรื่องของวิธีการจัดเก็บและปริมาณงานก่อน เพื่อให้แต่ละวิชาชีพมีความเข้าใจที่ตรงกัน จากนั้นจึงนำข้อมูลดังกล่าวกลับมาแปลงเป็นคะแนนเพื่อทำการเบิกจ่ายย้อนหลัง ขณะนี้วิชาชีพต่างๆ ได้เดินหน้าจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานมาพอสมควรแล้ว ตั้งแต่ปี 2549 ทั้งใน รพศ. รพท. และ รพช. ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 10 แห่ง เช่น รพ.พนมสารคาม รพ.สูงเนิน รพ.และพาน เป็นต้น นพ.ณรงค์ กล่าว

หมอเมืองขนม็อบหนุน P4P

พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) กล่าวว่า ในวันที่ 25 มี.ค. 2556 เวลา 09.00 น. บุคลากรจากโรงพยาบาลทั่วประเทศจะรวมตัวกันประมาณ 1,000 คน เดินทางมาเข้าพบปลัด สธ. เพื่อให้กำลังใจเกี่ยวกับการทำงานในครั้งนี้ การปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นแบบ P4P มีการวางแผนมาตั้งแต่สมัย นพ.ไพจิตร์ วราชิต เป็นปลัดสธ. โดยเห็นว่าการจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อทุกวิชาชีพอย่างเป็นธรรม คนทำงานมากก็จะได้รับเงินมากตามภาระงาน ซึ่งกระทรวงการคลัง และโรงพยาบาลนอกสังกัด สธ.ล้วนแต่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ เพราะทราบดีว่าหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเบิกจ่ายค่าตอบแทนฉบับที่ 4 6 และ 7 เป็นการใช้เพียงชั่วคราวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การปรับเป็นแบบ P4P ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรมาก เนื่องจากเป็นเงินที่ได้เปล่า มีเพียงกลุ่มที่เสียผลประโยชน์เท่านั้นที่ไม่ยอมรับ

แพทย์ชนบทที่ออกมาคัดค้านน่าจะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ทำงาน เพราะคนที่ทำงานต่างเห็นด้วยกับวิธีการใหม่ แต่การที่แพทย์ชนบทจะหยุดงานยาวช่วงสงกรานต์ ควรที่จะมีจริยธรรม ว่าเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ป่วย แพทย์จะถูกมองว่าเอาคนไข้มาเป็นตัวประกัน แต่ในเรื่องนี้โรงพยาบาลแต่ละจังหวัดไม่มีความกังวล เพราะมีการเตรียมความพร้อมอย่างเต็มพิกัด เพื่อรับมือให้ความช่วยเหลือและรองรับกรณีโรงพยาบาลอำเภอส่งต่อผู้ป่วยอาการหนักอยู่แล้ว พญ.ประชุมพรกล่าว

หมอชนบทเตรียมขนม็อบชน

ส่วน นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช และอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า กลุ่มแพทย์ชนบทได้มีการหารือเพื่อเตรียมตัวเดินทางมาชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 26 มี.ค. นี้ เพื่อคัดค้านการปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทนแนวใหม่ และกดดัน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ถอดถอน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ออกจากตำแหน่ง โดยการชุมนุมในครั้งนี้จะมีการแห่โลงศพ รมว.สธ. พร้อมวางพวงหรีดและดอกไม้จันทน์ อีกทั้งจะกล่าวคำปฏิญญาไม่ยอมรับผู้นำอย่าง นพ.ประดิษฐ เนื่องจากการปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทนแบบ P4P เสมือนการบั่นทอนจิตใจ และเป็นการนำผู้ป่วยมาเป็นตัวประกัน

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 23 มีนาคม 2556